โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไร้ทางเลือก! เด็กอุบลฯ ต้องเสี่ยงตายบนถนน

TNN ช่อง16

อัพเดต 18 พ.ย. 2562 เวลา 06.32 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 06.32 น. • TNN Thailand
ไร้ทางเลือก! เด็กอุบลฯ ต้องเสี่ยงตายบนถนน
นักวิชาการเผยในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาเด็กไทยอายุตั้งแต่ 10-14 ปี มีสถิติการเสียชีวิตจากการออกมาขับขี่รถบนนถนนมากขึ้นถึง ร้อยละ 38 ทั้งๆที่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้

 

ภาพเด็กนักเรียน เยาวชน อายุตั้งแต่ 11-18 ปี จำนวนไม่น้อยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งถึงแม้จะเป็นภาพที่คุ้นชินกันในสังคม ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “เหตุใดเด็กๆเหล่านี้ถึงต้องออกมาใช้รถจักรยานยนต์ แม้จะถูกบังคับจากกฎหมาย ห้ามขับขี่ก็ตาม”

 

จากการสุ่มสำรวจความคิดเห็นของเด็กนักเรียนที่ออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์ในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป ในพื้นที่อำเภอสิรินธร และอำเภอบุณฑริก ซึ่งเป็นอำเภอในเขตชนบทของจังหวัดอุบลราชธานี ในคำถามเดียวกันว่า “มีความจำเป็นอะไรที่ต้องออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์” พบว่า มีเด็กจำนวน 21 รายตอบคล้ายกันว่า “สะดวก ไม่ต้องรบกวนผู้ปกครองเพื่อจะขับรถไปส่ง” และ “ ถ้าไม่ขับขี่เอง จะให้เดินทางไปทำธุระให้ผู้ปกครองได้อย่างไร” รวมถึงไม่มีรถโดยสารประจำทาง จึงจำเป็นต้องออกมาขับขี่รถเองและเด็กกลุ่มตัวอย่างจำนวน 9 ราย ตอบว่าขับขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนเองประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการนั่งรถรับ-ส่งนักเรียน

 

น้องพริก อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งใน 30 เด็กตัวอย่าง ได้อธิบายถึง “ความจำเป็น” ในการออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อเดินทางไปโรงเรียนและขับขี่ไปทำธุระทั่วไป น้องพริก บอกว่าทราบเป็นอย่างดีว่ามีความเสี่ยงมากที่จะต้องออกมาขับรถ แต่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาขับรถเพราะเส้นทางจากหมู่บ้านไปยังตัวตลาดและเมืองระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ไม่มีรถโดยสารประจำทาง จึงไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทางไปทำธุระหากจะเข้าไปซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ซึ่งหากจะให้ผู้ปกครองพาไป ผู้ปกครองก็จะต้องทำงานซึ่งไม่มีเวลาว่างเพียงพอที่จะพาไปได้

 

ส่วนการที่ขับรถไปโรงเรียนเองเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายลง เพราะมีน้องชายอีกหนึ่งคน ที่เรียนในสถานศึกษาเดียวกัน หากจะต้องใช้บริการรถรับ-ส่งจะต้องจ่ายคนละ 250 บาทต่อคน รวมกับน้องด้วยจะเป็น 500 บาทต่อเดือน ตนจึงเลือกที่จะขับรถไปโรงเรียนเองซึ่งค่าเดินทางประหยัดกว่า

 

ข้อจำกัดของรถโดยสารประจำทางจังหวัดอุบลราชธานีมีเส้นทางสัญจรหลักทั้งหมดประมาณ 139 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 3,182.264 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 98 เส้นทาง ระยะทาง 1,733.264 กิโลเมตร ถนนของกรมทางหลวง จำนวน 41 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 1,449 กิโลเมตร ที่อยู่ในเขตพื้นที่ปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อมาดูข้อมูลของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำ หมวดที่ 1 และ หมวดที่ 4

 

