โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

 "กรณ์" แนะรีดภาษีคนรวย 1 % หยุดถอนขนห่าน จี้ทบทวนภาษีมรดก 3 ปีเก็บได้แค่ 770 ล้าน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 06 พ.ย. 2562 เวลา 07.23 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 11.25 น.
กรณ์ จาติกวณิช

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ วาระร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยแสดงความกังวลในส่วนของรายได้ ซึ่งกว่า 90% ของประมาณการรายได้รัฐบาลมาจากการเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งระบบภาษีในแต่ละประเทศสะท้อนค่านิยม ยุทธศาสตร์ และปรัชญาความคิดของผู้นำของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทยรายได้ภาษีที่คาดการณ์ไว้คิดเป็นสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ 15-15.3% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 35% ของ GDP แต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ซึ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีของไทยเทียบกับรายได้ประเทศถือว่าอยู่ในระดับคงที่ 98% รายได้ของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีฐานรายได้ของประชาชน ระบบภาษีในแต่ละประเทศต่างกัน ซึ่งสะท้อนค่านิยม ยุทธศาสตร์ ปรัชญาความคิดผู้นำประเทศ

นายกรณ์ กล่าวว่า หากนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน งบประมาณของปี 2563 ที่กำลังพิจารณานี้มีการตั้งงบโดยรวมเพื่อดูแลผู้สูงอายุไว้ประมาณ 460,000 ล้านบาท 70% ของจำนวนนี้เป็นการดูแลประชาชนที่เป็นข้าราชการ 2 ล้านคน ซึ่งเฉลี่ยจะได้รับเงินบำนาญคนละ 20,000 บาทต่อเดือน โดยไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาล ส่วน 30% ดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ 11 ล้านคน เป็นการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เฉลี่ยจะได้รับคนละ 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ภายใน 15 ปี จะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หากจะต้องดูแลคน 20 ล้านคนด้วยราคาสินค้า ณ วันนี้ ก็จะต้องมีงบประมาณสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ามีความคิดว่าจะให้ทุกคนมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับเดียวกันจะต้องใช้งบ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเม็ดเงินภาษีรายได้ 2.9 ล้านล้าน

“ดังนั้นหากเราต้องการดูแลคนสูงอายุทุกคน ก็เท่ากับว่าเราต้องเพิ่มสัดส่วนภาษีจากรายได้ของประเทศโดยรวมจาก 15% เป็น 30% ซึ่งจะยังต่ำกว่าอัตราของหลายๆ ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยทำเช่นนั้นทันทีไม่ได้ แต่สามารถคิดตั้งไว้เป็นเป้าหมายได้”

ทั้งนี้ ปัญหาของระบบภาษีของไทยคือ 98% ของรายได้โดยรวมมาจากรายได้ของประชาชน ส่วน 2% มาจากทรัพย์สิน และในยามเกษียณคนไทยมีความคาดหวังในการพึ่งรัฐบาลเป็นหลักถึง 60% ดังนั้นความจำเป็นของรัฐบาลที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเพิ่มรายได้ภาษีนั้นมีแน่นอน

“ปัญหาระบบภาษี 98 % มาจากรายได้ของประชาชน 2 % มาจากทรัพย์สิน ซึ่งคนไทย 60 % คาดหวังจะพึ่งรัฐบาลเป็นหลักในการดูแลยามเกษียณ ต่างกับคนเกาหลีที่ 60 % จะดูแลตัวเอง รัฐบาลจึงควรเพิ่มรายได้ภาษีจากทรัพย์สินจากกลุ่มคนเพียง 1% ที่มีทรัพย์สินเทียบเท่าคน 66.9% ของประเทศ” นายกรณ์ กล่าว

อดีต รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษี จึงควรที่จะมาจากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น นอกจากนี้จากประเมินพบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก แต่รัฐแทบไม่เก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้เลย ขณะที่รัฐบาลที่แล้ว มีการผลักดันภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยภาษีนี้จะเริ่มมีการเก็บในวันที่ 1 ม.ค. 2563 สำหรับภาษีมรดกนั้นได้เริ่มจัดเก็บมาแล้ว 3 ปี และเก็บได้จากประชาชนเพียง 200 คน หากรวมเม็ดเงินทั้งหมดจะได้เพียง 770 ล้านบาทเท่านั้น เรื่องภาษี : ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ แทนที่ภาษีนี้จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยซ้ำไป ซึ่งต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

“ที่ผมบอกว่ามีผู้เสียภาษีมรดกไม่ถึง 200 คนนี้ อย่าลืมว่าผู้เสียภาษีนี้เป็นผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้ตาย หากนับผู้ตาย 1 คน จะมีผู้รับมรดกโดยเฉลี่ย 3-4 คน หมายความว่าเราเก็บภาษีมรดกจากผู้เสียชีวิตในรอบ 3 ปีนี้ได้เพียง 40 คน และ 40 คนนี้ไม่มีรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตไปในช่วงนั้น ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้ที่หลบไม่เป็น หรือไม่ได้รวยจริง แทนที่ภาษีนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำไป” นายกรณ์ กล่าว

สำหรับภาษีที่ดินที่รัฐจะเริ่มจัดเก็บนี้ นายกรณ์แสดงความกังวลว่าประชาชน และหน่วยราชการจะมีความพร้อมในการประเมินราคาที่ดินได้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นธรรม แล้วหรือยัง รัฐบาลได้ประเมินรายได้ที่จะได้จากภาษีใหม่นี้เพียง 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ารายได้รวมของภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งภาษีที่ดินจะมาทดแทนดังนั้นปี 2563 รายรับภาษีที่มาจากทรัพย์สินจะยังน้อยมาก ซึ่งก็จะไม่เป็นธรรม และไม่ตอบโจทย์ความต้องการระยาวของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นนโยบายปฏิรูปภาษี หากรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ก็จะทำให้รายได้ของรัฐบาลจะสูญหายไปอีกเกือบ 180,000 ล้านบาท หากต้องการลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลาง ก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ภาษีนิติบุคคล ดูได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (599 บริษัท) โดยรวม ปีที่แล้ว เสียภาษีเพียง 17.6% ของกำไร หากเพียงเราสามารถเก็บภาษีนิติบุคคลส่วนนี้ได้ตามอัตราฐาน ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท

อีกทั้งยังมีภาษีอีกหลายชนิด เช่นภาษีกำไร (Capital Gain Tax) เศรษฐีที่ดินควรเสียภาษีกำไรส่วนเทียบราคาขายกับราคาทุนที่แท้จริง ณ ปัจจุบันยังเสียภาษีบนราคาที่ดินที่เป็นราคาประเมิน ภาษีตลาดทุน (Transaction Tax) อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ภาษีบริษัท Big Tech ข้ามชาติ ก็มีการพูดกันมาก แต่ยังไม่เห็นประมาณการในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563

“สิ่งที่อยากเห็นคือแนวคิดที่จะปฏิรูประบบภาษี เพื่อเตรียมการรอบรับความต้องการของพี่น้องประชาชนซึ่งมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเสียจากรัฐบาลจะบอกว่าระดับการดูแลประชาชนในวันนี้เพียงพอแล้ว ดีแล้ว เชื่อว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดคิดอย่างนั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาจริงกับการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคตได้” นายกรณ์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0