โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ เมื่อความรักกับกรอบจารีตสังคมไปด้วยกันไม่ได้

The MATTER

อัพเดต 08 พ.ย. 2562 เวลา 10.19 น. • เผยแพร่ 08 พ.ย. 2562 เวลา 08.52 น. • Thinkers

หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเนื้อเรื่อง

ยุค 90 สำหรับคนรุ่นอายุ 30+ นี่เป็นเหมือนดินแดนแห่งความฝันนะครับ

นึกถึงทีไรมันก็สวยงาม ภาพในความทรงจำยังแจ่มชัดเหมือนเมื่อวาน คงเพราะมันเป็นยุคที่สื่อต่างๆ ยังถูกเก็บไว้ในสภาพดีมาก ทั้งเพลง/หนัง ไปจนถึงละครและภาพถ่าย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งของชั้นดีที่แค่ได้ฟัง/ดู/อ่านของเหล่านั้นอีกครั้ง ความทรงจำทั้งหมดก็หวนกลับมาราวมันเกิดขึ้นตรงหน้าได้แทบจะทันที

แต่มีบางสิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่คนอยากลืม ประสบการณ์ที่เราไม่ได้เลือกที่จะจดจำมันไว้

'ดิว ไปด้วยกันนะ' กลับพาเราไปสำรวจสิ่งนั้น

ประเด็นสำคัญของหนังรักสองยุคเรื่องนี้ เป็นการตั้งคำถามเรื่อง 'เพศสภาพ' ของตัวละครว่าถ้าเรามีโอกาสได้พบรักแรกเป็นครั้งที่สอง ในตัวตนใหม่ เปลี่ยนเพศไป เราจะยังรักเขาหรือเธอเหมือนเดิมอยู่รึเปล่า? เรารักเขา/เธอเพราะคนคนนั้นเป็นคนหน้าตารูปร่างอยู่ในความทรงจำเราแบบนั้นนี้ หรือเรารักเพราะอะไรกันแน่

คำถามข้างต้น ก้าวล่วงไปถึงพื้นที่ในอดีต เคยเป็นพื้นที่ต้องห้าม ไม่เคยอนุญาตให้มีการเข้าไปตรวจสอบ นั่นคือการมีอยู่ของเพศที่สาม

ฉากต้นเรื่องที่ปูประเด็นข้างต้นไว้อย่างชัดเจนมากก็คือ ฉากของภพกับดิวที่ไปโรงเรียนด้วยกันครั้งแรก พวกเขาตกน้ำ เปียกปอนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ภพใส่ชุดวอร์มของดิว ดิวใส่ชุดผู้นำเชียร์ แต่เมื่อครูผู้ใหญ่บนหน้าเสาธงประกาศว่าจะมีความร่วมมือกับทหารในการจัดให้นักศึกษาที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเข้าไป 'ปรับพฤติกรรม' ในค่ายทหารเป็นการพิเศษ นักเรียนหลายคนถูกเพื่อนคะยั้นคะยอออกไป ไม่มีใครเต็มใจที่จะยอมรับเพศสภาพของตัวเองต่อหน้าคนนับร้อยทั้งโรงเรียน

รวมทั้งดิวที่เลือกยืนอยู่ในแถว ไม่ก้าวออกไป

ความไม่เข้าใจในเรื่องเพศสภาพนั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยพยายามทำเมินเฉย และกดให้เราต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้องคลองธรรมดีงาม การจะเบี่ยงไปจากสถานะชาย-หญิงในอดีต นับเป็นเรื่องผิดจารีตอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีคำว่า 'ลักเพศ'

สังคมปลูกฝังให้เราเชื่อว่า มีเพศที่ดีอยู่เพียง 2 คือ ชายและหญิงเท่านั้น เป็นเพศที่ถูกต้อง ตามกรอบคิดแบบวิคเตอเรียนที่สมัยยังเป็นสยามประเทศรับมาอีกที รวมไปถึงแนวคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวด้วย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจการปกครองในระบอบปิตาธิปไตย สังคมที่ชายเป็นผู้ใหญ่เหนือกว่าใคร

ความทรงจำของผมในสมัยประถมก็ได้เห็นเหตุการณ์เหมือนในเรื่องนี้ แม้จะอยู่คนละจังหวัด คนละภูมิภาค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ต่างกัน เพื่อนหลายคนถูกผลักออกจากแถว ถูกทำให้เป็นอื่น การไปเข้าค่ายลูกเสือมีการแบ่งพื้นที่แยกขาดชัดเจนระหว่างลูกเสือชายและลูกเสือกระเทย จนทำให้เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ในยุคนั้น ขาดความเข้าใจต่อเรื่องเพศสภาพเข้าขั้นรุนแรง

