โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“Online Card Game” ประวัติ ที่มา และเกมที่พัฒนาโดย “คนไทย”

GamingDose

เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 03.48 น. • GamingDose
“Online Card Game” ประวัติ ที่มา และเกมที่พัฒนาโดย “คนไทย”

Online และ Offline โลกสองใบของเหล่าเกมเมอร์ ที่แยกเกมออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้มากมาย Single Player, Mutiplayer หรือ RPG และ MMO สิ่งเหล่านี้ก็ได้สร้างเกมชนิดหนึ่งออกมา และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน นั่นก็คือ "Online Card Game"

การ์ดเกม ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมความบันเทิงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีทั้งเกมการ์ดจริง ๆ แบบจับต้องได้ เช่นไพ่ Poker ต้นฉบับของไพ่ทั้งหมด, ไพ่แบบ Bordgame ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย และ TCG ที่เกิดจากการใส่จินตนาการต่าง ๆ ลงไป กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเล่นที่นิยมไปทั่วโลกในตอนนี้

จนถึงจุดหนึ่ง การ์ดเกมก็ได้กระโจนเข้าสู่วงการเกมออนไลน์ กลาย Online Card Game ที่มีการแข่งขันชิงเงินรางวัลนับล้าน เป็น Esports ที่เทียบชั้นได้กับแนวเกมอื่น ๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี วันนี้ เราจะพาทุกท่านไปย้อนชมประวัติความเป็นมาของการ์ดเกม Online ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไปดูกันว่าระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาของเกมแนวนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีเกมอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาบ้าง หลายคนอาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยก็ถือเป็นชาติที่มีผู้พัฒนาเกมเหล่านี้อยู่ตลอดเช่นกัน

การ์ดเกมมาจากไหน แล้วทำไมถึงต้อง Online ?

เริ่มแรก เราก็ควรที่จะมองไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องกันก่อน ทำไมการ์ดเกมถึงต้อง Online ? แล้วในความเป็นจริงการ์ดเกมคืออะไร ?**

เรื่องนี้ต้องย้อนไปแต่ยุคโบราณตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้น มนุษย์นั้นได้คิดค้นวิธีที่จะเล่นสนุกกันมานานมากแล้ว แถมยังคิดกันออกมาได้หลายวิธี การ์ดเกม หรือ "เกมไพ่" (Card Game) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ประวัติของมันย้อนไปได้มากกว่า 1000 ปี โดยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าใครเป็นพวกแรกที่คิดค้นการเล่นนี้ขึ้นมา บ้างก็ว่ามีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน โดยพัฒนาจากเกมที่มีลักษะคล้ายโดมิโน่ บางก็ว่ากำเนิดจากเยอรมันไม่ก็อินเดีย ที่ซึ่งมีเกมไพ่ที่มีกติกาการเล่นคล้ายคลึงกัน

แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นทฤษฏีที่บอกว่า Poker กำเนิดในฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 15 เนื่องจากไพ่ที่ชื่อ "Pogue" มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Poker มาก ทั้งจำนวนไพ่ในสำรับ (52 ใบ) เท่ากัน จำนวนดอก 4 ชนิดเหมือนกัน และมีการใช้ศัพท์ในการเล่นที่คล้ายกันอีกด้วย ภายหลังJonathan H Green ได้นำ Poker ไปพัฒนาต่อที่อเมริกา จนกลายเป็นเกมที่โด่งดังไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกจะใช้ไพ่ Poker ในการเล่นเป็นหลัก ซึ่งโป๊กเกอร์เพียงสำรับ (Deck) เดียว ก็สามารถใช้เล่นในกติกาต่าง ๆ ได้นับสิบแบบ ส่วนใหญ่ใช้เล่นเพื่อผ่อนคลาย และการพนันของเหล่าชนชั้นสูง เกมไพ่ในช่วงแรกจึงจะยังไม่มีอะไรมากไปกว่ากระดาษที่มีสัญลักษณ์แทนแต้มต่าง ๆ เล่นกันโดยกติกาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากภาพด้านล่างนี้

ภาพ “The Card Players” โดย Theodoor Rombouts ศตวรรษที่ 17 แสดงให้เห็นว่าการเล่นไพ่นั้นมีมามากกว่า 400 แล้ว
ภาพ “The Card Players” โดย Theodoor Rombouts ศตวรรษที่ 17 แสดงให้เห็นว่าการเล่นไพ่นั้นมีมามากกว่า 400 แล้ว

