โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เราต้องมีเงินเพื่อที่จะได้รับความยุติธรรม” คุยกับ ติน วรัญญู ผู้รอดชีวิตจากคดีแพรวา

The MATTER

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 02.44 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 09.41 น. • Pulse

คดี 'แพรวา' กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากผ่านไปแล้ว 9 ปี แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้วในชั้นฎีกาทั้งคดีอาญาและแพ่ง หากแต่ประเด็นการพูดถึงยังคงมีขึ้นอย่างกว้างขวาง

หนึ่งในนั้นคือข้อความชุดหนึ่งจาก 'ติน' วรัญญู เกตุชู หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อ 9 ปีก่อนผ่านทางทวิตเตอร์ เขายืนยันกับเราหลายต่อหลายครั้งในระหว่างที่พูดคุยกันว่า ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดต่อจำเลยในคดีนี้ เหตุผลที่เขาต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ก็เพื่อทวงถามความรับผิดชอบจากครอบครัวของจำเลย

เรามีนัดกับตินในบ่ายวันที่หลังจากข่าวนี้กลายเป็นวาระใหญ่ของสังคมไม่นาน กับบทสนทนาถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ทั้งสิ่งที่เกิดระหว่างการฟ้องร้องคดี การไกล่เกลี่ย และชวนตั้งคำถามถึง ‘ต้นทุน’ ที่คนในสังคมไทยเราต้องมีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

วันนั้นช่วงเย็นก่อนเกิดเหตุ คุณทำอะไรอยู่

อ่านหนังสืออยู่ห้อง อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพราะมันเป็นช่วงสอบกลางภาค

กลับบ้านด้วยเส้นทางนั้นเป็นปกติอยู่แล้วรึเปล่า

ใช่ เราไปกลับเส้นนั้นทุกวัน ช่วงนั้นก็จะกลับเวลาค่ำๆ ดึกๆ เพราะอ่านหนังสือช่วงสอบ บางทีก็กลับแท็กซี่แทนบ้าง

ก่อนหน้านั้นรู้สึกยังไงกับการเดินทางบนรถตู้บ้าง

ไม่มีความกลัวเลยนะ เรากลับรู้สึกปลอดภัยด้วยนะ เพราะมันเป็นรถตู้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัย ที่น่าจะมีการคัดกรองจากเรื่องสัปทานมาแล้วบ้าง เราเคยได้ยินการการันตีว่า มันเป็นรถตู้ที่เปิดประตูได้สองฝั่งสำหรับเวลาที่เกิดปัญหาด้วยเหมือนกัน

ยังจำคนบนรถตู้ได้บ้างไหม

ไม่ค่อยได้เลย จำได้แค่ ดร.เป็ด (หนึ่งในผู้เสียชีวิต) เพราะเขานั่งในแถวที่สอง ซึ่งตอนแรกเราก็จะไปนั่งตรงแถวนั้น

ตอนเกิดเหตุจำอะไรได้บ้าง เอาเท่าที่สบายใจที่จะเล่านะ

ตอนแรกคือหลับอยู่บนรถ แต่ตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงคนกรี๊ด หลังจากนั้นรถก็ชนอีกรอบ เพราะก่อนหน้านั้นมีการชนไปแล้วรอบนึง

โชคดีอย่างหนึ่งที่ตอนนั้นเราไม่รู้สึกเจ็บ ทั้งที่เรากระดูกหักไปแล้ว อาจจะเพราะตกใจ ในหัวเรามันเบลอไปหมด มันเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเลยนะ เห็นควันหมอกอะไรไม่รู้เต็มไปหมด ตอนแรกเราสลบลงไปในรถ พอรู้สึกตัวก็เดินออกมาข้างนอกรถแล้วไปนั่งลงตรงข้างทาง ตอนนั้นรถยังวิ่งสวนมาอยู่เลย

