โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ทำยังไงก็ดีไม่พอ’ ทำไมชาว Millennials ถึงมีความสุขน้อยกว่าแม้ประสบความสำเร็จ

The MATTER

เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 11.07 น. • Byte

ไม่ว่าใคร เมื่อทุ่มเทความพยายามไปถึงจุดหนึ่ง ก็ล้วนต้องการความรู้สึก 'ประสบความสำเร็จ' ด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยตอนเด็กๆ เราก็อยากได้คะแนนสอบเต็มในวิชาที่ถนัด ฝันว่าจะพบเนื้อคู่สวยหล่อหน้าตาดีอุปนิสัยพร้อม หรือจบมาปุ๊บได้ทำงานตาม passion ร่ำร้องมีตังค์เหลือใช้ ซึ่งท้ายสุดเมื่อเราเติบโตขึ้นก็ต้องยอมจำนนต่อความจริงว่า ชีวิตช่างห่างไกลจากความประสบความสำเร็จที่ฝันไว้เหลือเกิน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตคุณจะขาดความสุขหล่อเลี้ยงเสียทีเดียว และการมีฝันก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการมีเส้นมาตรฐานต่อความคาดหวังไว้บ้าง อาจนำไปสู่ความสำเร็จ  แต่อีกหลายคนกลับมีเส้นมาตรฐานชีวิตที่เข้มข้นซ้อนทับกันเส้นแล้วเส้นเล่า ความรู้สึกประสบความสำเร็จอาจไม่พออีกต่อไป แต่ต้องเป็นความรู้สึกสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) เท่านั้นถึงจะอยู่ในโลกที่ไร้ความสมบูรณ์นี้แบบได้ หรือถ้าไม่ได้ “ฉันก็ไม่มีความสุข”

office garbage near metal basket
office garbage near metal basket

Perfectionism Millennials

งานศึกษาพฤติกรรมมนุษย์หลายชิ้นพยายามอธิบายรสนิยมและพฤติกรรมกลุ่มคนมิลเลเนียลส์ Millennials หรือคนที่มีอายุตั้งแต่  18-34 ปี เกิดอยู่ในช่วงค.ศ. 1980-1996  โดยในประเทศไทยมีจำนวน  20.6 ล้านคน  หรือ คิดเป็น  30% ของประชากรไทย คนกลุ่มนี้กำลังสานต่อธุรกิจทุกประเภท อยู่ในทุกสายงานอาชีพ เป็นแรงงานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และพวกเขาเริ่มมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

หนึ่งในคำนิยามที่น่าสนใจคือ มิลเลเนียลส์คาดหวังต่อชีวิตที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อยๆ จนนิยามว่าเป็น perfectionism เพราะยิ่งพวกเขารู้สึกโลกนี้ต้องแข่งขันห่ำหั่นอย่างเอาเป็นเอาตายมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งอยากจะจัดการทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น  เกลียดโลกที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ ตั้งคำถามกับระเบียบและจารีต คนมิลเลเนียมส์รู้สึกว่าตัวเองต้องจัดระเบียบสังคมใหม่ ทำให้อยู่ถูกที่ถูกทาง มีภารกิจสำคัญต่อโลกใบนี้ และคงหนีไม่พ้นที่ต้องเอาร่างกายและจิตใจไปจำนองจนเกิดภาวะ Burnout นำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า และสุขภาวะทางอารมณ์แปรปรวน เมื่อทุกอย่างที่วางแผนไว้ไม่เป็นตามหวัง

Perfectionism ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่ถูกใช้นิยามมานานกว่า 30 ปีโดยมีแบบวัดชื่อ 'Multidimensional Perfectionism Scale' มีคำถามมากถึง 45 ข้อ เนื้อหาประมาณว่า “ฉันจะพยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้”“หากฉันอยากให้ใครทำงาน เขาจะต้องทำงานนั้นอย่างไม่ตกบกพร่อง”  “คนรอบข้างคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากฉัน”  ซึ่งในแต่ละข้อคุณต้องให้เรทตัวเอง 1-7 และเมื่อนำคะแนนมารวมกันจะแบ่ง perfectionists ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