เวลาล่วงเลยจนมาถึงยุค 90 Trading card (TC) หรือ "การ์ดสะสม" ก็ได้ถือกำเนินขึ้น โดยความหมายแล้วTC ถึงไพ่ขนาดเล็ก มักทำจากกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ที่แข็งแรงแต่น้ำหนักเบา มักแสดงรูปของคน/สัตว์/สิ่งของ หรือะไรก็ตามแล้วแต่ผู้ผลิต พร้อมคำอธิบายความสามารถหรือประวัติของการ์ดในนั้น ๆ นั่นทำให้ TC ยุคแรกจึงไม่ใช่การ์ดเกม เป็นของสะสมเพื่อให้แฟน ๆ เลือกซื้อไปเก็บเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง ภาพที่ถูกนำมาใช้มักเป็นวงการกีฬา โดยมักจะเป็นเบสบอลและบาสเกตบอล ภายหลังก็ได้มีการนำตัวละครในการ์ตูนชื่อดังมาทำเป็นคอลเล็กชั่นด้วย อย่างเช่น Marvel Comic ที่ก็เคยเอาจริงเอาจังกับสินค้าประเภทนี้อยู่เช่นกัน แน่นอนว่า TC ในช่วงนี้ไม่ได้ถูกออกมาให้ใช้สำหรับเล่น แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสะสมและซื้อ-ขาย ตามชื่อ "Trading Card" นั่นเอง

Trading Card ในช่วงแรก ๆ บางส่วนกลายเป็นของหายากและมีราคาสูงในปัจจุบัน
Trading Card ในช่วงแรก ๆ บางส่วนกลายเป็นของหายากและมีราคาสูงในปัจจุบัน

เมื่อโลกได้พัฒนาสู่ยุคใหม่ เกมการ์ดก็ถูกพัฒนาโดยใส่ความเป็นแฟนตาซี ใส่กฏกติกาต่าง ๆ ลงไป กลายเป็น Trading Card Game (TCG) หรือ Collectible Card Game (CCG) ทำให้คราวนี้ ตัวการ์ดนอกจากจะใช้สะสมได้แล้ว ยังสามารถใช้เล่นเหมือน Boardgame ได้ด้วย โดยมีผู้นำวงการคือ "Magic: The Gathering" (MGT) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "The First Trading Card Game" ในปี 1993 ออกแบบและควบคุมการสร้างโดย Richard Garfield ผู้ที่ภายหลังได้มีส่วนร่วมในการสร้างและออกแบบ Artifact เกมการ์ด Dota 2 อันเลื่องชื่อ MGT ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผู้เล่นกว่า 20 ล้านคนทั่วโลกในปี 2015 โดยมีการประมาณคร่าว ๆ ว่า ในปี 2008-2016 อันเป็นช่วงยุกทองของเกม ได้มีการ์ด MTG ถูกผลิตไปแล้วถึง 20 พันล้านใบ

Magic: The Gathering (1993)
Magic: The Gathering (1993)

สำหรับเหตุผลที่การ์ดเกมต่าง ๆ ต้องเข้าสู่โลก Online นั้นก็ง่ายมากระบบอินเตอร์เน็ตทำให้ทุกคนสามารถพบเจอกันได้แม้จะอยู่คนละซีกโลก จากเดิมที่ผู้เล่นจะต้องเดินทางมาพบหน้ากัน คราวนี้ผู้เล่นสามารถนั่งอยู่ในบ้านแต่จะเล่นกับใครก็ได้ที่ Online อยู่ อีกทั้ง มันยังเป็นช่องทางใหม่ของผู้พัฒนาที่จะขยายทั้งฐานผู้เล่นและขายสินค้าไปพร้อม ๆ กัน นี่เป็นทั้งโอกาสและอนาคตของวงการอย่างไม่ต้องสงสัย บรรดา TCG ทั้งหน้าเกมและหน้าใหม่ต่างทยอยสร้างเกมในโลกดิจิทัลขึ้นมาหวังครองตลาดเหนือคู่แข่ง แล้วยุคสมัยของ DCCG ก็เริ่มขึ้นนับจากนั้น

เกมการ์ด Online กลุ่มแรกของโลก

เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว TCG ก็ได้รับชื่อใหม่เป็น Digital Collectible Card Game (DCCG) หรือ Online Collectible Card Game (OCCG) จากข้อมูลที่มีอยู่ มี 5 เกมที่น่าจะเป็นผู้ริเริ่มของเกมประเภทนี้ ได้แก่

