โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กกร.จ้างฝรั่งยกเครื่องกฎหมาย รวมข้อมูลรอชงรัฐบาลใหม่ปฎิรูปทั้งระบบ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2561 เวลา 17.13 น.
3-1 กกร
นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กกร.เดินหน้าปฏิรูปกฎหมายลดอุปสรรคธุรกิจเฟส 2 เน้นปลดล็อกการขอใบอนุญาต อำนวยความสะดวกแรงงาน ขีดเส้น 3 เดือนเห็นผลก่อนมีรัฐบาลใหม่ พร้อมแนะจัดให้มีอีแพลตฟอร์ม ศูนย์กลางรวมข้อมูลภาครัฐ

นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่ตนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมและให้ความเห็นต่อภาครัฐในการปรับปรุง ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางธุรกิจ ทั้งพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎกระทรวง และประกาศ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในระยะแรกเมื่อกลางปี 2561 และเตรียมดำเนินการระยะที่ 2 ต่อเนื่อง ทั้งนี้ กกร.ได้อนุมัติเห็นชอบว่าจ้างที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญจากสหรัฐ โดยมีเป้าหมายจะต้องได้เห็นความชัดเจนภายใน 3 เดือน และก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศต่อไป

“ระยะที่ 2 นี้วางเป้าหมายในการรวบรวมข้อมูลกฎหมายด้านการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก ตั้งโรงงาน แรงงาน การท่องเที่ยว ซึ่งรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยจะให้ความสำคัญในส่วนของประกาศ กฎกระทรวงที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันที เพราะหากเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนดต่าง ๆ ต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น จึงเลือกในสิ่งที่สามารถประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขได้ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมให้ความร่วมมือ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน ที่พร้อมจะปฏิรูปกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทั้งนี้ ตัวอย่างกฎหมายที่จะดำเนินการแก้ไข อาทิ การลดขั้นตอนให้ดำเนินการได้สะดวกและง่ายมากขึ้น การต่อใบอนุญาตทำงานของต่างชาติ หรือต่างด้าว ควรให้แยกในส่วนความสามารถ ความเชี่ยวชาญของแรงงานให้มีความชัดเจน เพราะปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคลดระยะเวลาในการรายงานทุก 90 วัน ประเด็นนี้ได้มีการเสนอแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อีกทั้งเพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ส่งเสริมการจัดประชุม งานแสดงสินค้าต่าง ๆ ได้ ซึ่งสิงคโปร์มีการจัดระเบียบในเรื่องนี้ การประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน อาทิ การขอจดเครื่องหมายการค้า ซึ่งภาครัฐออกประกาศแล้วว่าห้ามให้ทุกหน่วยงานมีการถ่ายสำเนา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้จริง ยังต้องมีสำเนาเอกสารเพื่อยื่นเรื่อง อีกทั้งยังต้องประสานไปแต่ละหน่วยงานกว่าจะยื่นเรื่องขอจดทะเบียนได้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน ดังนั้น ควรมี e-Platform ฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานไว้ในที่เดียว นอกจากนี้ ควรมีการปรับข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นการสร้างภาระต้นทุนภาคเอกชน เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการติดต่อกับภาครัฐควรมี single application เพื่อให้บริการในจุดเดียว ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมีหลายประเทศที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบกับไทยได้ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้

นายกิตติกล่าวว่า เป้าหมายหากลดกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าต้องปรับปรุงออกไปได้กว่าครึ่ง ซึ่งมีกว่า 6,000 ฉบับไปได้ไม่เพียงเป็นแนวทางให้กฎหมายใหม่ที่กำลังออก แต่จะทำให้กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเอกชนต่อในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การจัดอันดับ ease of doing business ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ของธนาคารโลก (The World Bank) ปรับอันดับให้ไทยดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์ประเมินว่าปัญหาด้านกฎหมายส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทย 10-15% หากลดลงได้จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการอาชีพ (regulatory guillotine) นั้น ยังต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะต่อไปก็จะขยายไปยังกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระยะแรกคณะทำงานได้เสนอให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขหลายเรื่อง อาทิ การชำระภาษี การขออนุญาตก่อสร้าง ประกันสังคม ซึ่งได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว

ปัจจุบันคณะทำงานได้ประสานงานกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (คปก.) และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท และว่าจ้างทีดีอาร์ไอศึกษากฎหมายในฝั่งรัฐบาลด้วย หากดำเนินการร่วมกันแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการทำธุรกิจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0