โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“เงาะ” เงินล้าน บ้านปากจอก เมืองลอง แพร่ เนื้อหนากรอบ ล่อน เป็นที่ต้องการของตลาด

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 19 พ.ค. 2566 เวลา 09.56 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2566 เวลา 21.00 น.
23 เงาะ

ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีพื้นที่เป็นจำนวนมากของจังหวัดแพร่ ทั้งเงาะ ลองกอง มังคุด ฯลฯ และสมุนไพร รวมทั้งพริกไทย ไม้ผลส่วนใหญ่เป็นไม้ผลที่มีถิ่นฐานทางภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ที่ตำบลทุ่งแล้งมีเกษตรกรจากจังหวัดจันทบุรี ถึง 7 ครอบครัว มาทำเกษตร ปลูกไม้ผลได้คุณภาพดี

ครอบครัวของ คุณบรรจง สำราญรื่น อายุ 59 ปี ภูมิลำเนาเดิม จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบัน ตั้งหลักปักฐานอยู่ บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 4 บ้านปากจอกตะวันตก ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. 081-862-6948 ภรรยา คุณสมบูรณ์ สำราญรื่น

มีความเป็นมาอย่างไร? จึงมาปักหมุดให้ครอบครัวปลูกเงาะที่บ้านปากจอก : ผู้เขียนตั้งคำถาม

คุณบรรจง เพ่งสายตาออกนอกบ้านมองไปที่สวนเงาะ นิ่งสักพัก แล้วเอ่ยปากเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว น้องเขยได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว ตนได้พาครอบครัวมาเที่ยว ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูหนาว อากาศดี เห็นมีพื้นที่ว่าง จึงติดต่อขอซื้อไว้ 26 ไร่ ลักษณะที่ดินเป็นดินร่วนปนทราย เป็นที่ดอน ทำเลดี อยู่ติดแม่น้ำยม เริ่มปลูกเงาะเมื่อปี พ.ศ. 2542 จำนวน 470 ต้น ตั้งแต่นั้นจนบัดนี้พื้นที่ปลูกเงาะ และจำนวนต้นเงาะก็ยังเท่าเดิม เงาะทุกต้นจึงมีอายุ 18 ปีแล้ว

เงาะบ้านปากจอกกับเงาะจันท์ต่างกันอย่างไร? ผู้เขียนถามต่อ

คุณบรรจง บอกว่า เงาะที่ตนเองปลูกเป็นเงาะสายพันธุ์โรงเรียน นำต้นพันธุ์มาจากจังหวัดจันทบุรีทั้งหมด แต่ด้วยลักษณะดิน ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่นี่แตกต่างจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี การดูแลตลอดช่วงฤดูกาลไม่สามารถนำวิธีการที่ใช้ในสวนเงาะจันท์มาใช้ที่นี่ได้ทั้งหมด ต้องปรับเปลี่ยนบางเรื่องให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ผลที่ได้ลักษณะคุณภาพเงาะจึงแตกต่างกัน ผลผลิตเงาะที่นี่ต่อไร่ได้น้อยกว่าที่จังหวัดจันทบุรีอย่างแน่นอน แต่ลักษณะของผล รสชาติ เนื้อ

ผล – กลม เปลือกบาง ออกสีแดงปนเขียว สีของขนแตกต่างกัน ตามอายุของผล

เนื้อ – กรอบ แห้ง ล่อน เนื้อแห้งและหนา ถ้าเก็บผลช่วงที่เปลือกแดงอมเขียวจะได้เนื้อที่กรอบ อร่อย

รสชาติ – หวาน

เมล็ด – ลีบ

“ผลผลิตเงาะที่นี่จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ขณะที่เงาะจันท์เดือนกรกฎาคมก็หมดทุกสวนแล้ว จากนั้นก็จะเป็นเงาะจากชุมพรออกตามมา ในเดือนสิงหาคม-กันยายน โน่น” คุณบรรจง กล่าว

การดูแลเงาะตลอดช่วงฤดูกาล

คุณบรรจง มีประสบการณ์ในการผลิตเงาะมายาวนาน แต่ละฤดูกาล วางแผนปฏิบัติการไม่ได้แตกต่างกัน เป็นคนช่างสังเกตจนรู้ลักษณะอาการต่างๆ ของต้นเงาะ ดอก ผล เป็นอย่างดี

คุณบรรจง บอกว่า ขอเริ่มจากหลังเก็บผลเงาะบนต้นจนหมดแล้ว ก็ราวๆ เดือนสิงหาคม จะใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดพ่นยาแต่ไม่มากนัก จากนั้นจะตัดแต่งกิ่งซึ่งมีความสำคัญมาก ตัดแต่งกิ่งพร้อมกันทั้งสวน กิ่งที่ต้องตัดทิ้งจะเป็นกิ่งที่แห้ง กิ่งกระโดง กิ่งทับซ้อนออกให้หมดเพื่อให้โล่ง โปร่ง แดดส่องถึงโคนต้น จากนั้นตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม

