โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กทม.จับมือภาคีเครือข่ายสร้างกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 14.07 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 13.46 น.

วันที่ 15 ธ.ค. 2562 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ "โครงการ Green Bangkok 2030" เพื่อผลักดันสู่กรุงเทพฯ สีเขียว ณ สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร

อ่านข่าว อึ้ง ขยะกทม. 1,000 ตันต่อวัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า และพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับ กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

อีกทั้งในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เป็นปีที่รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20- 25 ตามความตกลงปารีส ที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2558

กรุงเทพมหานคร จึงขยายผลของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ Green Bangkok 2030 กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว ขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน

กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ ปตท. และภาคีเครือข่าย อาทิ กลุ่ม We Park และ กลุ่ม Big Tree ประกาศเจตนารมณ์เพื่อผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

โดยมีเป้าหมาย คือ 1. ระยะการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ไม่เกิน 400 เมตร 2. อัตราเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากปัจจุบัน 6.9 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน 3. พื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมือง เพิ่มจากปัจจุบันร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อ่านข่าว กทม.แจงหอพัก ซ.พหลโยธิน 40 ไม่ต้องทำ EIA

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เสนอพื้นที่นำร่องโครงการ Green Bangkok 2030 จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1. สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 18 ไร่ 2. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียนชายทะเล) พื้นที่ 37 ไร่ 3. สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ 4. สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่ 5. สวนชุมชนเขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่

  1. สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 พื้นที่ 3 ไร่ 7. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช พื้นที่ 20 ไร่ 8. พื้นที่ สีเขียวภายใน ปตท. สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดี) 9. ภูมิทัศน์ทางเท้าริมถนนพหลโยธิน 10. พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช - วงแหวนรอบนอก (บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน) และ 11. พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช (บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 2)

โดยคาดว่าพื้นที่นำร่องทั้ง 11 แห่งนี้ บางส่วนดำเนินการเสร็จเรียบร้อย บางส่วนกำลังดำเนินการซึ่งจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 63-65 และหากประชาชนมีความประสงค์จะนำพื้นที่ของตนเองเข้าร่วมโครงการ Green Bangkok 2030 สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก หรือที่ แฟนเพจ Green Bangkok 2030 โดยหน่วยงานหรือผู้ที่สนใจ สามารถแจ้งความประสงค์มอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร เข้าไปดูแลได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อ่านข่าว กทม.เตรียมพร้อมจัดการขยะงานกาชาด

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกาศเจตนารมณ์ "กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว" สร้าง Green Bangkok 2030 ครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ภายใต้ 3 ประเด็น ได้แก่ เปลี่ยน "ฉัน" เปลี่ยน "เรา" และ เปลี่ยน "เมือง" โดย นายอเล็กซ์ เรนเดลล์ นายจุลพร นันทพานิช นายธนญชัย ศรศรีวิชัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

รวมทั้งกิจกรรมความสนุกอื่นๆ อาทิ กิจกรรมเวิร์คชอป ปลูกเพื่อ "ลูก" เลี้ยงลูกด้วยอาหารปลอดสารพิษ และการแสดงดนตรีจากศิลปิน นักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียงตลอดทั้งวัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0