โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ซึมเศร้า’ หรือ ‘วิตกกังวล’ เมื่อความแตกต่างอาจไม่ได้สำคัญอีกต่อไป

The101.world

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 20.02 น. • The 101 World
‘ซึมเศร้า’ หรือ ‘วิตกกังวล’ เมื่อความแตกต่างอาจไม่ได้สำคัญอีกต่อไป

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในปี 2017 องค์การอนามัยโลก (WHO - World Health Organization) คาดว่าประชากรโลก 4.4% (ประมาณ 300 ล้านคน) กำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า และอีก 3.6% (ประมาณ 250 ล้านคน) มีอาการของโรควิตกกังวล แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ทำให้สถิติตรงนี้ดูซับซ้อนก็คือ หลายต่อหลายคนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าก็มีอาการของโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลก็มีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้ทุกครั้ง

ทุกคนเคยเศร้าหรือเสียใจทั้งนั้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกแย่ได้เสมอ เช่น การเสียชีวิตของคนใกล้ชิด ถูกไล่ออกจากงาน อกหัก มีปากเสียงทะเลาะกับคนที่เราแคร์มากๆ หรือแม้แต่การที่ชีวิตไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง  มีเหตุผลมากมายที่เราจะรู้สึกเศร้าเสียใจ ความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพียงแต่ว่าถ้าเป็นอาการของโรคทางจิตเวชนั้นอาจจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และทำให้เราดำดิ่งสู่ความเศร้าอย่างรวดเร็ว

 

ในปัจจุบัน วิธีวินิจฉัยโรคทางจิตเวชที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการใช้ระบบเช็คลิสต์โดยเวอร์ชั่นล่าสุดที่เรียกว่า Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งเป็นแนวทางมาตรฐานในการเรียกชื่ออาการแสดง และใช้วินิจฉัยภาวะทางจิตเวช จัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา โดยผู้เชี่ยวชาญจะนำลิสต์ของอาการมาเทียบกับประสบการณ์ของคนไข้ที่เข้ามารักษา

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นนอกจากจะรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หมดกะจิตกะใจจะทำอะไรแล้ว ยังรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า เบื่อหน่ายชีวิต อนาคตไม่มีความหมาย ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่มีความหวังว่ามันจะดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย จะรู้สึกแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานกว่าสองอาทิตย์ขึ้นไป และต้องรู้สึกแบบนี้เกือบตลอดเวลา

ส่วนผู้ป่วยโรควิตกกังวลนั้นจะรู้สึกกระวนกระวาย ไม่สบายใจ หงุดหงิดอยู่ตลอดเวลาจนควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อเอาลิสต์ของอาการป่วยทั้งสองมาเทียบกัน พบว่ามีความเหมือนกันเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องที่ขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวัน นอนไม่หลับ และไม่มีแรงจะลุกไปทำอะไร

แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งระหว่างสองโรคนี้ก็คือสถานะความรู้สึกของผู้ป่วยคนนั้นๆ เช่น การที่มีความเศร้าแบบสุดๆ อาจจะหมายถึงการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้ามีอาการกลัวแบบสุดๆ หรือกังวลอย่างมาก ก็เอนเอียงไปทางโรควิตกกังวลมากกว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างโรคทั้งสอง เมื่อใครสักคนรู้สึกเศร้ากับชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาหรือเธออาจจะกังวลเกี่ยวกับชีวิตที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ และเมื่อกังวลหนักเข้าก็อาจจะยิ่งเศร้าขึ้นกว่าเดิมกับชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่

Laura Hack นักวิจัยสาขาจิตเวชที่มหาวิทยาลัย Stanford อธิบายว่ามีสัญญาณภายนอกบางอย่างที่สามารถแบ่งแยกระหว่าง 'ซึมเศร้า' กับ 'วิตกกังวล' ได้อยู่บ้าง คือ คนที่เป็นซึมเศร้ามักจะพูดช้าๆ และแสดงออกถึงความหวาดกลัว ส่วนคนที่เป็นวิตกกังวลจะพูดเร็วๆ และแสดงอาการที่บ่งบอกว่ากำลังเผชิญกับความเครียด เช่น เหงื่อออก สั่น  แต่ Hack ก็อธิบายต่อว่าจะใช้เพียงลักษณะเหล่านี้เพื่อตัดสินเลยก็คงไม่ได้ เพราะคนที่เป็นซึมเศร้ามักจะมีอาการกระวนกระวาย หรือคนที่เป็นวิตกกังวลบางครั้งก็ร้องไห้หรือหมดแรงด้วยเช่นกัน

สิ่งที่คล้ายกันระหว่างสองโรคนี้ก็คือพวกเขาจะไม่อยากทำอะไร ไม่สนใจอะไร แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โรคซึมเศร้าจะทำลายแรงบันดาลใจและความสุขต่างๆ ในชีวิต ส่วนโรควิตกกังวลจะทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องใช้องค์ประกอบอื่นๆ และเรื่องราวของผู้ป่วยมาช่วยตัดสินใจ ไม่ใช่ใช้เพียงแค่อาการหรือสัญญาณบางอย่างเท่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยคนหนึ่งจะมีอาการของทั้งสองโรค เป็นภาวะที่เรียกว่า 'comorbidity' หรือ 'โรคที่เกิดขึ้นร่วมกัน' แต่ยากที่จะชี้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการของทั้งสองอย่างมีจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์

