โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

๑4๑ Social Enterprise: เพราะการเล่นเป็นสิ่งสำคัญเราจึงอยากแบ่งปันความสนุกผ่านของเล่นไม้ให้คุณ

a day BULLETIN

อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 09.42 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 07.39 น. • a day BULLETIN
๑4๑ Social Enterprise: เพราะการเล่นเป็นสิ่งสำคัญเราจึงอยากแบ่งปันความสนุกผ่านของเล่นไม้ให้คุณ

“โลกหมุนเร็วเกินไป จนบางทีเด็กก็เผลอเข้าใจว่าทุกสิ่งรอบตัวเขาต้องเร็วไปหมด มีภาพหนึ่งที่พวกเราเห็นคือเด็กหยิบนิตยสารขึ้นมาเปิด แล้วใช้นิ้วถ่างหน้ากระดาษเพื่อขยายเนื้อหาในหน้านั้นแต่ขยายไม่ได้ เขาเลยบอกว่านิตยสารเล่มนี้เสียแล้ว และร้องไห้ด้วยความผิดหวัง”

        ‘อ้วน’ - คมกฤช ตระกูลทิวากร และ ‘แพท’ - กฤติยา ตระกูลทิวากร ผู้ริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคม ๑4๑ Social Enterprise ได้บอกถึงอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเขาอยากทำบางสิ่งเพื่อเด็กๆ จนกลายมาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่พร้อมส่งต่อของเล่นให้กับเด็กด้อยโอกาส และไม่หยุดพัฒนาของเล่นเชิงสร้างสรรค์ พร้อมเปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผ่านกิจกรรม ‘การเล่น’ ที่เป็นมิตรต่อเด็ก และเสริมสร้างทักษะในการคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ ‘การเล่น’ ว่ามีคุณค่ามากแค่ไหน

 

๑4๑ social enterprise
๑4๑ social enterprise

คุณเห็นโอกาสอะไรในตัวของเล่นเด็ก จนคิดว่าสามารถนำมาตั้งต้นเป็นไอเดียการทำธุรกิจของ ๑4๑ Social Enterprise ได้

        อ้วน: เรามาจากการเป็น Social Enterprise (SE) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนเขียนแผนธุรกิจขึ้นมา เราตั้งใจว่าจะทำของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีร่องรอยการฉลุ แล้วคนซื้อได้ประโยชน์จากของใช้ที่มีรอยฉลุนั้นไป ส่วนช่องว่างที่หายไปคือ ‘ของเล่น’ ซึ่งเราจะนำไปมอบกับเด็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน เราเรียกคอลเลกชันนี้ว่า ‘ช่องว่างแห่งการให้’  ซึ่งคอลเลกชันนี้เริ่มมาจากที่คั่นหนังสือ หมายความว่าคนซื้อได้ที่คั่นหนังสือ และน้องเต่าที่หายไปคือของเล่นที่จะนำไปมอบให้กับเด็กๆ

คุณค้นพบว่า ‘การเล่น’ มีความสำคัญกับเด็กได้อย่างไร

        แพท: คงมาจากลูกของพวกเรา เพราะบ้านเราเลี้ยงลูกด้วยการส่งเขาให้เรียนโรงเรียนทางเลือก (โรงเรียนปัญโญทัย) ซึ่งโรงเรียนไม่ให้เราซื้อของเล่นให้เด็กเล่น แต่ให้เราทำของเล่นขึ้นมาเอง และเราเองก็ไม่เคยซื้อของเล่นให้เขา ไม่เคยพาไปเดินห้างสรรพสินค้า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำของเล่นขึ้นมา โดยงานชิ้นแรกของเราคือของเล่นที่ทำจากไม้เป็นก้อนกลมๆ หรือของเล่นไม้รูปสัตว์ ซึ่งตอนทำออกมาก็ไม่ค่อยสมบูรณ์แบบหรอก (หัวเราะ) เพราะเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่นัก แต่เราอยากสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ ได้รู้ถึงคุณค่าของการสร้างของเล่นขึ้นมาด้วยตัวเอง เราจึงเล่าว่าของเล่นเสริมสร้างจินตนาการที่เป็นของธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร จากนั้นก็ต่อยอดด้วยการทำของเล่นชุดนี้ออกจำหน่ายพร้อมกับเล่าเรื่องไปด้วย

