โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่รู้ทำไมนอนได้ตลอดเวลา? รู้จัก ‘โรคเจ้าหญิงนิทรา’ ภาวะหลับนานจนไม่รู้ว่าตื่นหรือฝัน

The MATTER

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 11.38 น. • Byte

ใครๆ ก็อยากมีช่วงเวลานอนคุณภาพด้วยกันทั้งนั้น ถ้าวันหยุดที่จะมาถึงได้นอนแบบยิงยาวไม่มีอะไรรบกวนก็น่าจะฟินสุดๆ  ผมเคยนอนมากสุดก็น่าจะนานสัก 12 ชั่วโมง พอตื่นขึ้นมึนหัวตึบราวกับตื่นผิดมิติ จำอะไรไม่ค่อยได้ ครั้งนั้นจึงเรียนรู้ว่าการนอนมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดี

ในโลกของเรานี้ก็ยังมีเรื่องแปลกประหลาดเกี่ยวกับการนอน มนุษย์ส่วนใหญ่นอนหลับราว 7-8 ชั่วโมงก็น่าจะเพียงพอ แต่มีหลายคนที่ต้องการนอนมากกว่านั้น จนถึงขั้นต้องบอกลาชีวิตอันปกติสุขไปโดยปริยาย ดิ้นรนอยู่ในโลกนิทราอันมืดมน หลับลึกราวกับถูกตรึงอยู่ในมิติแห่งความงัวเงีย

คนเหล่านี้อาจนอนนานตั้งแต่ 15 ชั่วโมง 20 ชั่วโมง หรือนานเป็นสัปดาห์ นี่จึงเป็นคำสาปของเจ้าหญิงนิทรา (sleeping beauty curse) ที่ยังคงเป็นปริศนาของโลกประสาทวิทยา นักวิจัยจะศึกษากลไกสมองและร่างกายอย่างไรภายใต้การนอนหลับอันน่าพิสดารนี้ เรามาติดตามการค้นพบใหม่ๆของภาวะนี้กัน

Antique illustration: Sleeping at sea
Antique illustration: Sleeping at sea

โลกแห่งนิทรา

อาการนอนหลับเป็นเวลานานมีชื่อว่า Kleine-Levin Syndrome (KLS) หรือมีชื่อเล่นว่า 'โรคเจ้าหญิงนิทรา' (Sleeping Beauty syndrome) เป็นอาการผิดปกติของสมองที่มีคนเป็นค่อนข้างน้อย (ในกรณีที่นอนหลับนานเป็นสัปดาห์) ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยเด็กจนถึงวัยรุ่น มีการค้นพบผู้ป่วยมีอายุน้อยที่สุดคือ 4 ขวบ ซึ่งโรคนี้ถือได้ว่าเป็นโรคที่พรากวันเวลาในการเรียนรู้ไปจากเด็กๆ ทำให้เรียนรู้ค่อนข้างช้า เสียโอกาสในการเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

มีเคสที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยนาม เมแกน เฟิร์ท (Megan Firth) เป็นผู้ป่วยโรค KLS ที่อาศัยอยู่ย่าน Oxfordshire ในอังกฤษ เธอเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายอายุ 18 ปี ซึ่งเริ่มมีอาการนอนหลับนานผิดปกติแบบ KLS ในช่วงวัยรุ่นอายุ 13 ปี ที่ทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้าและง่วงนอนนอนตลอดเวลา ยิ่งเมื่อเวลาเกิด episode เธอหลับอย่างไม่รู้ตัวแม้จะอยู่ระหว่างการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ภายในปีเดียว เธอมีอาการ KLS ถึง 9 episode บางครั้งทำให้เธอนอนนาน 2 วัน และครั้งหนักสุดทำให้เธอต้องนอนนานเป็นสัปดาห์ เรียกว่าข้ามเวลาชีวิตแบบก้าวกระโดดไปเลย

ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ตรงที่ความง่วงนอน แต่อยู่ที่เธอไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือภาวะตื่นหรือภาวะฝัน เหมือนอยู่ก่ำกึ่งระหว่าง 2 โลกที่ไม่สามารถบอกอะไรจริงหรือจินตนาการ ซึ่งคนที่เป็นโรค KLS ราว 90% ก็ไม่สามารถแยกแยะตัวเองจากภาวะตื่นหรือฝันอยู่ หลายคนรู้สึกไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม มองกระจกสะท้อนแล้วจำตัวเองไม่ได้ ไม่รู้สึกตัวเมื่อสัมผัสน้ำ แม้จะมีน้ำร้อนหยดลงบนตัวก็ไม่สะทกสะท้าน ซึ่งคนปกติคงร้องจ๊ากไปแล้ว