“การตัดแต่งกิ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ เงาะที่สวนนี้ แม้จะมีอายุ 18 ปีแล้ว แต่ทรงพุ่มของเงาะก็ไม่สูง เฉลี่ยความสูงของแต่ละต้น 4 เมตร ซึ่งง่ายต่อการดูแล ดูพัฒนาการของใบ ดอก ผล และที่สำคัญเก็บผลเงาะก็ง่าย”

หลังการตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม ช่วงเวลานั้นเป็นฤดูฝน จึงไม่ได้ให้น้ำ ปล่อยให้กิ่งก้านแตกใบอ่อน 3 ชุดใบ แต่ละชุดใบใช้เวลาราวๆ 1 เดือนเศษ เมื่อใบแก่ ชุดใบที่ 3 ก็จะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 เพื่อการเร่งต้น เร่งใบ ทำให้ใบใหญ่ และเกิดการสะสมพลังงาน เพราะเงาะที่มีความสมบูรณ์ให้ดูที่ปลายยอด จะมีความเปล่งปลั่ง อวบใหญ่

ส่วนบริเวณรอบโคนต้นเงาะนั้น พื้นดินต้องสะอาดอยู่เสมอ เห็นหน้าดินชัดเจน จากนั้นทิ้งช่วงให้เงาะเกิดสภาวะเครียด ดูจากอาการใบเหี่ยว เหลือง ร่วงหล่นเล็กน้อย ช่วงเวลานี้อยู่ราวๆ เดือนมกราคม ธรรมชาติของเงาะเมื่อมีสภาวะเครียด จะต้องแสดงอาการของการผลิดอกเพื่อการสืบพันธุ์ สังเกตที่ปลายยอดว่าจะเป็นใบหรือน่าจะเป็นดอก จะให้น้ำแต่น้อยๆไปก่อน รอดูผล 7 วัน ถ้าเห็นดอกชัดเจน จะกระทุ้งน้ำแล้วทิ้งระยะไปช่วงหนึ่งจึงเริ่มให้น้ำ นาน 30 นาที ต่อครั้ง ช่วงนี้ต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี จะปรับการให้น้ำจากน้อยไปหามาก ถ้าให้น้ำมากจะกลายเป็นใบ แต่ช่วงดอกบานจะให้น้ำในปริมาณที่มาก เพื่อให้ดอกมีความสมบูรณ์ หากดอกเริ่มโรย จะลดการให้น้ำลงมาเหลือ 20 นาที จนถึงขณะกำลังขึ้นผล จนแน่ใจว่าติดผล และเป็นผลแล้ว จะเพิ่มการให้น้ำเป็น 50 นาที

หลังจากนั้น ก็จะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการงดน้ำ แม้วันเก็บผลเงาะก็ยังให้น้ำอยู่ เนื่องจากจำนวนต้นเงาะมีถึง 470 ต้น ต้องใช้เวลาให้น้ำถึง 2 วัน จึงจะครบทุกต้น เปิดน้ำตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงฤดูร้อน

“ปีนี้ทำเงาะยากมากครับ พอติดดอก ดอกก็แห้ง เงาะ…ปกติจะปรับสภาพกับพื้นที่ ที่ปลูกอยู่ได้ทนที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้อุณหภูมิสูง ร้อนจัดถึง 40 องศาเซลเซียส จึงต้องบริหารจัดการด้วยน้ำ เพื่อให้ผ่านพ้นความกดดันจากธรรมชาติให้ได้” คุณบรรจง ปรารภด้วยความกังวล

โรคและแมลงศัตรูของเงาะช่วงออกดอก

คุณบรรจง บอกว่า โรคแมลงที่ชาวสวนเงาะกลัวกันมากก็จะมีจำพวกหนอนคืบกินใบ เพลี้ยแป้ง ด้วงเจาะลำต้นและกิ่ง เจ้าตัวนี้พบบ่อย ต้องจ้างคนงานมากำจัด ส่วนโรคต่างๆ ทั้งโรคราแป้ง ราสีชมพู ที่นี่ไม่พบ เพราะมีการเตรียมต้นไว้อย่างดีตั้งแต่ต้นฤดู ทำให้ต้น กิ่ง สมบูรณ์ ใบเขียวมัน โรคก็จะไม่มารบกวน

