โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“วิชาชีวิต” คลาสเรียนที่สอนการใช้ “ชีวิต” ด้วย “ชีวิต”!!

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 17 พ.ย. 2562 เวลา 01.00 น. • THE HIPPO | Another Point Of View
“วิชาชีวิต” คลาสเรียนที่สอนการใช้ “ชีวิต” ด้วย “ชีวิต”!!

by BOOM JapanSalaryman

 

ขณะที่ในประเทศในญี่ปุ่นมีปัญหาคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ในแวดวงการศึกษาเองนั้น สถิติเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจจะมีสาเหตุจากความเครียดเรื่องการเรียนที่มีการแข่งขันสูง หรือปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่กลายเป็นปัญหาระดับชาติในตอนนี้

 

…แต่ในญี่ปุ่นเองมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนนักเรียนให้รู้ถึง

"ความสำคัญของการมีชีวิตอยู่” ครับ

 

อาจารย์ท่านนี้ชื่อว่า “อาจารย์มานาเบะ โคจิ” อาจารย์แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย KURUME CHIKUSUI ในจังหวัดฟุกุโอกะ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ท่านเป็นผู้คิดค้นคลาสเรียนที่ไม่มีใครกล้าสอน…คลาสเรียนนี้มีชื่อว่า “วิชาชีวิต”

 

โดยเริ่มต้นคลาส อาจารย์มานาเบะจะมอบไข่ไก่ให้นักเรียนไปดูแล ทะนุถนอมจนไข่ไก่ฟักตัวเป็นลูกเจี๊ยบ ให้เลี้ยงไก่จนเติบโตเต็มวัย หลังจากนั้นจะให้ชำแหละไก่ตัวนั้นเพื่อนำมาประกอบอาหาร!

ใช่ครับเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง อาจารย์มานาเบะสอนวิชานี้มานานมาก ในปี 2013 ที่รายการในประเทศญี่ปุ่นนำเสนอคลาสเรียน “วิชาชีวิต” นี้ อาจารย์ได้สอนนักเรียนไปแล้วมากกว่า 400 คน ซึ่งในการเรียนคลาสนี้นักเรียน 400 กว่าคนจะได้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่อง  “ความสำคัญของชีวิต”  แน่นอนครับว่ามีคนต่อต้านหลักสูตรวิชานี้ของอาจารย์เป็นจำนวนมาก โหดเกินไปหรือไม่? แล้วด้านศีลธรรมล่ะ ไม่มีปัญหาหรือ? ทำไมนักเรียนต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ด้วย มันไม่แย่เกินไปหรือ?

 

แต่อาจารย์คิดว่า นี่คือ “วิธีการให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิต ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง”

 

มนุษย์เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภทสละชีวิตให้เรา กลายมาเป็นอาหารให้เรา ฉะนั้น เราควรรู้จักเรียนรู้ที่จะขอบคุณเขาเหล่านั้นเช่นกัน

 

ในคลาสเรียนนี้อาจารย์มานาเบะเริ่มต้นจากการแจกไข่ไก่ให้นักเรียนคนละฟอง ให้เขียนชื่อไว้ที่เปลือกไข่ แล้วให้ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ของลูกเจี๊ยบที่กำลังจะฟักตัว หลังจากที่ลูกเจี๊ยบฟักตัวแล้ว นักเรียนก็จะทำหน้าที่ดูแลลูกเจี๊ยบจนเติบใหญ่กลายเป็นไก่ที่แข็งแรง

 

อาจารย์มานาเบะอธิบายให้นักเรียนฟังว่า

“รู้มั้ยเปลือกไข่คือหลักฐานความพยายามของลูกเจี๊ยบที่ใช้เวลามากกว่า 20 ชั่วโมง พยายามที่จะออกมาดูโลกภายนอก ไข่บางฟองไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ เพราะลูกเจี๊ยบบางตัวอาจจะมีร่างกายแข็งแรงไม่เพียงพอ บางตัวต้องตายไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ออกมาดูโลก ยังมีอีกหลายชีวิตที่อยากจะเกิด แต่ไม่มีโอกาสได้เกิด” จงจำไว้นะ

 

จุดที่ทำให้สะเทือนใจที่สุดระหว่างการเรียนคลาสนี้คือ เมื่อไก่เติบใหญ่พร้อมที่จะนำมาประกอบอาหาร อาจารย์จะให้ตัวเลือกนักเรียนแค่สองข้อคือ

