โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘สุรจิต ชิรเวทย์’ ผู้เก็บรักษาภูมิปัญญาเมืองแม่กลอง - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TALK TODAY

เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

*ไม่มีคนรักแม่กลองคนไหน ไม่รักผู้ชายคนนี้ *

แม้สมุทรสงครามหรือ ‘เมืองแม่กลอง’ จะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศไทย แต่กลับเต็มไปด้วยภูมิปัญญาของคนในอดีต ทั้งการอยู่กับธรรมชาติ วิถีชีวิตชาวสวน ชาวประมง คนทำนาเกลือ ซึ่งนับวันจะสูญหายเพราะการพัฒนาที่รุกคืบเข้ามา

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในอาชีพนายธนาคาร ‘สุรจิต ชิรเวทย์’ เดินทางลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านเพื่อปล่อยสินเชื่อ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กระทบวิถีชีวิตเหล่านี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และคิดได้ว่า หากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง วันหนึ่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจะไม่มีเหลือ

สุรจิตตัดสินใจลาออกจากงานอันมั่นคง มาเริ่มต้นงานพัฒนาบ้านเกิด ศึกษาองค์ความรู้ของคนโบราณและเผยแพร่ออกไปให้คนได้เห็นคุณค่า ก่อตั้งประชาคมคนรักแม่กลอง ต่อสู้กับโครงการต่างๆ ที่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม ขณะที่อีกบทบาทหนึ่งก็ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้า และสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ใช้แนวทางการพัฒนาประสานการอนุรักษ์ สร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จหลายอย่าง

หนึ่งในนั้นคือเทศกาลกินปลาทูแม่กลอง อันโด่งดังและจัดต่อเนื่องมาถึงวันนี้

สำหรับสุรจิต สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าการสร้างความร่ำรวยให้ตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นแม่กลองจะไม่เหลือ ปลาทู น้ำตาลมะพร้าว เกลือสมุทร ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง และกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมไปเสียก่อน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักชีวิตของเขา ชายผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองเล็กๆ แต่กลับส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่

*-1- *

*มนต์รักแม่กลอง *

สุรจิตมีชื่อเล่นว่า‘เจี๊ยว’ แปลว่าอวัยวะเพศชาย แต่เขาไม่เคยอาย กลับภูมิใจเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นชื่อที่มาจากความดีใจของพ่อแม่ครอบครัวคนจีน ซึ่งอยากได้ลูกชาย เนื่องจากพี่ๆ เป็นผู้หญิงกันหมด

*“พอเห็นไอ้เจี๊ยวผมเขาก็เฮกันใหญ่ แล้วตะโกนต่อๆ กันว่าไอ้เจี๊ยวๆ” *

เจี๊ยวเรียนมัธยมที่เมืองแม่กลอง ก่อนเข้ากรุงมาเรียนจบทางด้านกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ และเริ่มทำงานเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย สาขาสมุทรสงคราม มีหน้าที่เดินพิสูจน์ทรัพย์สินเพื่ออนุมัติเงินกู้

ลูกค้าของเขาจำนวนไม่น้อยคือชาวบ้านที่อยู่ตามสวน ไร่นา ป่าชายเลน บางครั้งต้องเดิน บางครั้งนั่งเรือไปพบ ทำให้ได้รู้จักแม่น้ำลำคลองแทบทุกสายในบ้านเกิดของตัวเอง

ในช่วงที่ทำงานธนาคารอยู่ เริ่มมีโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านแล้ว คือเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งสร้างเสร็จแล้วต้องกักน้ำเข้าอ่าง 3 ปี ทำให้น้ำเหนือเขื่อนไม่ไหลลงมาไล่น้ำทะเล เมืองแม่กลองทั้งเมืองจึงถูกแช่ในน้ำเค็มยาวนาน ส่งผลให้สวนพัง ต้นมะพร้าวล้มตาย กลายเป็นคำกล่าวในหมู่ชาวบ้านว่า ชาวสวนจากเศรษฐีกลายเป็นยาจก

ความเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้สุรจิตเริ่มลงไปทำงานในพื้นที่ควบคู่กับการทำงานธนาคาร