เงาะที่ติดผลจะเป็นต้นเงาะดอกสมบูรณ์เพศ แต่เกสรตัวผู้มักจะไม่ค่อยแข็งแรงนัก

“ผมไม่ได้ใช้สาร NAA ในการผสมเกสร แต่ผมปลูกเงาะต้นตัวผู้ จำนวน 40 ต้น ปลูกสลับต้นเงาะ ต้นดอกสมบูรณ์เพศ ต้นเงาะตัวผู้จะถูกตัดแต่งกิ่งให้ต้นสูงชะลูดขึ้นไปเหนือต้นเงาะดอกสมบูรณ์เพศ ช่วงดอกบานจะมีผึ้ง ผมไม่ได้เลี้ยงผึ้ง แต่ไม่รู้มาจากแหล่งใด ถ้าเข้าไปใกล้ๆ ต้นเงาะ จะได้ยินเสียงผึ้งอื้ออึงเห็นมาตอมดอกเงาะ นี่แหละอาศัยผึ้งช่วยผสมเกสร เงาะจึงติดผลเล็กๆ เป็นจำนวนมาก” คุณบรรจงกล่าวว่านี่เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่ง

พัฒนาการของผลเงาะตั้งแต่ดอกบาน ติดผล จนเก็บผลได้ ใช้เวลา 5 เดือนเศษ ช่วงระยะเวลา 3 เดือน ของการพัฒนาผล การดูแล นอกจากเรื่องน้ำแล้ว ก็จะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 ครึ่งเดือนต่อครั้ง และสุดท้ายเป็นปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ผสมปุ๋ยยูเรีย เพื่อให้เงาะมีผลใหญ่

“โดยทั่วไป ปุ๋ยสูตร 8-24-24 จะใส่กันช่วงก่อนออกดอก แต่ผมปรับมาใช้ช่วงนี้ เพราะใส่ไปแล้วเห็นว่าเงาะให้ผลที่ใหญ่มาก” ส่วนฮอร์โมนทุกชนิดไม่ได้ใช้เลยแม้แต่น้อย

ทำเงาะช่อสั้นมากกว่าเงาะช่อยาว

คุณบรรจง กล่าวว่า ตนเองมีความตั้งใจที่จะทำเงาะช่อสั้นมากกว่าเงาะช่อยาว พยายามทำให้ดอกเงาะมีความสมบูรณ์ มีดอกใหญ่ ขาวใสเปล่งปลั่ง จะติดผลดี ผลสมบูรณ์ ผลใหญ่ เงาะช่อสั้นแต่ก็ไม่สั้นจนเกินไป ซึ่งแม้จะได้จำนวนผลต่อช่อน้อยกว่าเงาะช่อยาว แต่เงาะช่อสั้นติดผลเร็ว ติดผลง่าย ต้องการให้ติดผลที่โคนช่อดอกมากกว่าปลายช่อดอก ถ้าติดผลแล้ว ฟันธงว่าติดแน่นอน ก็รอดูการพัฒนาของผลจะเร็วมาก แม้ผลเงาะที่มีอายุ เดือนที่ 1, 2 จะมีร่วงบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละช่อติดผลเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดแล้ว ต้องการให้เงาะติดผลเพียงช่อละ 7-8 ผล ก็เพียงพอแล้ว

“ผมใช้การบริหารจัดการน้ำเป็นหลักครับ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ ธรรมชาติของเงาะ ประสบการณ์ของเกษตรกรแต่ละคนนะครับ ว่าตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งเงาะ จนเงาะแตกใบอ่อน 2-3 ชุดใบ ช่วงเงาะออกดอก ติดผล พัฒนาการของผล จนถึงเก็บผล การให้น้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ว่าจะให้น้ำแต่ละช่วงกี่มากน้อย ให้น้ำกันเป็นนาทีหรือชั่วโมงเลยทีเดียว ตามที่ต้นเงาะจำเป็นต้องนำน้ำไปใช้ ในการบำรุงต้น ใบ ดอก ต้องคอยสังเกตอาการการตอบสนองของต้นเงาะด้วย แต่บางปีก็มีตัวแปรในเรื่องของลมฟ้าอากาศ เพราะพื้นที่แห่งนี้ผลิตเงาะได้ยากกว่าแถบตะวันออก สภาพอากาศร้อนและแล้งที่ยาวนานกว่า”

อย่างที่ คุณบรรจง กล่าวครับ เท่าที่สนทนากัน บ่งบอกถึงว่า เกษตรกรอย่างคุณบรรจงได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างดีมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ วางท่อใต้ดิน มีหัวสปริงเกลอร์เป็นจุดๆ อย่างเป็นระเบียบงามตา แผนผังของแปลงปลูกดูสะอาด แม้แต่การปลูกต้นเงาะตัวผู้สลับกับต้นเงาะสมบูรณ์เพศก็เป็นสัดส่วน อัตรา 1:10