        อ้วน: พอมีลูกผมก็เริ่มกังวลในหลายๆ เรื่อง ผมจึงรู้เรื่องของเด็กๆ ให้มากขึ้น ตอนที่เขียนแผนธุรกิจวันแรกผมได้คุยกับเพื่อนที่ทำมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ที่กำลังจะไปนำของไปบริจาคให้กับเด็กกำพร้า ซึ่งตอนนั้นเขามีของเล่นอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ต้องคัดออกเกินครึ่ง ทำให้เราเกิดคำถามว่า ‘ทำไมต้องคัดออก ของเล่นเหล่านั้นไม่ดีตรงไหน’ และก็เข้าใจเมื่อเห็นสิ่งที่เขาได้รับบริจาคมาว่ามันคือปืนของเล่น ซึ่งก็เป็นแค่ปืนพลาสติกธรรมดา ดูแล้วก็ไม่น่ามีพิษมีภัยอะไร 

        แต่เขาบอกว่าของพวกนี้คือเนื้อหาที่อาจทำให้เกิดปัญหาการยิงกันฆ่ากันได้ ทำให้เราตระหนักรู้และตั้งคำถามว่าเรากำลังมอบอะไรให้กับเด็ก อย่างการให้ตุ๊กตาบาร์บี้ผมยาวรูปร่างผอมเรียวกับเด็กนั้นก็เป็นการปลูกฝังเขาว่า ‘ต้องสวยเหมือนตุ๊กตา ผมเหมือนตุ๊กตา และผอมเหมือนตุ๊กตา’ คุณกำลังทำให้เด็กไม่พอใจในความเป็นตัวเองและมีทัศนคติไม่ดีต่อรูปร่างของตัวเอง คุณกำลังสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และวันหนึ่งเราจะเห็นภาพเด็กล้วงคออ้วกหลังกินข้าว ซึ่งมันเกิดจากสิ่งที่เราส่งให้เขาตั้งแต่วัยเด็ก เราเลยอยากทำของเล่นไม้ที่ปลอดภัยและช่วยพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้เขา และปัจจุบันคนไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับของเล่นไม้ เพราะมีราคาแพงและดูไม่น่าสนุก เราจึงเริ่มทำของเล่นเพื่อบริจาคขึ้นมาจากตอนนั้น

ตอนที่ทางโรงเรียนบอกว่าอย่าซื้อของเล่นให้ลูก คุณคิดอย่างไร

        แพท: ตอนนั้นเราไม่ได้เข้าใจความหมายแบบวันนี้ เพียงแต่ทำให้เราเริ่มคิดเรื่องการเล่น เราจึงหันมาให้ความสนใจกับการเล่นอย่างจริงจัง และการเล่นในแง่ของการทำงานสำหรับเด็กคืออะไร เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องนี้มาจึงเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ปรับความคิดให้เราได้มาทำ ๑4๑ Social Enterprise จากนั้นความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับพัฒนาการของลูกที่ค่อยๆ เติบโต การเล่นจึงเป็นเรื่องของการลงมือทำและการเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน

สงสัยว่าความแตกต่างของของเล่นพลาสติกกับของเล่นไม้คืออะไร ในเมื่อจุดประสงค์ก็คือเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้เล่น

        แพท: ถ้าสังเกตกันดีๆ จะเห็นว่าสภาวะของการบริโภคในปัจจุบันเป็นลักษณะการบริโภคเกินความจำเป็น สภาวะข้าวของที่เฟ้อมากเกินความต้องการ ซึ่งสภาวะนี้เป็นเหมือนกันหมดไม่ใช่เฉพาะแค่ของเล่น ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกออกแบบและผลิตเพื่อป้อนตลาดในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของการตลาด ดังนั้น ปืนพลาสติกและตุ๊กตาบาร์บี้จึงต้องมีสิ่งดึงดูดที่สร้างความต้องการทำให้เกิดความอยากซื้อ ถ้าเมื่อไหร่สินค้านั้นทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกและเกิดความอยากซื้อ ก็จะเข้าวงจรของการบริโภคแบบยุคสมัยนี้ ซึ่งแตกต่างจากของเล่นไม้ของเราอย่างชัดเจน