  • Magic: The Gathering (1997)
  • Chron X (1997)
  • Pokémon Trading Card Game (1998)
  • Yu-Gi-Oh! Duel Monsters (1998)
  • Sanctum (1998)

ซึ่งในรายชื่อนี้ Chron X ถือว่าเป็น DCCG แรกของโลกที่มีโหมด Online พัฒนาโดย Genetic Anomalies และเปิดตัวมาตั้งแต่พฤษภาคม 1997 โดยมีธีม Sci-fi อยู่ในโลกยุคใหม่ที่มีเทคโลโยยีและอาวุธทันสมัย ซึ่งจะดูแปลกตาจากเกมการ์ดทั่วไปที่เราพบเห็นในตอนนี้ ที่จะเป็นแนวแฟนตาซีเสียมากกว่า ตัวเกมมีการพัฒนาถึงปี 2005 ใน Act 3 ก่อนที่จะสิ้นสุดการเดินทางแลถถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีการอัปเดตเพิ่มเติมบ้างประปรายอยู่เรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันในชื่อ Chron X Final Century

หากใครอยากลอง หรืออยากสัมผัสกับเกมการ์ด Digital ตัวแรกของโลกนี้ดูซักครั้ง ก็สามารถเข้าชมได้ที่ Link ด้านล่างนี้ และยังสามารถ Download ทั้งแบบบอร์ดเกม และตัวเกมจริงของ Chron X ได้แบบฟรี ๆ อีกด้วย

Chron X (1997) เกมแรกของตระกูล DCCG ที่มีระบบ Mutiplayer แบบ Online
Chron X (1997) เกมแรกของตระกูล DCCG ที่มีระบบ Mutiplayer แบบ Online

https://www.facebook.com/ChronXHQ/videos/358424448419221/

แม้ว่า Chron X จะได้ตำแหน่ง "First Born" ไปในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างที่สุด คือเกมที่เปิดตัวช้าไปเพียงไม่กี่เดือนอย่าง Magic: The Gathering ที่ได้เปิดตัวการ์ดเกมแบบ Digital Online ในชื่อ Magic: The Gathering Online (MTGO) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2002 หรือกว่า 16 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ MTG Online จึงอาจถือได้ว่าเป็นเกมการ์ด Online เต็มรูปตัวแรกของโลกด้วยก็ว่าได้ เนื่องจากระบบ Online ของ Chron X จะถูกเรียกว่า Mutiplayer และตัวเกมก็ยังมีโหมด Single อยู่ จึงเป็นเหมือนกับเกมทั่วไปที่สามารถเล่นแบบหลายคนได้มากกว่า โดย MTG Online แทบจะยก MTG ของจริงมาไว้ในคอมพิวเตอร์ มีระบบการเล่นเหมือนกัน มีการ์ดครบทุกชุดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และผู้เล่นก็สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อการ์ดได้เหมือนของจริงด้วย

MTG Online (2002) ถือเป็น DCCG ที่ถูกสร้างเป็นเกมออนไลน์โดยเฉพาะตัวแรก ๆ ของโลก
MTG Online (2002) ถือเป็น DCCG ที่ถูกสร้างเป็นเกมออนไลน์โดยเฉพาะตัวแรก ๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของคนไทยเราแล้ว MTG Online ถือว่ายังมีบทบาทไม่มากนัก เพราะตัว MTG หลักเองก็เป็นที่รู้จักเพียงในวงแคบ ๆ เฉพาะผู้ที่เล่นการ์ดตามตัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น (เช่น กทม, เชียงใหม่, ชลบุรี) มิได้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศเหมือนกับการ์ดจากทางญี่ปุ่น และในช่วงนั้นกำลังเป็นยุคทองของเกม MMORPG, MOBA และ FPS ทำให้เกมประเภท TCG อาจไม่เป็นที่รู้จักเลยก็เป็นได้ อีกด้านหนึ่ง การเล่นเกมข้ามประเทศในตอนนั้นก็ยังทำได้ยากอีกด้วย

ในส่วนของตัวเกมเอง เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการ์ดที่มีมากขึ้นและเกมที่ซับซ้อนมากขึ้น จนเป็นปัญหากับผู้เล่นใหม่ ๆ ทางผู้พัฒนาจึงได้ออก "Magic the Gathering Arena" ขึ้นมาใหม่ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ MTG Online ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับการเล่นและผู้เล่นสมัยใหม่มากขึ้น Magic the Gathering Arena ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบ คาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้

