โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

 ทุนนิยม แรงงาน สาธารณสมบัติ กับ The Outer Worlds

The MATTER

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 03.11 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 03.09 น. • Game Theory

ขณะที่โลกกำลังย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 เราก็เริ่มมองเห็นถนัดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ลำพังการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มิได้กำลังนำเราเข้าสู่ยุคพระศรีอาริย์โดยอัตโนมัติ เนื่องจากเทคโนโลยีหลายอย่างมี ‘เจ้าของ’ ในรูปของบริษัทผู้ออกทุนคิดค้นและพัฒนามันขึ้นมา และขึ้นชื่อว่าบริษัทในระบบทุนนิยมก็ย่อมปรารถนาที่จะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการครอบครองเทคโนโลยี มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะของการเผยแพร่เทคโนโลยีในวงกว้าง (ถึงแม้ว่าแรงจูงใจสองอย่างนี้ของบริษัท – การทำกำไร กับการรับใช้ประโยชน์สาธารณะ – สามารถมาบรรจบกันได้เป็นบางครั้ง นั่นก็เป็นสถานการณ์ที่มักจะต้องอาศัยการไตร่ตรองล่วงหน้ามาอย่างดี และเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก)

บริษัทเจ้าของ ‘แพลตฟอร์ม’ (platform) ยอดนิยมอย่าง อูเบอร์ อีเบย์ และ airbnb มักอ้างว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้คิดค้นซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม สร้าง ‘ตลาด’ ที่ ‘จับคู่’ ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการขนาดจิ๋ว (เช่น เจ้าของรถยนต์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือเจ้าของที่พักอาศัย) ที่กำลังมองหาคนมาใช้บริการหรือทรัพย์สินที่ตัวเองไม่ได้ใช้ (เช่น ที่พักอาศัย)

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงแบบจำลองทางธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ เราจะพบความจริงว่าพวกเขามักจะไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มตลาด แต่ทำตัวบางมุมคล้ายกับบริษัทนายจ้างในระบอบเศรษฐกิจทั่วไป เพราะบริษัทใช้ระบบการให้คะแนน (rating system) และอัลกอริทึมของซอฟต์แวร์ในการสร้างหลักประกันว่า ทุกแง่ทุกมุมในงานของคนที่ทำงานให้กับบริษัท (คนขับอูเบอร์ คนขายของบนอีเบย์ หรือคนปล่อยห้องให้เช่าบน airbnb) จะเป็นไปตามนโยบายและข้อกำหนดของบริษัท

ในคดีเมื่อไม่นานมานี้ อูเบอร์อ้างว่าแพลตฟอร์มของบริษัทเข้าข่าย ‘บริการสารสนเทศสังคม’ (information society service) ในข้อกำหนดเรื่องอีคอมเมิร์ซของสหภาพยุโรป (ซึ่งออกมาอำนวยความสะดวกให้กับการค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศสมาชิก) ทว่าในคดีหมายเลข C-434/15 – Asóciacion Profesional Elite Taxi สมาคมแท็กซี่อาชีพในสเปน ฟ้องบริษัทลูกของอูเบอร์ในสเปน ชื่อ Uber Systems Spain SL ในคดีนี้อัยการและศาลไม่เห็นด้วยกับบริษัท ศาลตัดสินว่าอูเบอร์มี ‘อำนาจควบคุมผู้ขับอย่างเข้มงวด’ ดังนั้นจึง ‘เป็นมากกว่าบริการสารสนเทศสังคม’ ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่ให้บริการโดยสารในเมืองด้วย

ด้วยเหตุนี้ ประเทศสมาชิกต่างๆ ในสหภาพยุโรปจึงมีอำนาจที่จะกำกับดูแลกิจการของอูเบอร์ รวมถึงอำนาจกำกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘แรงงานอิสระอำพราง’ (disguised self-employment) ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทหลายแห่งอ้างว่าไม่ได้เป็น ‘นายจ้าง’ ดังนั้นจึงไม่ต้องทำตามกฎหมายแรงงาน แต่ในความเป็นจริงมีอำนาจควบคุมผู้ที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทแทบทุกกระเบียดนิ้ว เสมือนหนึ่งพวกเขาเป็น ‘ลูกจ้าง’

