โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“โพธิญาณ” สงครามกับการแสดงบุญบารมีของพระเจ้าตาก ณ ศึกนางแก้ว

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 มิ.ย. 2566 เวลา 05.02 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2566 เวลา 23.00 น.
ภาพปก-นางแก้ว
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทหารเอกคู่พระทัยทั้งสี่ คือ หลวงราชเสน่หา (บุญมา หรือเจ้าพระยาสุรสีห์ ในเวลาต่อมา) หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก) พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา (พระยานครสวรรค์ ในเวลาต่อมา) ณ วัดเขาค่าง (เดิมชื่อ “เขาข้าง”) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวกันว่าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าโผนม้าที่สูงที่สุดในประเทศไทย ภูเขาด้านหลังเยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของถ้ำมรกตที่มีความเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาเมื่อคราวทำศึกนางแก้วกับพม่า ใน พ.ศ. 2317

ในจำนวนศึกสงครามกับพม่าสมัยธนบุรีกว่า 9 ครั้ง “ศึกนางแก้ว” (บางแห่งเรียก ศึกบางแก้ว) [1] หรือศึกที่บ้านนางแก้ว เมืองราชบุรี พ.ศ. 2317 (พื้นที่สมรภูมิครอบคลุมบริเวณตำบลนางแก้วและตำบลเขาชะงุ้ม ในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน) แม่ทัพใหญ่พม่าคืองุยอคุงหวุ่น นับเป็นศึกที่ดูแปลกแตกต่างจากศึกครั้งอื่นๆ

พระเจ้าตากทรงระดมกองทัพจากหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรมาล้อมค่ายพม่า ทั้งที่มีกำลังมากกว่าข้าศึก แต่กลับไม่เร่งระดมตีทัพพม่าให้แตกพ่ายไปโดยเร็วเหมือนอย่างศึกอื่นๆ ทรงให้ล้อมค่ายพม่าถึง 3 ชั้น ไว้อยู่นานถึง 47 วัน บีบให้พม่ายอมแพ้เองอย่างราบคาบ

ที่ผ่านมา ศึกนางแก้ว มักถูกเข้าใจว่าไม่ใช่ศึกสำคัญอะไร ศึกใหญ่กับพม่าในสมัยธนบุรีนั้นคือ ศึกอะตีญ์หวุ่นจี (หรือที่ไทยนิยมเรียก “อะแซหวุ่นกี้”) พ.ศ. 2318 [2] ซึ่งน่าสังเกตว่าการให้ความสำคัญกับศึกอะตีญ์หวุ่นจี มักแยกไม่ออกจากพระราชประวัติอันเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาจักรี มีเรื่องตำนานการขอดูตัวและคำทำนายทายทักของอะตีญ์หวุ่นจีต่อเจ้าพระยาจักรี เป็นต้น [3]

ขณะที่ศึกนางแก้วแสดงให้เห็นประเด็นสำคัญหลายอย่าง อาทิ พระปรีชาสามารถและภาวะผู้นำของพระเจ้าตาก เมืองราชบุรีในฐานะเส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่ และธนบุรีในฐานะศูนย์กลางราชอาณาจักรแทนที่อยุธยา ที่มามีผลเปลี่ยนลักษณะของสงครามระหว่างพม่ากับไทย

การใช้ยุทธวิธีตั้งค่ายปิดล้อมพม่าไว้ถึง 3 ชั้น ในศึกนางแก้วนั้น ได้รับการอธิบายตามความในพระราชพงศาวดารว่า เป็นเพราะพม่าดูถูกฝีมือไทย และตั้งอยู่ในความประมาทปล่อยให้ทัพไทยตั้งค่ายล้อมเอาได้ แต่สำหรับฝ่ายพม่า งุยอคุงหวุ่นคงได้รับคำสั่งมาให้ตั้งมั่นอยู่ที่บ้านนางแก้ว รอทัพใหญ่มาหนุนจากทางด้านด่านเจ้าขว้าว ดังนั้นแม้ว่ากองทัพธนบุรีจะยกมากันมากและปิดล้อมเอาไว้ การแหวกวงล้อมออกไปเสียตั้งแต่แรกก่อนที่จะถูกปิดล้อม จึงไม่ใช่สิ่งที่งุยอคุงหวุ่นจะกระทำได้