        ของเล่นไม้ที่ทำเองอย่างไม้ก้อนกลมหรือของเล่นไม้รูปสัตว์ ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ ที่เราเรียกว่าคราฟต์ไม้ก้อนกลม ซึ่งเด็กๆ สามารถหยิบเอาของรอบตัว เช่น เศษไม้ แท่งดินสอ มาเสียบเข้าไปในรูของไม้ก้อนกลมเพื่อสร้างเป็นรูปแบบต่างๆ ตามจินตนาการของคนเล่น ซึ่งคราฟต์ไม้ก้อนกลมของเราจะช่วยให้เด็กเกิดทักษะเชิงความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะของเล่นชิ้นนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการของเด็กที่สามารถเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งตอนแรกเราออกแบบเป็นกวาง ช้าง ด้วง และกระต่าย แต่พอให้เด็กเอาไปเล่นก็ไม่เคยออกมาเป็นรูปร่างอย่างที่เราคิดเลย (หัวเราะ) ฟอร์มเหล่านี้จะโตไปตามจินตนาการของเขา ไม่ใช่แค่เด็กที่เกิดจินตนาการ แต่ผู้ใหญ่ที่มาทำกิจกรรมกับเด็กก็เกิดจินตนาการเช่นกัน เราจึงเลิกนำเสนอว่าคราฟต์ไม้ก้อนกลมของเราคือตัวอะไร เพราะมันสามารถเป็นอะไรก็ได้ เป็นหมูก็ได้ กระรอกก็ได้ เป็นได้หมดตามแต่เขาจะจินตนาการ

        อ้วน: เราเรียกมันว่า ‘ของเล่นปลายเปิด’ คือเปิดอิสระให้เขาได้คิดได้ทำ อีกทั้งยังทำให้เกิดทักษะการแก้ปัญหาขึ้น เพราะบางทีมันยืนไม่ได้ ขาหลุด เด็กก็จะแก้ปัญหาด้วยการหาบางอย่างมาประกอบเป็นขาให้มันสมบูรณ์ขึ้น ของเล่นชิ้นนี้จึงทำให้เกิดทักษะหลายอย่าง ทั้งความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาที่เป็นการหยิบของอย่างหนึ่งมาใช้ให้กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง 

        ในมุมของเราที่ทำงานอยู่กับของเล่นเด็ก เราเห็นว่าปัจจุบันเด็กให้ความสำคัญกับสมาร์ตโฟนและอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป เราคาดหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะพาเขาออกไปจากกรอบสี่เหลี่ยมที่เป็นจอกับกรอบที่เป็นห้อง เพราะถ้าพาเขาไปสวนหรือสถานที่ที่มีต้นไม้ แล้วเอาธรรมชาติมาคิดจินตนาการและคิดสร้างสรรค์ ของเล่นไม้รูปสัตว์ชิ้นนี้ก็จะทำหน้าที่ของมัน คือดึงเขาออกมาจากโลกเสมือนจริงนั้นได้ในบางเวลา

 

๑4๑ social enterprise
๑4๑ social enterprise

ทำไมถึงคิดว่าโลกที่หมุนไวและเด็กเริ่มให้ความสำคัญกับโลกเสมือนจริงมากกว่าจึงเป็นปัญหาที่ต้องรีบจัดการ เพราะจะว่าไปเทคโนโลยีก็ช่วยเปิดจินตนาการใหม่ๆ ให้กับเด็กได้เหมือนกัน

        อ้วน: โลกมันหมุนเร็วเกินไปจนบางทีเด็กไม่เข้าใจ เด็กจำนวนมากเคยชินกับการใช้สมาร์ตโฟน จนมีครั้งหนึ่งที่ผมเห็นคือเด็กหยิบนิตยสารขึ้นมาเปิดดู แล้วพยายามถ่างนิ้วลงบนหน้ากระดาษเพราะคิดว่าจะสามารถซูมภาพได้เหมือนบนสมาร์ตโฟน พอเขาขยายภาพไม่ได้ก็บอกว่านิตยสารที่อยู่ในมือนั้นเสียแล้วและร้องไห้ด้วยความผิดหวัง แต่ของเล่นไม้ที่เราทำขึ้นมามีสิ่งที่เป็น ‘สัจธรรม’ อยู่ เมื่อเราหมุนมันก็หมุน ทำอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ ของเล่นจากไม้จึงใช้จินตนาการเป็นหลักเพื่อนำพาเขาไปสู่ธรรมชาติ สังเกตได้ว่าของเล่นไม้ที่เป็นสีส่วนใหญ่จะเป็นสีจากเนื้อไม้สีทั้งหมด และเคลือบไว้ด้วยขี้ผึ้งธรรมชาติ การที่เขาได้เห็นและสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ สร้างความอบอุ่นในความรู้สึกได้ดีกว่า

        แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้โซเชียลมีเดียหรือสมาร์ตโฟน เขาสามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ในเวลาที่เหมาะสมและมีภูมิคุ้มกัน ถ้าใช้ในเวลาที่เร็วเกินไปหรือมากเกินไป มันจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น สมาธิสั้น รอคอยไม่เป็น และมีความรุนแรง เขาควรได้ใช้เครื่องมือนั้นอย่างเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ใช้อย่างหลงและจมดิ่งเข้าไปในโลกของมัน

        แพท: อันที่จริงถ้าไม่ได้ยุ่งกับงานมากเกินไปและดำเนินชีวิตตามปกติ เด็กและแม่จะมีกิจกรรมปกติธรรมดาในชีวิตทำด้วยกันอยู่แล้ว โดยที่สมาร์ตโฟนไม่ใช่ของจำเป็น เพียงแต่ว่าทุกวันนี้มันกลายเป็นของที่จำเป็น มันก็เลยเข้าถึงเด็กได้เร็วเกินไป สิ่งนี้ทำให้เรามองเห็นช่องว่างของความสัมพันธ์ 

        เราอยากให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะคนที่ดูแลเด็กและอยู่ใกล้เด็กมากที่สุดก็คือผู้ใหญ่ แค่เขาได้เห็นและตระหนักรู้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเล็กหรือน้อยก็ตาม ยกตัวอย่างอีกผลงานหนึ่งที่เราภูมิใจคือ ‘กล้องไม้’ ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไร เป็นเพียงของเล่นบทบาทสมมติธรรมดา แต่เชื่อไหมว่าการที่เด็กมองแล้วกดถ่าย มีคนปฏิสัมพันธ์กับเขา ทุกคนหันมายิ้มและทักทายเขา มันเป็นประสบการณ์ที่ทำได้เฉพาะมนุษย์กับมนุษย์ แต่ไม่ใช่จากสมาร์ตโฟน นี่คือสิ่งที่เราพบว่าเป็นความสวยงามและสร้างสรรค์มาก

ฟังแล้วก็สนุกตามไปด้วยจนอยากรู้ว่าของเล่นของพวกคุณยังมีหน้าที่อื่นอีกไหม

        แพท: คราฟต์จากไม้ก้อนกลมหรือของเล่นไม้รูปสัตว์ก็จะมีทักษะการคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา ซึ่งในสมาร์ตโฟนทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะสมาร์ตโฟนถูกคิดสำเร็จรูปมาแล้วว่าสามารถสนุกได้ทันที แต่ของเล่นพวกนี้คุณต้องหาวิธีสนุกกับมัน เวลาเราออกตลาดขายสินค้าตามงานหรืออีเวนต์ต่างๆ เมื่อเราได้เป็นคนขายและมีการคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง เรามักจะเจอลูกค้าคนเดิมที่เคยมาซื้อเมื่อปีที่แล้วกลับมาซื้อของเล่นเราอีก โดยสิ่งที่ลูกค้าบอกกับเราคือ เขาแปลกใจว่าลูกเขายังเล่นกล้องของเล่นที่ซื้อไปจากเราอยู่ แม้จะผ่านไปเป็นปีแล้วแต่เขาก็ยังหวงของเขา 

        เมื่อเกิดฟีดแบ็กแบบนี้จากลูกค้ามากขึ้น เราจึงพบว่าของเล่นทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแม่กำลังดูมือถือหรือกำลังใช้สมาร์ตโฟนอยู่ก็มีความหมายโดยนัยว่า ‘ตัวอยู่แต่เหมือนไม่ได้อยู่’ เพราะต่างคนต่างทำและสนใจแค่สิ่งที่ตัวเองทำ แต่พอลูกใช้กล้องของเล่นแล้วก็เรียกแม่มาถ่ายรูป แม่เขาจะหันมายิ้ม มันเหมือนเขาได้แม่ของเขาคืนมา

        อ้วน: แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราพยายามทำก็ไม่สนุกเท่าสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต แต่สิ่งที่เราคิดว่าเราทำออกมาขายแล้วคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นจนเกิดการตระหนักรู้และดึงเขาออกมาจากตรงนั้น หรือให้เขาใช้มันในปริมาณที่เหมาะสม สิ่งนี้ต่างหากที่เราถือว่าของเล่นประสบผลสำเร็จ เราไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่เราทำหรือของเล่นของเราจะสนุกกว่า เราไม่ได้จะไปแข่งกับเขา เพียงแค่ต้องการให้ของเล่นเหล่านี้ไปสะกิดคุณพ่อคุณแม่ว่าทำไมลูกเขาถึงรูดเก่ง มีทักษะการรูดขยาย แต่กลับด้อยในทักษะด้านอื่น อย่างการออกไปสู่ธรรมชาติ ไปตัดกิ่งไม้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ แบบนั้นถึงได้หายไป การที่ผู้ใหญ่มาเห็นและได้ลองเล่นกับตัวเอง หรือเราสามารถสะกิดพ่อแม่เขาได้ เราถือว่าของเล่นเราได้ทำสำเร็จตามจุดประสงค์ที่ต้องการแล้ว