‘ด้านมืด’ ของบริษัทแพลตฟอร์มหลายแห่ง โดยเฉพาะการหลบเลี่ยงไม่ทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ (อาจจะยกเว้นประเทศที่มีสถานะ ‘ผู้ใช้’ บริการแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ ‘ผู้คิดค้น’ เทคโนโลยีแพลตฟอร์มอย่างไทย) ประเด็นนี้เกิดขึ้นในยุคที่เริ่มมีการใช้คำว่า ‘ทุนนิยมช่วงปลาย’ (late capitalism) มาอธิบายความพยายามเฮือกสุดท้ายของระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาภายนอก (negative externalities) ต่างๆ  ที่กลไกตลาดแก้ไขตัวเองไม่ได้ อาทิ ปัญหาโลกร้อน ในยุคที่มนุษยชาติดูจะกำลังแพ้ภัยตัวเอง ไม่น่าแปลกใจที่มหาเศรษฐีและนักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มเรียกร้องให้เราออกไปตั้งรกรากนอกโลก

แรงจูงใของมหาเศรษฐีกับนักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องไปทางเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยกังวลว่า วันหนึ่งดาวเคราะห์น้อยและดาวเคราะห์นอกระบบทั้งหลายจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับมหาสมุทรบนดาวโลก นั่นคือ ถูกแปรรูปและแบ่งสรรปันส่วนให้เป็นของเอกชน ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของมหาเศรษฐีมาตักตวงทรัพยากรตามใจชอบ

ความกังวลข้อนี้ใช่จะไม่มีมูลเลย ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายชื่อ 'ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์'  (Commercial Space Launch Competitiveness Act) ในปี ค.ศ. 2015 กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้บริษัทเอกชนของอเมริกามีสิทธิทำเหมืองบนเทหวัตถุ เพื่อแสวงหาแร่มีค่า นักกฎหมายบางคนเตือนว่ากฎหมายฉบับนี้อาจละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศ (Outer Space Treaty) ซึ่งประเทศมากกว่า 90 ประเทศลงนามร่วมกันในปี ค.ศ. 1967 สนธิสัญญาฉบับนี้ประกาศว่า การสำรวจอวกาศ ‘จะดำเนินไปเพื่อประโยชน์และผลประโยชน์ของประเทศทั้งมวล โดยไม่เกี่ยงระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศ และจะดำเนินไปเพื่อมวลมนุษยชาติ”

แต่ข้อเสียของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ

ไม่เคยมีการลงรายละเอียดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

ส่วนหนึ่งเพราะกระแสสงครามเย็น ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่พัดแรงในทศวรรษ 1960 และ 1970 ทำให้ความพยายามที่จะสร้างความชัดเจนทางกฎหมายว่า อวกาศและทรัพยากรทั้งหลายในอวกาศเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ อเมริกากลับมองว่าแง่ลบหนักมากว่าจะเป็นการนำหลักการสังคมนิยมเข้าสู่อวกาศ (ซึ่งก็จริง) ส่งผลให้ความพยายามนี้เป็นหมัน