เมื่อไม่เข้าใจ ก็นำไปสู่ความรู้สึกที่อยากผลักให้คนที่ 'ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา' ในความหมายของเพศชายและหญิงตามจารีต ออกไปจากวงสังคมเล็กๆ ซึ่งเพิ่งก่อตัวขึ้นในโรงเรียน เพื่อนกระเทย เพื่อนตุ๊ด ในสมัยประถม - มัธยม จึงต้องดิ้นรนหาหนทางอยู่ในสังคมที่ตีกรอบพวกเขาไว้ ถ้าไม่ซ่อนพรางตัวอยู่ในฐานะนักเรียนชายคนหนึ่ง พวกเขาก็จำต้องกลายเป็นตัวตลกในวงเพื่อน โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่า พวกเขา/เธอนั้น ไม่อยากจะถูกมองเป็นตัวตลก ไม่มีใครอยากเป็นตัวตลกหรอก

เสียงเฮฮา เสียงหัวเราะ เสียงโห่ฮาปรบมือตลอดฉากหน้าเสาธงในหนังเรื่องนี้

จึงเป็นบรรยากาศของยุคสมัยนั้นที่เราทุกคนทำเป็นลืม

ลืมว่าเคยทำร้ายเพื่อนมาก่อน

เช้าวันนั้นสำหรับภพและดิวจึงเป็นเช้าแห่งความทรงจำ พวกเขาได้พบกัน และพวกเขาได้เผชิญกำแพงขนาดใหญ่ที่จะมีผลกั้นกลางทั้งคู่ จนไปถึงกีดขวางไม่ให้พวกเขาสมปรารถนาในช่วงชีวิตหนึ่ง

เมื่อเรื่องความสัมพันธ์ของภพกับดิวเริ่มลือกันทั่วโรงเรียน ทั้งคู่ชกต่อยกันนำไปสู่ปัญหาใหญ่โต เพราะเหตุการณ์นี้ได้เปิดเผยเพศสภาพที่แท้จริงของดิวซึ่งเขาพยายามปกปิดมันมาตลอด เพื่อนบางคนรู้แต่เลือกจะเงียบไว้ ครูบางคนรู้แต่เลือกจะทำเป็นไม่เห็น แต่ในวันนั้นทุกคนรู้ทั่วโรงเรียน รวมถึงแม่ของดิวและพ่อของภพ

และทำให้ดิวกลายเป็นผู้ร้าย ข่าวลือว่าดิวบังคับให้ภพมีอะไรด้วยกัน แต่ภพไม่ยอม จึงถูกดิวชก ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วโรงเรียน ดิวถูกทำให้เป็นผู้ร้าย ไม่ใช่เพราะทุกคนเกลียดเขา ดิวดูเป็นคนนิสัยดี เป็นที่รักของเพื่อนๆ และคุณครู เป็นคนที่น่าจะมีหน้าตาในโรงเรียนไม่น้อยในฐานะผู้นำเชียร์

แต่เมื่อทุกคนรู้ว่าดิวเป็นอื่น ไม่ใช่ผู้ชายอย่างที่จารีตสังคมกำหนดไว้ ทุกคนก็พร้อมผลักให้ดิวเป็นอื่น

ทั้งแม่ของดิวและพ่อของภพคือตัวแทนความเข้าใจ (แม่ของดิว) และความไม่เข้าใจ (พ่อของภพ) ในกลุ่มผู้ใหญ่บ้านเรา ต่อเรื่องเพศสภาพในสังคมไทยขณะนั้น ขณะที่แม่ของดิวยอมรับอย่างกล้ำกลืน มองข้ามผ่านเพศสภาพไปสู่สถานะแท้จริงคือยังไงดิวก็คือลูกของเธอ พ่อของภพกลับแสดงชัดว่า เขารับไม่ได้อย่างรุนแรง ถึงระเบิดอารมณ์ใส่ภพนั้น ก็เพราะภพไม่ใช่ผู้ชายที่สมบูรณ์ตามอุดมคติอย่างที่เขาถูกพร่ำสอนมาตลอดชีวิต เพราะภพ 'โดนกระเทยชก' รวมถึงท่าทีของภพที่ปกป้องดิวต่อหน้าพ่อ ทำให้พ่อยิ่งโกรธจัด