อีกหนึ่งแนวคิดของร้านคือเรื่อง ‘การให้’ เราอยากรู้ว่าสิ่งที่ทำในตอนนี้ได้สะท้อนอะไรกลับมาบ้าง แล้วคิดอย่างไรกับคำว่า ‘ยิ่งให้ยิ่งได้’

        อ้วน: ตอนที่เราเอาของเล่นไปเปิดตลาด เราจะได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำต่างๆ ทั้งในเรื่องของการไปออกงานแฟร์ถัดไป หรือข้อคิดจากคนที่เขามาเห็นงาน และไอเดียบางอย่างในการต่อยอดธุรกิจ เพราะของเล่นของเรามีบางอย่างที่ไปโดนใจเขา บางทีก็มีคนไม่รู้จักซื้อข้าวมาให้ ซื้อไอติมมาให้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเจอกันมาก่อน

        ผมคิดว่าเขาคงอยากจะช่วยเพราะรู้สึกว่าเราทำในเรื่องที่ช่วยคนอื่นเหมือนกัน และมีหลายคนมากที่ซื้อชุดของเล่นไม้ DIY แล้วไม่เอาของ โดยบอกว่าฝากไปให้เด็กๆ ก็มี อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับกลับมาคือพอคนเห็นก็เริ่มเอาไปเขียนเป็นคอนเทนต์ เริ่มเอาไปออกทีวีจนมีคนติดตาม เราจึงสามารถประครองธุรกิจนี้ไปได้อย่างมั่นคง 

        แพท: เมื่อก่อนตอนเราเป็นบริษัทรับออกแบบการติดต่อลูกค้า การเข้าหาลูกค้าหรือว่าการติดต่องานอะไรต่างๆ มันคือการติดต่องานในลักษณะของผู้จ้างกับลูกจ้าง แต่การมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมเราจะมีกฎเหล็กว่า จะไม่ไปงานที่มีค่าใช้จ่าย เราจะเจียมตัวมาก อันไหนที่มีค่าใช้จ่ายเราจะไม่ไป เพราะเราไม่มีต้นทุนทางการตลาด พอมีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุน เรามักจะได้รับความช่วยเหลือกลับมาเยอะ จะได้รับความอุปถัมภ์หรือความช่วยเหลือในมิติต่างๆ ค่อนข้างเยอะ

          อ้วน: ตอนเราทำงานเป็นลูกจ้างแล้วเขามาจ้างเราออกแบบ มันจะมีความคาดหวังบางอย่าง เช่น เขาจ่ายเราเท่านี้ แต่ต้องการงานในราคาเท่านั้น กลับกันธุรกิจเพื่อสังคมมีความคาดหวังน้อยลง บางงานเราอาจจะไม่ได้ 100% แต่ลูกค้าเขายอมรับได้ มันมีความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ไม่ได้ซีเรียสเรื่องของคุณภาพสินค้า เพราะคุณค่ามันไปอยู่ที่เรื่องการให้มากกว่า เราเองก็พยายามไม่ทำให้เขาผิดหวัง ไม่ใช่ว่าลูกค้าอะไรก็ได้เราจะทำชุ่ยได้ เรายังคงอยากพัฒนางานของเราไปเรื่อยๆ

คุณพอใจกับวิถีชีวิตในแบบที่ตัวเองเลือกในวันนี้แล้วใช่ไหม

        แพท: พอใจนะ เราคิดว่าเราโชคดีและเกินพอใจด้วยซ้ำ เราโชคดีที่ได้ใช้ชีวิตในบทบาทนี้ เป็นชีวิตที่ยั่งยืน เพราะยุคนี้เป็นยุคเศรษฐกิจผันผวน และเราไม่ใช่คนที่จะต้องหามากเพื่อไปใช้มาก เราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุคนี้น้อยมาก ซึ่งยอดขายของเรายังคงเติบโตขึ้นทุกๆ ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0