“เวลาผมนั่งเรือออกไปดูที่ ไปเยี่ยมลูกค้า เวลา 11 โมง ทุกสวนจะตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาลควันออกโป่ง กลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั้งเมืองเลย นี่คือภาพสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ของแม่กลอง เราเสียดายภาพเหล่านี้ ถ้าสิ่งที่มั่นคงมาเป็นร้อยๆ ปีของชาวบ้านจะกลายเป็นแบบนี้ มันจะเป็นจุดเปลี่ยนเลย” เขาให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสาร a day

ยิ่งนานวัน สุรจิตยิ่งเกิดความรู้สึกรุนแรงภายในใจว่างานที่ทำมาตลอด 25 ปีไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ไม่ได้สร้างความหมายให้กับชีวิต ในที่สุดจึงตัดสินใจลาออก ตอนอายุ 48 ปี

   หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการที่เขาได้พบป้าชาวสวนคนหนึ่ง แกขายที่ดินสวนมะพร้าว เพราะลูกหลานไม่ทำต่อ ได้เงินมา 5 ล้านบาท ให้ลูกหลานเอาเงินไปเปิดร้านค้า แต่เมื่อคนที่เป็นชาวสวนมาทั้งชีวิตต้องมานั่งๆ นอนๆ เฝ้าร้านก็อึดอัด ในที่สุดป้าตัดสินใจว่าจะกลับไปขึ้นตาลอย่างเก่า

สุรจิตจำได้ว่าตัวแกเล็กๆ ผอม อายุก็หกสิบกว่า แต่ยังขึ้นตาลได้วันละ 30 กว่าต้น ได้น้ำตาล 15-18 กิโลกรัม หาฟืนเอง เคี่ยวน้ำตาลเอง เป็นงานอิสระที่แกมีความสุข

“แกบอกว่า ฉันขึ้นตาล ฉันไม่อ้วน ฉันไม่เป็นเบาหวาน ฉันไม่เป็นลูกน้องใคร แม่งโคตรมีศักดิ์ศรีเลยนะ ขณะที่แกมีเงิน 5 ล้าน แกไม่ต้องทำอะไรอีกแล้วก็ได้ใช่ไหม แต่ความสุขของแกคือการได้เดินทำงานเงียบๆ อยู่ในสวน ไม่อยากไปยุ่งอะไรกับใครมาก เป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก สร้างฐานะมาปลูกบ้านทรงไทยฝระดานไม้จริง มีทุกสิ่งทุกอย่าง นึกถึงคำแกทีไร ผมขนลุกทุกที คำพูดของแกทำให้ผมตัดสินใจเด็ดขาด

“..คือในส่วนลึกของทุกคนอยากเป็นคนอิสระ แต่ไม่กล้าพอใช่ไหม เหมือนกัน ผมเองทำงานแบงก์ เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ตั้งเกือบ 26 ปี จนเกือบจะเชื่องอยู่แล้ว เราก็มานั่งคิดว่าชีวิตเราก็หมดไป เราก็ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ” เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ฅ.คน ถึงวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต

*-2- *

*ฅนแม่กลอง กับระบบนิเวศ 3 น้ำ *

ระหว่างนั้นเองมีโครงการพัฒนาเข้ามาคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินราชบุรี ซึ่งมีแนวคิดขนส่งน้ำมันเตาผ่านลำน้ำแม่กลองไปยังโรงไฟฟ้า คนสมุทรสงครามยังเข็ดหลาบกับผลกระทบจากเขื่อนไม่หาย จึงวิพากษ์วิจารณ์และรวมกลุ่มกันต่อสู้

ความที่สนใจทรัพยากรน้ำอยู่ก่อนแล้ว สุรจิตเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมทำเวทีให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้าน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นกลุ่มประชาคมคนรักแม่กลอง ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งการพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม

เนื่องจากเรียนจบนิติศาสตร์ เขาจึงเชื่อในการใช้กฎหมายแก้ปัญหาตลอดมา โดยเฉพาะการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ประชาชนหรือชุมชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้งดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน นับเป็นการต่อสู้ด้วยหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