สำหรับพระเจ้าตาก ดูเหมือนการศึกครั้งนี้จะเป็นอะไรที่มีนัยยะมากไปกว่าการแก้แค้นตอบแทนพม่าที่เคยล้อมกรุงศรีอยุธยา หรือเพียงต้องการฟื้นขวัญกำลังใจของคนไทยให้ไม่หวาดกลัวพม่า เพราะการรบกับพม่าในยุคสมัยของพระเจ้าตาก ก่อนหน้านี้ล้วนแต่ได้ชัยชนะ ลุถึง พ.ศ. 2317 อันเป็นปีที่เกิดศึกนางแก้วนี้กล่าวได้ว่าขวัญกำลังใจชาวเมืองกลับฟื้นคืนมามากแล้ว

ข้อความในพระราชพงศาวดารยังซ่อนนัยยะ กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่าพระเจ้าตากทรงพยายามแสดงให้เห็นบุญบารมีของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้มุ่งหมายจะสำเร็จโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เหตุที่ให้ล้อมข้าศึกไว้ก็ด้วยมุ่งหวังจะให้พม่ายอมแพ้ ออกมาอ่อนน้อมต่อพระองค์ โดยไม่เสียเลือดเนื้อ แสดงพระเมตตาประดุจดั่งพระโพธิสัตว์ จึงดำรัสว่า “อันจะฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่จะเป็นบาปกรรมหาประโยชน์สิ่งใดไม่” [4] และ “เราทำสงครามใช่จะปรารถนาเอาทรัพย์สิ่งสินหามิได้ ตั้งใจจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และประชาราษฎรทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม” [5]

ข้อความส่วนนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเอกสารพม่า ก็พบว่าพระเจ้าตากได้แสดงพระราชปรารภในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น ในพระราชสาส์นที่ส่งไปยังพระเจ้าอังวะ เมื่อทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพมาตีธนบุรี มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “กรุงอังวะกับกรุงศรีอยุทธยานั้นเปนทองแผ่นเดียวกันไม่ควรยกพหุโยธาทัพมารบพุ่งกันให้ร้อนอกสมณะชีพราหมณ์อานาจารย์ราษฎรเลย เพราะฉนั้นขอพระองค์ทรงดำริห์ให้สมณะชีพราหมณ์อานาจารย์ราษฎรอยู่เย็นเปนศุขเทอญ” [6]

ดังนั้น จึงให้ประกาศแก่เหล่าแม่ทัพนายกองที่ตั้งล้อมค่ายพม่าอยู่นั้นว่า “ให้ขังพม่าไว้กว่าจะโซจึงเอาเข้า [ข้าว – ผู้อ้าง]ล่อเอา ถ้าพม่าเรรวนออกจากค่าย อย่าให้ชิงเอาค่าย แต่ให้รับรองไว้จงอย่าหยุด” [7] การให้รับรองพม่าที่ออกมายอมอ่อนน้อม คงสร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่เหล่าแม่ทัพนายกองพอสมควร เพราะเป็นข้าศึกสู้รบกันมา พระยาเพชรบุรีถึงกับกล่าวกับบ่าวไพร่ในสังกัดของตนว่า “ถ้าพม่ารบแหกค่ายออกได้รับรองมิหยุด เราจะพากันหนีข้ามเขากลับไปเมือง” [8]

ฝ่ายพม่าก็มองออกว่า การศึกสงครามที่สู้รบกันมาทั้งหมดนี้เป็นสงครามแข่งขันบารมีกันของสองพระมหากษัตริย์ ที่มาพลอยทำให้ไพร่พลทั้ง 2 ฝ่ายต้องเผชิญความทุกข์ยาก ดังปรากฏในสาส์นที่งุยอคุงหวุ่นเขียนใส่ใบตาลขดเป็นภาษาพุกาม ส่งถึงแม่ทัพนายกองฝ่ายไทย ก่อนจะขอยอมแพ้ออกจากค่ายล้อมมาให้ฝ่ายไทยจับกุม ก่อนจะอดตายกันในค่าย มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“พระเจ้าช้างเผือก ณ กรุงศรีอยุธยา มีบุญบารมีมากนัก พระราชอาณาจักรผ่านแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งปวง ฝ่ายพระเจ้าปราสาททอง ณ กรุงรัตนบุระอังวะก็มีบุญบารมีมากเป็นมหัศจรรย์ และพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่ายเป็นเวรแก่กัน ใช้ให้ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงมากระทำสงครามกับท่านอัครมหาเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาในครานี้ และข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่านๆ ล้อมไว้ จะพากันออกไปก็มิได้ จะหนีไปก็ขัดสนนัก