Magic the Gathering Arena (คาดว่าจะเปิดตัว 2020) ยังคงเป็น MGT เหมือนเดิม แต่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้เล่นได้ง่ายขึ้น และะภาพรวมของเกมดีขึ้น
Magic the Gathering Arena (คาดว่าจะเปิดตัว 2020) ยังคงเป็น MGT เหมือนเดิม แต่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้เล่นได้ง่ายขึ้น และะภาพรวมของเกมดีขึ้น

เกมการ์ดของญี่ปุ่น

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เกมการ์ด Digital ทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาอย่างแต่เนื่องทุกปี โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ประเทศที่เริ่มพัฒนาในทุก ๆ ด้านหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวงการสื่อบันเทิงก็เป็นหนึ่งในนั้น ตลาดเกมในญี่ปุ่นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจินตนาการ และผู้คนที่ไฝ่หาความสุขจากสิ่งเหล่านั้น นี่จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเป็นอย่างมาก เกมการ์ดในช่วง 10 ปีต่อมานั้นจึงมีฐานการพัฒนาส่วนใหญ่จากประเทศนี้

หลังจากที่ Pokémon Trading Card Game และ Yu-Gi-Oh! Duel Monsters ออกมาเป็นสองเกมแรกในปี 1998 ทางค่ายเกมและค่ายการ์ตูนทั้งหลายต่างก็สร้างการ์ดเกมของตนออกมาอย่างพร้อมหน้า โดยมีรายใหญ่คือกลุ่มเกมการ์ดของ Final Fantasy, Dragon Quest และ Pokémon กับ Yu-Gi-Oh! อย่างไรก็ตาม เกมเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เกม Online อย่างเต็มรูปแบบแต่อย่างใด อย่างมากก็มีเพียงโหมด Mutiplayer ที่สามารถเล่นกันได้ในวงแคบ ๆ เท่านั้น

Pokémon Trading Card Game ของปี 2011
Pokémon Trading Card Game ของปี 2011
Yu-Gi-Oh! Online: Duel Accelerator (2010)
Yu-Gi-Oh! Online: Duel Accelerator (2010)

อีกประการหนึ่ง การเติบโตของการ์ดเกมในญี่ปุ่นนั้นเน้นไปที่ Browser based games, Mobile Game (รวมถึงเครื่องเกมพกพาทั้งหลาย) และ Arcade game ที่มีลูกค้าเป็นผู้เล่นในญี่ปุ่นเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การพัฒนานี้ไม่ได้ออกสู่สายตาชาวโลกมากเท่าไหร่นัก แม้แต่รายใหญ่อย่าง Yu-Gi-Oh! ซึ่งกว่าจะมีตัวเกมที่เป็นแบบ Online เต็มรูปแบบ ก็ต้องรอจนถึงปี 2005 ในชื่อ Yu-Gi-Oh! Online ที่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และปิดตัวไปในปี 2012

แต่ Konami ก็ได้พยายามอีกครั้งกับแฟรนไชส์นี้ในตลาดโลก ในปี 2014 Yu-Gi-Oh! Duel Generation ถูกปล่อยออกมา และเป็นเกมการ์ด Yu-Gi-Oh! เกมแรกที่ได้เปิดให้บริการในมือถือนอกประเทศญี่ปุ่น ตัวเกมยังคงรูปแบบการเล่นตามแบบการ์ดจริง และมีโหมดเนื้อเรื่องให้เล่นอีกด้วย ถือเป็นเกม Yu-Gi-Oh! ที่ตรงตามต้นฉบับบมากที่สุดที่เปิดเป็นเกม Online ของการ์ตูนชื่อดังเรื่องนี้

Yu-Gi-Oh! Duel Generation (2014) มีทั้งโหมดเนื้อเรื่อง และโหมด Online ให้เล่นในเกมเดียวกัน ตัวเกมใช้กติกาเหมือนกับการ์ดของจริงทุกประการ
Yu-Gi-Oh! Duel Generation (2014) มีทั้งโหมดเนื้อเรื่อง และโหมด Online ให้เล่นในเกมเดียวกัน ตัวเกมใช้กติกาเหมือนกับการ์ดของจริงทุกประการ