รู้ตัวว่าอาการเราสาหัสจริงๆ ตอนไหน

ตอนแรกเราไม่รู้เลยนะ คิดด้วยว่าถ้าอาการดีขึ้นพรุ่งนี้ก็จะกลับไปสอบ แต่กลายเป็นว่า ตอนที่เราเห็นกระดูกมันออกมาจากเข่าตัวเอง หมอเดินมาแล้วบอกว่า ผ่าตัดทีเดียวเลยนะ เพราะไหลปลาร้าหัก เข่าแตก แขนหัก ระหว่างนั้นหมอก็เดินมาถามอีกรอบนึงว่าทนไหวไหม เพราะหมอเขาต้องไปช่วยคนอื่นที่เจ็บหนักกว่าเราก่อน หรือจะย้ายโรงพยาบาลรึเปล่า เราตอบไปว่าไม่เป็นไร หมอไปช่วยคนอื่นก่อนได้เลย หลังจากนั้นเขาก็เอาน้ำเกลือราดตัวเรา ใส่ผ้าพันแผลให้เราทั้งตัว ตอนนั้นแหละที่รู้แล้วว่าอาการหนักจริงๆ เรารู้สึกทรมานที่สุดในชีวิตตอนหลังผ่าตัด ผมแค่หายใจยังเจ็บเลย มันเจ็บทั้งตัว ท่อนล่างของผมขยับไม่ได้ เครียดว่าเขาต้องตัดขาของเรารึเปล่า

ตอนที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน ได้รู้สถานการณ์อะไรบ้าง

ยังไม่รู้ รู้แค่ว่ามีคนเจ็บหนัก เราโทรหาที่บ้าน เขาก็ยังไม่คิดเลยว่าเราจะเจ็บหนัก เพราะคิดว่าเป็นแค่เหตุรถชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ที่อย่างมากก็หัวแตก ตอนนั้นก็เริ่มมีเพื่อนมาหาเราบ้างแล้ว

เรายังหันไปเจอน้องคนขับเขาเลย ซึ่งตอนนั้นไม่รู้นะว่าเขาเป็นคนขับ เรายังคิดเลยว่าเขาโชคดีจังที่ไม่ได้เจ็บอะไรเลย เราบอกเพื่อนเลยว่า ไปถามเขาหน่อยสิว่าพ่อแม่มารึยัง

หลังจากนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เริ่มมากันละ ทั้งอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (รองอธิการบดี) อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ (อธิบการบดี ณ ขณะนั้น) เราก็เริ่มคิดได้ว่านี่มันเรื่องใหญ่

ครอบครัวมาหาตอนไหน

แม่มาตอนรุ่งเช้า เพราะแม่อยู่ต่างจังหวัดแล้วเครื่องบินช่วงกลางดึกไม่มีแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นก็มีข่าวออกมาว่าเราเสียชีวิต แม่ก็เลยเป็นลมที่สนามบินไปรอบนึง ส่วนญาติที่กรุงเทพฯ ก็มาด้วยเหมือนกัน เราก็บอกว่าไม่เป็นไรๆ แต่จะมารู้สึกว่ามันเจ็บจริงๆ คือหลังผ่าตัดไปสักพักเพราะยามันหมด หมอไม่สามารถฉีดมอร์ฟีนให้เราได้อีก เนื่องจากมันเกินปริมาณแล้ว ตอนนั้นเราเจ็บมากแบบว่าไม่ไหวแล้ว

รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานแค่ไหน

ราวๆ สามเดือน แต่ถ้าเคลื่อนไหวไม่ได้เลยคือประมาณสองเดือน ขับถ่ายบนเตียง อ่านหนังสือบนเตียง โชคดีที่มหาวิทยาลัยบอกว่า ถ้าไปสอบได้ก็ให้ไปสอบ วันไหนมีสอบเราเลยนั่งรถเข็นไปสอบ คืออยากจบพร้อมเพื่อน

ช่วงอยู่โรงพยาบาลมันทรมานยังไงบ้าง

มันหงุดหงิดนะ เพราะเราอยากเข้าห้องน้ำก็ต้องเรียกคนอื่น แขนข้างซ้ายก็ดามเหล็กอยู่ขยับไปไหนไม่ได้ ส่วนแขนขวาก็หัก โชคดีอย่างนึงคือเรามีเพื่อนที่โอเค มีกลุ่มเพื่อนที่สลับมาหาเราทุกวัน แม่ผมเป็นคนที่อ่อนไหวมาก เลยไม่อยากอ่อนไหวใส่เขาให้ดาวน์ไปมากกว่านี้

