โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

 พาสัตว์เลี้ยงเข้าบ้าน

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 22 ก.พ. 2563 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 20.51 น.

สวัสดีครับ นี่ก็ยังอยู่ในช่วงวันแห่งความรัก หมอเลยนึกถึงคนที่พาสัตว์เลี้ยงที่รักเข้ามาอยู่ในชีวิตชนิดที่แบบตัวติดกัน กิน นอน พักผ่อน ด้วยกันตลอดนะครับ

การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเลี้ยงในบ้าน หรือนอนในห้องด้วยกัน เป็นการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก เพราะต้องคำนึงถึงโรคในสัตว์สู่คน และโรคของสัตว์ที่อาจจะไม่ติดต่อสู่คน แต่ส่งผลต่อสุขอนามัยของคนซึ่งปัจจุบันพบบ่อยมาก แต่การเลี้ยงสัตว์ที่ใกล้ชิดกันมากๆ อย่างนี้ก็มีข้อดี เช่น รู้สึกปลอดภัย จิตใจสงบ รู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกันการทำแบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเช่นกัน เพราะคนที่มีโรคประจำตัวเช่น ภูมิแพ้ หอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอาจเป็นการกระตุ้นให้โรคและอาการกำเริบ หากนำสัตว์เลี้ยงมาไว้ในห้องนอน หรือในบ้าน อีกทั้งสัตว์เลี้ยงก็รบกวนการนอนพักผ่อนของผู้เลี้ยงในบางครั้งอีกด้วย

ดังนั้น หมอแนะนำว่า หากผู้เลี้ยงต้องการนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านจริงๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว และสามารถจัดการไม่ให้เกิดปัญหาได้ เช่น พื้นที่ในบ้านควรมีเพียงพอที่จะวางคอกได้เหมาะสม ต่อมามีการจัดการเรื่องการระบายอากาศให้อากาศไหลเวียนได้ดีโดยไม่ทำให้ขนสัตว์ฟุ้งในบ้าน นอกจากนี้อย่าลืมเรื่องแสงแดดที่ช่วยทำลายเชื้อโรคได้บางส่วนและการทำความสะอาดภายในบ้านควรจะเพิ่มความถี่มากกว่าปกติเนื่องจากการหลุดร่วงของขนสัตว์

ส่วนอุปกรณ์ภายในบ้านรวมถึงที่นอนหมอนมุ้งควรเป็นวัสดุที่มีลักษณะทำความสะอาดได้ง่ายไม่เป็นที่เก็บฝุ่นละออง หรือเป็นที่ซุกซ่อนของปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร เป็นต้น

ต่อมาในเรื่องของตัวสัตว์เลี้ยงควรจะต้องมีการเลือกชนิดสัตว์และพันธุ์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ และลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้เลี้ยง โดยพิจารณาให้แน่ใจว่าไม่รบกวนผู้ร่วมอาศัย หรือกระทบผู้อื่นด้วย การสอนเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การขับถ่าย การรู้จักอยู่ในที่ที่จัดให้ ไม่ไปยุ่มย่ามบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้องครัว เป็นต้น การดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยง เช่น การอาบน้ำทำความสะอาดตัวสัตว์ การทำวัคซีน การถ่ายพยาธิ การกำจัดเห็บ หมัด เป็นต้น เพื่อลดปัญหาโรคสัตว์สู่คนต่างๆ

อย่างไรก็ตามหากการนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาแล้วไม่เป็นดังที่คาด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากคนหรือสัตว์ก็ตาม ควรหาแผนสำรองไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาวทั้งในด้านสุขภาพและสังคมรอบข้าง เพราะว่าการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพที่ดีนั้นต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วยนะครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0