โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” จะรับมือกับมันยังไงดี

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 05.50 น. • Motherhood.co.th Blog
“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” จะรับมือกับมันยังไงดี

"ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด" จะรับมือกับมันยังไงดี

"ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด" ของผู้เป็นแม่มักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามกันไป หลังจากช่วงเวลาแห่งความชื่นชมยินดีที่เด็กน้อยได้ถือกำเนิดขึ้นมา คนในครอบครัวจึงต้องเล็งเห็นถึงปัญหานี้กันให้มากอีกสักหน่อย อารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอดของแม่มีอาการอย่างไร คนใกล้ชิดควรดูแลอย่างไร และจะมีวิธีแก้ได้ไหม ติดตามต่อกันได้เลยค่ะ

อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum blues) พบได้สูงถึง 40- 80% ของผู้หญิงหลังคลอด
อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum blues) พบได้สูงถึง 40- 80% ของผู้หญิงหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร?

อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum blues) นี้ในหลายๆครั้งคนเป็นแม่ก็อาจจะไม่รู้ตัว ต้องอาศัยคนรอบข้างคอยบอกให้ทราบ นับเป็นกลุ่มอาการที่พบในคุณแม่หลังคลอดประมาณ 50-70% เป็นเพราะฮอร์โมนลดตัวลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ อารมณ์เศร้าอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน ส่วนใหญ่จะปรากฏให้เห็นในช่วง 2-5 วันหลังคลอด และจะเป็นอยู่นาน 7-10 วันแต่โดยมากจะไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่พบว่าคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอดใหม่ๆ โดยจะเริ่มรู้สึกสับสน อารมณ์แปรปรวน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อ่อนไหว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รู้สึกเศร้า จนบางทีก็ร้องไห้ออกมาเฉยๆ และอาการเหล่านี้อาจจะมีมากขึ้นหากต้องเลี้ยงลูกคนเดียวตามลำพัง

ในช่วงแรกคลอด คุณแม่จะรู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่กับลูกน้อย แต่ต่อมาไม่นานกลับรู้สึกเศร้า สับสน เกิดความเป็นกังวลในการทำหน้าที่แม่ กลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ หรือถ้าเลี้ยงได้ก็อาจจะเลี้ยงได้ไม่ดีพอ คุณแม่ควรทำใจให้เย็นลงและให้เวลากับตัวเองมากขึ้นอีกหน่อย เพราะการเป็นแม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและค่อยๆเรียนรู้ไป ไม่มีทางที่เราจะกลายเป็นยอดคุณแม่ได้ตั้งแต่ลูกเกิดมาใหม่ๆ การที่คุณแม่และคุณพ่อรู้เท่ากันอาการซึมเศร้าหลังคลอด ทำความเข้าใจกับมัน และร่วมกันแก้ปัญหา ก็จะทำให้คุณแม่มีกำลังใจมากขึ้น มีอารมณ์แจ่มใสมากขึ้น และเลี้ยงลูกได้อย่างสนุกสนาน

โรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) เป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถพบได้ประมาณ 10-15% ของคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าทั้งหมด ถ้ามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดยาวนานเกิน 2 สัปดาห์ ก็จะจัดว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว โดยจะเริ่มเป็นตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปหลังคลอด และอาจคงอยู่ไปประมาณ 1 เดือน อาการในภาพรวมจะเหมือนกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในช่วงแรก แต่ระดับความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลาง และอาการเหล่านี้เริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของแม่ เช่น ไม่กินอาหาร ไม่ลุกออกจากที่นอน เอาแต่นอนร้องไห้จนเลี้ยงลูกไม่ได้ ต้องมีคนมาช่วยดูแลลูกแทน ฯลฯ

โรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน อาการของโรคจะได้หายไปในไม่ช้า เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการจะมีความซับซ้อนและรักษายากขึ้น ตามปกติคุณแม่แต่ละคนจะมีรายละเอียดของอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปจะมีอาการซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ คิดว่าชีวิตไม่มีค่า รู้สึกว่าตัวเองผิด เครียด กังวล เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวันไปเลย เชื่องช้า ขาดสมาธิ และไม่สนใจตัวเอง ละเลยการดูแลตัวเอง ถ้าปล่อยไว้นาน ไม่ได้รับกำลังใจหรือการแก้ไขที่ถูกต้อง อาการก็จะพัฒนารุนแรงขึ้นไปเป็น "โรคจิตหลังคลอด" ได้

