โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กทม.ต้องใช้ "หอฟอกอากาศ" 16,000 หอ จึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองได้

NATIONTV

อัพเดต 25 มิ.ย. 2562 เวลา 04.21 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 03.14 น. • Nation TV
กทม.ต้องใช้ หอฟอกอากาศ 16,000 หอ จึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองได้
กทม.ต้องใช้ หอฟอกอากาศ 16,000 หอ จึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองได้

ประเทศไทยมลพิษอากาศอยู่ในภาวะทรงตัว ปี 62 พื้นที่ภาคเหนือ-หน้าพระลาน สระบุรี รุนแรงขึ้น กรมควบคุมมลพิษประเมินการใช้ "หอฟอกอากาศ" ต้องใช้ถึง 16,000 หอจึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองกรุงได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าว "4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562"ว่า วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย" ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2562 รณรงค์ภายใต้แนวคิด "อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)" เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญ โดยกว่า 90% ของประชากรทั่วโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) และทุกปีจะมีประชากรกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ

ประเทศไทยมีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยกรมอนามัย ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสารและแจ้งเตือนประชาชน ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันสุขภาพตนเอง รวมทั้งสนับสนุนการใช้กฎหมายภายใต้พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยท้องถิ่นสามารถออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมแหล่งก่อความรำคาญ และสั่งให้ระงับได้ มีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ

ด้านนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ 63 ในสถานี ใน 33 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยภาพรวมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมลพิษ 3 ชนิดที่เป็นปัญหา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน(PM10) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน(PM2.5) และโอโซน หากประเมินเชิงเวลา พบว่า จะมีปัญหาค่าเกินมาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. และปลายปีเริ่มเดือนธ.ค. หากพิจารณารายพื้นที่ ประเทศไทยจะมีปัญหาใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่

1. พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2562 เกิดช่วงเดือนก.พ.-ปลายเม.ย. สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตุนิยมวิทยาระบุว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ทำให้แล้งมากขึ้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1-2 องศา และประมาณน้ำฝนลดลง 10 % ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อมีไฟเกิดขึ้นก็จะเผาได้ดี บวกกับแหล่งกำเนิดเกิดจากไฟป่าเป็นหลัก ซึ่ง กว่า 80 % จุดความร้อนจะเกิดในพื้นที่ป่า รวมถึง การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร

2.พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2562 เกิดปัญหาเร็วและจบเร็วในช่วงเดือน พ.ย. 2561-ปลายก.พ.2562 จากปกติจะยืดถึงเดือนเม.ย. ซึ่งแนวโน้มสภาพอากาศรายปีของกทม.ดีขึ้น โดยสาเหตุหลักของมลพิษเกิดจากจราจร ปริมาณการปล่อยไม่ว่าฤดูใดก็จะใกล้เคียงกัน สถานการณ์ที่มีค่าเกินมาตรฐานจึงขึ้นกับสภาพอากาศเป็นหลัก และ3.พื้นที่ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี สถานการณ์ปี 2562 รุนแรงมากขึ้น ค่าเฉลี่ยมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งที่จะมีการก่อสร้างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตหินปูน มีเหมือนแร่หินปูน และโรงปูน แม้จะการควบคุมฝ่านที่ดีขึ้นมาก เช่น ฉีดน้ำ ล้างถนนมากขึ้น แต่ช่วงหน้าแล้งอากาศก็จะปิด ทำให้สถานการณ์มลพิษเกินมาตรฐาน

นายพันศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขมลพิษทางอากาศ ต้องดำเนินการ 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเฉพาะหน้า โดยเน้นที่การควบคุมแหล่งกำเนิด พื้นที่กทม.ต้องขวดขันวินัยจราจร ทำให้การจราจรคล่องตัว ซึ่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะทยอยเสร็จในปี 2563 การจราจรน่าจะดีขึ้น ส่วนภาคเหนือต้องคุมไฟป่าให้ได้ ส่วนพื้นที่หน้าพระลานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น โรงโม่แบบปิดในอาคาร ถนนคอนกรีตในโรงงาน เป็นต้น และ2.มาตรการระยะยาว จะมีการใช้น้ำมันสะอาดที่จะมีการประกาศใช้ทั้งประเทศในปี 2567 มาตรฐานรถใหม่ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศในปี 2564-2565 แต่การจะเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่ทั้งหมดที่มีกว่า 10 ล้านคันอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

"ขณะนี้ค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นPM2.5พื้นที่กทม.อยู่ที่ 26-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 25 มคก./ลบ.ม.เล็กน้อย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กทม.ในปีหน้าน่าเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือ ซึ่งจากการถอดบทเรียนในปีนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้สำเร็จคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันกวดขันวินัยจราจร เพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลรถยนต์ตัวเอง รถที่ใช้ดีเซลควรเปลี่ยนมาใช้เติมยูโร 5 ที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กได้มากกว่า 20 % ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้หอฟอกอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น กรมฯมีการดำเนินการประเมินในเรื่องนี้ โดยมีผู้เข้ามาเสนอ พบว่า ราคาต่อหออยู่ที่ 60 ล้านบาท ประสิทธิภาพ 10 ล้านคิวต่อวัน เมื่อประเมินอากาศกทม. โดยคูณความสูง 100 เมตรหารด้วย 10ล้านคิว จะต้องใช้หอฟอกอากาศถึง 16,000 หอหากจะฟอกทั้งกทม. และไม่นับรวมงบประมาณที่จะต้องใช้ในการซื้อพื้นที่ที่จะสร้างด้วย ซึ่งในการจะใช้มาตรการใดในการแก้ปัญหาต้องดูความจำเป็นเชิงวิชาการ เมื่อประเทศไทยรู้แหล่งกำเนิดของมลพิษ ก็ควรคุมแหล่งกำเนิดให้ได้" นายพันศักดิ์กล่าว

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2562 จะมีการจัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการมอบรางวัล "Princess Environmental Health Awards" แก่บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและรางวัลประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และตลอดปี 2562 ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ รณรงค์ลดมลพิษอากาศ ด้วยการละเว้นการเผาในที่โล่ง ลดการใช้พลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0