โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ขยะพลาสติก”ปัญหาเร่งด่วนชาติเศรษฐกิจก้าวหน้า

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 00.29 น.

หลังจากจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมใจปิดประตูไม่รับขยะพลาสติกนำเข้าจากประเทศต่างๆ ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในซีกโลกตะวันตกก็อยู่ลำบากเพราะต้องหาทางแก้ปัญหาขยะกองมหึมาตามเมืองต่างๆ รวมทั้งปริมาณขยะใหม่ที่มีทุกวัน หลายประเทศจึงออกมาตรการแบนผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตพลังงานจากขยะ

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ รัฐบาลและบริษัทในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจึงเร่งหามาตรการต่างๆเพื่อปรับเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรมีค่าต่อระบบเศรษฐกิจ หลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศกลุ่มจี20 เห็นพ้องร่วมกันที่จะเลิกใช้พลาสติกและแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ภายในปี 2593 และในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ เจ้าหน้าที่ระดับคณะทำงานของชาติสมาชิกจี20จะประชุมร่วมกันในญี่ปุ่นเพื่อหาแนวทางต่างๆรับมือกับขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกวิตกกังวลหลังจากจีนประกาศเลิกนำเข้าพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งจะถูกนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าและวัสดุประเภทอื่นๆ โดยเมื่อปี 2560 จีนนำเข้าขยะพลาสติกประมาณ 7 ล้านตัน ก่อนจะสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ก่อมลพิษแก่แม่น้ำสายต่างๆและทะเล ซึ่งการประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของจีน ผู้ที่เดือดร้อนมากคือ สหรัฐ โดยยอดส่งออกขยะพลาสติกไปจีนของสหรัฐ ร่วงลงเหลือประมาณ 4 หมื่นตันในปี 2561 จากปริมาณ 1.1 ล้านตันในปี 2557 ขณะที่การส่งออกขยะพลาสติกของญี่ปุ่นไปจีนปรับตัวลงเหลือ 5 หมื่นตัน จากปริมาณการส่งออก 9.5 แสนตัน

หลังจากจีนปิดประตูไม่ต้อนรับขยะพลาสติกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นจุดหมายปลายทางต่อไปของบรรดาชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลาย เริ่มจากสหรัฐ ส่งออกขยะพลาสติกมายังมาเลเซียในปริมาณประมาณ 2แสนตัน ส่วนญี่ปุ่น ก็ส่งออกขยะพลาสติกมาที่ประเทศไทย ในปริมาณประมาณ 1.9 แสนตัน

อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่สามารถทดแทนจีนได้100% โดยในปี 2561 ญี่ปุ่นส่งออกขยะพลาสติกในปริมาณ 1 ล้านตันเทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่ส่งออกขยะพลาสติกไปจีนในปริมาณ 1.6 ล้านตัน โดยคาดว่าปริมาณที่เหลืออีก 6 ล้านตันยังคงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

สถานการณ์ขยะพลาสติกเริ่มแย่ลง เมื่อหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มเดินตามรอยจีนที่แบนนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ประกาศแผนส่งขยะพลาสติกทั้งหมดกลับประเทศต้นทาง

"ขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอาจจะมีปลายทางเป็นแค่ขยะไร้ค่าในประเทศต่างๆอย่างฟิลิปปินส์ "กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ระบุ

ขณะที่ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัดที่ได้รับการแก้ไขแล้ว กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามส่งออกพลาสติกที่ฝังอยู่ใต้ดินโดยให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ปี 2564

ปัจจุบันนี้ พลาสติกที่ถูกเผาทำลายในญี่ปุ่นมีประมาณ 60% ซึ่งฮิเดชิเกะ ทากาดะ ศาสตราจารย์จากคณะเทคโนโลยีด้านการเกษตรมหาวิทยาลัยโตเกียว มองว่า การสนับสนุนให้รีไซเคิลด้วยความร้อนเป็นวิธีการที่สวนทางกับการรับมือปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน โดยเฉพาะกระบวนการเปลี่ยนแปลงความร้อนจากการเผาพลาสติกไปเป็นพลังงาน

ชินจิโร โคอิซูมิ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาจะหารือกับประเทศต่างๆในประชาคมโลกเกี่ยวกับความพยายามของญี่ปุ่นที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ขณะที่สหภาพยุโรป กล่าวว่า เตรียมเผาทำลายขยะพลาสติกประมาณ40% และที่เหลืออีก 30% จะใช้วิธีฝังกลบ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภายุโรป ได้ลงคะแนนเสียงห้ามผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนสหรัฐได้นำขยะพลาสติกฝังกลบใต้ดินในสัดส่วนประมาณ 70% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่มี

ส่วนบริษัทผลิตเคมีภัณฑ์จากทั่วโลกก็เริ่มลงมือเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยการตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อยุติการใช้ขยะพลาสติกพร้อมทั้งให้เงินอุดหนุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บรรดานักธุรกิจทั้งระดับผู้นำและระดับปฏิบัติการจากบริษัทต่างๆประมาณ 500 คน ได้ประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แต่หนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นประเทศ คือการนำขยะประเภทนี้ไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกลูกกลมๆเล็กๆ จากนั้นก็นำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไป ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นชื่อ"เอเซอิ"มีฐานการผลิตที่อิบารากิ รีไซเคิลขยะพลาสติกและส่งผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆที่เกิดจากการรีไซเคิลไปจีนในสัดส่วนมากถึง 80% ด้วยกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0