  แต่สิ่งที่เขาพบว่าสำคัญกว่าคือ ความรู้และความเข้าใจในท้องถิ่น ถ้าคนแม่กลองต้องการรักษาบ้านเมืองไว้ก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจในวิธีคิดแบบแผนภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อจะนำไปคัดง้างกับการพัฒนาที่ทำลายชีวิตพวกเขาได้ ทำให้สุรจิตต้องกลับไปค้นลึกทั้งจากเอกสารเก่า พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เก็บไว้

เขาได้พบกับความรู้หลายๆ อย่างที่ทำให้ต้องทึ่งในความชาญฉลาดของคนโบราณ โดยเฉพาะการอยู่กับธรรมชาติ สุรจิตเขียนเผยแพร่สิ่งที่ค้นพบผ่านทางบทความและหนังสือต่างๆ เขานิยามคำว่า ‘ระบบนิเวศเมืองสามน้ำ’ ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตอยู่กับวงจร น้ำจืด-น้ำกร่อย-น้ำเค็ม อย่างกลมกลืนของคนสมุทรสงคราม

หนังสือเล่มที่สำคัญที่สุดคือ‘ฅนแม่กลอง’ เอกสารประกอบการจัดงานเทศกาลกินปลาทูที่เขามีส่วนผลักดันขณะเป็นประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม โดยรวบรวมองค์ความรู้พื้นบ้านเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูในฤดูวางไข่อย่างจริงจังและสอดแทรกความรู้ท้องถิ่นเข้าไป เช่น การเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มด้วยวิธีการธรรมชาติจากปากคำของคนเก่าแก่ องค์ความรู้เรื่องน้ำและลม ระบบน้ำ น้ำเกิด น้ำตาย น้ำสองกระดอง ลมเดือนต่างๆ ทำไมปลาทูแม่กลองถึงหน้างอคอหัก หรือความรู้เกี่ยวกับสวนผลไม้ เป็นต้น

  อาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ ทำให้คนสมุทรสงครามเข้าใจบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองมากขึ้น และความรู้เหล่านี้คือรากฐานที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง

“ประชาชนของเรามีภูมิปัญญาในเรื่องเกษตรประมงในวัฒนธรรมอาหารที่ยิ่งใหญ่ เป็นความชำนาญเดิมที่ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ เพียงแต่ต่อยอดให้สอดคล้องเท่านั้นเอง เราจะรักษาไว้ได้ยังไงคือคนรุ่นเก่าต้องรวบรวมภูมิปัญญาความรู้ไว้ ส่งมอบให้กับคนรุ่นถัดมา การรักษาไว้ไม่ใช่การทำให้นิ่ง ทุกสิ่งมันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ต้องให้มันสอดคล้อง

“เราเป็นคนแม่กลอง เราต้องรักษาความเป็นแม่กลองไว้ อย่าให้เรื่องลึกซึ้งของบ้านเรามันตื้นเขินจากคนที่มาจากที่อื่น ..ถ้าเรารักอะไร เราจะไม่ทำลายสิ่งที่เรารัก แต่ก่อนที่จะรัก ต้องรู้จักมันด้วย” สุรจิตเคยบอกกับบุญยืน ศิริธรรม รุ่นน้องที่ใกล้ชิด

ผลจากทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเกิด ทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2549 ในฐานะผู้สร้างประชาสังคมแห่งเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

*-3- *

*สายน้ำที่ไหลผ่าน *

อีกสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ คือการสร้างคนที่เห็นคุณค่าในทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

ประชาคมคนรักแม่กลอง ขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางพัฒนาบ้านเกิดอย่างยั่งยืน

งานเทศกาลกินปลาทู ก็ทำให้คนรู้จักปลาทูพื้นบ้านเมืองแม่กลองมากขึ้น โดยเฉพาะ ‘ปลาทูโป๊ะ’ ที่จับโดยใช้ภูมิปัญญาโบราณ ทำให้ปลาทูสด มัน กินอร่อย สุรจิตยังตั้งชื่อตอนและคอนเซ็ปต์ของงานในแต่ละปีให้น่าสนใจ อาทิ กินปลาทูแม่กลองให้แมวอาย, ปลาทูหน้างอ, ปลาทูไม่เครียด, ปลาทูเต็มสาว