เกมการ์ดกระแสหลัก

ในปี 2016 Yu-Gi-Oh! Duel Links ก็ได้ออกมาเป็นทิศทางใหม่ของซีรี่ส์ โดยมีการลดขนาดของเกมลง ลดความซับซ้อน ปรับ/เพิ่มกติกาใหม่ จนได้กลายเป็นเกมการ์ดมือถือที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในจนถึงปัจจุบัน สามารถเล่นได้ทั้งในมือถือและ PC ซึ่งในปีที่ผ่านมา Duel Links ก็ได้เป็นหนึ่งในเกมมือถือที่ทำรายได้มากที่สุดของโลกอีกด้วย Dual Link นั้นประสบความสำเร็จมาก จนในตอนนี้ก็มีแพทช์ที่เพิ่มการ์ดใหม่ ๆ เข้ามาไม่ขาดสาย มีการแข่งขัน Esports ระดับนานาชาติทุกปี

Yu-Gi-Oh! Duel Links (2016) คือ Yu-Gi-Oh! ที่ถูกปรับกฏการเล่นใหม่ และได้รับความนิยมมาก
Yu-Gi-Oh! Duel Links (2016) คือ Yu-Gi-Oh! ที่ถูกปรับกฏการเล่นใหม่ และได้รับความนิยมมาก

สำหรับในส่วนของ PC เนื่องจากถูกกระแสของเกมแนวอื่น ๆ กลบทับจนมิด ทำให้เกมการ์ด Online ทั้งหลายจรึงแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยนับ 10 ปี จนกระทั่ง Blizzard ปล่อย Hearthstone ในปี 2014 ทำให้ผู้คนเริ่มหันกลับมามองเกมการ์ด Online กันอีกครั้ง

Hearthstone มีพื้นฐานมาจากเกมต่าง ๆ ของ Blizzard เอง ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขว้าง ทำให้เกมอื่น ๆ ในแบบเดียวกันขึ้นมากมายหลังจากนั้น เช่น Gwent: The Witcher Card Game,  The Elder Scrolls: Legends และ Shadowverse โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากข้อมูลของ Superdata ระบุว่า ในปี 2017 เกมการ์ดในตลาดสามารถทำเงินได้รวมกันถึง 1.7 พันล้านเหรียญฯ หรือกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท

Hearthstone (2014) กลายเป็นเกมที่เป็นตัวแทนของ DCCG ยุคใหม่
Hearthstone (2014) กลายเป็นเกมที่เป็นตัวแทนของ DCCG ยุคใหม่

สิ่งที่ว่ามานี้ ทำให้ Hearthstone ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของเกมการ์ด Digital ยุคใหม่ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ เกมการ์ดมักจะมีพื้นฐานมากจากการ์ดจริงที่มีอยู่ในโลก เพื่อที่ทางผู้พัฒนาจะได้ขายทั้งสองอย่างพร้อมกัน (เป็นแนวคิดหลักของเกมการ์ดจากทางญี่ปุ่น) เช่น Yu-gi-oh! และ Pokemon ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่างในการพัฒนา Hearthstone คือผู้ที่มาเหนือกฏเหล่านั้น ความสามารถต่าง ๆ ของการ์ด สามารถคิดและทำได้อย่างไม่จำกัด

ยกตัวอย่างเช่น การคำนวนสิ่งที่เป็นตัวเลข ที่พบเห็นมากที่สุดคือค่าพลัง ในเกมการ์ดของจริง ผู้เล่นจะต้องนับคะแนนและเทียบค่าพลังต่าง ๆ กันเอง หรือไม่ก็มีเครื่องมือบางอย่างในการช่วยนับ ทำให้ระบบของการ์ดไม่สามารถวางได้อย่างซับซ้อนมากได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เล่นโดยไม่จำเป็น แต่ปัญหานี้ไม่มีในเกมแบบ Digital เพราะคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้จดจำและคำนวนให้ทั้งหมด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Online Card Game ส่วนใหญ่จะสามารถเล่นได้แค่ในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมเท่านั้น ไม่สามารถผลิตออกมาเป็นการ์ดจริง ๆ ได้ เพราะความซับซ้อนของมันนั่นเอง  

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ Online Card Game อย่างเช่น Hearthstone ผู้เล่นจะไม่ได้เสียเงินเพื่อซื้อการ์ดโดยตรง แต่จะเป็นการเปิดคอนเทนต์ในเกมเพื่อให้ได้รับการ์ดจากการเล่นแทน ทุกคนสามารถเข้าถึงการ์ดได้ทุกใบอย่างเท่าเทียมกัน (แต่จะเร็วกว่าถ้าเติมเงิน) ไม่จำเป็นต้องเปิดหากันแบบในอดีตอีกต่อไป ตัวเกมยังมาพร้อมกับระบบการเล่นที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนทำให้เล่นได้ทุกเพศทุกวัยด้วย