ความคลุมเครือของสนธิสัญญาทำให้รัฐสภาอเมริกันเชื่อมั่นมากพอที่จะออกกฎหมายมอบสิทธิให้เอกชนทำเหมืองในอวกาศในปี ค.ศ. 2015 และต่อมาในปี ค.ศ. 2018 รัฐสภาอเมริกันก็ออกกฎหมายเสรีภาพในการประกอบกิจการพาณิชย์อวกาศอเมริกัน  (American Space Commerce Free Enterprise Act) ซึ่งระบุเป้าหมายชัดว่า เพื่อ ‘ให้สหรัฐอเมริการักษาสถานะผู้นำในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอวกาศ’ และกำหนดให้รัฐบาลอเมริกันตีความพันธะสัญญาภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ "ในทางที่ลดกฎเกณฑ์และข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด" สำหรับบริษัทอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายฉบับนี้ยังบอกว่า รัฐบาลอเมริกันจะไม่มองว่าบริษัทเอกชนจะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศ แถมพกด้วยการประกาศชัดว่า "อวกาศจะไม่ถูกมองว่าเป็นสาธารณสมบัติของโลก"

The Outer Worlds_20191026205833
The Outer Worlds_20191026205833

กฎหมายหนุนให้เอกชนออกไปตักตวงทรัพยากรในอวกาศ ปฏิเสธว่าอวกาศเป็นสาธารณสมบัติฉบับนี้ของอเมริกา ประเทศที่บริษัทของอภิมหาเศรษฐีอย่าง บลู ออริจิน และ สเปซเอ็กซ์ กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางสู่อวกาศสำหรับคนทั่วไป ทำให้อนาคตของมนุษย์ในอวกาศดูห่างไกลขึ้นเรื่อยๆ จากภาพอนาคตสวยหรูดูดีมีภราดรภาพที่วาดในนิยายและภาพยนตร์ไซไฟคลาสสิกอย่าง 'สตาร์ เทร็ก' (star trek)

อนาคตที่รัฐยอม ‘ลดกฎเกณฑ์และข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด’ สำหรับบริษัทเอกชนในอวกาศจะมีหน้าตาอย่างไร หลายคนไม่เชื่อว่ามันจะเป็นสังคมยูโทเปียที่มนุษย์หลายล้านคนใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินไร้อนาทร กระจัดกระจายไปตามดาวเคราะห์ต่างๆ ทั้งในและนอกระบบสุริยะ ในเมื่อขนาดเราอยู่บนโลกใบเดียวยังมีความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างมหาเศรษฐีกับคนที่เหลือ เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในอวกาศ ซึ่งแน่นอนว่ามหาเศรษฐีย่อมมีกำลังกอบโกยผลประโยชน์มากกว่าคนอื่น จะไม่เหลื่อมล้ำเลวร้ายกว่าบนดาวโลก ถ้าหากปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำงานต่อไป

ยังไม่พักต้องพูดถึงตลกร้ายที่ว่า สาเหตุหลักของภาคธุรกิจที่อยากออกไปอวกาศ ก็คือการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ทำลายสิ่งแวดล้อมบนดาวโลกจนเกิดปัญหารุนแรง ซึ่งมีทุนนิยมเป็นต้นเหตุหลักของปัญหานั่นแหละ

The Outer Worlds เกมใหม่จาก Obsidian สตูดิโอผู้ยกระดับเกมสวมบทบาท (role-playing game: RPG) อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี ฉายภาพอนาคตที่อวกาศถูกจับจองและแบ่งเค้กระหว่างบริษัทต่างๆ อย่างสนุกสนาน เสียดสีแสบสัน บางคราวก็น่าเศร้า แต่ทุกขณะเต็มไปด้วยอารมณ์ขันตลอดทั้งเกม ถึงแม้ว่าภารกิจหลายเรื่องในเกมจะน่าเบื่อไปบ้าง แต่เส้นเรื่องหลักและระบบเกมราบรื่นที่เน้นแอ็กชั่นสนุกๆ สีสันสดใส (ซึ่งผู้เขียนคิดว่าง่ายกว่า Fallout: New Vegas เกมก่อนหน้านี้ของสตูดิโอค่อนข้างมาก) ก็ทำให้เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว

เนื้อเรื่องของ The Outer Worlds เปิดฉากในอนาคตสองถึงสามร้อยปีข้างหน้า มนุษยชาติกระจัดกระจายไปดัดแปลงภูมิประเทศของดาวเคราะห์ต่างๆ เพื่อให้มนุษย์ใช้ชีวิต และอำนาจในการกำกับดูแลสังคมเหล่านี้ตกเป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ เราเล่นเป็นผู้โดยสารของยานตั้งรกราก (colony ship) ที่หายสาบสูญไปนาน แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องมาปลุกเราตื่นจากแคปซูลหลับลึก (cryosleep)

จากนั้นชีวิตใหม่ของเราก็จะเริ่มต้นในฐานะกัปตันยานอวกาศ ตัดสินใจเองว่าจะรับหรือไม่รับภารกิจจากบริษัทต่างๆ และกลุ่มต่างๆ ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบริษัท และแน่นอน บริษัทแต่ละแห่งก็มีปรัชญา จุดยืน ผลิตภัณฑ์หลัก และเป้าหมายไม่เหมือนกันทีเดียวนัก เกมนี้มอบอิสระให้เราตัดสินใจว่าอยากเข้าข้างหรือไม่เข้าข้างใครมากกว่ากัน จะเล่นเป็นมือปืนรับจ้างที่ทำงานให้กับทุกบริษัทโดยไม่เกี่ยงเลยก็ได้

ใครก็ตามที่เคยเล่น Fallout หรือ RPG เกมอื่นจากมุมมองบุคคลที่หนึ่งจะคุ้นเคยกับระบบเกมของ The Outer Worlds อย่างรวดเร็ว เราจะแบกปืนวิ่งและกระโดดกระดอนบนดาวเคราะห์ต่างๆ สนทนากับผู้คนหลายร้อยคน ฆ่าสัตว์ต่างดาว โจรสลัดอวกาศ มือปืน ฯลฯ ตายเป็นเบือระหว่างทยอยทำภารกิจที่ได้รับเกินสิบอย่างพร้อมกัน ระหว่างทางก็ควานหาหรืออัพเกรดและอาวุธและเกราะที่เจ๋งกว่าเดิม และหยิบฉวยทุกสิ่งยามไม่มีใครเห็น

การออกแบบภารกิจและเรื่องราวในเกมนี้

ส่วนใหญ่จัดว่าดีมากตามมาตรฐานสูงของ Obsidian

ที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือบทสนทนากับตัวละครต่างๆ ในเกมซึ่งลงรายละเอียดได้ดีและให้เรามีทางเลือกเยอะ เราสามารถใช้ทักษะประจำตัวหลายอย่าง เช่น โกหก หว่านล้อม ข่มขู่  สร้างแรงบันดาลใจ หรือทักษะในด้านที่เกี่ยวกับหัวข้อสนทนา อย่างเช่นวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ การแฮ็กคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในการพูดคุย ทำให้ความขัดแย้งหลายครั้งในเกมนี้สามารถคลี่คลายไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

ภารกิจแทบทั้งหมดมีทางเลือกในการทำให้สำเร็จแตกต่างกัน และตัวละครที่จะมาร่วมผจญภัยในอวกาศกับเรา (ทั้งหมดมีหกคน เลือกมาร่วมทีมได้คราวละสอง) ก็ล้วนแต่มีภารกิจ นิสัย และความสามารถเฉพาะตัว เรื่องราวเบื้องหลังของพวกเขาและเธอก็สนุกและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายในจิตใจของตัวเอง รับมือกับความรักครั้งแรก หรือหาทางพบปะพ่อแม่ที่ไม่ได้เจอกันนานแล้ว

ทักษะในเกมนี้มีหลายสิบอย่าง โดยรวมหลากหลายกว่า Fallout: New Vegas ที่ชอบคือการประสบเหตุสะเทือนใจมากๆ บ่อยครั้ง (เช่น ตกจากที่สูงบ่อย หรือโดนสัตว์ประหลาดยิงพิษใส่บ่อย) จะทำให้เราเลือกได้ว่าจะรับ ‘จุดอ่อน’ อะไรบางอย่างมาไหม (เช่น จะเป็นโรคกลัวความสูงหรือเปล่า) แลกกับแต้มบุญ (perk) มาใช้เพิ่มความสามารถ

