โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” มาเรียนรู้เทคนิคการควบคุม “อารมณ์โกรธ” ด้วยตัวคุณเอง

tvpoolonline.com

เผยแพร่ 07 พ.ย. 2559 เวลา 07.21 น. • TV Pool
“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” มาเรียนรู้เทคนิคการควบคุม “อารมณ์โกรธ” ด้วยตัวคุณเอง

“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” วลีนี้มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยคนที่มีอารมณ์โกรธและโมโหจนไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ได้ ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบัน ดูเหมือนเราจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดความโกรธได้ง่ายเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องงาน และความไม่ได้ดั่งใจของคนในบ้าน

วันนี้มีคำแนะนำดี ๆ จาก พิทยา ผึ่งกรรฐ์ นักจิตวิทยาโรงพยาบาลมนารมย์มาฝากกัน โดยเธอเริ่มต้นบอกถึงพิษของความโกรธว่า มีแนวโน้มแสดงออกได้ทั้งแบบก้าวร้าวต่อตนเอง และก้าวร้าวต่อผู้อื่น หากไม่เข้าใจไม่ยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้นและเก็บกดไว้ความโกรธยังไม่หายไปไหน และกลับมาเป็นความก้าวร้าวกับตนเองได้

ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งอาจไม่พอใจเจ้านาย และแสดงพฤติกรรมในทางที่ทำให้เกิดผลเสียต่อตนเองได้ อาทิ การมาทำงานสายการไม่ส่งงานการนอนมากเกินไปจนมาทำงานไม่ทันหรือการแสดงออกในแบบก้าวร้าวซึ่งอาจส่งผลให้ถูกออกจากงานได้หรือทำให้เกิดปัญหาในการทำงานซึ่งทำให้เป้าหมายในชีวิตไม่เป็นตามที่ตั้งใจไว้

นอกจากนี้ การก้าวร้าวกับผู้อื่นมีผลให้สูญเสียความสัมพันธ์ เสียภาพพจน์หรือเสียชื่อเสียงขาดความน่าเชื่อถือหรือหากรุนแรงมากเกิดทำร้ายกันก็ทำสูญเสียทั้งร่างกาย และทรัพย์สินได้

ดังนั้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้อ่านฉุดตัวเองออกจากวงจรความโกรธ นักจิตวิทยาท่านนี้ ได้แนะเทคนิคไว้ 9 ข้อดังต่อไปนี้ เริ่มจาก

  • ตระหนักรู้อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น ร่างกายของคุณมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หัวใจเต้นมากขึ้น รู้สึกร้อนๆ บริเวณใบหน้า การหายใจสั้นลง

  • ยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้น ช่วยให้ความโกรธลดลงเพราะการยอมรับทำให้ความโกรธลดลงอันนี้ต้องลองทำกันดูหากเรายิ่งโทษสิ่งแวดล้อมแน่นอนว่ามีปัจจัยต่างๆที่ทำให้โกรธแต่เราอาจมีประสบการณ์ว่ายิ่งเราหาคนมารับผิดชอบกับความรู้สึกของเราความโกรธก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

  • หายใจเข้าออกลึก ๆ ผ่อนคลายตนเอง อาจเป็นการพูดคุยระบายกับคนที่คุณไว้ใจ หรือหากหาคนรู้ใจไม่ได้ ก็หาทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว

  • รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อย่าหวั่นไหวกับความเห็นของผู้อื่น หรือรู้สึกด้อย

  • ใช้ I message บอกกับคู่สนทนาว่า คุณคิดอย่างไร “ดิฉันคิดว่า…” “ดิฉันอยากเสนอว่า….” หรือ “ขอเสนอความเห็นว่า….”

  • ดำเนินการสนทนาไปเรื่อย ๆ

  • หากรู้สึกควบคุมไม่ได้ ให้ออกมาจากสถานการณ์นั้นก่อน และควรขอตัวคู่สนทนา อาจบอกวันนี้ขอคุยเรื่องนี้เพียงเท่านี้ก่อน

  • ปรับเปลี่ยนความคิด คิดแบบใดก็ได้ที่ทำให้โกรธน้อยลงการขัดแย้งหลายครั้งก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพราะความโกธรที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์ทำให้เรารับรู้ว่าเราถูกล่วงละเมิดสิทธิเกิดอันตรายทัศนคติที่ดีของพ่อแม่ที่มีต่อความโกรธสามารถมีผลต่อวิธีการเลี้ยงลูกเมื่อเห็นลูกโกรธแล้วทำลายข้าวของให้ถือเป็นโอกาสสอนลูกว่าตอนนี้เขากำลังโกรธลองพาลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สร้างสรรค์แทน

  • หลีกเลี่ยงการนินทา เพราะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้งมากขึ้น

ที่มา – Life & Family

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0