อันจะถึงแก่ความตายบัดนี้ใช่แต่ตัวข้าพเจ้านายทัพนายกองเท่านั้นหามิได้ จะตายสิ้นทั้งไพร่พลเป็นอันมาก และการสงครามแห่งพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่าย จักสำเร็จเสร็จสุดสิ้นแต่ครั้งนี้ก็หามิได้ ฝ่ายอัครมหาเสนาบดีกรุงไทยก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพระราชกำหนดกฎหมายพิชัยสงคราม ฝ่ายข้าพเจ้าก็เหมือนกันดุจถือดาบอาวุธไม้ค้อนไว้ทั้งมืออันสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาไว้ว่า ซึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละคนนี้ยากนัก ไฉนข้าพเจ้าทั้งปวงจะได้รอดชีวิตถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้น ก็สุดแต่ปัญญาท่านอัครมหาเสนาบดีนั้นเถิด” [9]

รวมระยะเวลาตั้งแต่พม่าถูกล้อมให้อดข้าวอดน้ำ ต้องขุดสระขุดบ่อในค่าย ฆ่าช้างฆ่าม้ากินประทังชีวิต จนกระทั่งเมื่อพบว่าคงไม่มีทัพใหญ่จากอะตีญ์หวุ่นจีหนุนมาช่วยพวกตนแล้ว จึงพากันยอมแพ้ เป็นเวลากว่า 47 วัน นับว่าสู้ศึกอย่างสมเกียรติทั้ง 2 ฝ่าย

แม้จะยอมแพ้ แต่นายทัพพม่าบางคน เช่น อุตมสิงหจอจัว ก็หาได้ไหว้อ่อนน้อมต่อผู้ใด ยกเว้นแต่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว พระเจ้าตากทรงสรรเสริญว่า “มิเสียทีเป็นขุนนางนายทหาร น้ำใจองอาจรักษายศมิได้เข็ดขามย่อท้อควรเป็นนายทหารเอก” [10] จึงให้ไว้ชีวิตและนำมาจำคุกไว้ที่ธนบุรีพร้อมกับแม่ทัพนายกองคนอื่นๆ

อีก 1 ปีต่อมา เมื่ออะตีญ์หวุ่นจียกทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระเจ้าตากให้ส่งคนไปถามงุยอคุงหวุ่นและอุตมสิงหจอจัวที่ถูกคุมขังอยู่นั้นว่า จะให้ไปช่วยรบกับพม่า จะยอมเข้าร่วมด้วยหรือไม่ งุยอคุงหวุ่นและอุตมสิงหจอจัวตอบกลับมาว่า ถ้าให้ไปรบกับข้าศึกอื่น ก็จะขออาสา แต่หากเป็นพม่าพวกเดียวกัน “มีความละอายนัก จนใจอยู่”

พระเจ้าตากเมื่อได้สดับรับฟังดังนั้นแล้ว ทรงดำรัสว่า “มันไม่ภักดีต่อเราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่ และเราจะยกไปการสงคราม ผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อย พวกมันมาก จะแหกคุกออกกระทำจลาจลแก่บ้านเมืองข้างหลัง” [11] จึงให้นำตัวไปประหารชีวิตพร้อมกับแม่ทัพของเจ้าพระฝางอีก 4 คน ณ วัดทองคลองบางกอกน้อย (วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนฯ ในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ เอกสารพม่าให้ข้อมูลต่างออกไปว่า ในศึกอะตีญ์หวุ่นจีตีหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น มีอดีตนายทัพพม่าชื่อ “งะกัน” ที่เคยยกทัพมารบกับไทยแต่ถูกจับเป็นเชลย ติดตามมาในกองทัพของพระเจ้าตากด้วย [12] พระเจ้าตากจึงทรงรู้ตื้นลึกหนาบางว่าทัพฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ในศึกนี้นั้นใครเป็นใคร ใครเป็นนาย ใครเป็นไพร่ กระทั่งภูมิหลัง เส้นสนกลใน และเรื่องราวเหตุการณ์ภายในต่างๆ ของเมืองพม่า

