โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กฎเหล็กสุดเคร่งของการเป็นนักจิตวิทยาบำบัดในแคลิฟอร์เนีย (ภาคสอง) - เพจ BEAUTIFUL MADNESS BY MAFUANG

TALK TODAY

เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 07.55 น. • เพจ BEAUTIFUL MADNESS BY MAFUANG

เราเขียนเรื่องระเบียบ/จรรยาบรรณการเป็นนักจิตบำบัดที่นี่ไปแล้วในภาคแรก สัปดาห์นี้ขอมาต่อภาคสองแล้วกัน ขอบอกเลยว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะให้เขียนทั้งหมดไม่ไหวแน่เยอะเหลือเกิน มันส์เข็ดฟันมาก

*4) การเก็บความลับของคนไข้ *

เรื่องนี้สำคัญมาก ยิ่งเราทำงานที่แอลเอ Therapist (นักจิตวิทยาบำบัด) หลายคนมีคนไข้เป็นคนดัง ฮอลลีวูดทั้งหลายบ้าง ถ้าเกิดเผลอคันปากเล่าให้เพื่อนสนิทหรือแฟนฟังถึงเรื่องราวกอสซิบที่ได้ยินมา โดนฟ้องเอาได้ง่ายๆ

แต่! มีบางข้อยกเว้นที่การเก็บความลับนั้น ละเมิด ได้ และต้องรีบรายงานศาลหรือตำรวจทันที (ถ้ารายงานช้าหรือรู้ข้อมูลแต่ไม่ยอมรายงาน ก็อาจโดนทั้งจำทั้งปรับเป็นปีได้เลยนะ) นั่นได้แก่

- การทารุณเด็ก

- การทารุณคนแก่ (65 ปีขึ้นไป)

- การทารุณบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องพึ่งพิงคนอื่นดูแล (18 ถึง 64 ปี)

- และเป็นคำสั่งศาล

ทั้งหมดนี่ ต้องเป็นเหตุการณ์ทารุณที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงปัจจุบันเท่านั้นนะ ถ้าผ่านมาแล้วในอดีต เราไม่สามารถไปฟ้องหรือเล่าให้ใครฟังได้ เราจำได้ว่าในคลาส เราถามครูด้วยว่า ‘แล้วถ้าเขาทารุณสัตว์ละคะ (คิดภาพน้องหมากำลังโดนตี) รายงานได้มั้ย’

จิตใจก็ต้องห่อเหี่ยว เพราะครูตอบกลับมาว่า ‘ไม่ได้ครับ มันเศร้านะ แต่ต้องบอกว่า เรามาทำงานช่วยเหลือคน ไม่ใช่ช่วยเหลือสัตว์’ ฮืออออออ

*5) ไม่กูเกิ้ล หรือแอบส่องคนไข้ในโซเชียลมีเดีย *

คิดดูว่าถ้าเราไปตามอินสตาแกรมคนไข้ กลายเป็นเห็นกันละกันตลอด ทั้งชีวิตปาร์ตี้ ชีวิตดราม่าลงไอจี ความสัมพันธ์จากคนไข้-therapist จะกลายเป็นความขี้เล่นกันเองเม้าท์มอย ความน่าเชื่อถือในอาชีพก็จะหายไป หรือหากเราไปกูเกิ้ลเขา หรือเรียนรู้เขาจากสื่อต่างๆ จะทำให้จิตใจเราลำเอียงเวลาฟังเรื่องราวของคนไข้ ไม่อยู่กับช่วงอารมณ์ในเซสชั่นนั้น

ครูเคยบอกว่า ลองคิดดูนะ ถ้าคนไข้มาบอกเราว่าไม่มีเงินจ่ายค่าบำบัด แต่เรากลับไปกูเกิ้ลแล้วเจอว่าเขาทำเงินได้เดือนละเป็นแสนๆ เราก็จะเกิดความรู้สึกทะแม่งๆ ตะหงิดๆ ทำให้รักษาได้อย่างไม่เป็นประสิทธิภาพ เพราะยังไงก็ตามคนไข้ก็ต้องมาก่อนเสมอ

*6) สถานที่ต้องเหมาะสมและปลอดภัยต่อการเก็บความลับ *

ต้องเป็นห้องปิดประตูมิดชิด ในสถานที่ที่น่าเชื่อถือ จะมามีเซสชั่นในร้านกาแฟ มีคนโช้งเช้งเดินไปมาแบบนี้ไม่ได้ (ถ้าคนไข้ไม่ว่าง สามารถมีเซสชั่นแบบโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลได้ แต่ก็ต้องทำในสถานที่ปิด หนึ่งต่อหนึ่งเท่านั้น)

ครูเล่าให้ฟังว่า มีวันหนึ่งระหว่างครูกำลังมีเซสชั่นกับคนไข้ ตึกนั้นมีซ้อมหนีไฟขึ้นมา ทุกคนต้องออกจากตัวตึกหมดเลย ครูก็ต้องปกป้องไม่ให้มีใครเห็นหน้าคนไข้ ว่าคนๆ นี้มาหานักจิตบำบัดซึ่งคือครู ทุกอย่างต้องเป็นความลับ ที่นี่ถึงขั้น ถ้าบังเอิญเดินเข้าไปในห้างแล้วเจอคนไข้ของเราในที่สาธารณะ เราต้องเดินออกทันที หรือทำเป็นไม่รู้จักกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมเปิดเผยตัว ว่ามาหานักจิตบำบัดกับใครอยู่

*7) ถ้าใครมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เราสามารถบอกคนในครอบครัวเขาได้มั้ย? *

นี่ละตัวยากเลย แต่ละครั้ง การตัดสินใจบอกคนอื่นเราเองต้องปรึกษาหลายคนมาก เพราะมันเป็นเรื่องบอบบาง มันอาจกลายเป็นเปิดเผยความคิดซึ่งเป็นความลับของคนไข้ได้ แล้วเขาก็จะไม่เชื่อใจเราอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้แค่บ่นขึ้นมาลอยๆ ขึ้นมาว่า ‘โอ้ย เบื่ออยากตาย’ เราก็ต้องมานั่งคิดกับทีมของเราว่า คำพูดนี้มันน้ำหนักพอมั้ย ความจริงจังแค่ไหน

พอๆ กับการที่เขาบ่นว่า ‘แฟนใหม่ของแฟนเก่าฉันน่ารำคาญจังเลยอยากตบ!’ เราก็ต้องมานั่งคิดกับทีมอีกเหมือนกันว่าน้ำหนักคำพูดเป็นยังไง ซึ่งสำหรับการทำร้ายคนอื่นนั้น มันก็มีเกณฑ์ของมันไปอีกซับซ้อนไปอีก

เอาเป็นว่า แค่นี้ก่อนละกัน ปวดหัวใหญ่แล้ว

งานนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็เป็นงานที่เรารักมาก และรู้สึกว่าคุ้มในทุกวันที่ยังทำอยู่ดี

ติดตามบทความจากเพจ BEAUTIFUL MADNESS BY MAFUANG บน LINE TODAY ได้ทุกวันอังคาร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0