เมื่อดูจากข้อมูลเชิงพื้นที่ความเสี่ยงของเด็กๆ เฉพาะในเงื่อนไขความจำเป็นข้อเดียว คือข้อจำกัดของระบบคมนาคม ซึ่งจากการเก็บข้อมูลระดับปฐมภูมิการเกิดอุบัติเหตุของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดอุบลราชธานี EMS UBON 1669 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 – 17 สิงหาคม 2562 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด จำนวน 2,269 ครั้ง รถจักรยานยนต์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ รวมจำนวน 2,102 ครั้ง นั่นแสดงว่าอุบัติเหตุที่เกิดนั้นกว่าร้อยละ 92.6 คู่กรณีคือรถจักรยานยนต์ จากการเกิดเหตุทั้งหมดมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 2,515 ราย เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งจากตัวเลขการเสียชีวิตนี้พบว่า 21 ราย เสียชีวิตบนถนนในเขตชนบทส่วน 8 ราย เสียชีวิตบนถนนทางหลวงแผ่นดินสายหลัก และอีก 2 ราย เสียชีวิตบนถนนในชุมชนเมืองซึ่งในสถิติระดับปฐมภูมินี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเด็กๆมีความเสี่ยงบนถนนสายรอง เพราะมีเด็กอายุตั้งแต่ 7-22 ปี เสียชีวิตถึง 16 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากห้วงการเก็บสถิติระดับปฐมภูมิดังกล่าวนี้

 

 

เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ออกมาขับรถด้วยความจำเป็น ทั้งที่ไม่มีความพร้อมทั้งทักษะ และวุฒิภาวะ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหาทางออกอย่างไรนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าโดยธรรมชาติของเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เริ่มแสวงหาความท้าทายตื่นเต้น (risk taking) ควบคู่กับมีความรู้สึก/ความต้องการยอมรับกับกลุ่มเพื่อน (social emotional) เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การเรียนรู้การใช้วิจารณญาณยังเพิ่มเริ่มต้น ถือเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อยิ่งมีการสร้างค่านิยมขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นเรื่องเท่ ใคร ๆ ก็ขี่กัน รวมทั้งการส่งเสริมการขาย (ดาวน์ 0 บาท) ไม่ต้องมีใบขับขี่แสดงก็ถอยรถจักรยานยนต์ออกมาขี่ได้ทันที หลายชุมชนมีกิจกรรมของร้านแต่งรถ เช่น นัดรวมกลุ่มแข่งขัน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เอื้อให้เด็กและเยาวชน ใฝ่ฝันอยากครอบครองรถจักรยานยนต์ประกอบกับสภาพสังคมขาดระบบสาธารณะที่ดี ทั้งรถประจำทางที่จำกัด รถนักเรียนก็มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเทียบกับการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์แล้วแพงกว่ามาก สุดท้ายหลายครอบครัวก็ต้องเลือกให้ลูกหลานเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงมากมาย

 

 

ข้อมูล 3 ฐาน (ตำรวจ-สธ-บ.กลาง) ก็ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม 10-14 ปี มีการตายเพิ่มถึงร้อยละ 38 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 ตาย 527 ราย เพิ่มเป็น 727 ราย ในปี พ.ศ.2560) เช่นเดียวกับกลุ่มวัย 15-19 ปี แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ขับขี่ได้ตามกฎหมาย ก็เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงที่สุดและมีแนวโน้มตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 (เทียบจากปี 2556-2560 ตายเพิ่มจาก 2,080 เป็น 2,609 ราย) โดยเกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนชี้ถึงทางออกสำคัญของเรื่องนี้ 1.รัฐ ทั้งส่วนกลาง และระดับพื้นที่ต้องเร่งสนับสนุนรถสาธารณะ ทั้งรถประจำทางและรถนักเรียน โดยเฉพาะรถนักเรียน ที่ยังมีราคาแพงกว่าการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ต้องปลดล๊อกระเบียบให้ท้องถิ่นสามารถอุดหนุนงบเพื่อให้บุตรหลานในพื้นที่รับผิดชอบสามารถเดินทางไปโรงเรียนโดยรถนักเรียน โดยไม่ผิดระเบียบการเงินการคลัง (ไม่ถูกเรียกเงินคืน) รวมทั้ง ระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ซึ่งอยู่ระหว่างมีการแก้ไข) ให้การเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย ถือเป็นภารกิจในการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมาถูกตีความว่าไม่ใช่ภารกิจจัดการศึกษากลไกจัดการระดับพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ปฎิบัติการความปลอดภัยทางถนน อำเภอ และ ศปถ.อปท. ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการให้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางแนวทาง หรือทางออกของเรื่องนี้ ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามบริบท 2.ระดับท้องถิ่น-ชุมชน/ครอบครัว-โรงเรียน ต้องจับมือกัน เพราะเป็นเรื่องที่แก้ฝ่ายเดียวไม่ได้ - ส่งเสริมการเดินทางอื่นที่ปลอดภัย เช่น การขี่จักรยาน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0