โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘การกลั่นแกล้ง’ บนโลกไซเบอร์ ปัญหาใหญ่ที่สังคมมองข้าม

Rabbit Today

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 12.40 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 12.40 น. • โชติ เวสสวานิชกูล
‘การกลั่นแกล้ง’ บนโลกไซเบอร์ ปัญหาใหญ่ที่สังคมมองข้าม

เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า… 

คำๆ นี้เราคงได้ยินกันมานานมาก แต่ความหมายที่แท้จริงหากตีความออกมาชัดๆ คือ เด็กที่มีพฤติกรรมใดๆ ตั้งแต่เล็กๆ ก็จะติดเป็นนิสัยไปจนถึงตอนโต เช่น ถ้าเป็นคนดี มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบ ก็จะไปทาง แต่ถ้าเป็นคนเกเร ชอบใช้กำลัง และไม่สนใจถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น โตไปก็จะประพฤติตน เช่นนั้น โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดอะไร 

หนึ่งในปัญหาของสังคมไทยที่น่ากังวลของเด็กๆ ยุคไซเบอร์ ที่เติบโตไปอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ถูกพุ่งประเด็นมาที่ ‘การกลั่นแกล้งกัน’ ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในสายตาของสังคม แต่จริงๆ แล้วเป็นชนวนร้ายที่กำลังก่อปัญหาแก่ประเทศอย่างมาก ตั้งแต่การกลั่นแกล้งด้วยการด่าทอ การสร้างเรื่องโกหก การอัปคลิปวิดีโอล้อเลียน ล้อปมด้อย และล้อชื่อพ่อแม่ เป็นการกลั่นแกล้งที่พัฒนาจากการเจอกันตัวต่อตัว และลามไปสู่การกลั่นแกล้งกันในออนไลน์ (Cyberbullying) 

ทั้งนี้เรื่องรายละเอียดของปัญหาการกลั่นแกล้งกันในเด็กไทยยังไม่เคยมีการสรุปให้แน่ชัดอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ไม่มีการแก้ไขที่ตรงจุดจนอาจเกิดเป็นปัญหาสังคม 

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” จากการสุ่มตัวอย่างตามประชากร 1,606 ราย ซึ่งดีแทคเป็นผู้สนับสนุนหลักว่า 

“ถ้าในโลกจริง เด็กๆ เกิดไม่ถูกใจกัน พอมาบนโลกไซเบอร์ ก็จะไม่ชอบกันและนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในโลกไซเบอร์ แต่ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้การกลั่นแกล้งกันไม่ได้เป็นเหมือนอดีต คนแกล้งไม่ใช่คนตัวใหญ่หรือหัวโจกอีกต่อไป และเด็กถูกแกล้งก็ไม่ใช่เด็กตัวเล็กหรือเด็กเนิร์ดอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกัน

จากผลวิจัยนี้สะท้อนความน่าสนใจหนึ่งว่า เมื่อเด็กที่ชอบแกล้งทำได้ครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อไป และจะเพาะบ่มนิสัยให้เป็นคนใช้อำนาจในทางที่ผิดตัดสินปัญหา ส่วนคนที่ถูกกลั่นแกล้ง ถ้าลุกขึ้นสู้ ก็จะใช้วิธีการเอาคืน จะเป็นลักษณะของการรวมกลุ่ม สร้างพรรคพวก เพื่อนฉันกลุ่มฉันต้องไปช่วย เป็นต้น

ที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือวิวัฒนาการของพฤติกรรมเหล่านี้ หากไร้การควบคุมก็กลายเป็นภาพใหญ่ภาพใหม่ของวัฒนธรรมในสังคมไทย เช่น เรื่องบุญคุณที่อีกด้านคือการแก้แค้น นำไปสู่การเอาคืนที่รุนแรงขึ้น ยังมีวัฒนธรรมลำเอียง เช่นครูลำเอียง แต่กลับกัน กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มคนที่กลัว ไม่กล้าตอบโต้ จะเข้าสู่สภาวะซึมเศร้า อยากหนีออกจากสังคม สุดท้ายก็นำมาสู่ความเครียดที่จะพาไปสู่การฆ่าตัวตาย 

ฉะนั้นอาจจะถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีองค์กรที่ 3 ออกมาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