  • ให้พ่อครัวไปจัดการ

2.ให้ชำแหละด้วยตัวเอง

ซึ่งก็แปลกเหมือนกันครับ ที่นักเรียนส่วนใหญ่เลือกที่จะชำแหละด้วยมือของตัวเอง นักเรียนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากกว่าการตัดสินใจใด ๆ ในชีวิต เพราะเราเลี้ยงเค้ามากับมือตัวเอง การให้พ่อครัวนำไปจัดการอาจจะเป็นเรื่องง่ายกว่า ไม่ต้องทำใจมาก แต่การที่นักเรียนเลือกที่จะชำแหละเองนั้น เป็นเพราะว่าพวกเขาอยากจะดูแลไก่ที่เคยเลี้ยงจนถึงวาระสุดท้าย ดูแลเค้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ระหว่างการย้ายไก่ไปสู่ห้องผ่าชำแหละนั้น เป็นช่วงที่ทำใจยากที่สุดสำหรับนักเรียนหลายคน อาจารย์มานาเบะ กำลังสอนให้นักเรียนรู้จักถึง “ความเข้มแข็ง” เพราะนี่คือความจริงของชีวิต นักเรียนจะถูกแบ่งเป็นทีม อุ้มไก่ที่ตัวเองดูแลอยู่กับอกจนถึงวินาทีที่ต้องพาไปชำแหละ คนเลี้ยงจะรับหน้าที่ชำแหละด้วยตัวเองท่ามกลางเพื่อน ๆ ในห้องที่จ้องมองอยู่ หลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทำใจไม่ได้ แต่อาจารย์มานาเบะก็สอนว่า

“นี่คือหนึ่งชีวิตที่สละให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ นี่จะทำให้เราเห็นความสำคัญของชีวิต และกินอย่างรู้คุณค่า”

 

มนุษย์เราต้องกินเพื่อที่ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ที่พวกเธอเติบโตแข็งแรงได้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมีคนที่คอยดูแลเลี้ยงดูพวกเธอเหมือนกัน เหมือนกับที่พวกเธอดูแลไก่ตั้งแต่ยังไม่ได้ฟักไข่ จนเติบใหญ่และมีประโยชน์กับเราในวันนี้ ..ห้ามลืมมันนะ

เชื่อมั้ยครับ…ประสบการณ์นี้อยู่ในใจของเด็ก ๆ ไปตลอดชีวิต

หลังจากจบชั้นมัธยมปลายไปแล้ว มีการกินเลี้ยงรวมรุ่นบ้างเป็นครั้งคราว หลายครั้งที่มีการเชิญอาจารย์มานาเบะไปเข้าร่วมด้วย ศิษย์เก่าเล่าถึงความทรงจำที่ดีที่สุดในโรงเรียน เธอเล่าว่า ความทรงจำนั้นคือ การได้เลี้ยงไก่ในวิชาชีวิตของอาจารย์มานาเบะ  มีเด็กคนหนึ่งเล่าในงานเลี้ยงรวมรุ่นว่า “เธอตั้งท้องในขณะยังเรียน” คนรอบตัวบอกเธอว่า “ไม่ควรมีลูกระหว่างเรียน เอาเด็กออกดีไหม”  เธอบอกว่า “เธอไม่เคยคิดแบบนั้นเลย เพราะเธอได้เรียนรู้ความสำคัญของการมีชีวิตจากคลาสเรียนของอาจารย์แล้ว นึกถึงตอนที่เลี้ยงไก่ในวิชาชีวิต”

แม้วิชานี้อาจจะดูโหดร้ายสำหรับสายตาใครหลายคน แต่วิชานี้กลายเป็นภูมิต้านทานอันดีให้นักเรียนของอาจารย์มานาเบะทุกคน มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง

คลาสเรียนที่สอนให้คนเรารู้จัก “การเห็นคุณค่าของการได้เกิดมา” และ “เห็นความสำคัญของการมีชีวิตอยู่”

คลาสเรียนวิชาชีวิต ที่ไม่มีใครกล้าสอน
ดีหรือไม่ดีนั้น แล้วแต่วิจารณญาณของทุกท่านครับ

 

ภัทรพล เหลือบุญชู
(Boom JapanSalaryman)
ผู้เขียนหนังสือ JapanSalaryman:เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน
Facebook.com/JapanSalaryman
Twitter.com/JapanSalaryboom

Source : รายการ Jonetsu Tairiku (Mainichi Broadcasting System)  ออกอากาศวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2013  https://www.mbs.jp/jounetsu-old/2013/02_24.shtml

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0