โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘มังกรหิมะ 2’ เรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกฝีมือจีน เข้าอู่บำรุง เตรียมลุยอาร์กติก

Xinhua

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 14.58 น.
‘มังกรหิมะ 2’ เรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกฝีมือจีน เข้าอู่บำรุง เตรียมลุยอาร์กติก

ปักกิ่ง, 27 พ.ค. (ซินหัว) -- 'เสวี่ยหลง 2' (Xuelong 2) หรือ 'มังกรหิมะ 2' เรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกลำแรกที่จีนผลิตเอง อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงที่อู่ต่อเรือแห่งหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นการเดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติกาครั้งแรก โดยขณะนี้กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการทดลองทางทะเลและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกในอนาคต

เจ้าหน้าที่จะดำเนินการซ่อมบำรุงเรือตัดน้ำแข็ง และภารกิจสำคัญบางประการ ที่อู่ต่อเรือของบริษัทเจียงหนาน ชิปยาร์ด กรุ๊ป (Jiangnan Shipyard Group) โดยสถาบันวิจัยขั้วโลกของจีน (PRIC) ระบุว่าการซ่อมบำรุงจะเสร็จสิ้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

เรือเสวี่ยหลง 2 เข้าสู่กระบวนการซ่อมบำรุงที่อู่ต่อเรือเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างโครงสร้างตัวเรือและระบบพลังงานของเรือ

ทั้งนี้ เรือเสวี่ยหลง 2 ออกเดินทางจากเมืองเซินเจิ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2019 เพื่อปฏิบัติภารกิจการเดินทางสู่แอนตาร์กติกาครั้งที่ 36 ของจีน ก่อนกลับถึงเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังเดินเรือระยะทางกว่า 35,000 ไมล์ทะเล

การเดินทางดังกล่าวใช้เวลาทั้งสิ้น 198 วัน โดยได้เทียบท่าที่สถานีจงซานและสถานีกำแพงเมืองจีนของจีนบนทวีปแอนตาร์กติกเพื่อทำการวิจัย

ส่วนบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางมากับเรือได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจจำนวนมากในทะเลอามันเซนด์ (Amundsen) และทะเลคอสโมนอตส์ (Cosmonauts) ทั้งยังติดตั้งทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อื่นๆ ของมหาสมุทร

นอกจากนี้ ภารกิจดังกล่าวยังมีเรือเสวี่ยหลงอีกลำหนึ่งเข้าร่วมด้วย ทำให้การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีเรือตัดน้ำแข็ง 2 ลำของจีน ปฏิบัติงานร่วมกันในการวิจัยในทวีปแอนตาร์กติก

ข้อมูลจากสำนักงานฯ ระบุว่าการเดินทางครั้งนี้พิสูจน์ถึงความสามารถในการตัดน้ำแข็งของเรือเสวี่ยหลง 2 ซึ่งทลายแผ่นน้ำแข็งหนา 1.5 เมตร ได้ต่อเนื่องที่ความเร็ว 2-3 นอต (3.70-5.56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งถือว่าตรงตามข้อกำหนดของการออกแบบเรือ

(แฟ้มภาพซินหัว: เรือเสวี่ยหลง2 (ด้านหน้า) และเรือเสวี่ยหลง เดินทางผ่านน่านน้ำของแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่19 พ.ย. 2019)

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0