ตกลงอนาคตที่ทุนนิยมเถลิงอำนาจเป็นอย่างไรในสายตาของ The Outer Worlds ? คำตอบคือไม่สวยหรูเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเกมจะเน้นการเสียดสีและล้อเลียนทุกสิ่งอันในระบบทุนนิยม มากกว่าจะเน้นความแร้นแค้นของชีวิตในอวกาศอย่างบีบหัวใจ ยกตัวอย่างเช่น สัปเหร่อคนหนึ่งในเกมบ่นว่า คนที่ทำให้งานเขาลำบากไม่ได้มีแต่มนุษย์กินคน แต่เป็น ‘มนุษย์กินคนว่างงาน’ ต่างหาก! เกมนี้ล้อเลียนทุกอย่างตั้งแต่ความเป็นราชการของการไต่เต้าเอาตำแหน่งในบริษัท การตลาดไร้จริยธรรมที่วาดภาพขายฝันหลอกลวงฉาบหน้า การมองและแปลงทุกสิ่งเป็นเงิน การขูดรีดแรงงาน ไปจนถึงการจารกรรมอุตสาหกรรมและกลโกงทางธุรกิจนานาชนิด

ทั้งหมดนี้ฉายภาพว่า ทุนนิยมยุคหลังดาวโลกดูจะไม่ได้แตกต่างด้านมืดของทุนนิยมในปัจจุบันเท่าไร บริษัทผลิตอาหารเช้าทดลองกับสัตว์และคนอย่างสยดสยอง บริษัทจัดฟันทำทุกอย่างเพื่อกำจัดคู่แข่ง การฆ่าตัวตายของตัวละครคนหนึ่งในเกมถูกบริษัทค่อนขอดว่าเป็นการ ‘ทำลายทรัพย์สินของบริษัท’ ส่วนกลุ่มต่างๆ ที่พยายามปลดแอกตัวเองออกจากการควบคุมของบริษัทก็ล้วนแต่ไม่มีใครรุ่งเรือง เพียงแต่หาทางเอาชีวิตรอดให้ได้ดีที่สุดไปวันๆ

จุดที่ทำให้ Outer Worlds โดดเด่นและฮามากก็คือความสมจริงของเนื้อหา ยกตัวอย่างเช่น เวลาสั้นๆ ที่เราได้คุยกับนายหน้าขายประกันในเกมก็บอกได้แล้วว่า เกมนี้เขียนโดยคนที่รู้ดีว่า ปัญญาสาธารณ์หรือคลิเช่ (clichés) ทั้งหลายที่สอนกันในปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจนั้นใช้อะไรไม่ค่อยได้ในโลกจริง แต่เราก็ต้องเรียนมันมาอยู่ดี เกมนี้รู้ดีว่าการโหมประโคมโฆษณา (แทบจะทุกตารางนิ้วในเมืองอวกาศ) และการปะยี่ห้อให้กับทุกสิ่งอย่างนั้นบางทีก็ตลกไร้สาระ แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะปรี่เข้าไปซื้อและขายของในตู้ขายของอยู่ดี (ผู้เขียนหมดเวลาพอสมควรไปกับการอ่านฉลากของสินค้าต่างๆ ในเกมซึ่งมีหลายร้อยชนิด โดยเฉพาะยาและอาหารเพิ่มค่าพลัง เพราะมันมักจะตลก)