ตอนนั้นรู้สึกกับคนขับรถที่มาชนยังไง

เอาจริงๆ เราไม่โกรธเลย เพราะมาคิดอีกที ถ้าเขาเลือกได้เขาคงไม่อยากมาขับรถชนเราหรอก คือถ้าเรายังโกรธเขาเราก็คงจะ move on ไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นในมุมของคนที่รอดชีวิต กับคนที่สูญเสียไปมันต่างกันนะ สำหรับคนที่สูญเสียเขาก็อาจจะ move ต่อไปไม่ได้เหมือนกัน

มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะมองแพรวาในมิติที่เรามองได้ แต่อันนี้ที่เราต้องจัดการอารมณ์เพราะเราต้องอยู่รอด แล้วเราก็ต้องไปสอบต่อ เรากลัวว่าจะไปเรียนไม่ทันเพื่อนด้วย

ตอนอยู่โรงพยาบาลได้เจอคนขับรถที่มาชนไหม

เขามาที่ห้อง มากับแม่ แล้วก็ช่างภาพของเขาที่มาถ่ายรูป คุณแม่เขามาขอโทษ บอกว่าลูกสาวเขาก็ทรมาน เราก็เข้าใจแหละเพราะเขาก็เป็นมนุษย์ที่จะไม่รู้ผิดเลยก็คงไม่ใช่ แต่เขาก็ไม่ได้พูดอะไร จนแม่เขาบอกว่า “ขอโทษพี่เขาสิลูก” เขาก็เลยพูดขอโทษ ซึ่งตอนนั้นเราก็เข้าใจเขานะ เพราะเป็นเราก็อาจจะจัดการความรู้สึกไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้โกรธเขาแล้วนะ เราคิดด้วยซ้ำว่าการขอโทษครั้งนี้มันจะทำให้คดีความมันลุล่วงไปในทางที่ดี

หลังจากนั้นได้เจอกันอีกรึเปล่า

เจอกันแค่ในศาลคดีอาญาแล้วก็เป็นศาลชั้นต้นด้วย ซึ่งก็ผ่านไปแล้วประมาณปีสองปี ระหว่างนั้นเราพยายามที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนมาถึงวันเปิดคำพิพากษาที่ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัว

การเริ่มต้นคดีมันเกิดขึ้นได้ยังไงบ้าง

ตอนนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพให้กับผู้เสียหายทุกคน รวมถึงกับรถตู้ด้วยนะ แม้ว่าตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ารถตู้ผิดหรือถูก ทางมหาวิทยาลัยก็จะดูแลเรื่องทนายให้ ซึ่งสุดท้ายพอสืบพยานแล้วรถตู้ก็ไม่ผิด

เข้าใจว่าคดีอาญามันยอมความกันไม่ได้ แต่ในคดีแพ่งล่ะ มีการไกล่เกลี่ยอะไรเกิดขึ้นยังไง

ไม่มีกระบวนการนั้นจนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายนถึงมีนาคมที่ผ่านมา พอใกล้จะเปิดเผยคำพิพาษาของศาลฎีกาแล้ว เขาถึงจะติดต่อมา มันเป็นการพูดคุยกันผ่านทนายไม่ใช่พ่อแม่ของเขา

การคุยครั้งนั้นมันบั่นทอนมาก ไม่ได้รู้สึกเลยว่านี่คือการไกล่เกลี่ย มันเหมือนการมายอมๆ กันเฉยๆ เราเคยพยายามให้มีการเจรจากันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ช่วงเริ่มฟ้อง แต่สุดท้ายก็มีการเชิญให้เราเข้ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ในตอนที่จะต้องเปิดคำพิพากษาแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้มันควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เขาก็เพิกเฉยเรามาตั้งแต่ต้น

