โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ทิศทางการลงทุน”...ไตรมาสที่ 3/2562

Wealthy Thai

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 09.45 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 09.45 น. • wealthythai
“ทิศทางการลงทุน”...ไตรมาสที่ 3/2562

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนได้เผชิญกับความผันผวนมากพอสมควร เศรษฐกิจโลกปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องโดยสาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตยูโรโซน อาทิ ประเด็น Brexit ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนี และการประท้วงในฝรั่งเศส

 

 

“ความตึงเครียดของสงครามการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ทวีตข้อความขู่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% โดยภาษีรอบใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 นี้”

 

โดยเป้าหมายเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสมาร์ทโฟน แล็ปท็อปของเล่นและเสื้อผ้าเด็ก และยังให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาต่อมาว่าอัตราภาษีอาจสูงกว่า 25% ได้เช่นกัน ธนาคารกลางจีนทำการตอบโต้โดยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนตัวลงและระงับการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน

 

 

นอกจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและยังไม่มีความชัดเจน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง อาทิ การเมืองในยูโรโซน ข้อสรุปของ Brexit  ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การประท้วงในฮ่องกง และข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

 

“โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)’ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ลง 0.1% มาอยู่ระดับ 3.2% ในปีนี้และ 3.5% ในปี 2563”

 

 

การจัดการนโยบายการเงินยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างมีจุดยืนที่ ผ่อนคลาย (Dovish)’ มากขึ้น โดยเริ่มจากธนาคารกลางยุโรปและธนาคารญี่ปุ่น ซึ่งต่างมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีทีท่าที่พร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

“หลังจากที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% 2.25% และประกาศยกเลิกการลดงบดุล ณ สิ้นเดือนกันยายน รวมถึงส่งสัญญาณที่จะไม่รีบร้อนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 30 – 31 ก.ค. 2562”

 

 

ตามมาด้วยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ มีมติลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.5% สู่ระดับ 1% และธนาคารกลางอินเดีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.35% มาอยู่ที่ระดับ 5.4% เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีมติลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา 

 

 

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้ถูก IMF ปรับการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ลดลงอยู่ที่ประมาณ 3.2% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีสาเหตุหลักมาจาก

 

  • การลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการชะลอตัวลง 
  • รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีความเสี่ยงที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจากปัจจุบันและเป็นไปอย่างยืดเยื้อ ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลกและภาพรวมการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังคงรอติดตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

 

 

สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง หากดูจากปัจจัยความเสี่ยงจากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สนับสนุนการลงทุนโดยเน้นการกระจายความเสี่ยง (Diversification)’ ในหลากหลายกลุ่มสินทรัพย์ เช่น กองทุนตราสารหนี้ในไทยและกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์, ทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมตราสารทุนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

 

 

เพื่อเป็นการลดความผันผวนจากการลงทุนและเป็นการรักษาวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวสามารถชนะเงินเฟ้อได้

 

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0