เก็บผลเงาะ ต้องดูตลาดควบคู่กันไป

ผลเงาะที่สุกพร้อมเก็บได้ คุณบรรจง กล่าวว่า จากประสบการณ์จะใช้การสังเกตสีของผลและสีของขนเงาะ ผิวเปลือกเงาะจะออกสีแดงๆ ขณะที่โคนขนเงาะสีแดง ปลายขนสีเขียว จะได้เนื้อที่กรอบอร่อย หรือเรียกว่าเงาะ 3 สี เงาะที่นี่ผลกลม ผลคล้ายๆ กับเงาะนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จะเก็บเงาะช่วงเวลาใด ดูตลาดเงาะว่าจังหวัดใดจะมีเงาะออกมาสู่ตลาด จะติดตามตลาดจันทบุรีเป็นหลัก จะไม่ให้ผลผลิตออกพร้อมกับเงาะจันท์ ทุกๆ ปี ก็จะเก็บผลหลังจากเงาะจันท์หมดแล้วเป็นเวลาครึ่งเดือน จะทำให้ขายเงาะได้ราคาที่ดีขึ้น

คุณบรรจง กล่าวอีกว่า อย่างที่บอกตอนต้นว่า ปีนี้ทำเงาะยาก เพราะทุกปีเงาะติดผลดกมาตลอด ปีก่อนๆ เก็บผลได้ถึง 60 ตัน มาตลอด ได้ราคาดี อย่างน้อยก็เงินล้าน แต่ปีนี้คาดว่าผลผลิตเงาะจะลดลงมาก แต่ราคาปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน ซึ่งราคาอยู่ที่ 25-30 บาท ต่อกิโลกรัม ผลผลิตที่นี่เก็บขายในท้องถิ่น และจะมีผู้ซื้อจากภายนอก เช่น จังหวัดพิษณุโลก แพร่ ติดต่อซื้อตั้งแต่ต้นฤดู ตนเองมีหน้าที่หาคนมาเก็บบรรจุลงลัง ผู้ซื้อจะมาชั่ง แล้วบรรทุกออกไปเอง

“การผลิตเงาะมีขั้นตอนย่อยๆ มากกว่าไม้ผลชนิดอื่น ที่นี่ ตลาดต้องการเงาะที่ลอนผลแล้วมากกว่าเงาะที่จัดเป็นช่อๆ จึงต้องใช้เวลาในการจัดการ”

ต้นทุนการผลิตเงาะ รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย
ทดแทนความเหนื่อยยาก

คุณบรรจง บอกว่า สวนเงาะของตนใช้เงินลงทุนสูงมาก ค่าใช้จ่ายหมดไปกับค่าปุ๋ยเคมีเสียเป็นส่วนใหญ่ ค่าแรงงานทั้งการจ้างและค่าแรงตนเอง ค่าบริหารจัดการน้ำ และค่าไฟฟ้า ค่าสารชีวภัณฑ์และสารเคมีเท่าที่จำเป็น รวมๆ กันแล้วหลายแสนบาท แต่เมื่อคำนวณรายได้ หักค่าใช้จ่าย ก็ยังพอมีเหลือ ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง

“ผมต้องเดินดูภายในสวนเกือบทุกวัน คอยสังเกตพัฒนาการของเงาะตั้งแต่ปลายยอด ช่วงเริ่มผลิดอกเป็นกระเปาะไข่ปลาให้เห็น จนพัฒนาเป็นดอก ดอกบาน ติดผล จนเก็บผล ต้องใช้ความเพียร ความอดทนครับ แม้จะเหนื่อย เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ก็ต้องทำครับ เพราะผมมีอาชีพเป็นเกษตรกร” คุณบรรจง กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

อ่านแล้วคงนึกภาพออกนะครับว่า ขั้นตอนการผลิตเงาะแต่ละฤดูกาลของเกษตรกรรายนี้ หรือรายอื่นๆ ต้องใช้ความขยัน อดทน ใช้สติปัญญาในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้เงาะที่ดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในหนึ่งฤดูกาลที่ผลิตเงาะ ไม่ง่ายนะครับ ถ้าพวกเราผู้บริโภคต้องซื้อผลิตผลทางการเกษตร ถ้าไม่ต้องไปต่อรองราคาก็จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ผลิตเป็นอย่างมากนะครับ

สนใจแวะชม ชิม ช็อปเงาะ ที่สวนของ คุณบรรจง สำราญรื่น บ้านปากจอก เดินทางไปไม่ยากครับ จากอำเภอเด่นชัยจะไปจังหวัดลำปาง ขับรถข้ามสะพานแม่น้ำยม เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร คุณบรรจง ยินดีต้อนรับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0