โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ซาร์ปูติน”ถวิลตาม“สีฮ่องเต้”?

สยามรัฐ

อัพเดต 19 ม.ค. 2563 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
“ซาร์ปูติน”ถวิลตาม“สีฮ่องเต้”?

ช็อกทั้งวงการเมืองของรัสเซีย และแวดวงต่างประเทศกันมิใช่น้อย

สำหรับ การประกาศลาออกแบบยกคณะของรัฐบาลรัสเซีย รวมถึงนายกรัฐมนตรี “ดมิทรี เมดเวเดฟ” นักการเมืองคนสนิทระดับมือขวาของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

ปรากฏการณ์ช็อก เพราะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดฝันกันมาก่อน จะเรียกเป็นการประกาศแบบฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ไม่มีเค้าลางกันมาก่อน ซึ่งมีขึ้นภายหลังจากประธานาธิบดีปูติน กล่าวแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย กรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีปูติน ก็ระบุถึงเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดที่จะ “ปฏิรูปรัฐธรรมนูญของรัสเซีย” หรือพูดง่ายๆก็คือ การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา นั่นเอง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ณ ปัจจุบัน

โดยเมื่อว่าถึงรัฐธรรมนูญของรัสเซียฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้ผ่านการลงประชามติ จากประชาชีแห่งแดนหมี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) นับถึงวันนี้ ก็เพิ่งผ่านพ้น 26 ปี มาเดือนกว่าๆ ย่างเข้าสู่ปี 27 แล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นที่ดูจะขัดหูขัดตาของผู้ที่ถูกยกให้เป็น “ซาร์แห่งรัสเซียยุคปัจจุบัน” อันหมายถึง ประธานาธิบดีปูติน ก็คือ การปรับโครงสร้างเพื่อการถ่ายโอนอำนาจบางส่วนจากประธานาธิบดีไปสู่รัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาดูมา และนายกรัฐมนตรีให้มากขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่า จะให้บทบาทและความรับผิดชอบ ที่เดิมส่วนใหญ่อยู่กับประธานาธิบดี ให้ไปอยู่กับสภา และนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

ขณะที่ ในส่วนของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ทางประธานาธิบดีปูติน ก็ได้แถลงว่า ต้องเปลี่ยนจากประธานาธิบดีแต่งตั้งแล้วให้สภาดูมาเห็นชอบ มาเป็นสภาดูมา เป็นผู้ประกาศแต่งตั้งแทน

ประธานาธิบดีปูติน ยังได้เสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่ให้เพิ่มบทบาทของที่ปรึกษาในนามสภาแห่งรัฐ ซึ่งประกอบด้วยบรรดาผู้นำจากภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย ทั้งนี้สภาแห่งรัฐดังกล่าว ก็มีประธานซึงมิใช่ใครอื่น แต่เป็นประธานาธิบดีปูติน นั่นเอง

ก่อนปิดท้ายด้วยแนวคิดที่ถูกยกให้เป็นเป้าหมายสูงสุดของประธานาธิบดีปูติน นั่นก็คือ การแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ที่จากเดิมรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน (การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซียมีวาระละ 6 ปีด้วยกัน) สู่การดำรงตำแหน่งได้โดยไม่จำกัด คือ จะเป็นประธานาธิบดีกันกี่สมัยก็ได้

ทั้งนี้ ปูตินขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซียเป็นสมัยที่ 4 เข้าไปแล้ว นับแต่ก้าวขึ้นบนบัลลังก์นี้หลายช่วงและวาระด้วยกัน

โดยในช่วงแรก ก็เป็นถึงสองวาระติดต่อกัน ระหว่างปี 2543 (ค.ศ. 2000) ถึงปี 2551 (ค.ศ. 2008)

จากนั้นประธานาธิบดีปูตินอาศัยช่องว่างของรัฐธรรมนูญ ด้วยการขยับไปนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” แทน แล้วให้นักการเมืองคนสนิทของเขา คือ นายดมิทรี เมดเวเดฟ ขึ้นมารั้งตำแหน่งแทนแบบชั่วคราวขัดตาทัพ ก่อนที่เขาจะกลับมานั่งบัลลังก์ประธานาธิบดีในทำเนียบเครมลินรอบใหม่ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) ในช่วงที่สอง ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ในวาระที่ 2 และจะหมดวาระในปี 2567 (ค.ศ. 2024) หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