แต่ “งะกัน” ผู้นี้จะใช่คนเดียวกับ “งุยอคุงหวุ่น” หรือไม่นั้น ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดเท่าไรนัก แม้ว่าการประหารชีวิตศัตรูที่ยอมศิโรราบแล้วเช่นนั้น อีกทั้งยังเป็นศัตรูที่ทรงทุ่มเทกำลังอย่างมากในการทำให้ยอมจำนนและเกลี้ยกล่อมเข้าเป็นพวก ดูจะแปลกพิลึกอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหารนักโทษก่อนยกไปกระทำศึกในครั้งนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระในต้นรัตนโกสินทร์อีกต่างหาก

ในยุคที่ความเป็นชาติ-ชาตินิยมยังไม่มีผลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของคนมากมายดังเช่นในปัจจุบันนี้ ตรงข้ามเมื่อเป็นยุคที่สังคมอุษาคเนย์ตอนบนยังคงเชื่อในบุญบารมีแห่งองค์พระโพธิสัตว์และพญาจักรพรรดิราช การเปลี่ยนย้ายข้างหันมาสวามิภักดิ์ต่อผู้นำของอีกฝ่ายที่มีบุญญาธิการ ก็คงเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้อย่างเป็นปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกจับกุมและมีความจำเป็นที่ต้องเอาชีวิตรอดจากคมหอกคมดาบ ดังเช่นพม่ากลุ่มที่ยอมแพ้ต่อกองทัพของพระเจ้าตากเผชิญอยู่ในช่วง ศึกนางแก้ว หรือแม้แต่กลุ่มคนไทยที่ถูกจับกุมไปเป็นเชลยอยู่ในเมืองพม่าหลังสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้ง พ.ศ. 2310 เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] มีผู้สันนิษฐานว่าเดิมชื่อ “บางแก้ว” แล้วเปลี่ยนเป็น “นางแก้ว” หลังเสร็จศึก เพื่อเป็นเกียรติแด่กรมพระเทพามาตย์ ที่สิ้นพระชนม์ในขณะที่พระเจ้าตากยังทรงทำศึกติดพันอยู่ราชบุรี แต่คำว่า “นางแก้ว” อันหมายถึงหนึ่งในของวิเศษ 7 ชนิดของพญาจักรพรรดิราชนั้น ก็ไม่มีธรรมเนียมให้บ่งชี้ถึงนางผู้เป็นพระราชมารดา นางแก้วตามธรรมเนียมของอยุธยาจะหมายถึงพระมเหสีหรือไม่ก็พระสนมเอก

จากการพิจารณาข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ระบุชื่อสถานที่ พบว่าพระราชพงศาวดารทั้งฉบับเก่า (เช่น ฉบับพันจันทนุมาศ) ระบุเรียกว่า “บางนางแก้ว” (ดู พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่นๆ, น. 92-93) ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับชำระในต้นรัตนโกสินทร์ (เช่น ฉบับพระพนรัตน์หรือฉบับพิมพ์โดยหมอบรัดเล จนแม้แต่ฉบับพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 4) ต่างก็ระบุชื่อสถานที่ว่า “นางแก้ว” ทั้งสิ้น (ดู พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 379; ส่วนฉบับพระพนรัตน์หรือฉบับหมอบรัดเลนั้นเป็นฉบับที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงในบทความนี้มากแห่งอยู่แล้ว) คำว่า “บางแก้ว” เริ่มปรากฏจริงจังก็ในพระนิพนธ์เรื่องพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ดู พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า, น. 455)

ทั้งนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมิได้ระบุเหตุผลถึงการเปลี่ยนจากคำว่า “บางนางแก้ว” และ “นางแก้ว” (ในพระราชพงศาวดาร) มาเป็น “บางแก้ว” ในพระนิพนธ์ชิ้นดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด ชะรอยจะทรงเข้าใจว่าคำว่า “นางแก้ว” นั้นเป็นการเขียนผิดของผู้แต่งพระราชพงศาวดาร จึงทรงชำระโดยให้ใช้คำว่า “บางแก้ว” แทน เพราะคำว่า “นางแก้ว” ดูไม่ใช่ชื่อย่าน โดยที่ทรงมิได้มีโอกาสเสด็จมายังท้องถิ่น จึงอาจไม่ทรงทราบว่า “นางแก้ว” เป็นชื่อที่ใช้กันในท้องถิ่นสอดคล้องกับคำในพระราชพงศาวดาร

