โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“สถิตย์” ชงปรับปรุงทบทวนแผนปฏิรูปประเทศ มุ่งสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 12.57 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 12.57 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

“สถิตย์” เสนอปรับปรุง ทบทวน แผนปฏิรูปประเทศ ในที่ประชุม ส.ว. เชื่อ หากทำได้ ตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ในวาระรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ รอบเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2562
การรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ ฉบับนี้ เข้ามาสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้ ส.ว. ได้ทำหน้าที่ตรวจติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ทางด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว. ชี้ว่า แผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจมีเป้าหมาย และผลดำเนินในภาพรวม คือ 1. แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ผ่านการปฏิรูป 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, ความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และการปฏิรูปด้านสถาบันเศรษฐกิจ 2. แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจทั้งหมดที่มี 3 ด้าน 55 ประเด็นปฏิรูป แยกเป็น 121 กิจกรรม ดำเนินการแล้วเสร็จ 30 กิจกรรม กำลังดำเนินการตามแผน 46 กิจกรรม ล่าช้ากว่าแผน 35 กิจกรรม และต้องปรับปรุงแผน 10 กิจกรรม ในรอบเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2562 จึงได้เสนอแนะการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้
แผนการปฏิรูปประเทศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ก่อนยุทธศาสตร์ชาติ หากมีการทบทวนแผนการปฏิรูปประเทศในอนาคต ควรปรับปรุงและเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งพิจารณาความไม่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่การปฏิรูปก็ควรจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่มีนัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือโครงสร้างที่สำคัญ ที่ควรต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องไม่ใช่งานที่มีลักษณะประจำ หรืองานที่เป็นการพัฒนาระยะปานกลางหรือระยะยาวตามแผนแม่บทหรือแผนพัฒนาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในการทบทวนแผนปฏิรูปประเทศ ควรพิจารณาผลการดำเนินงานของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจกระแสใหม่, รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือ บีซีจี โมเดล (BCG Model) มาประกอบการทบทวน นอกจากนี้ ควรพิจารณาจัดทำตัวชี้วัดในระดับแผนฯ ของเป้าหมายและผลอันพึงประสงค์ของด้านเศรษฐกิจ และควรแสดงรายละเอียด ระยะเวลาของการดำเนินการตามแผนให้ชัดเจน เพื่อให้การติดตามความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในระดับแผนมากยิ่งขึ้น สิ่งสุดท้าย ควรพิจารณาเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศที่ล่าช้าจำนวน 35 แผน และเร่งรัดการปรับปรุงแผนอีก 10 แผน ให้กลับมาอยู่ในกรอบเวลาที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม ดร.สถิตย์ กล่าวสรุปด้วยว่า แม้ว่าแผนการปฏิรูปประเทศตามที่รายงานมีความคืบหน้าระดับหนึ่งแล้ว แต่หากได้มีการทบทวน ปรับปรุงเพิ่มเติม ตามข้อเสนอแนะข้างต้น จะสามารถตอบเป้าหมายการปฏิรูปประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น.

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0