โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“โลว์คอสต์” ดิ้นปรับตัวรับแข่งดุ กระอัก “สงครามราคา” กดกำไร

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 06.19 น.

สถานการณ์การแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ในไทยขณะนี้ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ราคาตั๋วเครื่องบินเพื่อดึงดูดผู้โดยสารจนฉุดกำไรร่วง ทำให้สายการบินโลว์คอสต์ต้องเร่งปรับตัวด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่ในเส้นทางยอดนิยม รวมถึงการปรับปรุงบริการ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นแบบลูกผสม (ไฮบริด) ระหว่างสายการบินโลว์คอสต์กับฟูลเซอร์วิสมากยิ่งขึ้น

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้จัดการทั่วไปสายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า หลังจากไทยไลอ้อนแอร์เริ่มให้บริการเมื่อปลายปี 2556 หรือกว่า 5 ปีแล้ว ชูกลยุทธ์ราคาตั๋วถูก ขยายเส้นทางบินจนครอบคลุมเมืองหลักๆ ของไทย และบุกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะเส้นทางบินไปจีน ด้วยฝูงบินรวม 31 ลำในปัจจุบัน เตรียมรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-900 มาเพิ่มอีก 3 ลำเพื่อทดแทนโบอิ้ง 737 Max9 ที่ต้องยุติการบินชั่วคราว และเตรียมรับมอบแอร์บัส เอ330 นีโอ เพิ่มอีก 2 ลำในไตรมาส 3 ทำให้สิ้นปีนี้มีฝูงบิน 36 ลำ

ด้วยสถานการณ์แข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ที่รุนแรงทุกปี ส่งผลให้ไทยไลอ้อนแอร์ต้องปรับตัวในหลายๆ จุดเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำรายได้และกำไร

"เราจะเล่นกลยุทธ์ราคาอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว เพราะทุกสายการบินเล่นราคากันหมด ไทยไลอ้อนแอร์จึงมุ่งปรับตัวด้วยการปรับปรุงโปรดักท์และบริการให้ดีขึ้น"

ผ่านการเพิ่มตัวเลือกอาหารบนเครื่องบิน มีที่นั่งแบบพรีเมียมอีโคโนมีกับความบันเทิงบนเครื่อง (In-flight Entertainment) ในเส้นทางระหว่างประเทศ รวมถึงหารายได้เสริม ด้วยการจัดเก็บค่าใช้จ่ายน้ำหนักสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องเหมือนกับโมเดลของสายการบินโลว์คอสต์รายอื่น จากเดิมเคยให้ฟรี แต่จะแตกต่างตรงที่ไม่ได้จัดเก็บในราคาเหมารวม สามารถเลือกจ่ายตามจริงในราคาแบบขั้นบันได

ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจด้วยการทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่ไปญี่ปุ่น 4 เมืองหลักสู่โตเกียว ฟุกุโอกะ นาโกย่า และโอซากา ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 ถึง มี.ค.ที่ผ่านมา

"ความสามารถในการทำกำไรของสายการบินทั้งแบบโลว์คอสต์และฟูลเซอร์วิสถือว่าลดน้อยลง จากปัจจัยการแข่งขันรุนแรง ราคาน้ำมัน และกลยุทธ์ราคาที่ยังคงสู้กันดุเดือด ภายใต้ภาพรวมตลาดปีนี้ที่ถือว่าดีกว่าปีที่แล้ว ผู้โดยสารยังมีกระแสการเดินทางดี สำหรับโจทย์ของไทยไลอ้อนแอร์ปีนี้คือต้องทำกำไรให้ได้เป็นปีแรก"

ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในปีนี้ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม และขยายเครือข่ายเส้นทางสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป พร้อมคงสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายการบินโลว์คอสต์ในไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเป็นอันดับ 1

"เรามุ่งมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตอยู่เสมอ ทั้งในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อินเดีย เสริมทัพตลาดในประเทศและจีนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว รวมถึงการขยายเครือข่ายเส้นทางเชื่อมเมืองรองระหว่างประเทศมากขึ้น พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของฐานปฏิบัติการบินในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ตที่เห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเปิดฮับบินใหม่แห่งที่ 7 ที่เชียงรายเพื่อกระตุ้นศักยภาพตลาดใหม่ ผลักดันผู้โดยสารให้โตตามเป้าหมายที่ 23.15 ล้านคน จากฝูงบิน 63 ลำในสิ้นปีนี้"

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า การแข่งขันรุนแรงทำให้กำไรของสายการบินบางลง จึงต้องปรับตัวด้วยการลองเข้าไปทำธุรกิจในสนามใหม่ๆ ด้วยการจับมือกับพันธมิตร ล็อตเต้ บริษัทดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่จากเกาหลี ยื่นประมูลสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิและ 3 สนามบินในภูมิภาคของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

รวมถึงการร่วมกับพันธมิตร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน และผู้บริหารสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก วงเงินกว่า 2.9 แสนล้านบาท หนุนกลยุทธ์สร้างการเติบโตของรายได้ เสริมรายได้หลักอย่างธุรกิจสายการบินที่ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวาเหมือนเมื่อก่อน โดยปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโต 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในอัตราเดียวกับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.1-6.2 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการเปิดเสรีน่านฟ้าของไทย การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับการบิน) ของภูมิภาค รวมถึงแก้ไขกฎหมายการร่วมลงทุนสายการบินกับสายการบินต่างชาติจากสัดส่วนเดิม 70:30 เป็น 51:49 ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีการเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอสต์ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนเปิดสายการบินโลว์คอสต์สัญชาติไทยหลายราย

ไล่เรียงตั้งแต่ "ไทยแอร์เอเชีย" ก่อตั้งเมื่อปี 2546 เริ่มให้บริการเมื่อปี 2547 ภายใต้สโลแกน ใครๆ ก็บินได้จนถูกยกให้เป็นผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมการบินของไทย

โดยมีสายการบิน "นกแอร์" ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2547 ภายใต้กลยุทธ์ของการบินไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ต้องการให้นกแอร์สู้ศึกโลว์คอสต์ ก่อนการบินไทยจะคลอดสายการบินราคาประหยัด "ไทยสมายล์" ถือหุ้น 100% มาเพิ่ม เริ่มให้บริการเมื่อปี 2555

แต่นกแอร์กลับเจ็บหนักจากสงครามตัดราคา หลังสายการบินไลอ้อนแอร์ เจ้าตลาดการบินในประเทศอินโดนีเซียได้เข้ามาร่วมทุนเปิด "ไทยไลอ้อนแอร์" เริ่มให้บริการเมื่อปลายปี 2556 ใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฮับการบินเช่นเดียวกับนกแอร์และไทยแอร์เอเชีย

นอกจากไทยไลอ้อนแอร์แล้ว ยังมี "ไทยเวียตเจ็ท" จากการร่วมทุนของสายการบินเวียตเจ็ท บิ๊กโลว์คอสต์ในประเทศเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2557 ใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับการบิน เพื่อขยายเครือข่ายเส้นทางบินเชื่อมกับเครือเวียตเจ็ท อาศัยศักยภาพในการเติบโตจากฐานประชากรของทั้งไทยและเวียดนามที่ 70 ล้านคน และเกือบ 100 ล้านคนตามลำดับ

ขณะเดียวกันสายการบินโลว์คอสต์ที่มุ่งให้บริการเส้นทางระยะกลางและไกลอย่าง "ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์" และ "นกสกู๊ต" ก็ได้เริ่มให้บริการเมื่อปี 2557 และปี 2558 เน้นทำตลาดเส้นทางบินไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0