DID -YOU-KNOW-logo
DID -YOU-KNOW-logo
  • คำพูด เป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้ง ก่อนจะขยายไปสู่การกลั่นแกล้งทางร่ายกาย 
  • นักเรียนกว่า 91% ตอบว่าเคยถูกแกล้ง และ 82% บอกว่าถูกรังแกในโรงเรียน 
  • ส่วนใหญ่ถูกแกล้งในโรงเรียน ในจุดคุ้ยเคย เช่น ห้องเรียน
  • 2 ใน 3 ของการกลั่นแกล้ง เกิดใน ‘ห้องเรียน’ โดยกลุ่ม LGBT และคนต่างศาสนา มักตกเป็นเหยื่อมากสุด
  • เพศที่ถูกแกล้งจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • คนแกล้งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และคนอิสลามถูกแกล้งมากกว่า
  • ถูกแกล้งและคนแกล้ง ไม่ได้กระจุกตัวแบบหัวโจกเช่นแต่ก่อน แต่กระจายตัวไปทั่ว
  • การแกล้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด = ล้อชื่อพ่อแม่
  • คนถูกแกล้งมักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น 
  • คนที่ยอมเล่า ส่วนใหญ่จะเลือกบอก ‘เพื่อน’ เพื่อไปเอาคืน 
  • คุณครูที่เด็กอยากเล่าปัญหา = ไม่ใช่คุณครูที่สนิท แต่ต้องการครูที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม
  • พ่อแม่ที่เด็กอยากเล่าปัญหา = พ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก โดยการสำรวจพบว่าเด็กที่นั่งรถไปเรียนกับพ่อแม่ จะถูกแกล้งและเป็นคนแกล้งน้อยลง

Cyberbullying ไทย VS ต่างประเทศ 

Cyberbullying ไทย VS ต่างประเทศ,Rabbit Today
Cyberbullying ไทย VS ต่างประเทศ,Rabbit Today
  • คนต่างประเทศ = มักเกิดขึ้นระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน แต่เทคโนโลยีสร้างโอกาสให้คนไม่รู้จักมาร่วมหัวเราะเยาะ
  • คนไทยที่ = มักเกิดขึ้นกับคนที่รู้จักกันมาก่อน และขยายผลสู่การรังแกทางไซเบอร์
ดีแทคสะท้อนต้นตอ Cyberbullying ธุรกิจโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบ,Rabbit Today
ดีแทคสะท้อนต้นตอ Cyberbullying ธุรกิจโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบ,Rabbit Today

ดีแทคสะท้อนต้นตอ Cyberbullying ธุรกิจโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบ

แม้ปัญหาดังกล่าวจะเริ่มลุกลามและเหมือนจะยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ความสำคัญ แต่ในส่วนของภาคเอกชนบางรายก็มีการขยับตัวในเรื่องนี้

ดีแทคเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการปลุกให้สังคมมองเห็นปัญหา Cyberbullying และมีการจัดตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หรือ ‘dtac Safe Internet’ ที่มีมาต่อเนื่องแล้ว 4 ปี ถือเป็นภาพที่เริ่มสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทย ที่ริเริ่มจากส่วนเล็กๆ ของสังคม อย่างภาคธุรกิจที่มองว่าตนเองก็มีส่วนต่อผลกระทบดังกล่าว

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมและเชื่อมต่อโลกให้คนเข้าถึงกัน แต่ในเวลานี้ผลกระทบจากธุรกิจ (ทางอ้อม) ก็เป็นสิ่งที่ดีแทคไม่อยากเพิกเฉย เพราะเรามองว่านี่เป็นปัญหาที่จะลุกลามไปถึงอนาคตของชาติ

นั่นทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ ดีแทคได้ปันงบประมาณ 30% ของทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมทุกปีออกมาให้กับโครงการด้าน Cyberbullying ผ่านการให้ความรู้และการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังได้ทำบทเรียนออนไลน์ Safe Internet ที่เปิดให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com คาดว่าจะเข้าถึงเด็กไทยอายุตั้งแต่ 5-16 ปีขึ้นไป ราว 5 หมื่นราย ได้ภายในเดือน มิ.ย. 63 ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีโปรดักต์หรือแพ็กเกจบริการโทรศัพท์มือถือออกมาสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี ในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากฐานลูกค้าเกิน 20% ของฐานรวมลูกค้าดีแทค 20 ล้านราย ยังเป็นเยาวชนทั้งสิ้น”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0