มีคำพูดว่าเขาโดนสังคมประณามมามากพอแล้ว แต่เราก็โดนความเจ็บปวดมากเหมือนกัน เราไปไหนก็มีแต่คนถามเรื่องรอยแผลบนแขนข้างขวา เราต้องเล่าเรื่องนี้ในวงเหล้าซ้ำๆ มันคือเรื่องเดิม เรื่องซ้ำๆ ที่ต้องเจ็บปวดตอนเล่าแบบเดิมๆ

สุดท้ายศาลอาญาก็พิพากษาว่าเขาผิด แล้วก็ให้รอลงอาญา

เขาก็อุทธรณ์ต่อ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเขาจะอุทธรณ์ จากนั้นก็ไม่เคยคุยกันอีกเลย จนเราเอาผลของคดีอาญาที่จบชั้นฎีกาไปฟ้องคดีแพ่ง พอเริ่มฟ้องแพ่ง พวกเราก็พยายามเสนอให้มีการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่มีอะไรขึ้น จนศาลชั้นต้นบอกให้จำเลยจ่ายเงินชดเชย ในข้ออุทธรณ์เขาเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า เขาไม่ได้ประวิงเวลานะ ทั้งที่เวลามันผ่านไปแล้วหกปี เราเข้าใจว่าเขาเป็นจำเลย เราก็ให้โอกาสเขา มันก็เลยลากยาวมาทั้งหมดกว่าเก้าปี

จนมาถึงก่อนเดือนพฤษภาคมที่ต้องเปิดคำพิพากษา เขาก็ชวนเราไปไกล่เกลี่ย เราก็ไป เราบอกแม่เลยว่าถ้าเขาให้เท่าไหร่ก็เอา เพราะเราเหนื่อยแล้ว เรารู้สึกว่าตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว เรารู้สึกว่าเงินที่เราออกไปเองทั้งค่ารักษาพยาบาล เงินที่เกี่ยวกับการทำคดีต่างๆ เราว่ามันสูญเปล่าแล้ว

จำได้ไหมว่าเสียเงินไปเท่าไหร่

เยอะมาก หลายแสนเลย ไม่นับที่แม่ต้องหยุดงานหลายเดือนด้วยนะ ไม่นับค่าเสียโอกาสของตัวเราเอง ในส่วนที่เราฟ้องศาลไปเรื่องเกี่ยวกับแม่ แม่เราได้เงินมาแค่สี่พันบาทเอง เรายังยอมรับเลย เราไม่อุทธรณ์ด้วยนะ แต่เขากลับเอาของเราอุทธรณ์ไปเรื่อยๆ

ในช่วงระหว่างไกล่เกลี่ยกัน เคยมีผู้ใหญ่คนนึงพูดว่า วันนี้ก็ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรม ถือว่าชาติที่แล้วอาจไปแย่งหอยแครงกันกิน คืออะไรก็ไม่รู้

เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องเวรกรรมเลยนะ คดีนี้มันสะท้อนได้หลายอย่างมาก รวมไปถึงเรื่องสถาบันครอบครัว และการปล่อยให้เด็กที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์มาขับรถได้ยังไง ใครหัดให้ พ่อแม่ไม่รู้เหรอว่าลูกคุณขับรถ พ่อแม่ก็ต้องรู้

หลังจากนั้นคือเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราไม่ได้โทษเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ที่หลังจากนั้นก็มีการล้อมคอกกันมา เราเลยรู้สึกว่าไม่ใช่เวรกรรม แต่มันคือโครงสร้างสังคมที่มันเบี้ยว คนที่รับผลกระทบก็คือชาวบ้านนี่แหละ แต่บางคนก็ชอบไปโทษว่ามันคือเรื่องเวรกรรม

ลองคิดดูว่าเราจะรู้สึกยังไง ในเวลาที่เรากำลังวิ่งหากระบวนการยุติธรรม แต่มีคนมาบอกว่าสุดท้ายแล้วเรื่องพวกนี้คือเวรกรรม เราไปไม่ถูกเลย พอเราได้ยินเรื่องแบบนี้เรื่อยๆ เราก็เริ่มหมดหวังนะ เราสู้คดีมาเก้าปีเพื่อมาเจอคำว่าเวรกรรม