เมื่อพูดคุยกับคนอื่นจะได้ยินเสียงล้าช้ากว่าปากขยับ เหมือนเวลาคุณดูหนังแล้วภาพและเสียง 'หลุดซิงค์' อันเป็นประสบการณ์แปลกประหลาดที่คนเป็นโรค KLS ต้องเผชิญ  นักวิจัยพาเมแกนเข้ารักษาและนำเธอไปสแกน PET Scan พบว่า สมองส่วนที่มีอิทธิพลต่อการได้ยิน เห็นภาพ และประสาทสัมผัสรับรู้มีกิจกรรมสมองต่ำกว่าปกติเหมือนอยู่ในภาวะนอนหลับทั้งๆ ที่ลืมตาตื่น

แม่ของเธออธิบายอาการกับทีมวิจัยว่าเมแกนมักหลับในระหว่างที่เพื่อนๆ ทำกิจกรรม เธอมักคอพับคออ่อนอยู่บนโซฟาในขณะที่เพื่อนๆ กำลังสนุก ความอับอายนี้ทำให้เธอค่อยๆ ขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ ไม่พูดคุย ไม่ออกไปกิจกรรมนอกบ้านใดๆ เป็นเวลานานหลายเดือน หลังจากที่ตื่นนอนจากนิทราราวคำสาป เจ้าหญิงนิทราจะหิวโหยเหมือนหมีตื่นจากจำศีล เธอจะหิวโหยเป็นพิเศษ ร่างกายต้องการพลังงานชุดใหม่เข้ามาทดแทน คนที่เป็น KLS มักจะตื่นมากินอย่างตะกละตะกลาม ไม่สามารถหยุดยั้งการกินได้ และจะหงุดหงิดโมโหหากไม่ได้กินอิ่ม มีหลายกรณีถึงขั้นขโมยอาหารและรื้อค้นถังขยะ อย่างเคสเมแกน จะพร้อมสวาปามแซนวิชเนยถั่ว 10 แผ่นแทบจะไม่เคี้ยว คือ เข้าปากแล้วกลืนๆ เข้าไปลงคอ และบางครั้งก็เกิด episode ระหว่างกิน ทำให้อาหารที่เคี้ยวอยู่ไม่หมดยังคาอยู่ในปาก แล้วก็หลับไปทั้งสภาพนั้น

นี้จึงทำให้คนไข้ KLS มีภาวะน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว จนน้ำหนักสามารถขึ้นมากถึง 4.6 กิโลกรัมต่อหนึ่ง episode และมีพฤติกรรมทำซ้ำ เช่น จ้องมองอะไรนานๆ หยิบหนังสือมาอ่านวนไปวนมา พูดคำซ้ำๆ และมีพฤติกรรมดึงผิวหนังหรือผมร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยว่าใครจะเป็น KLS ก็ยังไม่มีเครื่องมือเที่ยงตรงที่ฟันธงได้ อาการนอนมากก็อาจเป็นภาวะขี้เกียจในช่วงวัยรุ่นซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ หรือมีอาการของภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะจากการเก็บข้อมูลคนที่เป็น KLS มักมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 15 และมีรายงานว่าเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย มีภาวะวิตกจริต หวาดกลัวว่ามีคนสะกดรอยตามจ้องทำร้าย เห็นภาพหลอนศพคนหรือสัตว์ร้าย ซึ่งอาการ KLS บางครั้งก็ถูกวินิจฉัยคลาดเคลื่อนว่าผู้ป่วยอาจเป็น schizophrenia

Antique painting illustration: Crime scene
Antique painting illustration: Crime scene

ดังนั้นแพทย์กลุ่มหนึ่งจึงศึกษาการนอนหลับของผู้ป่วย ซึ่งดูพฤติกรรมการนอนในห้องแลปจะทำให้ทราบปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายใช้ การหายใจ การกลอกตาเคลื่อนไหวระหว่างนอน แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจและอาจเชื่อมโยงได้ล่าสุดคือ หากอาการนอนแบบเจ้าหญิงนิทรานี้เกี่ยวพันกับภาวะแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune) ซึ่งเป็นการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดขาวที่แพทย์อาจมองข้ามมาตลอด อาจจะทำให้เราเข้าใจการนอนหลับอันยาวนานนี้ก็ได้

