โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“สมุด” สร้างชาติไทยได้อย่างไร ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 10.38 น. • เผยแพร่ 26 ต.ค. 2563 เวลา 05.01 น.
ปกสมุด
(จากซ้าย) ปกสมุดยุครณรงค์เรื่องสุขอนามัย, ปกสมุดสัญลักษณ์ต่าง ๆ ปกเป็นภาพธงชาติ ตราเสมาธรรมจักร พระบรมรูปรัชกาลที่ 8 และรัฐธรรมนูญ, ปกสมุดมีสุภาษิตและภาพ

“สมุด” ของที่ดูพื้น ๆ ธรรมดา ๆ ใช้งานอะไรไปไม่ได้มากกว่าการจดบันทึกนั้น เมื่อลองพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของสมุดในเมืองไทยแล้วก็กลับพบว่า สมุดนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงในเรื่องของรูปร่างหน้าตาที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดสมัย แต่เป็นเรื่องของหน้าที่การใช้งานด้วย เพราะดูเหมือนว่าตั้งแต่ในอดีตนั้น สมุดจะมีบทบาทที่มากไปกว่าการใช้จดบันทึก

เรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสมุดที่ใช้กันในเมืองไทยนี้ วิน เลขะธรรม ได้เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549 มีใจความว่า แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นที่คนไทยยังใช้สมุดข่อย ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดาษยาวพับทบไปมา มีกรรมวิธีทำที่ยากเย็น จึงเป็นของที่หายาก ไม่นิยมใช้หัดเขียน ใช้เป็นตำราในการอ่านเรียนเท่านั้น สิ่งที่คนไทยสมัยโบราณใช้จดบันทึกจริง ๆ ก็คือแผ่นกระดานดำ มีอุปกรณ์การเขียนก็คือ ดินสอพอง

ในเวลาต่อมาได้เริ่มมีการก่อตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และเกิดพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นพร้อมกับการเรียนการสอนแบบใหม่ที่สร้างความจำเป็นให้นักเรียนต้องจดบันทึก เป็นเหตุให้มีการผลิต“สมุดฝรั่ง” ที่แพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยในยุคนั้นขึ้นมาใช้ โดยสมุดของไทยทำเลียนแบบฝรั่งในยุคแรกนี้มีลักษณะลวดลายหน้าปกคล้ายสมุดฝรั่งของแท้ แต่ต่อมาก็ได้ปรับเปลี่ยนโดยเปลี่ยนจากลวดลายเป็นการให้ความรู้ โดยการพิมพ์ข้อความสุภาษิตสอนใจไทยและคำพังเพยลงบนปก

ข้อความที่ปกสมุดนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังเช่นในยุคที่เกิดโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ฯลฯ ระบาดในเมืองไทย ก็พบว่า สมุดได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรณรงค์ทางด้านสุขอนามัย โดยมีการพิมพ์ข้อความแนะนำการป้องกันโรคไว้ที่ปกหลังของสมุด

จากนั้นในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ปกสมุดถูกปรับเปลี่ยนให้แสดงรูปและคำขวัญปลุกใจให้ประชาชนเข้าร่วมกิจการทางการเมืองอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิมพ์สัญลักษณ์แผนที่ประเทศไทย, พระบรมรูปรัชกาลที่ 7, รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2476, ภาพธงชาติ, ตราเสมาธรรมจักร, พระบรมรูปรัชกาลที่ 8 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2478 อีกทั้งต่อมาในยุคที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการพิมพ์หลักการการบำรุงชาติและเศรษฐกิจซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในยุคนั้น ไว้ที่หลังปก ดังข้อความต่อไปนี้

  • เราเป็นคนไทย เราต้องรักชาติไทยของเรา
  • เราเป็นคนไทย เราต้องนับถือพระพุทธศาสนา
  • เราเป็นคนไทย เราต้องรักพระมหากษัตริย์
  • เราเป็นคนไทย เราต้องเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ
  • เราเป็นคนไทย เราต้องป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ
  • เราเป็นคนไทย เราต้องรักใคร่คนไทยด้วยกัน
  • เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยอุปการะคนไทย
  • เราเป็นคนไทย เราต้องเชื่อความรู้คนไทย
  • เราเป็นคนไทย เราต้องไม่ดูถูกคนไทย
  • เราเป็นคนไทย เราต้องเล่าเรียนหาความรู้
  • เราเป็นคนไทย เราต้องประกอบอาชีพ
  • เราเป็นคนไทย เราต้องมีมานะอดทน
  • เราเป็นคนไทย เราต้องเป็นทหารที่กล้าหาญ
  • เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยซื้อของที่คนไทยขาย
  • เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยใช้ของที่คนไทยทำ

เราปฏิบัติตามนี้ไม่ได้ก็ตายเสียดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ลวดลายการพิมพ์บนปกสมุดนั้นได้ถูกผลิตในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบเนื้อเรื่องในวรรณคดี พุทธประวัติ วีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็แสดงให้เห็นว่า หน้าที่ของสมุดในประเทศไทยแต่เดิมมานี้ ไม่ได้มีเพียงไว้เขียนบันทึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสั่งสอน กล่อมเกลาจิตใจ หรือกระทั่งปลุกใจก็ดี

อ้างอิง :

วิน เลขะธรรม. “ปกสมุดที่ให้มากกว่าความเป็นปก”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2549)

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0