นอกเหนือจากการแก้ไขเรื่องการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นายปูติน ยังได้เสนอให้แก้ไขในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียด้วย

โดยในประเด็นนี้เขาต้องการให้กำหนดว่า ห้ามผู้มีสัญชาติอื่นมาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซีย รวมถึงเสนอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องพำนักอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียอย่างน้อย 25 ปี ขึ้นไปอีกด้วย

ทั้งนี้ ตามข้อเสนอต่างๆ เพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขบทบัญญัติในแต่ละมาตรา ทางบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ล้วนมีที่มาที่ไปในอันจะทำให้นายปูติน ธำรงคงไว้ในอำนาจของประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปแทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการมีถ้อยแถลงส่งสัญญาณให้คณะรัฐมนตรี ลาออกกันแบบยกแผง ซึ่งมีรายงานว่า ประธานาธิบดีปูติน รับรู้เกี่ยวกับกระแสความไม่พอใจของประชาชนชาวรัสเซีย ต่อการทำงานของรัฐบาลชุดที่เพิ่งลาออกไปผ่านสำนักโพลล์ต่างๆ อันส่งผลกระทบไปถึงคะแนนนิยมของนายปูตินไปด้วย โดยระบุว่า คะแนนนิยมล่าสุดของเขาตกลงมาจากการสำรวจโพล์ครั้งก่อนถึง 10 จุด จาก ร้อยละ 42 ลงมาสู่ร้อยละ 32 โดยคะแนนนิยมที่มีต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีปูติน ยังสะท้อนออกมาจากผลเลือกตั้งในกรุงมอสโก เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ปรากฏว่า พรรคสหรัสเซีย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเสียที่นั่งไปถึง 1 ใน 3 ทางประธานาธิบดีปูติน เลยต้องหาทางปรับคณะรัฐมนตรีกันใหม่ รวมถึงผลักภาระความรับผิดชอบให้ไปอยู่กับสภาดูมาแทน

ส่วนในประเด็นเรื่องข้อเสนอการแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามบุคคลที่พำนักอาศัยในรัสเซียน้อยกว่า 25 ปี ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็เพื่อสกัดนายมิคาล ฮอโดร์คอฟสกี มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวรัสเซีย ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศมาลงสมัครรับเลือกตั้ง มาลงชิงชัยในเวทีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า เรียกว่า ตัดเสี้ยนหนามคู่แข่งคนสำคัญไปได้อีกคนสำหรับนายปูติน

ขณะที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็บ่งชี้ว่า นายปูติน หมายมั่นปั้นมือที่จะนั่งบนบัลลังก์ประธานาธิบดีในลักษณะเป็นผู้นำตลอดกาล เหมือนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขบทบัญญัติ จนได้นั่งเก้าอี้ผู้นำแดนมังกรแบบตลอดกาลกันไปก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ประธานาธิบดีปูติน จะประสบความสำเร็จเหมือนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของประธานาธิบดีปูตินเองด้วย ว่าจะจัดการขวากหนามที่จะเป็นอุปสรรค์กันอย่างไรให้ถึงฝั่งฝันเหมือนกับที่ประธานาธิบดีสี ประสบความสำเร็จ เช่น การจัดการกับการเมืองภายในประเทศ ที่ปรากฏว่า ยังมีม็อบจากฝ่ายค้าน ลงถนนต่อต้านเขาอยู่เป็นระยะๆ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ก้าวร้าว แตกต่างๆ จากประธานาธิบดีสี ที่นุ่มนวลและเนียนกว่าเป็นไหนๆ อาทิ การผนวกดินแดนไครเมียของรัสเซีย เปรียบเทียบกับการดำเนินอภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นการขยายอิทธิพลเหมือนกัน แต่รูปแบบและวิธีการนั้นแตกต่างห่างกันไกล ไม่นับการลงประชามติเพื่อผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้ และก็เป็นคำถามตามมาว่า ประธานาธิบดีปูติน ซึ่งถูกเรียกว่า เป็น “ซาร์แห่งรัสเซีย” ยุคปัจจุบัน จะเดินตามรอยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ถูกเรียกให้เป็น“สีฮ่องเต้” หรือ “จักรพรรดิสี” จะสามารถประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้หรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0