โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กด Snooze ชีวิต - เฟื่องลดา

THINK TODAY

เผยแพร่ 11 เม.ย. 2562 เวลา 11.00 น.

ใครชอบตั้งกดเวลา Snooze นาฬิกาปลุกกันบ้างคะ 

ตั้งเวลาตื่นไว้ล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง เผื่อตื่นแล้วจะได้ผัดเวลานอนต่อ

แต่รู้ไหมว่า…การกด Snooze ไม่ได้มีผลเสียแค่ทำให้ตื่นสายเท่านั้น !

ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าการทำแบบนี้มีผลเสียต่อร่างกายโดยตรง 

เพราะการล้มตัวลงนอนใหม่อีกครั้งหลังจากตื่นแล้วทำให้สมองเริ่มเข้าสู่โหมดหลับใหม่อีกรอบ

เมื่อต้องลุกตื่นขึ้นจริงๆอีกครั้งในเวลาไม่นานหลังจากนั้นจึงทำให้รู้สึกว่านอนไม่พอ และอ่อนเพลียยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อฟังก์ชั่น Snooze ของนาฬิกาปลุกยุคนี้กลับสร้างความยุ่งยากมากขึ้น 

เป็นเรื่องน่าคิดว่า แล้วชีวิตที่มี Notification ตั้งเวลา “เตือน” ได้ 24 ชั่วโมงแบบในยุคนี้

ทำให้เราใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า

หรือทำให้เราผัดวันประกันพรุ่ง กด Snooze สิ่งที่ควรทำหลายอย่างในชีวิตมากขึ้นกันแน่  

“สักครู่” ของคนยุคใหม่ 

“สักครู่” ของคนยุคใหม่นั้นอาจกินเวลา “ยาวนาน" กว่าที่เราคิด

นักวิจัยจาก The Johannes Gutenberg University of Mainz ได้บัญญัติศัพท์คำหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า 

“Facebocrastination”  (Facebook + Procrastination)

หรือการผัดวันประกันพรุ่งที่มีสาเหตุมาจากการเล่น Facebook เป็นหลัก อาการ คือ แรกเริ่มตั้งใจว่าจะทำงาน แต่พอทำถึงจุดหนึ่งที่เริ่มรู้สึก เบื่อหน่าย เหนื่อยล้า

ในใจเริ่มรู้สึกอยาก “พักสักครู่” และได้กดเข้าไปใน Facebook ระหว่างพัก

ก็จะเล่นเพลินจนลืมเวลาและจบด้วยการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียนานกว่าที่ตั้งใจไว้  

ความจริงแล้ว ไม่ใช่แค่ Facebook เท่านั้นแต่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้ง Twitter และ Instagram

ต่างถูกออกแบบมาให้เราใช้เวลานานๆกับมัน

ทั้งยิงโฆษณาในสิ่งที่เราสนใจ ปรับ Feed ให้เห็นเนื้อหาเพื่อนที่เราสนิทเยอะๆ

ยิ่งมีเพื่อนมาก ยิ่งมี Notification เยอะและเนื้อหาสำหรับเสพมากตามขึ้นไป

ทำให้เวลาที่ใช้นานเพิ่มขึ้นไปด้วย

แล้วถ้านำเวลา “สักครู่” ที่ใช้ไปกับการเล่นโซเชียลมีเดียมารวมกันเยอะๆ จะเกิดอะไรขึ้น ?

ความลับของสมอง คือ การใช้สมาธิ หรือ โฟกัสของคนเรานั้นมีจำกัด 

การคิดว่า หากเสพเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ไขว้เขว (Distraction) เพียงชั่วครู่ไม่เสียเวลาและพลังงานมากนั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะเมื่อใช้สมาธิแตกไปในเรื่องเล็กๆน้อยๆมากมายแล้ว

เราจะเหลือพลังในการใช้สมาธิกับเรื่องหลักในชีวิตที่ตั้งใจอยากทำลดลง

ส่งผลให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่งในที่สุด

กิจวัตรเลื่อนลอย 

พูดได้ว่าหลายครั้งที่เปิดโซเชียลมีเดียขึ้นมา เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าอยากเสพอะไรเป็นพิเศษ  

แค่ลองกดเข้าไปดูเผื่อมีอะไรน่าสนใจ 

ยิ่งทำเป็นประจำ ยิ่งติดเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูในช่วงเศษเวลาที่ยืนรอคิว รอรถ โดยไม่ได้เจาะจงว่าอยากเสพอะไร 

เข้าสู่โหมด “เลื่อนลอย” ไร้จุดหมาย ดั่งกึ่งหลับกึ่งตื่น

เวลาที่เราอยู่ในโหมดนี้ เราจะมีการควบคุมตัวเองต่ำ (Low self-control)

คล้ายๆกับการกินเยอะไป ช้อปปิ้งเยอะไป หรือ เลื่อนเวลาตื่นนอนไปเรื่อยๆ

รู้ว่าไม่ดี แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้

“ตื่น” ก่อนที่จะ “สาย” เกินไป

ทางแก้ง่ายๆในการออกจากโหมดเลื่อนลอย คือ “ตื่น”

ถ้าโลกโซเชียลเปรียบดั่งโลกในความฝัน

ที่เราควบคุมเรื่องราวไม่ได้ แล้วแต่ Algorithm จะพาเราท่องไป 

อีกทั้งมี Notification มากมาย ยื้อให้เราสนุกสนานกับเพื่อน

ลอยไปลอยมาในโลกออนไลน์ แอบดูเรื่องราวของคนนั้นคนนี้จนไม่อยากตื่น

การ “ตื่นรู้” มีสติเสมอเวลาเล่นมือถือ

จะช่วยให้เราตื่นมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงและสนุกในโลกออนไลน์แต่พอดี

… 

ทุกๆเช้า แม้ตั้งเวลา Snooze ในนาฬิกาปลุกมากมายเท่าไหร่

เมื่อถึงเวลา ณ จุดๆหนึ่งที่รู้ว่า สายแล้วแน่ๆ เราก็ต้องลุก

ชีวิตจริงในแง่มุมอื่นๆ เราอาจเห็น Deadline ของชีวิตไม่ชัดเหมือนการตื่นนอนว่า เมื่อไหร่ที่สายเกินไป 

เราจึงควรตั้ง Notification ในใจตัวเองให้มีขอบเขตเวลาในการท่องโลกออนไลน์ด้วย

ลองเริ่มฝึกง่ายๆจากการไม่กด Snooze ตอนเช้าก่อนก็ได้นะคะ

 

ที่มา:

https://www.cbc.ca/news/technology/facebocrastination-a-problem-for-students-researchers-find-1.3655154

https://www.huffpost.com/entry/snooze-button-sleep_n_4509581?utm_hp_ref=healthy-living

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/dont-delay/201512/social-media-the-network-effect-and-procrastination

About Me

Instagram: http://www.instagram.com/faunglada

Facebook: http://www.facebook.com/faunglada

Youtube:http://www.youtube.com/faunglada

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0