ความทุ่มเททำงานของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ อยู่เสมอ เพชร มโนปวิตร เขียนไว้ว่า

“รู้จักพี่เจี๊ยวตอนร่วมกันคัดค้านเมกกะโปรเจ็กต์ทางด่วนข้ามอ่าวไทยกับสมาคมอนุรักษ์นกฯ แกเป็นคนเล่าเรื่องได้สนุกชนิดหาตัวจับยาก มีอารมณ์ขัน มีความคิดที่ลึกซึ้ง

“ครั้งหนึ่งเคยพารัฐมนตรีรัฐมอญ และเจ้าหน้าที่จากพม่ามาดูงานและฟังแกเล่าประสบการณ์การใช้แรมซาร์ไซต์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการอนุรักษ์ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น ทั้งคณะติดใจจนอยากเชิญแกไปบรรยายที่พม่า และเมื่อกลับไปไม่นาน อ่าวเมาะตะมะก็ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (พื้นที่ชุ่มน้ำ) แห่งล่าสุดของพม่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลทางเรือและทางท่อส่งในทะเล เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 สุรจิตตัดสินใจขอคืนรางวัล เนื่องจากบริษัทที่ทำน้ำมันรั่วไหลเป็นบริษัทลูกของผู้มอบรางวัล

ใครบางคนบอกว่า โครงการพัฒนาใดๆ หากไม่คำนึงถึงความยั่งยืน ยากที่จะเกิดขึ้นที่สมุทรสงคราม เพราะถึงจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ประชาคมมีความเข้มแข็งและอัดแน่นด้วยภูมิปัญญา ส่วนหนึ่งก็มาจากการวางรากฐานของเขาคนนี้

อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงครามยังทำงานอย่างต่อเนื่อง จะงดเว้นก็เพียงช่วงหลังที่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ

ในเดือนพฤษภาคม 2562 หมอที่รักษาแจ้งว่า เขาเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ซึ่งนับเป็นการป่วยหนักอีกรอบ หลังจาก 18 ปีก่อนเคยหัวใจวายเฉียบพลัน

ท่ามกลางการดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด บางคืน สุรจิตนึกถึงคำสอนของหลวงปู่ชา ที่เขาเคารพนับถือว่า ‘หายก็เอา ตายก็เอา’ ซึ่งทำให้เข้าใจความเป็นธรรมดาของสังขาร และรู้สึกเป็นอิสระจากความเจ็บป่วย ในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เขาก็จากไปอย่างสงบ

ชีวิตคงเป็นเหมือนกับสายน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วไม่ไหลกลับ แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่สุรจิตสร้างไว้ให้กับบ้านเกิด จะยังมีชีวิตอยู่ และถูกส่งต่อไปให้คนรุ่นหลังอย่างไม่จบสิ้น

เรียบเรียงจาก

- สุรจิต ชิรเวทย์ : สิ่งที่ไม่ได้มาพร้อมกับน้ำท่วมหนนี้ นิตยสาร ฅ.คน กันยายน 2554

- สุรจิต ชิรเวทย์ : ผู้กลับมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดด้วยกฎหมายและหลอมรวมคน ‘ประชาคมคนรักแม่กลอง’ adaymagazine.com

- “มนต์รักแม่กลอง” ของคนรักแม่กลอง บทความจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

- งานเสวนา “สายน้ำที่ไหลผ่าน” วันที่ 5 ธันวาคม 2562 ณ วัดช่องลม

- หนังสือป่าสร้างชุมชน ชุมชนสร้างป่า หนึ่งทศวรรษรางวัลลูกโลกสีเขียว

- facebook.com/surajit.chirawate

ภาพจาก

- นิตยสาร ฅ.คน กันยายน 2554

- หนังสือป่าสร้างชุมชน ชุมชนสร้างป่า หนึ่งทศวรรษรางวัลลูกโลกสีเขียว

- facebook.com/surajit.chirawate

- facebook.com/Tianwan Chirawate

- facebook.com/นิตยสารมนต์รักแม่กลอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0