แล้วพอมาถึงตอนยื่นข้อเสนอเพื่อไกล่เกลี่ยกันในรอบหลัง มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

พอมาถึงตอนยื่นข้อเสนอที่เป็นเงินซึ่งน้อยกว่าที่ศาลสั่งมานิดหน่อย เราก็โอเค ไม่ว่าอะไรเลย ไม่ต่อรองอะไรเลย เราอยากจบเพราะเราเหนื่อยแล้ว ทีนี้เขาก็จะนัดมาเซ็นเอกสารกันอีกที แต่กลายเป็นว่า เขาก็บอกว่า สี่แสนบาทที่จะให้ ไม่ให้แล้วนะ ให้แค่สองแสน เพราะมีเท่านี้ เขาพูดด้วยว่า คุณจะเอาไหม ถ้าไม่เอาก็คือจบ ต้องไปฟ้องล้มละลายหรือไปให้บังคับคดีต่อเอา ซึ่งก็อาจจะไม่ได้อะไรหรอก

หลังจากได้ยินที่เขาพูด เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่แล้ว เราไม่ใช่ผักปลาที่คุณจะมาต่อรองอะไร กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นสิ่งที่บั่นทอนเหยื่อมากเลย มันทำให้เราเหนื่อย คุยกันมาตั้งหลายรอบ สุดท้ายคนที่เหนื่อยคือคนที่ถูกกระทำ แล้วเราก็จะต้องยอมๆ ไปเพราะว่าเราเหนื่อยแล้ว

จากที่ได้คุยกับครอบครัวอื่นๆ เขารู้สึกยังไงบ้าง

ครอบครัวอื่นก็ไม่เอาข้อเสนอนั้น ไม่มีใครเอา การไกล่เกลี่ยครั้งนั้นก็คือพังไปเลย คือเราตั้งใจไว้แล้วว่าเราอยากจบ ถ้าเขาให้เราแค่สองแสนในตอนแรก เราก็เอานะ ให้บาทเดียวก็เอา แต่มันต้องไม่ใช่การมาต่อรองอะไรแบบนี้อีกแล้ว

เรารู้สึกว่าชีวิตคนเรามันจะลดราคาลงไม่ได้ เราอาจจะยังมีชีวิตอยู่นะ แต่คนที่เสียชีวิตไปแล้วล่ะ อย่างคุณแม่ของ ดร.เป็ด ก็เหลือตัวคนเดียว คุณแม่ของพี่ตรอง (อีกหนึ่งผู้เสียชีวิต) เขาก็เหลือตัวคนเดียว เพราะคุณพ่อก็ตรอมใจหลังลูกเสียไป คือความสูญเสียครั้งนั้นมันส่งผลกระทบต่อทุกคน

หลังจากมีคำพิพากษาออกมา มันก็ผ่านไปกว่าเดือนแล้วที่เราให้เวลากับเขา เขาก็นิ่งเฉย แล้วเขาก็ทำแบบนี้มาตลอดเก้าปี มันไม่ใช่ครั้งแรก

เรารู้ว่าเขากำลังบีบให้เราไปยื่นฟ้องอีก มันเลยเป็นความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมันเอื้อสำหรับคนรวยรึเปล่า เพราะเราไม่มีเงินจะไปฟ้องอีกแล้วนะ หรือต่อให้มีเงินมันก็เหนื่อยที่จะไปฟ้องอีก สุดท้ายคนที่เป็นเหยื่อก็จะถูกบีบให้หยุดเพื่อที่จะได้หายเจ็บ ถ้ายังดันทุรังต่อไปก็จะเจ็บต่อไปเรื่อยๆ

หมายถึงเจ็บทั้งร่างกายและก็เจ็บเรื่องทรัพย์สิน

ใช่ คนที่เป็นเหยื่อโดนกระทำไปแล้วครั้งหนึ่งตอนเกิดเหตุ แต่ระหว่างทางในเก้าปีมานี้ก็โดนกระทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้คดีมันจบชั้นศาลฎีกาแล้ว แต่คุณยังอยากให้เราวิ่งไปเพื่อเจ็บไปเรื่อยๆ อีกเหรอ เราไม่รู้หรอกว่าคุณอยากจ่ายไม่อยากจ่าย แต่เราแค่อยากให้เขาทำตามคำสั่งศาล ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาเอาไว้เท่านั้น

