โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

 โลกช็อก! เศรษฐกิจป่วยหนัก ลากกระทบจ้างงาน

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 29 ก.พ. 2563 เวลา 04.55 น. • Thansettakij

 

 

     เครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการจ้างงานสะท้อนจากรายงานเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่แล้วขยายตัวได้เพียง 1.6% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีเศษ ทำให้ปีที่แล้วทั้งปีขยายตัวได้เพียง 2.4% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 2.7 – 3.7 % เป็นการขยายตัวต่ำสุดนับจากปีพ.ศ.2557  ขณะที่เศรษฐกิจปี2563  เริ่มต้นไตรมาสแรก เจอพิษไวรัสโคโรนา ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว

     ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ฉายภาพผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงความกับเสี่ยงของการจ้างงานว่าน่าจับตา   

 

-มีโอกาสสูงศก.ปี63ขยายตัวไม่ถึง2.0%  

 

       ดร.ธนิตมองว่า หลังจากที่หลายสำนักปรับเป้าประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2563 คาดว่าจะขยายตัวค่าเฉลี่ย 2.0 % แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5 % ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะ “Trade War” ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนเพราะถูกยกระดับไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งของสหรัฐฯ และของประเทศจีน ภาวะแทรกซ้อนที่ช็อคกันทั้งโลกคือไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ก่อนที่จะขยายไปทั่วประเทศจีนและประเทศต่างๆ เกือบ 50 ประเทศทั่วโลกจนกลายเป็นภัยจากโรคระบาดระดับนานาชาติ

 -ทั่วโลกเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจป่วน

 

     เวลานี้เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลายเป็น         “อู่ฮั่นเอฟเฟค” กระทบไปทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะแต่การท่องเที่ยวแต่เกี่ยวโยงไปถึงการเดินทางของผู้คนทั้งที่ไปติดต่อธุรกิจ-การค้า, ตลอดจนงานแสดงสินค้า, การแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ทะยอยกันยกเลิก อีกทั้งกระทบไปสู่ภาคการผลิตเนื่องจากประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตที่เป็นโซ่อุปทานใหญ่สุดคิดเป็น 28.4 %ของโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตที่มีสัดส่วน 16.6% และประเทศญี่ปุ่นเป็นแหล่งซัพพลายเชนของโลกคิดเป็น 7.2 % การปิดประเทศของจีนทำให้โรงงานต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องหยุดการผลิตรวมไปถึงกิจกรรมโลจิสติกส์ต่างๆหยุดชะงักไปหมดกระทบเป็นลูกโซ่ต่อประเทศต่างๆ ซึ่งมีการเชื่อมโยงวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆมีการประเมินว่าจะมีผลต่อการบริโภค การลงทุน และการชะลอการค้าของโลกส่งผลให้เศรษฐกิจโลกป่วนหนัก

 

-ตัวเลขส่งออกก.พ.ร่วงแน่

 

    ดร.ธนิตกล่าวว่าก่อนหน้านี้จีนมีการสั่งปิดเมืองสำคัญหลายแห่งซึ่งล้วนเป็นเมืองอุตสาหกรรมทำให้การนำเข้าและส่งออกชะลอตัวกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงซัพพลายเชนที่อยู่ในการผลิต   พอไม่มีกิจกรรมโลจิสติกส์ทำให้เรือรับขนสินค้าลดลงไม่น้อยกว่า 35%  เรือคอนเทนเนอร์ระหว่างแหลมฉบังไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้านี้ในหนึ่งสัปดาห์มี 6 ลำเข้า-ออกประเทศไทยแต่ขณะนี้มีให้บริการเหลือเพียง 2 ลำต่อสัปดาห์เพราะสินค้าไม่เต็มลำเนื่องจากทางผู้นำเข้าของจีนไม่ “Confirm Order” ตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงแน่นอน

 

     เช่นเดียวกับสายการบินที่เชื่อมเมืองหลักภายในประเทศของจีนต่างระงับเที่ยวบินและ ถึงขั้นมีการพักงานของนักบินและแอร์โฮสเตสเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีแอร์ไลน์อีกไม่น้อยกว่า 15 รายรวมทั้งการบินไทยต่างลดเที่ยวบินไปจีนรวมถึงบางประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้     

              

      เส้นทางบินในประเทศของไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากผู้โดยสารที่เป็นทัวร์ต่างชาติและคนไทยลดลงไปไม่จำเป็นก็ไม่อยากเดินทางจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย สายการบินต่างๆ มีการลดเที่ยวบินจนสนามบิน 6 แห่งของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือ “ทอท.” จำนวนผู้โดยสารดอนเมืองหายไปจำนวนมาก  

               

      ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศจากข้อมูลสามสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 2.697 ล้านคน ลดลงประมาณ 60% โรงแรมต่างๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยารวมถึงกทม.แทบจะร้าง

 

    “หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไปอีกเดือนสองเดือนนับจากนี้ไปเหนื่อยกันแน่นอนแต่ยังคงคาดการณ์ในเชิงบวกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะหายไปประมาณ 2.8 – 3.8 ล้านคนคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะหายไป 2.5 – 3.2 แสนล้านบาท กระทบแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเฉพาะแรงงานในระบบมีประมาณ 2.75 ล้านคนแต่มีการประเมินว่าแรงงานท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อมทั้งหมดอาจจะมีถึง 10 ล้านคน”

 

     ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความเปราะบางเป็นทุนอยู่แล้วการประกาศปิดโรงงานค่ายรถยนต์      เซฟโรเลต มองว่าเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง หลายอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในโซ่อุปทานการผลิตกับจีนปลายเดือนมีนาคมอาจเห็นหลายโรงงานปิดตัวทั้งถาวรและชั่วคราว เศรษฐกิจของไทยหากเทียบกับเครื่องบินเหมือนกับเครื่องยนต์ดับหมด กลายเป็นเครื่องร่อนที่ต้องระวังมากๆ คือ ตลาดแรงงานแต่เดิมมีความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีทั้งเอไอ โรบอทและออโตเมชั่น อีกทั้งการหดตัวของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว การแทรกซ้อนจากวิกฤตอู่ฮั่นเอฟเฟกต์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

     ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรส่งผลต่อความเสี่ยงของการจ้างงานในตลาดแรงงานของภาคเอกชนที่ในช่วงหลังสงกรานต์จะมีแรงงานใหม่ประมาณ 5.2 แสนคนเป็นปัญหาที่อาจจะเผชิญหน้าและจำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมืออย่างเป็นระบบ

 

     สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยซึ่งคาดว่าปีนี้การขยายตัวของจีดีพีอาจต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะไตรมาสแรกอาจถึงขั้นไม่เติบโตหรือหดตัวเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายรัฐบาลเนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อภาคส่วนที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านท่องเที่ยวถึงขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร การแพร่ระบาดของไวรัสจะจบเมื่อใดและความเชื่อมั่นจะคืนมาเมื่อใดคงต้องไปดูครึ่งปีหลัง ประเด็นนี้คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะภาคท่องเที่ยวเม็ดเงินลงไปถึงรากหญ้าครอบคลุมทั่วประเทศจนไปถึงระดับชุมชนตำบลต่างๆ และมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยและหนี้สินของประชาชน ด้านส่งออกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจำนวนมากที่อุ้มแรงงานไว้          6.2 ล้านคน จากการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีนี้ส่งออกจะขยายตัว 1.4 % จากที่ขยายตัวติดลบในปีที่แล้ว แต่ภาคเอกชน เช่น “กกร.” ประเมินว่าส่งออกอาจหดตัว 2.0%, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าจะติดลบ 0.9 %เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอสเอ็มอีและโอท็อปตลอดจนแรงงานจำนวนมาก

 

     ภาคท่องเที่ยวและส่งออกมีส่วนสำคัญอย่างเป็นนัยต่อการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณไม่น้อยกว่า 16 ล้านคนและยังเชื่อมโยงต่อภาคค้าปลีก-ค้าส่งซึ่งคาดว่าปีนี้อาจขยายตัวได้ 2-3% เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่หายไปและกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง อีกทั้งยังมีผลกระทบลามไปถึงการลงทุนใหม่และขยายกิจการอาจมีการชะลอตัว ตลอดจนกระทบไปถึงภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

 

     “ถึงแม้ว่า “ธปท.”    จะผ่อนปรนมาตรการปล่อยสินเชื่อ (แอลทีวี) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องระบุว่าเศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำนักท่องเที่ยวที่หายไปมีผลต่อคอนโดซัพพลายเหลือจำนวนมากมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านบาทกระทบมากสุดในรอบ 10 ปี ”

 

     ด้านภาคการเงินมีความเสี่ยงต่อ “NPL” ทุกสถาบันการเงินมีมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว บางธนาคารผ่อนปรนโดยไม่ต้องส่งต้นสูงสุดถึง 12 เดือน ในภาคธุรกิจเริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียทั้งรายเล็กรายใหญ่แม้แต่บริษัทมหาชนและธุรกิจต่างชาติขาดสภาพคล่องขอขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวขึ้น  

 

-รัฐบาลต้องรีบรับมือแก้ปัญหาแรงงาน

 

     เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและได้รับผลกระทบวิกฤต “อู่ฮั่นเอฟเฟค” เป็นวงกว้างและกินเวลาอาจยาวรัฐบาลต้องให้ความสำคัญเพราะเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน มาตรการที่นำมาใช้ต้องเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะสภาพคล่องของเอสเอ็มอีอย่าให้ถึงขั้นล้มเพราะจะมีแรงงานไหลออกมามาก อาจต้องไปดูการปล่อยสินเชื่อ

 

     สุดท้าย ดร.ธนิต  เสนอแนะว่าอยากให้รัฐบาลมีวอลรูมรับมือผลกระทบจากการเลิกจ้างในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีก 2 เดือนข้างหน้า การแก้ปัญหาไม่สามารถใช้อัตราการว่างงานเป็นตัวชี้วัดเนื่องจากถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีตัวเลขการว่างงานยังคงอยู่ในอัตราต่ำเพราะตัวเลขการว่างงานไทยใช้เกณฑ์ “บุคคลใดในรอบสัปดาห์ก่อนหน้าการสำรวจแค่ทำงาน 1 ชั่วโมงจะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างล้วนเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น”  ภาพที่จะเห็นต่อไปคือการสวนทางระหว่างอัตราว่างงานของประเทศอยู่ในระดับต่ำแต่อัตราการขยายตัวของ  จีดีพีหดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่สถานประกอบการต่างๆ ชะลอการจ้างงานใหม่ถึงขั้นเลิกจ้าง

     เศรษฐกิจโลกกำลังไปสู่อาการป่วยหนักจากพิษไวรัสโคโรนา!!!  จากหยอดน้ำเกลือ เข็นเข้าห้องไอซียู  ถึงคิวกระทบการจ้างงาน ภาครัฐอย่ารอช้าต้องเตรียมพร้อมรับมือได้แล้ว!   

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0