โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

 “ICAO” ยืนยันไทยปลดธงแดง   ผ่านมาตรฐานการบินเต็มรูปแบบ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 04.16 น.

ICAO ยืนยันไทยปลดธงแดง ผ่านมาตรฐานการบินเต็มรูปแบบ หลังใช้เวลา 4 ปี ที่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง “อาคม” แถลงข่าวดีวันที่ 27 พ.ค.นี้

หลัง องค์การการบินระหว่างประเทศหรือ ICAO  มาตรวจสอบการจัดการองค์กรของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ( กพท.) หรือ CAAT ยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM)  เมื่อวันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562  โดยเป็นการดำเนินการตรวจสอบ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ ด้านการจัดการองค์กร กพท. ผลการตรวจสอบจาก ICAO

ล่าสุดพบ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ระดับมาตรฐานสากลแล้ว หลังจากใช้เวลาในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มาร่วม 4 ปี ตั้งแต่ปี 2558 หลังถูก ICAO ติดธงแดง  ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะร่วมแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ 

 

อย่างไรก็ดี กพท.ได้ลำดับ 8 เหตุการณ์สำคัญหลัง ICAO ประเทศไทยถูกขึ้นธงแดงดังนี้

1.วันที่ 18 มิถุนายน 2558 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้ติดธงแดงประเทศไทยเนื่องจากตรวจพบว่ามาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย มีข้อบกพร่อง จำนวน 572 ข้อ     และมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) อยู่ 33 ข้อ ซึ่งขณะนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบินพลเรือน คือ กรมการบินพลเรือน

2. ประเทศไทยได้แก้ปัญหาโดยปรับโครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนใหม่ ซึ่งมีผลยุบเลิกกรมการบินพลเรือนและจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT โดยเป็นหน่วยงานของรัฐ   ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยและกิจการการบินพลเรือน โดยภารกิจด้านสนามบินได้โอนให้กรมท่าอากาศยาน และภารกิจด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการสอบสวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับอากาศยาน ให้เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

3. หลังจากที่ได้มีการจัดตั้ง CAAT ได้เร่งเดินหน้าแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ทั้ง 33 ข้อ โดยปรับปรุงทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการทำงาน คู่มือ Checklist รวมถึงจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสมให้กับพนักงานและผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนปรับปรุงระบบการออกใบรับรองผู้ดำเนิน การเดินอากาศ (Air Operator Certificate) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด

4. เมื่อวันที่ 20-27 กันยายน 2560 ICAO ได้ส่งคณะผู้ตรวจสอบ ICAO Coordinated Validation Mission หรือ ICVM เข้ามาตรวจสอบยืนยันความก้าวหน้าและความครบถ้วนของการแก้ไข SSC 33 ข้อ ผลการตรวจสอบครั้งนั้น ประเทศไทยสามารถปลดธงแดงได้สำเร็จ โดยสามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญทั้ง 33 ข้อ ได้ทั้งหมด รวมถึงข้อบกพร่องที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทำให้เหลือข้อบกพร่องที่ไม่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย 463 ข้อ ที่ยังต้องแก้ไขต่อไป

5. CAAT ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่องจน ICAO ได้ยอมรับความก้าวหน้าและกำหนด  เข้ามาตรวจสอบยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM) ในระหว่างวันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562 โดยดำเนินการตรวจสอบ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ    ด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ ด้านการปฏิบัติการบิน ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน ด้านบริการการเดินอากาศ และด้านสนามบิน (ยังไม่ได้ตรวจสอบยืนยัน ด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน เนื่องจากข้อจำกัดด้านผู้ตรวจสอบของ ICAO)

6. ผลการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary) ของคณะผู้ตรวจสอบ Full ICVM พบว่าระดับประสิทธิผล ของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.07 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือร้อยละ 60

7. ผลการตรวจสอบครั้งนี้ สามารถชี้ชัดว่าในระยะเวลาเกือบ 4 ปี นับแต่วันที่ประเทศไทยได้รับธงแดงเมื่อปี 2558 ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาบังคับในประเทศได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจากร้อยละ 34.20  เมื่อได้รับธงแดงเป็นร้อยละ 41.46 ในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน และเป็นร้อยละ 65.07 ในอีก 1 ปี 7 เดือนต่อมา ซึ่งถือได้ว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านการบินของไทยทัดเทียมกับมาตรฐานเฉลี่ยของประเทศสมาชิก ICAO รวม 194 ประเทศแล้ว

8. ระดับประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ยืนยันถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาด้านการบินพลเรือนอย่างจริงจังและเป็นระบบ ตลอดจนการสนับสนุนในด้านนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดย CAAT ยังคงเดินหน้าสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการบินของไทยและเพิ่มระดับประสิทธิผลดังกล่าวต่อไป ให้มาตรฐานของไทย เป็นที่ยอมรับแก่ทุกชาติ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0