โรคซึมเศร้าหลังคลอด ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจของคนในครอบครัว
โรคซึมเศร้าหลังคลอด ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจของคนในครอบครัว

แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอด

สิ่งที่ดีที่สุดคือการได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ และสามี ทุกคนคอยช่วยให้กำลังใจว่านี่คืออาการของโรค ไม่ใช่ความอ่อนแอหรือความผิดใดๆ ควรมีการผัดเปลี่ยนคนดูแลเด็กในช่วงกลางคืน เพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลานอนหลับ อย่าปล่อยให้คุณแม่เลี้ยงลูกเพียงคนเดียว ให้คุณแม่ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง โดยการออกไปข้างนอกหรือได้ออกกำลังกายเบาๆ

ไม่ควรตำหนิหรือโมโหเมื่อคุณแม่มีอาการแปลกๆทางอารมณ์ ทุกคนในครอบครัวต้องใช้ความอดทน การเรียนรู้ ว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นเอง และจะสามารถหายไปได้ ทุกคนในครอบครัวควรช่วยกันสังเกตอาการ หากมีอาการหนักขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ เมื่อพบแพทย์แล้ว ควรทราบว่าการกินยาอาจจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้จริง แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการปากแห้ง ง่วงซึม หรือมึนงงได้

ป้องกันอาการซึมเศร้าหลังคลอด ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

  • คุณพ่อเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนชีวิตหลังคลอด ตกลงกันไว้ก่อนว่าหลังคลอดลูกน้อยแล้ว ใครจะมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง คอยดูแลว่าคุณแม่ขาดเหลืออะไร ต้องการอะไรบ้าง ที่สำคัญคืออย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมก่อนที่จะมีลูก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลกันไปใหญ่
  • คุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ตัวเอง อย่ากังวลในสิ่งที่ไม่ควรกังวล ต้องปล่อยวางมากๆ อย่าไปคิดให้ตัวเองเครียดไปซะหมดทุกเรื่อง
  • ให้สมาชิกครอบครัวได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก หรือช่วยทำงานบ้าน ช่วยเตรียมอาหาร และคอยให้กำลังใจกันและกันเสมอ
  • ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง อย่าเก็บไว้กับตัวคนเดียว หากอึดอัดคุณแม่จะต้องหาคนมารับฟังความรู้สึก หาคนที่ไว้ใจได้มาคอยรับฟังสิ่งที่เราอัดอั้นตันใจ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผักผลไม้สดจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นได้มาก อีกทั้งยังช่วยทำให้ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย และควรลดขนมหวานและการกินจุบจิบ
  • ควรออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน เพราะกายออกกำลังกายจะช่วยทำให้จิตใจแจ่มใส ร่างกายก็จะกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ จะเป็นการงีบในช่วงบ่ายก็ได้ เพื่อให้ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และควรหาคนช่วยดูแลลูกน้อยตอนกลางคืนเพื่อให้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
รู้สึกอึดอัดใจเรื่องอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรระบายออกมา
รู้สึกอึดอัดใจเรื่องอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรระบายออกมา

โรคจิตหลังคลอด

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) ถือเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมากและจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน มักมีอาการที่แปลกไป เช่น ประสาทหลอน มีพฤติกรรมผิดปกติ อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง มีการทำร้ายตัวเอง คนรอบข้าง แม้กระทั่งลูกที่เพิ่งคลอด

  • พบได้ราว 0.1-0.2%
  • มักมีอาการในช่วง 2-3 วันแรกคลอด
  • อาการเริ่มต้นคือผุดลุกผุดนั่ง นอนไม่หลับ หงุดหงิด
  • หลังจากนั้นจะซึมเศร้า หรืออารมณ์ดีแบบไม่มีสาเหตุ อารมณ์เปลี่ยนแปลงไวมาก
  • มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความหวาดระแวง
  • มีความคิดหลงผิด
  • เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว คิดว่ามีคนสั่งให้ทำร้ายลูก

จะเห็นได้ว่าอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดมาจากสาเหตุต่างๆรวมกัน เมื่อเคยเป็นแล้วก็อาจจะเป็นได้อีก เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาเรื่องการให้ยาตั้งแต่หลังคลอด ก่อนที่จะมีอาการเกิดขึ้นได้

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0