Self - Oriented  คนที่เซ็ตมาตรฐานชีวิตตัวเองไว้สูง ทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์ มักรู้สึกวิตกกังวลเมื่อผ่ายแพ้ให้กับคู่แข่ง หรือผิดหวังหากไม่ได้รับความชื่นชมในผลงานที่ลงแรงไป

Other - Oriented มีมาตรฐานชีวิตสูงเช่นกัน แต่ยึดโยงและเปรียบเทียบกับผู้อื่น คาดหวังว่าคนรอบข้างจะสมบูรณ์แบบตามไปด้วย รู้สึกไม่อยากเข้าหาผู้คนหากสังคมนั้นไม่ดีพอ ทำไมฉันทำได้แต่คนอื่นทำไม่ได้

และสุดท้ายคือกลุ่ม Socially Prescribed คือ คนที่พยายามจะมีมาตรฐานชีวิตสมบูรณ์แบบ รู้สึกกดดันตัวเองเมื่อถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนสมบูรณ์แบบ อยากได้การยอมรับและความชื่นชมจากเหล่าผู้คนที่มีมาตรฐานสูง รู้สึกอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ แต่เมื่อถูกปฏิเสธหรือทำได้ไม่ดีพอจะมี Self-esteem ต่ำ รู้สึกผิด ละอาย จะค่อยๆ ถอนตัวออกจากสังคมในที่สุด ถึงแม้จะมีการแบ่งคน Perfectionist ออกเป็น 3 ประเภท แต่ก็ยังยากอยู่ดีที่จะแบ่งชัดเจนว่าใครเป็นอะไรผ่านแบบทดสอบ เพราะทุกอย่างมีความก่ำกึ่งกันเสมอ คุณอาจจะคาดหวังคนอื่นในขณะที่กดดันตัวเองไปพร้อมๆ กัน และรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอในโลกที่อุดมไปด้วยคนประสบความสำเร็จทั้งหลาย

ทุกคนควรมีช่วงเวลาเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ ไหนๆ ก็ทุ่มเทพลังไปเยอะ เราก็มีเหตุผลที่จะยินดีต่อตัวเอง แต่คนที่เป็น perfectionist มักให้เวลาสำหรับเฉลิมฉลองสั้นกว่า ไม่ได้อิ่มเอมรสชาติของความสุขนานนัก แล้วจะปักธงเป้าหมายต่อไปให้เร็วและไกลขึ้นกว่าเดิม

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อยากจะให้มองว่า Perfectionist เป็นคำเหน็บแนมสำหรับกล่าวถึงคนที่มีแรงผลักดันตัวเองสูงทะเยอทะยาน เพราะสำหรับบางคน การเป็น Perfectionist นั้นทำให้พวกเขาทำลายสถิติโลกครั้งแล้วครั้งเล่า

นักวิ่ง Cross Country ระดับโลก Sergiy Lebid เคยกล่าวว่า "อาชีพของผมอยู่กับความสมบูรณ์แบบ มันทำให้ผมต้องวิ่งเป็นร้อยๆ กิโลเมตรต่อสัปดาห์ และต้องแข่งกับสถิติเดิมของตัวเองทุกครั้ง แม้ผมจะเอาชนะได้ แต่ผมก็ไม่เฉลิมฉลองกับความสำเร็จของตัวเองเลยสักครั้ง" แต่เมื่อนักวิ่งเข้าสู่ช่วงขาลง เขาเริ่มต่อสู้กับความเป็น Perfectionist ของตัวเอง “ผมรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพอ น่าจะผลักดันได้มากกว่านี้ แต่ร่างกายมีขีดจำกัดของมัน และมีคู่แข่งรุ่นใหม่ๆที่แข็งแรงกว่ามาท้าทายเรื่อยๆ"

เพราะยังไม่ดีพอสักที

แนวโน้ม Perfectionists เพิ่มขึ้นอย่างไร งานวิจัยศึกษาระยะยาวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 2016 มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 41,000 คนในอเมริกา แคนาดา อังกฤษ โดยใช้แบบทดสอบ 'Multidimensional Perfectionism Scale' ที่ได้กล่าวถึงไป พบว่าเมื่อคนในช่วงปี ค.ศ. 2016 ทำแบบทดสอบเทียบกับคนในปี ค.ศ. 1989 มีแนวโน้มที่จะเป็น Perfectionist มากขึ้นถึง 2 เท่า