แพทย์ผู้นำเสนอแนวคิดนี้คือ Guy Leschziner นักประสาทวิทยาจากศูนย์ศึกษาการนอนหลับ Guy’s and St Thomas’ Hospital ในกรุงลอนดอน เขากล่าวว่าภาวะ KLS อาจพบการอักเสบในสมองแบบโรคของไอออนแชนเนล (channelopathy) เป็นโรคซึ่งมีความผิดปกติของการทำงานของไอออนแชนเนลหรือโปรตีนที่ควบคุมการทำงานของไอออนแชนเนล โรคเหล่านี้อาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือมาเป็นเอาตอนหลัง ในกรณีที่สืบทอดมาทางพันธุกรรม (ราว 5% จากเคสทั้งหมด) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างออกมาเป็นไอออนแชนเนล  และสันนิษฐานว่าน่าจะมียีน (KLS gene) บางตัวที่นำไปสู่โรค KLS

แพทย์มักแนะนำครอบครัวของเจ้าหญิงนิทราให้หลีกเลี่ยงออกนอกสถานที่เป็นเวลานาน และต้องให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพราะเมื่อเกิด episode ขึ้นมา ผู้ป่วยที่นอนนานๆ มักมีตับที่ไม่แข็งแรง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การดื่มน้ำจึงช่วยลดความเสียหายของตับและกระเพาะปัสสาวะ  ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงต่อโรค แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) หรือให้ยาที่กระตุ้นการตื่นตัวอย่าง modafinil ที่อาจได้ผล แต่มีอาการข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน แยกแยะว่าตัวเองตื่นหรือฝันอยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรคนิทรา และยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ผู้ป่วยจะมี episode ครั้งต่อไปอีกเมื่อใด

Engravings from the 1850 novel Handel en wandel by F.W. Hacklander showing domestic life in the mid 19th century in the 1886 Dutch edition
Engravings from the 1850 novel Handel en wandel by F.W. Hacklander showing domestic life in the mid 19th century in the 1886 Dutch edition

ทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศสสามารถใช้องค์ความรู้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ในการทดสอบกับผู้ป่วย KLS 26 ราย ช่วยให้ไม่มี episode ได้นานถึง 30 วัน จากการใช้ยากลุ่มสเตอรอยด์ฉีดเข้าไปยังเส้นเลือดดำของผู้ป่วยเพื่อกดภูมิคุ้มกัน หรือในผู้ป่วยที่หลับนานๆ เป็นสัปดาห์ช่วยลดเวลาให้หลับน้อยลงเหลือเพียง 15 ชั่วโมง แต่การใช้สเตอรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ ก็สามารถสร้างผลเสียต่อร่างกายได้โดยเฉพาะร่างกายเด็กๆ การทำเช่นนี้จึงยังไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

น่าสนใจที่โรค KLS จะค่อยๆ หายไปเองเมื่อโตขึ้น มีระยะเวลานอนที่สั้นลง ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยอาจจะต้องทนกับภาวะนี้ราว 15 ปี นั่นหมายความว่า เด็กๆ จะสูญเสียเวลาในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปถึง 15 ปี (หรืออีก 20% ของผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในภาวะเจ้าหญิงนิทรานาน 20 ปี) ทีมวิจัยคาดวังว่า หากโรค KLS เกิดจากความบกพร่องของภูมิคุ้มกันและอาจมียีนบางตัวที่มีอิทธิพลต่อการนอนหลับ ที่เราสามารถรักษาได้ตั้งแต่ต้นหากตรวจพบในอนาคต

โรค KLS เป็นความพิสดารของธรรมชาติที่ทำให้เด็กและคนหนุ่มสาวพลาดช่วงเวลาดีๆในการเติบโต กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราที่ตื่นมาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต่อโลก การถูกช่วงชิงเวลาชีวิตจากการนอนมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดี และการ 'หลับเหมือนถูกสาป' ไม่ได้มีแค่ในนิทานก่อนนอน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Kleine-Levin syndrome An autoimmune hypothesis based on clinical and genetic analyses

The Nocturnal Brain: Nightmares, Neuroscience and the Secret World of Sleep Guy Leschziner Simon & Schuster

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0