กลายเป็นว่าเก้าปีที่ผ่านมา ยิ่งสู้ก็ยิ่งเหนื่อยไปเรื่อยๆ

มันเหนื่อยเพราะความไม่จริงใจของเขา ถ้าเขาจริงใจขึ้นสักนิด เราเข้าใจว่ามันคืออุบัติเหตุ แต่ก็มีตัวอย่างในคดีอื่นๆ ที่ครอบครัวคนทำผิดก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

เรารู้ว่าทุกคนฟ้องเขาด้วยเงินจำนวนที่เยอะ แต่ถ้าเขาแสดงความจริงใจว่าไม่มีเงินจริงๆ เรื่องมันก็จบแล้วนะ คือตอนนี้เราไม่ได้รู้สึกอยากได้เงินนะ แต่มันคือความรู้สึกที่อยากปลดล็อก ทั้งกับตัวเองแล้วก็คนที่เสียชีวิตไป เราสู้คดีกันมาถึงจุดนี้มันไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว

แล้วตอนนี้มันคือการสู้เพื่ออะไร

เราเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่เขาทำตามคำพิพากษาของศาลได้ นั่นก็คือความยุติธรรมที่เราควรจะได้รับนะ

อะไรคือสิ่งที่คุณอยากได้จากเขามากที่สุดในตอนนี้

ทำตามคำพิพากษาของศาล อย่าประวิงเวลาอีกตามที่เขาเคยให้คำมั่นสัญญาไว้

ที่ผ่านมาคุยกับครอบครัวผู้เสียหายไหม พวกเขารู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง

ทุกคนไม่ได้รู้สึกถึงความมีน้ำใจจากฝั่งเขาเลย เราไม่ใช่คนใจร้ายที่ต้องโกรธกันแบบในละคร สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่รู้สึกเลยถึงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น คือถ้าได้ความรู้สึกนี้สักหน่อยก็ดี ตอนนี้เราไม่ได้ต้องการคำขอโทษ เราแค่ต้องการความรับผิดชอบ อย่าบังคับให้เราวิ่งไปเจ็บกันอีกเลย คือทุกคนในเรื่องนี้ก็เจ็บกันทั้งหมดแหละ

เท่าที่คุยกันมาถึงตรงนี้ เหมือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันมากกว่าแค่พฤติกรรม แต่มันสะท้อนภาพใหญ่ถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยเหมือนกัน

เราไม่ได้ไม่เคารพศาลนะ เราเคารพการตัดสินทุกอย่างนะ เรายืนยันได้ว่าศาลได้ทำเต็มที่ แต่มีปัญหาในเรื่องกระบวนการมากกว่า มันอยู่ที่ความล่าช้า เหมือนที่มีคนบอกว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม คนที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกกระทบ ก็เพราะว่าเขาไม่เคยมีคดีแบบนี้ไง

พูดแบบนี้ได้ไหมว่า กว่าจะได้ความยุติธรรมมา เราก็ต้องจ่ายเงินไปพอสมควรเหมือนกัน

ก็ต้องมีเงินนะ เราต้องมีเงินเพื่อที่จะได้รับความยุติธรรมในการต่อสู้คดี สู้กันมาเก้าปีไม่ธรรมดานะ แล้วหลายคนอยู่ต่างจังหวัด ทุกคนต้องแลกหมดเพื่อที่จะได้รับความยุติธรรม ซึ่งแต่ละคนก็มีต้นทุนไม่เท่ากัน

คุณแม่คนขับรถตู้ คุณป้าทองพูล เขายกมือไหว้ผมทุกครั้งที่เจอกัน เห็นแผลของเรา เขาก็ร้องไห้ บอกว่าขอโทษที่ลูกเขาทำให้เราเจ็บแบบนี้ แม้ว่าศาลจะตัดสินแล้วว่าไม่ผิด เราก็สงสัยว่านี่เราอยู่ในสังคมแบบไหนกัน ที่คนโดนกระทำมาขอโทษกันเอง ส่วนคนที่ทำผิดไม่ได้ออกมาพูดแบบนี้

