โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ–แปลงสิทธิในทรัพย์สินให้เป็นหลักประกัน

DDproperty

เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 07.02 น.
กฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ–แปลงสิทธิในทรัพย์สินให้เป็นหลักประกัน
กฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ–แปลงสิทธิในทรัพย์สินให้เป็นหลักประกัน

ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินเรื่องกฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิกันมาบ้าง แต่ด้วยชื่อเรียกอาจจะทำให้เข้าใจยาก และไม่น่าทำความเข้าใจเอาเสียด้วย ในบทความฉบับนี้ ผมจึงขออนุญาตอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธินี้ในแบบที่ไม่ซับซ้อนเข้าใจง่ายครับ

 

ทำความเข้าใจว่า “ทรัพย์” คืออะไร

ก่อนจะพูดถึงทรัพย์อิงสิทธิ-ทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ทรัพย์” คืออะไร คำว่า “ทรัพย์” ถูกให้ความหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 137 ว่า “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง”

ส่วนอีกคำหนึ่งที่เรามักพบกันบ่อยคือ “ทรัพยสิทธิ” ซึ่งคำคำนี้มิได้มีกฎหมายกำหนดให้ความหมายไว้โดยตรง เพียงแต่ถูกกล่าวถึงไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 ว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

กล่าวโดยทั่วไป ทรัพยสิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์ คือ สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ ฯลฯ ซึ่งสิทธิเหล่านี้จะติดไปกับตัวทรัพย์ และเจ้าของสิทธิสามารถใช้สิทธินี้อ้างได้กับบุคคลทั่วไป

ต่างกับสิทธิอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “บุคคลสิทธิ” ที่เป็นสิทธิที่สามารถใช้อ้างได้กับคู่สัญญาเท่านั้น เช่น สิทธิการเช่า ที่ผู้เช่าอาจยกขึ้นอ้างได้กับผู้ให้เช่าเท่านั้น แต่จำนอง ผู้รับจำนองสามารถอ้างสิทธิจำนองได้ต่อบุคคลทุกคนที่รับโอนทรัพย์ติดจำนองไปได้ เป็นต้น

จากความหมายตามกฎหมายข้างต้น ทรัพย์จึงหมายถึงสิ่งที่มีรูปร่างเท่านั้น (ถึงแม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาบางฉบับที่ตีความคำว่าทรัพย์ให้หมายถึงสิ่งที่ไม่มีรูปร่างเช่นกระแสไฟฟ้าด้วย แต่นั่นก็เป็นเรื่องการตีความในความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นคดีอาญาที่ศาลตีความขยายขอบเขตของคำว่าทรัพย์ออกไปเพื่อลงโทษผู้ลักกระแสไฟฟ้าให้สมตามเจตนารมย์ของกฎหมายเท่านั้น) ดังนั้น ทรัพยสิทธิจึงเป็นสิทธิที่มีได้เฉพาะเหนือสิ่งที่มีรูปร่างเท่านั้น

 

Property_Law_House_Contract_1164555832
Property_Law_House_Contract_1164555832

 

ทรัพย์อิงสิทธิคืออะไร

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดทรัพย์ชนิดใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่วัตถุที่มีรูปร่างตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้คำนิยามไว้ โดยตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายทรัพย์อิงสิทธิไว้ว่า “ทรัพย์อิงสิทธิ หมายความว่า ทรัพย์สินที่อิงจากสิทธิการใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้”

เนื้อหาหลักของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นทรัพย์ขึ้นมา มีเนื้อหาหลัก ๆ ดังนี้

- ทรัพย์อิงสิทธิต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 30 ปี การทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์อิงสิทธิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน

- ทรัพย์อิงสิทธิสามารถโอน ตกทอดเป็นมรดก หรือ จดทะเบียนจำนองได้

- เมื่อมีการก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ใด เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะก่อตั้งทรัพยสิทธิใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ

- ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในอสังหาริมทรัพย์นั้นเหมือนเจ้าของ เว้นแต่สิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

property scams, fake property, types of fraud, property fraud, property law, property law malaysia
property scams, fake property, types of fraud, property fraud, property law, property law malaysia

 

ตัวอย่างของทรัพย์อิงสิทธิมีอะไรบ้าง

โดยหลักแล้ว กฎหมายว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิตราขึ้นมาเพื่อให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ถูกใช้ประโยชน์ได้ในฐานะที่เป็นทรัพย์ชนิดหนึ่ง สามารถกำหนดมูลค่า และใช้เป็นหลักประกันได้ โอนเปลี่ยนมือกันได้อย่างอสังหาริมทรัพย์

 

ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนี้

จากกฎหมายฉบับนี้ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะมีทางเลือกในการก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิเพื่อนำออกหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการแก้ไขข้อจำกัดของการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิ สามารถใช้อ้างได้ต่อคู่สัญญาเช่านั้น

 

เรื่องข้างต้นเขียนโดย ปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอว์ แอนด์ เอควิตี้ จำกัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pakorn@lawandequity.co

 

สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0