Hearthstone ยืนหนึ่งในบรรดาเกมการ์ด Online ยุคใหม่ไปหลายปี ภายหลัง Valve จึงส่ง Artifact เกมการ์ด Dota 2 เข้าสู่สนามหวังเทียบชั้นด้วยเกมการเล่นที่ไม่เหมือนใคร พร้อมระบบ Trade ที่ว่ากันว่าจะมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้วงการ แต่ก็ตกม้าตายตั้งแต่เริ่มด้วยภาพรวมของเกมที่ไม่ดึงดูดใจ และยังต้องเสียเงินซื้อเกมอีกกว่า 600 บาท โดยมีผู้เล่นไม่ถึง 100 อยู่นานหลายเดือนจนต้องนำกลับไปแก้ใหม่ยกชุดและเตรียมจะกลับมาใหม่ในภา 2.0 ในอนาคต สามารถอ่าน Review: Artifact ของ GamingDose ได้ที่นี่

Artifact (2019) ถือเป็นอีกหนึ่งช้างล้มเบอร์ใหญ่ที่สุดของปีที่ผ่านมา
Artifact (2019) ถือเป็นอีกหนึ่งช้างล้มเบอร์ใหญ่ที่สุดของปีที่ผ่านมา

ในที่สุดหลังจากที่อยู่แบบไร้คนกวนใจนาน Hearthstone ก็ได้พบกับคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อเป็นครั้งแรก ด้วยการมาของLeague of Runeterra จาก Riot Game ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วใน League of Legends คราวนี้ไม่เหมือนกับ Artifact ผู้ปราชัย LoR มาพร้อมกับการเล่นและคุณภาพกราฟิกที่เหนือชั้น ระบบที่ทำให้เข้าถึงการ์ดทุกใบได้โดยง่ายพร้อมเนื้อเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้ได้รับความสนใจมาตั้งแต่เกมยังไม่เปิดให้บริการ สามารถรับชม Review ของเราได้ที่ Link ด้านล่างนี้

ปัจจุบัน ก็ถือเป็นเรื่องดีของเหล่าแฟน ๆ การ์ดเกม เพราะกระแสของ OCCG กำลังดีขึ้นตามลำดับ ทั้งจากคุณภาพของเกมที่พัฒนาขึ้นมาตลอด และการเสื่อมถอยของเกมกระแสหลักอื่น ๆ อย่าง MOBA และ FPS ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจเกมประเภทอื่น ๆ กันมากขึ้น อีกทั้ง ด้วยการที่การ์ดเกมมีลักษณะที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เล่นได้ทุกวัยและมีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ทำให้ง่ายต่อผู้สนับสนุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งในด้านการพัฒนา และการแข่งขันอย่างในระดับ Esports โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ก็เริ่มเปิดโอกาสมากขึ้นกับการแข่งขันเกม ด้วยเหตุนี้ก็คาดว่า ตลาดของการ์ดเกมน่าเติบโตได้มากขึ้นทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นทัวร์นาเมนต์การ์ดเกมที่มีเงินรางวัลสูงในระดับโลกเทียบชั้นกับ MOBA และ FPS ก็เป็นได้

League of Runeterra (2020) เกมการ์ดที่กำลังมาแรงที่สุดในปัจจุบัน
League of Runeterra (2020) เกมการ์ดที่กำลังมาแรงที่สุดในปัจจุบัน

เกมการ์ดโดยฝีมือคนไทย

ตามที่ได้กริ่นเอาไว้ในช่วงต้น ว่าที่จริงแล้วชาติไทยเราเองก็มีเกมการ์ดออกมาให้เล่นอยู่ตลอดเช่นกัน และทุกเกมก็ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกที่ควรค่าแก่การจดจำทั้งสิ้น จะมีเกมอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อม ๆ กันตามลำดับ

เริ่มแรก กับเกมการ์ด Online ฝีมือคนไทยที่ออกมาก่อนใคร"Arcana Advanced Online" หรือ Arcana Battle Card (ABC) เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วงที่ออกมานั้น มีจุดเด่นที่ภาพประกอบสวยที่สดใสต่างกับเกมการ์ดอื่น ๆ พร้อมคำอธิบายภาษาไทยอันเป็นมิตร ระบบการเล่นที่ซับซ้อนแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก Arcana จึงกลายเป็นเกมไทยเกมแรก ๆ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่เปิดตัวออกมา