Jonathan Roiser ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์และสุขภาพจิตที่มหาวิทยาลัย University College London กล่าวว่า “ค่าประมาณของโรคที่เกิดร่วมกันระหว่างโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรและคำนิยามที่นำมาใช้”

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2007 ที่ Roiser หยิบขึ้นมาอ้างอิงและน่าจะเป็นค่าประมาณที่มีน้ำหนักพอสมควร งานศึกษาชิ้นนี้ติดตามประชากรประมาณ 1,000 คนที่เกิดในประเทศนิวซีแลนด์ในปี 1972-1973 จนกระทั่งกลุ่มคนเหล่านี้อายุประมาณ 32 ปี ภายในกลุ่มคนที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า 72% จะเป็นโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน และภายในกลุ่มคนที่เคยเป็นโรควิตกกังวล 48% จะเป็นโรคซึมเศร้าตามไปด้วย เพราะฉะนั้น Roiser จึงสรุปว่าทั้งสองโรคเกิดร่วมกันเป็นปกติ

โดยการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งก็บ่งบอกว่าโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกันที่ลึกกว่านั้น ในการศึกษาคู่แฝด ทั้งแฝดแท้และแฝดเทียมในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ได้ข้อสรุปว่าทั้งสองโรคมาจากรากฐานของพันธุกรรมเดียวกัน

ไม่ว่าจะมีความซับซ้อนมากแค่ไหนในการจำแนกระหว่างซึมเศร้ากับวิตกกังวล แต่การรักษาในขั้นตอนแรก เมื่อนักจิตเวชใช้ยารักษานั้นไม่ต่างกัน คือเป็นตัวยาที่กระตุ้นการเพิ่มของสารสื่อประสาทที่เรียกกันว่า 'serotonin' ในสมอง หรือการใช้ Cognitive Behavioral Therapy (การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม) ก็เป็นการรักษาขั้นต้นที่เหมือนกันของทั้งสองโรค

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการรักษาของทั้งสองโรคจะได้ผลตลอดเวลา เพราะว่าการใช้ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมด้วย และก็มีบางคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่มีอยู่เลย (เรียกว่า treatment-resistant anxiety/depression) ซึ่งต่อไปอาจจะกลายเป็นอาการเรื้อรังรักษาไม่หายและอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย

ปัจจุบันการจะแยกทั้งสองโรคนี้ออกจากกัน ต้องใช้รายงานจากอาการของผู้ป่วยเพื่อบ่งบอก แต่ในอนาคต การแบ่งแบบชัดเจนนี้อาจจะแทนที่ด้วยการแบ่งออกเป็นกลุ่มความผิดปกติทางสุขภาพจิตบนพื้นฐานข้อมูลชีววิทยาจากพันธุศาสตร์และประสาทวิทยาศาสตร์มากกว่า โดย Hack กำลังค้นคว้ากลุ่มของโรคที่รุนแรงกว่าปกติโดยใช้ข้อมูลทางประสาทวิทยาศาสตร์ เธอแยกกลุ่มเหล่านี้ออกเป็น Biotypes ซึ่งจะแตกต่างจากการแบ่งระหว่าง 'ซึมเศร้า' หรือ 'วิตกกังวล' ในปัจจุบัน

เธอนำผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาที่มีอยู่และเริ่มรักษาในรูปแบบใหม่ โดยรวบรวมข้อมูลจากทั้งทางพันธุศาสตร์ ประสาทวิทยาศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ในตอนที่วินิจฉัยคนไข้ เพื่อออกแบบการรักษาที่เหมาะสมต่อความต้องการของแต่ละคน ที่แตกต่างกันทั้งทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และการตอบสนองต่อการรักษา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือออกแบบการรักษาที่สร้างขึ้นมาสำหรับคนไข้คนนั้นโดยเฉพาะ โดยใช้ข้อมูลในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

สุดท้ายแล้วไม่ว่ารายละเอียดจะออกมารูปแบบไหน สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ต่อไปเราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น เพราะความซับซ้อนของโรคที่ยังไม่มีใครเข้าใจทั้งหมด และการพัฒนาเครื่องมือหรือยารักษาเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการต่างกันก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น

'ซึมเศร้า' หรือ 'วิตกกังวล' เป็นเพียงชื่อเรียกเท่านั้น สิ่งสำคัญคือยิ่งเราเข้าใจมันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราต่อกรกับมันได้ดีเท่านั้น และนั่นคือความหวังสำหรับโรคที่ทำให้ทำให้มนุษย์ไร้ความหวังในชีวิต

 

========

อ้างอิง

https://bit.ly/2Chysjk

https://bit.ly/33rq2Sb

https://bit.ly/2qydb1X

https://bit.ly/2rmiK4d

https://go.nature.com/32pMVnG

https://bit.ly/2WQzfBb

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0