ทีมวิจัยคาดว่า ความสมบูรณ์แบบมีนัยยะของความระบาด (epidemic) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ perfectionism จะไม่จัดเป็นโรคทางคลินิกหรืออาการทางจิตเวช จากเกณฑ์การวินิจฉัยโรค DSM-5 แต่ความสมบูรณ์แบบที่เกินพอดีสามารถมีแนวโน้มนำไปสู่ภาวะทางจิตอื่นๆ

นักวิจัย คาริน่า ลิมเบิร์ก (Karina Limburg) จากมหาวิทยาลัย Ludwig - Maximilians University รีวิวงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับ Perfectionism มากถึง 284 ชิ้น พบจุดที่น่าสนใจว่า คนที่มีภาวะโรคที่เกี่ยวกับการกินผิดปกติ ภาวะวิตกกังวล เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ OCD และโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มว่าจะเป็น Perfectionism ร่วมด้วย

Creative concept photo of ice cream cone and splash made of paper on blue background.
Creative concept photo of ice cream cone and splash made of paper on blue background.

เพราะอะไรถึงทำให้ผู้คนถวิลหาความสมบูรณ์แบบ กลับไม่มีความสุขเมื่อประสบความสำเร็จ

หนึ่งในเหตุผลนั้นคือ Perfectionism สามารถเจอความล้มเหลวได้มากกว่า หรือเห็นความล้มเหลวได้ชัดเจนกว่า เมื่อทุ่มเทมากแต่ความสำเร็จต่ำ หลายคนมักคิดว่า Perfectionist จะมีแนวโน้มผลิตงานได้มากกว่า trait อื่นๆ แต่ตรงกันข้ามเลย พวกเขากลับผลิตงานได้น้อยลง ผลัดวันประกันพรุ่ง เบี่ยงบ่ายที่จะไม่ทำ เพราะกังวลว่าผลลัพธ์ท้ายสุดคือความล้มเหลว

ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากระบบการศึกษาก็สร้างสภาพแวดล้อมให้เหล่ามิลเลเนียลส์หวาดกลัวต่อความล้มเหลว รู้สึกพ่ายแพ้ในสายตาคนอื่นๆ เราถูกทดสอบด้วยการสอบในห้องเรียน ถูกจัดอันดับ วัดกันด้วยเกรด แล้วโรงเรียนอาศัยคะแนนเหล่านี้อีกทีมาจัดอันดับคุณภาพการศึกษา โดยใช้เกณฑ์ที่มาจากส่วนกลางวัดผลทุกอย่างในศักยภาพมนุษย์ ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของพวกเราที่ติดตัวนับล้านๆ ปีคือวิวัฒนาการของการลองผิดลองถูก (Trial and Error) เราต้องทำผิดพลาดซ้ำๆ เพื่อจะหากระบวนการที่เหมาะสมที่สุด

การสร้างสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ให้ได้ 'ทดลอง' จึงมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่ในสถานศึกษา แต่ทุกองค์ประกอบของสังคม ที่จะมีพื้นที่ให้เราเรียนรู้ได้ใหม่ๆ แม้ที่ทำงานของคุณจะพึงพอใจเมื่อเรียกสัมภาษณ์คุณ แล้วคุณตอบว่าเป็น Perfectionist แต่ในแง่การแก้ปัญหา Perfectionist ยังยืดหยุ่นไม่พอที่จะกลับมาแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ถาโถมมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบของความสำเร็จ รสชาติของความล้มเหลวก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไรหากคุณจะกลืนมันไปบ้าง สลับกับความหอมหวานของความสำเร็จ เพราะอย่าลืมว่า พรุ่งนี้คุณก็ต้องตื่นมาเจอความท้าทายอีก

อ้างอิงข้อมูลจาก

The Relationship Between Perfectionism and Psychopathology: A Meta-Analysis: Perfectionism and Psychopathology Journal of Clinical Psychology 73(10) · December 2016

Psychometric properties of the multidimensional perfectionism scale of Hewitt associations with the big five personality traits

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0