โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กทม.จวก อนาจารในสวน จิตไม่ปกติ วอนสังคม ร่วมดูแลพื้นที่สาธารณะ เล็งติดกล้องเพิ่ม

Khaosod

อัพเดต 14 ส.ค. 2561 เวลา 06.35 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2561 เวลา 06.35 น.
จวกมีเซ็กส์ในสวน
จวกมีเซ็กส์ในสวน

กทม.จวก อนาจารในสวน จิตไม่ปกติ วอนสังคมร่วมดูแลพื้นที่สาธารณะ พร้อมเพิ่มความถี่ตรวจตรา ทำป้ายปิดประกาศ เล็งติดกล้องเพิ่ม

อนาจารในสวน / เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.)2 เขตดินแดง นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมแนวทางการดูแลสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯโดยมีคณะผู้บริหาร สำนักสิ่งแวดล้อม หัวหน้าสวนสาธารณะ เข้าร่วมประชุม

โดย นางวัลยา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากเหตุที่มีกลุ่มบุคคลกระทำการอนาจารกระทำการที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่สวนสาธารณะ ซึ่งสวนถือเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่ของครอบครัว การกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ผิดต่อกฎหมายในการใช้พื้นที่สาธารณะ ดังนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม จึงประชุมวางแนวปฏิบัติในการดูแลสวน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานของประชาชนมากที่สุด

โดยปัจจุบัน กทม.มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ในรูปแบบสวนปิด เปิดให้บริการแล้ว 36 แห่ง เปิดบริการตั้งแต่เวลา 04.30-21.00 น. ทุกสวน จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ที่ กทม.จ้างจากสำนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก(อผศ.) รวมเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 507 คน กระจายดูแลสวนทั้ง 36 แห่ง โดยแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ตามสภาพพื้นที่สวนเป็นหลัก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่สวนตามวงรอบที่กำหนด 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามการดูแลสวนจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมได้กำหนดแนวทางคือ *1.ทุกสวนต้องเพิ่มความถี่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยจากเดิมให้มากขึ้นเป็นการตรวจตราทุกๆครึ่งชั่วโมง 2.จะมีการติดตั้งกล่องเขียว เพื่อให้เจ้าหน้าที่แสดงผลการลงตรวจพื้นที่แบบชัดเจน 3.จะจัดทำป้ายประกาศข้อห้ามการใช้สวนสาธารณะในรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารข้อความให้ชาวต่างชาติที่ใช้บริการสวนรับทราบถึงกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน *

ซึ่งข้อห้ามต่างๆนั้น กทม.ได้ออกประกาศกำหนดเกณฑ์การใช้สวนอาทิ การห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน แต่จะเพิ่มเติมให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันยิ่งขึ้น ทั้งการห้ามใช้โดรนภายในสวน และห้ามการกระทำอนาจารใดๆอย่างเด็ดขาด

4.จะมีการสำรวจพื้นที่ในจุดอับ พื้นที่เปลี่ยว เพื่อทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวี เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการดูแลแก้ปัญหาอาชญากรรมและการกระทำอนาจาร 5.ห้องน้ำภายในสวนสาธารณะ จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าดูแลการใช้งานของประชาชน ให้มีการใช้งานเพื่อกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น

6.จะสำรวจปัญหา เพื่อรายงานผู้บริหารกทม.ผ่านช่องทางไลน์และหนังสือ ซึ่งจะเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์มากที่สุด

นางวัลยา กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการร่วมเพศไม่เคยเกิดขึ้นในสวนสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีกรณีการกอดจูบ จับมือ เนื่องจากพื้นที่สวนก็ถือเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น กทม.จำเป็นต้องวางกรอบแก้ไข เพื่อทำให้สวนปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้น หากพบกระทำอนาจารใดๆในสวนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย โดยแจ้งตำรวจสน.ท้องที่ เพื่อดำเนินคดีในทันที

ส่วนกรณีการพบถุงยางอนามัยภายในสวนสาธารณะต่างๆจำนวนมากนั้น ตนไม่อาจระบุได้ว่าถุงยางอนามัยดังกล่าวเป็นถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วหรือไม่ และในสวนที่พบ บางส่วนเป็นสวนเปิด ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่เขต โดยสวนลักษณะดังกล่าว จะแตกต่างจากสวนสาธารณะที่มีเวลาเปิดปิด มีเจ้าหน้าที่ดูแลชัดเจน คือสวนจะเปิดกว้าง ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้นการดูแลอาจไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่ ในการดูแลป้องปรามเหตุไม่เหมาะสม ทั้งการมั่วสุม เหตุอาชญากรรม เหตุอนาจาร ยาเสพติด โดยจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตรวจตราความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน. ท้องที่เพื่อดูแลความปลอดภัยอย่างสูงสุด

“พฤติกรรมการกระทำอนาจารภายในสวนสาธารณะ เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของกลุ่มบุคคลที่จิตใจผิดปกติ สังคมต้องร่วมกันช่วยกันดูแล จึงอยากฝากให้ร่วมให้การศึกษา และร่วมคำนึงถึงวัฒนธรรมอันดีของไทย

โดยสวนสาธารณะถือเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนใช้ทำกิจกรรมที่ถูกต้อง เหมาะสมร่วมกัน หากมีกลุ่มคนมีการใช้สวนอย่างไม่เหมาะสม ถือเป็นคนไม่ดีของสังคม ดังนั้นจึงต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา และร่วมกันดูแลพื้นที่สาธารณะที่เป็นสิทธิของทุกคน” ผอ.สสล.กล่าว

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวมทั้งสิ้น 7,814 แห่ง ถ้าคิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 37 ล้านตร.ม. คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร6.53ตร.ม.ต่อคน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0