กระบวนการยุติธรรมมันไม่เอื้อกับคนจนเท่าไหร่รึเปล่า

เชื่อนะ ถ้าเราต้องสู้จริงๆ ยังดีที่ทุกคนไม่จ่ายค่าทนายเพราะมหาวิทยาลัยช่วยเหลือให้ ถ้านับจริงๆ โจทก์ทุกคนอาจจะต้องจ่ายค่าทนายเป็นเงินหลายล้านเลยนะ

สุดท้ายแล้วมันทำให้คนที่เป็นเหยื่อจนลงด้วยนะ เหยื่อที่โดนกระทำและมีฐานะยากจนก็จะยอมแพ้ไปเอง เขาจะโดนต่อรองว่าให้เงินเท่านี้พอเพื่อให้คดีแพ่งจะได้จบๆ ไป

แปลว่ายิ่งสู้ก็ยิ่งจนลง โดยเฉพาะกับคนที่มีต้นทุนไม่เยอะขนาดนั้น

ป้าที่ขายดอกไม้ก็พูดตลอดว่า ฉันไม่มีเงินแล้วนะจะให้ฉันสู้อะไรอีก มันเหนื่อย ลูกที่มีอยู่คนเดียวก็เสียไปแล้ว แทนที่จะเก็บเงินเพื่อเป็นทุนในชีวิตหลังเกษียณ กลับกลายเป็นว่าต้องเอาเงินมาใช้ในเรื่องนี้แทน

ในฐานะนักศึกษาคณะสังคมเคราะห์ คุณคิดยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้

ถ้าตอบข้อสอบสมัยก่อน เราคงตอบข้อสอบแบบที่เอียงไปทางแพรวา เพื่อให้ได้คะแนนเยอะสุดแหละ แต่เวลาเรามาอยู่ในฐานะคนที่เป็นเหยื่อเอง เราถึงได้รู้ว่ามันมีมิติอื่นเยอะกว่านั้นมากเลย ทุกคนจะชอบรู้สึกว่าเด็กควรได้รับโอกาส แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือปัญหามันมาจากครอบครัวเยอะเลย

เราเข้าใจการให้โอกาส แล้วเราไม่เห็นด้วยกับการไปขุดรูปในอดีตของเขามาด่าตอนที่เขาเป็นนักศึกษา เราคิดว่าชีวิตเขามันต้องเดินต่อ แต่เรื่องคดีก็ต้องว่ากันอีกเรื่องนึงนะ เรื่องการรับผิดชอบจากครอบครัวก็อีกเรื่องนึง

คุณจะตอบคำถามนี้ได้เหมือนเดิมไหม

ไม่นะ เคยมีนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งเคยพูดในศาล เรายังคิดว่าเขาตอบเหมือนที่เราตอบข้อสอบเป๊ะๆ เลย เรารู้เลยว่าเขาจะพูดอะไร แล้วก็พูดจริงๆ ด้วย

คำตอบสำหรับคุณตอนนี้คืออะไร

เราอาจจะต้องมิติของเหยื่อมากขึ้น มันไม่ใช่แค่จำเลยคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากคดีนี้ สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ การถูกสังคมวิจารณ์หลังจากทำผิด มันก็เป็นผลเพราะสิ่งที่เรากระทำ

เมื่อก่อนเราอาจจะตอบคำตอบในข้อสอบว่า ผลที่เขาได้รับจากสังคมนั่นแหละมันก็พอแล้ว แต่ในความจริงมันมีเรื่องอื่นๆ อีกที่มากกว่านั้น ทั้งเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม ความจริงใจที่จะรับผิดชอบ หรือสามปีที่สืบพยานกันมา คุณเคยไปถามเหยื่อไหมว่า จำเลยเคยติดต่อเรามาบ้างไหม

(หมายเหตุ : การพูดคุยกันครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 17 ก.ค. 2562)

Photo by Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0