ดังนั้น คำว่า “บางแก้ว” จึงไม่สอดคล้องกับชื่อในท้องถิ่นซึ่งใช้คำว่า “นางแก้ว” สำหรับที่มาของชื่อ “บ้านนางแก้ว” นี้มีตำนานเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดนางแก้วและย่านชุมชน โดยระบุว่า “มีเศรษฐีท่านหนึ่งมีธิดา 2 คนๆ พี่ชื่อแก้วส่วนคนน้องชื่องาม ภายหลังเศรษฐีได้แบ่งที่ดินให้กับธิดาทั้งสองคน ที่ดินของวัดนางแก้วในปัจจุบันนี้เป็นของแก้วผู้เป็นพี่ ส่วนด้านตะวันตกของวัดนั้นเป็นของนางงามผู้น้อง (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าทุ่งนางงาม) ต่อมาเศรษฐีได้ถึงแก่กรรมลง นางแก้วกับนางงามไม่ปรากฏว่าได้แต่งงานหรือไม่ ซึ่งภายหลังนางแก้วผู้พี่ได้มีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้นในที่ดินของตน คนทั่วไปจึงเรียกชื่อวัดที่สร้างขึ้นว่าวัดนางแก้ว”

(https://taanijie.wordpress.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%881/)

จะเห็นได้ว่าเป็นตำนานบอกเล่าถึงผู้เป็นเจ้าของที่ดินในยุคแรกเริ่มก่อตั้งชุมชน เช่นเดียวกับตำนานไร่ยายยอง ที่เชื่อว่าเป็นที่มาหนึ่งของชื่อจังหวัดระยอง เป็นต้น ตำนานวัดนางแก้วนี้เล่ามานานพอสมควร ดังจะเห็นได้อย่างต่ำก็จากเอกสารรวบรวมประวัติสถานที่โดยคณะครูอาจารย์ในท้องถิ่นในเล่มของดีเมืองราชบุรี พิมพ์ พ.ศ. 2519 ก็กล่าวถึงตำนานนี้สอดคล้องกับข้อมูลตามเว็บไซต์ที่อ้างอิงข้างต้น ซึ่งได้ข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

ที่สำคัญจากข้อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ยังระบุถึงการมีอยู่ของ “วัดบางนางแก้ว” ก่อนพม่าจะเข้ามาตั้งค่าย โดยเมื่อตั้งค่ายขึ้นแล้วนั้น พม่าได้จับกุมเถรจวง พระภิกษุวัดบางนางแก้วไว้ด้วย เมื่อทัพไทยยกมาล้อมและอดน้ำอดอาหาร พม่าก็ได้ปล่อยตัวออกจากค่ายมาอยู่กับไทย (ดู พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่นๆ, น. 92)

ด้วยเหตุดังนั้นผู้เขียนจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ “บางแก้ว” จะใช้ “บ้านนางแก้ว” และ “ศึกนางแก้ว” ตามชื่อเรียกในท้องถิ่นและตามพระราชพงศาวดาร ส่วนเอกสารพม่า เช่น มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่าระบุชื่อเรียกย่านตำบลเขาชะงุ้มที่หม่องจายิดไปตั้งค่ายว่า “ตำบลท่าไร่” และเรียกตำบลบ้านนางแก้วที่งุยอคุงหวุ่นมาตั้งค่ายว่า “ท่ากระดาน” ซึ่งก็ดูจะพ้องกับ “ทุ่งนางงาม” ที่อยู่ติดกันตามชื่อเรียกในท้องถิ่น (มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 280-282) ที่สำคัญนอกจากนี้ยังมีเอกสารพม่าอีกชิ้นที่ระบุเรียกย่านนี้ด้วยคำว่า “เขานางแก้ว” โดยตรงอีกด้วย [พงศาวดารมอญพม่า (คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ 1). (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2520), น. 82].

[2] อาจารย์สิทธิพร เนตรนิยม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพม่า ได้กรุณาให้ข้อมูลแก่ผู้เขียนว่า ชื่อที่ถูกต้องตามคำภาษาพม่าจะตรงกับ “อะตีญ์หวุ่นจี มหาสีหะสุระ” เป็นชื่อตำแหน่งขุนนางระดับเสนาบดีเจ้ากรมพลเรือน แต่ไทยนิยมเรียกว่า “อะแซหวุ่นกี้” เสียจนชินไปเท่านั้น

[3] วริศรา ตั้งค้าวานิช. “ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และอนุสาวรีย์ในเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2561), น. 68-97.

[4] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 90.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 92-93.

[6] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 291.

[7] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, น. 83.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 86.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 85-86.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 89-90.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 88-89.

[12] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 291.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตาก กับ ‘ศึกนางแก้ว’ เมืองราชบุรี” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0