บริษัทแต่ละแห่งในเกมนี้มีจุดเด่นและความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน บางบริษัทก็เกิดจากการที่ผู้ก่อตั้งทะเลาะกันแล้วแยกวง แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกบริษัทล้วนแต่ใช้งานลูกจ้างอย่างหนักหน่วง จ่ายค่าตอบแทนน้อย แต่เก็บเงินจากทุกอย่างที่ลูกจ้างใช้อุปโภคบริโภค ลูกจ้างต้องควักเงินจ่ายบริษัทแม้แต่โลงศพของตัวเอง! และแน่นอน ทุกบริษัทจ้างทหารรับจ้างเป็นกองทัพมาปกป้องทรัพย์สินและจารกรรมบริษัทอื่น ฟังดูละม้ายคล้ายทุนนิยมในศตวรรษที่ 18 และ 19 โดยเฉพาะในดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป ต่างกันแต่คราวนี้อยู่ในอวกาศ และบริษัทมีเทคโนโลยีล่าสุดมากมายให้ใช้กดขี่และทำกำไร

ในอนาคตของ The Outer Worlds ความเป็น ‘พลเมือง’ แทบไม่มีความหมาย เพราะทุกคนเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ แต่สร้างให้กับเศรษฐีเพียงหยิบมือเดียว การเอาตัวรอดในโลกแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละคนต้องหารายได้พิเศษโดยไม่กระตุกหนวดเสือ และเมื่อพลาดพลั้งบางคราวมันก็กลายเป็นเรื่องเล่าชั้นดีที่สนุกมากสำหรับคนอื่น แต่ขื่นขมสำหรับเจ้าตัว

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทคนหนึ่งมอบภารกิจให้เราทำ สักพักเราจะเจอว่าสิ่งที่ให้ทำนั้นคือการปกปิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้เขาถูกไล่ออก (หรือเจออะไรที่แย่กว่านั้น) นั่นคือ การลักลอบขนยาโดยใช้สัตว์ต่างดาวตัวจิ๋ว จากนั้นเมื่อปรากฎว่ายาหายไปครึ่งหนึ่ง เราก็จะเจอว่าสัตว์พวกนี้ได้รับการช่วยชีวิตโดยชาวเมืองอีกคนที่สงสารพวกมัน ไม่อยากเห็นมันถูกทรมานอีกต่อไป ถ้าทักษะทางการแพทย์ของเราสูงพอ เราก็หว่านล้อมให้เขาเชื่อได้ว่า ร่างกายของเจ้าสัตว์พวกนี้น่าจะสามารถดูดซึมยาเข้าไปได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมันหรอก ไม่ต้องเป็นห่วง

เราเลือกได้ว่าจะทำอะไรและเป็นคนแบบไหนในเกมนี้ ไม่ต่างจากเกม RPG ชั้นดีเกมอื่น แต่ในเมื่อการเข้าข้างบริษัท(ไหนก็ตาม)แทบทุกครั้งในเกมคือทางเลือกที่ชัดเจนว่าไร้จรรยาบรรณ ผิดศีลธรรมหรือขัดต่อมโนธรรมสำนึกอย่างรุนแรง The Outer Worlds จึงไม่ใช่เกมที่ปลอดการเมืองหรือไม่เลือกข้างแม้แต่น้อย (ถึงแม้สมาชิกทีมผู้สร้างบางคนจะอ้างอย่างนั้น) ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใด ดีเสียอีกที่คนเล่นได้เห็นว่าผู้สร้างเกมพยายามส่ง ‘สาร’ อะไร จะได้คิดเองได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตรงไหน

‘สาร’ ของ The Outer Worlds ที่เล่าผ่ายการฉายภาพอนาคตของมนุษยชาติในอวกาศด้วยอารมณ์ขัน การเสียดสีและล้อเลียนทุนนิยมอย่างไม่หยุดหย่อน คือการตั้งคำถามซึ่งจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในโลกจริงว่า เราควรปล่อยให้ด้านมืดของระบบทุนนิยมในปัจจุบันตามเราเข้าไปในอวกาศ หรือว่าจะหวนกลับไปยึดมั่นในความเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ ของอวกาศ เพื่อที่การสำรวจอวกาศจะสามารถกระจายประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม มิใช่ตอกลิ่มความเหลื่อมล้ำซึ่งก็ถ่างกว้างมากอยู่แล้วบนดาวโลก ?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0