น่าเสียดายที่ Arcana ไปต่อได้ไม่ไกลนัก ด้วยความแรงของ MOBA และ MMORPG ในช่วงนั้นถือว่าเป็นที่สุด เกมการ์ดจึงมีแต่ผู้ที่สนใจอย่างแท้จริงเท่านั้นที่ยังคงเล่นอยู่ Arcana ยุติการพัฒนาไปหลังจากยืนหยัดไปได้กว่า 3 ปี แต่ Digicraft ก็ยังเปิดให้บริการตัวอยู่อีกนานแม้ว่าจะมีผู้เล่นไม่ถึง 10 คน สุดท้าย ทั้งตัวเกมและเว็ปไซต์ก็ได้หายไปจากโลก Online อย่างเงียบ ๆ เหลือไว้เพียงความทรงจำดี ๆ และตำนานการเป็นเกมการ์ด Online เกมแรกของไทยเท่านั้น

Arcana Advanced Online (2005)
Arcana Advanced Online (2005)

https://youtu.be/HTXn4MOJuaU

ต่อมาไม่นาน Asiasoft ผู้ให้บริการอันดับ 1 ของไทยในขณะนั้น ได้ร่วมมือกับเกมการ์ดสัญชาติไทยชื่อดังเช่นกันอย่าง Summoner Master เพื่อสร้าง Summoner Master Online ซึ่งถือว่าเป็นที่ฮือฮามากในขณะนั้น เพราะ Summoner Master กำลังเริ่มมีกระแสในประเทศไทยพอดี ตัวเกมเปิดตัวในงาน Summoner Master Grand Open ครั้งที่ 12 ในปี 2008 โดยได้รับความสนใจจากทั้งเหล่า Summoner ที่เล่นเกมการ์ดหลักอยู่แล้ว และผู้คนที่อยากนร่วมสัมผัสกับผลงานของเพื่อนร่วมชาติที่น่าตื่นตานี้ ตัวเกมมีกติกาการเล่นเหมือนต้นฉบับทุกประการ แต่การ์ดบางในจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเกมนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าไม่มีขายในโลกแห่งความเป็นจริง จะต้องเล่น Summoner Master Online เท่านั้นถึงจะมีสิทธิเป็นเจ้าของได้

อย่างไรก็ดี Summoner Master เป็นเกมการ์ดที่มีความซับซ้อนมาก ด้วยเทคโนโลยีและฝีมือด้านการพัฒนาเกมของไทยเราในขณะนั้นจึงยังไม่สามารถสร้างสรรค์ตัวเกมได้อย่างสมบูรณ์ ผู้เล่นรายงานว่ามีบัคและอาการค้างบ่อยครั้ง จนนำไปสู่การปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวออีกคราว และในวันหนึ่ง ก็เป็นการประกาศปิด "แบบไม่มีกำหนด" ทั้งตัวเกมและเว็ปไซต์ก็ได้หายไปจากโลก Online แบบเงียบ ๆ เช่นเดียวกับ Arcana Advanced

ปัจจุบัน Summoner Master ยังพอมีความหวังที่จะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง จากผู้เล่นกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และทางผู้พัฒนายังคงทะยอยปล่อยการ์ดใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รอเพียงจังหวะเหมาะและการสนับสนุนที่ดี เชื่อว่าเราอาจจะได้เห็นการกลับมาของเกมในตำนานนี้อีกครั้งในอนาคต

Summoner Master Online (2008)
Summoner Master Online (2008)

https://youtu.be/1LhHQ4XxSJo

หลังการจากไปของ Summoner Master Online ในปี 2008 วงการเกมไทยก็แทบไม่มีเกมการ์ดปรากฏตัวออกมาอีกเลยนับสิบปี จนล่วงเข้าสู่ยุคใหม่ของเกมการ์ดที่เริ่มมีการพัฒนากฏและรูปแบบการเล่นที่แปลกใหม่มากขึ้น Commandeer จึงขอปลุกชีพวงการ์ดการ์ดเกมไทยอีกครั้งกับ Commandeer Armament โดย Commandeer ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการ์ดเกม ที่มีการนำระบบ Position เพิ่มเข้าเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของการ์ดเกมที่มักจะมีการเล่นเป็นเส้นตรงมากเกินไป ทำให้ผู้เล่นต้องใช้ทักษะและการคิดวิเคราะห์ที่มากขึ้นกว่าเกมการ์ดอื่น ๆ เพราะตำแหน่งที่ลงการ์ดเข้าไปในสนามนั้นมีผลเป็นอย่างมาก