ภพกำลังปกป้องความเป็นอื่นที่พ่อไม่ยอมรับ ที่สังคมไม่ยอมรับ

ยุค 90 สำหรับตัวละครภพ จึงเปรียบเหมือนอดีตชาติ เขาหนีไปกรุงเทพฯ มีชีวิตใหม่ และเกือบลืม 'ชาติภพก่อน' ไปแล้ว ชาติที่ภพมีดิวเป็นรักแรก

การกลับมาเจอกันอีกครั้งของตัวละครทั้งสองในช่วงครึ่งเรื่องหลัง กลับมาพร้อมคำถามชุดใหม่ ภพจะยังรักดิวอยู่ไหม ในเมื่อตอนนี้ดิวกลับเข้ามาในชีวิตเขาอีกครั้ง ในจารีตที่ผิดแผกจากเดิม ไม่ใช่เรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องสถานะทางสังคม

ผมเข้าใจได้ว่าทำไมใครหลายคนถึงไม่ชอบครึ่งหลังของหนัง ประเด็นอันเข้มข้นและความสัมพันธ์ที่ติดเงื่อนไขสังคมอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกเบาบางลงมาก แทนที่ด้วยความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง (ฟังดูแล้วทำไมสังคมไทยนี่มีจารีตกีดขวางความรักเยอะเหลือเกิน) ทำให้ภพและคนดูเองก็ต้องตั้งคำถามว่า มันผิดหรือที่เราจะรัก

เรารักคนคนนี้เพราะเขาเป็นใคร หรือไม่ว่าจะเป็นใครเราก็รัก

สำหรับคนดูในช่วงครึ่งหลัง เมื่อยุคสมัยมันคือปัจจุบัน และความรักที่เกิดขึ้นสำหรับคนดูซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างมากมาย เราจึงเข้าใจและยอมรับได้มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง สิ่งที่ตัวละครเลือกในตอนท้ายเสียอีก

ทำไมเราถึงรับความรักต่างวัย ได้มากกว่าความรักของเพศเดียวกัน?

หรือเพราะอย่างน้อย ภพและดิวได้กลับมาเจอกันในสถานะทางเพศที่ถูกต้องเหมาะควรตามจารีต หรือเพราะแท้จริงแล้ว คนดูเองก็โตขึ้น เห็นโลกกว้างขึ้น อย่างน้อยๆ ภพก็เคยหนีออกจากสังคมที่กักขังพวกเขาเอาไว้มาแล้วครั้งหนึ่ง

ทำไมคราวนี้ภพถึงจะพาดิวหนีไปอีกไม่ได้?

สำหรับผมเมื่อหนังเดินมาถึงฉากจบ ภพพาดิวหนีไปสำเร็จแล้วจริงๆ คราวนี้ และไม่ได้จบลงที่ความตายด้วย

พวกเขากำลังเกิดใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการเกิดพร้อมกันต่างหาก การเกิดใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องตายแล้วเกิดอีกที ไม่มีใครต้องรอใครอีกแล้ว ชีวิตของทั้งคู่ยังคงอยู่จนถึงฉากสุดท้ายก่อนภาพจะดับมืดลง ทั้งคู่กำลังมุ่งสู่แสงสว่าง

ความรักของภพกับดิวไม่ใช่เรื่องของเพศอีกต่อไป การพลิกกลับหัวหางจากความสัมพันธ์ผิดจารีตในเรื่องเพศมาสู่เรื่องสถานะ จึงเป็นการพยายามตอบโจทย์อันกว้างๆ ของสังคมไทยว่า จำเป็นไหมที่เราต้องมีจารีตหรือกรอบในการจำกัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จำเป็นด้วยหรือที่การรักใครซักคนมันจะเป็นเรื่องผิด จำเป็นด้วยหรือที่คนอื่นมีสิทธิตัดสินชีวิตเรา

สุดท้ายเราเป็นเจ้าของอะไรในชีวิตเราเองได้บ้าง ถ้าแม้แต่ความรักหรือความทรงจำของเราก็ยังเป็นสิ่งที่คนอื่นสามารถบังคับ-ดัดแปลง หรือแม้แต่ทำลาย ทำราวกับมันไม่เคยเกิดขึ้นได้ เหมือนที่ไม่มีใครเคยพูดถึงดิวให้ภพฟังอีกเลย ทุกคนทำราวกับไม่เคยมีดิวอยู่บนโลกใบนี้

ถ้าการที่ภพหวนกลับไปยังปางน้อย เมืองสมมติตามท้องเรื่องเพื่อจะได้ไม่ลืมดิว ไม่ลืมอดีตของตัวเองอีก

เราคนดูก็เช่นกัน

ความรักก็เหมือนความทรงจำ ตรงที่มันปล่อยวางลำบาก และลืมได้ยากพอๆ กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0