โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ทีมต้นยางสารภี” จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “THAIHEALTH INNO Awards” ครั้งที่ 2

สยามรัฐ

อัพเดต 16 ก.พ. 2563 เวลา 04.39 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 04.39 น. • สยามรัฐออนไลน์
 “ทีมต้นยางสารภี” จ.เชียงใหม่  คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “THAIHEALTH INNO Awards” ครั้งที่ 2

​สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกาศผลรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ : THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2 โดยมีสุดยอดผลงานของเยาวชนไทยทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งผ่านการคัดเลือก เข้าสู่รอบสุดท้ายทั้งหมด 18 ผลงาน จากทั้งหมด 132 โครงการ ณ ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ

​สำหรับ “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ได้แก่ “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” ทีม“ต้นยางสารภี” ซึ่งเป็นผลงานของ นายจอมขวัญ ลุงตำ และ นายเทพพิทักษ์ อินคำ 2 นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่พัฒนาผลงานขึ้นมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทย ที่นิยมปรับประทานอาหารประเภททอด จึงร่วมกันออกแบบเครื่องสลัดน้ำมัน โดยใช้หลักการปั่นผ้าแห้งของเครื่องซักผ้า ใช้แรงเหวี่ยงหมุนสะบัดเพื่อให้เหลือน้ำมันตกค้างในอาหารน้อยที่สุด อุปกรณ์มีขนาดเล็กราคาถูกสามารถใช้ได้ในครัวเรือน หรือพัฒนาให้เหมาะสมกับเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งสำคัญคือสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จากการได้มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมันปริมาณจำนวนมากที่ต้องรับประทานเข้าไปในแต่ละเมนู

​นายจอมขวัญ ลุงต๋า หรือ “จอม” นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 2 สาขาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี เล่าว่าได้แนวคิดมาจากในครอบครัวของตนเองที่ชอบรับประทานอาหารทอดเพราะอร่อยและมีกลิ่นหอมเย้ายวนใจ แต่อาหารก็จะมีน้ำมันตกค้างในปริมาณมาก ซึ่งหากรับประทานมากๆ จะทำให้เกิดโรคอ้วน ไขมันอุดตัน จนไปถึงโรคมะเร็ง จึงเป็นที่มาของการคิดพัฒนาเครื่องมือที่จะสามารถสลัดน้ำมันออกจากของทอดให้ได้มากที่สุด พอเห็นการทำงานของเครื่องซักผ้าก็เกิดไอเดียนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องสลัดน้ำมัน โดยพัฒนาให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดเพื่อใช้ในครัวเรือน

​“เครื่องสลัดน้ำมันหากจะผลิตเพื่อใช้จริงจะมีต้นทุนประมาณ 1พันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งจากการทดลองกับกลุ่มผู้ประกอบการ ทุกคนต่างชื่นชอบและขอซื้อไปใช้งาน เพราะทั้งคนขายและคนซื้อต่างก็ไม่คิดว่าในของทอดจะมีน้ำมันออกมาได้ขนาดนี้ อย่างกล้วยทอด 20 บาท มีน้ำมันออกมาถึงเกือบครึ่งถ้วย หรือราว 6 กรัม ซึ่งถ้าเราวางผึ่งให้สะเด็ดน้ำมันจะมีน้ำมันออกมาแค่ไม่ถึง 1 กรัม พอลูกค้าได้เห็นว่าในกล้วยทอดมีน้ำมันตกค้าง แล้วเห็นว่าเครื่องช่วยลดปริมาณน้ำมันได้ ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าร้านมีเครื่องนี้จะซื้อรับประทานทุกวัน”

​นายเทพพิทักษ์ อินก๋า หรือ “จิ้วจิ้ว” นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 2 สาขาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ผลงานของตนเองได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยจุดเด่นของเครื่องคือ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แต่สามารถใช้มือหมุนได้ ถอดล้างได้ง่าย และเป็นเครื่องมือที่สามารถป้องกันเหตุของโรคต่างๆ ที่เกิดจากการทานอาหารที่มีน้ำมันตกค้างในปริมาณมากเข้าไปในร่างกายได้

“ที่สำคัญคือผลงานนี้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ร้านกล้วยทอดทุกร้านที่เราเอาเครื่องมือนี้ไปทดลองใช้และเก็บข้อมูล ก็ขอซื้อและขอให้ช่วยพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเหมาะกับการขายในปริมาณมากๆ ที่สำคัญเวลาที่เอาไปสลัดน้ำมันให้คนซื้อเห็น ลูกค้าก็ชอบและดีใจ เพราะเห็นว่ามีน้ำมันออกไปเยอะมากกินแล้วปลอดภัยขึ้น มีประสิทธิภาพกว่าการซับด้วยกระดาษหรือผึ่ง”

​สำหรับ รางวัลรองชนะเลิศ ระดับอาชีวศึกษา ลำดับที่ 1 ได้แก่ ผลงาน “Care Share Team สุขภาพสู่ชุมชน” ทีม CMVC Healthy Plus จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ที่พัฒนากระบวนการทำงานเพื่อบริการสังคมโดยเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่อย่างเป็นระบบเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน รางวัลรองชนะเลิศ ระดับอาชีวศึกษา ลำดับที่ 2 มีจำนวน 2 ผลงาน ที่ได้รับคะแนนจากคณะกรรมการเท่ากันคือ “เครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ทีม นักประดิษฐ์ วก.ไชยา จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา ที่พัฒนาเครื่องล้างไข่เค็มที่ลดปริมาณการใช้น้ำด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ ช่วยลดปริมาณน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม สามารถล้างไข่เค็มได้เร็วกว่าแรงงานคนถึง 7 เท่า และ “อุปกรณ์ช่วยผู้สูงอายุฝึกขึ้นบันได” ทีม EP SKTC จากวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว ที่ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยพยุงตัวให้ผู้สูงอายุสามารถเดินขึ้นบันไดได้อย่างสะดวกปลอดภัย และยังสามารถใช้เป็นไม้เท้าช่วยพยุงเดินได้ในเวลาเดียวกัน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส. เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อเปลี่ยนสุขภาวะของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำ โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการแข่งขัน จากโจทย์หลักคือ ความอยากที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. หรือเทียบเท่า) โดยมีผลงานจากนักเรียนระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ร่วมส่งผลงานทั้งสิ้น 132 ทีม และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 18 ทีม

“สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรม แต่มุ่งหวังที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครูซึ่งเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ที่สำคัญของประเทศ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อต่อยอดให้ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพถูกนำไปใช้งาน และขยายผลต่อได้ไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคมไทย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0