Commandeer ยังได้นักวาดฝีมือดีชาวไทยมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานหลายคน ทำให้เป็นเหมือนกับแกลลอรี่ขนาดย่อม ๆ ของคนในวงการที่จะได้แสดงฝีมือและผลงานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นาน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2018 ก็มีการปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ และจนทุกวันนี้ก็ยังไม่เปิดให้บริการอีกครั้งแต่อย่างใด สามารถรับชมรายละเอียดและ Download เกมได้ที่นี่

Commandeer Armament เปิดตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 2018 ก่อนที่จะปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยยังสามารถ Download ได้ตามปรกติ
Commandeer Armament เปิดตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 2018 ก่อนที่จะปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยยังสามารถ Download ได้ตามปรกติ

ผ่านไปแล้ว 3 ดับไปแล้ว 1 และน่าเป็นห่วงอีก 2 ดูเหมือนว่าความหวังของวงการการ์ดเกม Online ของไทยจะดูริบหรี่เต็มที แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ปัจจุบันยังคงมีเกมการ์ดสัญชาติไทยเปิดให้บริการอยู่อย่างน้อย 2 เกม ในแฟลตฟอร์มมือถือที่เข้าถึงได้ทุกคน ได้แก่ KOS Online และ Athenion 

เริ่มจาก KOS Online กันก่อน ที่เปิดตัวเมื่อราว ๆ ปี 2018 เป็นเกมการ์ดที่พื้นฐานคล้ายกับ Chron X คือเป็นเกมการ์ดแนว Sci-fi ที่ดูแตกต่างกับรายอื่น ๆ พอสมควร มีการใช้ระบบ Lane ที่การ์ดสามารถเลื่อนขึ้นลงตามแถวในสนามได้ แต่รูปแบบการเล่นจะยังไม่ลื่นไหลนักเมื่อเทียบกับเกมการ์ดรายอื่น ๆ ในตลาด ตัวเกมมีการอัปเดตล่าสุดเมื่อราว ๆ 8 เดือนที่แล้ว แต่ก็ยังคงสามารถ Download ได้ตาม Store ของแต่ละระบบ โดยใช้ชื่อในการค้นหาว่า "KOS Trading Card Game" และยังคงเล่นได้ตามปรกติ

KOS Online (2018)
KOS Online (2018)

และแล้วก็มาถึงผลงานล่าสุดของชาติไทยเราอย่าง Athenion ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเกมการ์ด Online ของไทยที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วในขณะนี้ โดยมีลักษณะการเล่นเหมือน Commandeer แต่เข้าใจได้ง่ายกว่า การ์ดต่าง ๆ ถูกวาดขึ้นอย่างสวยงามและมีเสียงพากย์ครบทุกใบ ตัวเกมถูกสร้างเพื่อเปิดบริการในระดับนานาชาติ จึงมีให้เลือกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ราคาการ์ดในเกมถือว่าสมเหตุสมผลแม้ว่าการได้รับการ์ดจากยากไปบ้าง Meta ของเกมมีความสมดุลเป็นอย่างดี ไม่มี Deck หรือวิธีการเล่นแบบไหนที่ได้เปรียมจนเกินไปจนเกิดความไม่สมดุล สามารถชม Review Athenion ของ GamingDose ได้ที่นี่

Athenion (2019)
Athenion (2019)

https://youtu.be/06wIeUBmsBE

แม้ในวันนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงเกมจากฝีมือของคนในชาติครบทั้งหมด แต่นี่ก็คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการของไทยเรา ที่กำลังเริ่มฉายแสงแห่งความรุ่งเรืองออกมาทีละน้อย การ์ดเกมอาจไม่ใช่แถสหน้าในเวทีนี้ แต่ก็เป็นหนึ่วในผู้ร่วมผลักดันอย่างแข็งขันมาโดยตลอด เพียงแค่เราให้การสนับสนุน โดยไม่ใช่แค่การซื้อหรือเล่นเกมเหล่านี้เพียงอย่างเดียว กำลังใจและแรงพลักดันจากทุกคนก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องราวของ Card Game มิได้ถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวเช่นไร ความยิ่งใหญ่ของวงการเกมบ้านเราในอนาคตก็คงจะไม่สำเร็จในวันเดียวเช่นกัน ขอเพียงแค่พวกเราก้าวต่อไปด้วยกันจนถึงที่สุด วันแห่งความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลแน่นอน :D

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0