โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไปไหนไม่ได้ : สภาพจิตใจระหว่างสถานการณ์ โควิด-19

Johjai Online

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 13.10 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
ไปไหนไม่ได้ : สภาพจิตใจระหว่างสถานการณ์ โควิด-19
การทำ social distancing ด้วยการอยู่บ้านหรือที่เรียกว่า “self quarantine” หรือ “กักตนเอง” นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่

แน่นอนว่า การทำ social distancing ด้วยการอยู่บ้านหรือที่เรียกว่า “self quarantine” หรือ “กักตนเอง” นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะธรรมชาติดิบๆของมนุษย์ไม่ได้สร้างมาสำหรับการอยู่แยกกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างหนัก เราถูกสร้างมาให้ขึ้นอยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่จะอยู่รอดได้
 
มีการแย้งว่า social distancing ไม่ใช่ social isolation เพราะระหว่างสถานการณ์ Covid-19 ระบาดนี้ เราเพียงห่างกันแค่ตัวเท่านั้น แต่ยังติดต่อกันได้อยู่ด้วยเทคโนโลยีมากกมายแล้วแต่จะเลือก ดังนั้น ปํญหาระดับ social isolation ในลักษณะโดดเดี่ยว รู้สึกถูกทอดทิ้ง จึงไม่ควรจะมี
 
แต่ Robin Dunbar นักมนุษยวิทยาด้านการวิวัฒนาการ แห่ง Oxford University อธิบายว่า โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ต้องเห็นตัวจริงในการสื่อสารสนทนา จึงจะเกิดความผูกพันที่ยั่งยืนได้ การสื่อสารผ่านจอ ผ่านการ text หรือเสียง เป็นการช่วยชะลอความโดดเดี่ยวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
 
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่กับบ้าน ไม่ได้เจอผู้คนและสังคมอย่างที่เคยมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจไม่น้อย ที่สำคัญคือ การพยายาม push ตนเอง หรือบังคับตนเองมากเกินไป โดย “ไม่เห็นใจ ตนเอง” อาจนำไปสู่ความเครียดหนักไปจนถึงอาการซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งเลิกอดทน เกิดอาการ “ตบะแตก”หันไปทำในสิ่งผิดๆ ที่สวนทางกับที่ส่วนรวมต้องการตอนนี้ก็เป็นได้    
 

นักจิตวิทยาอย่าง Fredrik Matzner ผู้ศึกษาสภาพจิตใจของคนระหว่างเหตุการณ์ 9/11 บอกว่าการกักตนเองในสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการอยู่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย และควรจะยอมรับด้วยว่า “ไม่ง่าย”
 
ไม่ง่ายเพราะ การต้องอยู่บ้าน ไปไหนก็ไม่มีที่ไป ทำให้คนส่วนใหญ่มีความงงๆกับชีวิตว่า จะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป? ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อใดสถานการณ์จะดีขึ้น? ความมั่นคงของงานและตำแหน่งงานจะเป็นอย่างไร? สภาพการเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป? ไม่รู้ว่าจะวางแผนชีวิตอย่างไรใน 6 เดือนหรือแม้กระทั่งพรุ่งนี้  อีกทั้งในแต่ละวันไม่สามารบริหารจัดการชีวิตได้เท่าเดิม   
 
ผลคือ Matzner บอกว่า เมื่อคนเรารู้สึกว่า ไม่ได้มีอำนาจเหนือชีวิตตนเองเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้เกิดความรู้สึก “everlasting present”  คือดูเหมือนว่า วันเวลาช่างยาวนาน มองไปก็เห็นแค่วันนี้ ส่วนอนาคตที่เคยมองเห็นว่ารออยู่ ตอนนี้มองไม่ออกเสียแล้ว
 
สภาพที่มิติเวลาของมนุษย์ถูกทำลายเช่นนี้  Susan Clayton นักจิตวิทยาที่ College of Wooster บอกว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ในยุคนี้ไม่เคยเจอ และไม่มีประสบการณ์มาก่อนว่า จะต้องทำตัวอย่างไร  
 
เธออธิบายว่า ความเป็นตัวตน หรือ identity ของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องที่เป็น routine ซึ่งดูเผินๆแล้วเหมือนไม่มีความสำคัญอะไร เช่น ตื่นนอน ไปทำงาน ช้อปปิ้ง ทานข้าว สังสรรค์ กลับบ้าน ที่จริงคือโครงหลักของการใช้ชีวิต พอขาดสิ่งที่ทำจำเจเหล่านี้ไป มนุษย์จะรู้สึกว่า “ตัวตนหายไป” 
 
เช่นเดียวกับความเห็นของ Adrienne Heinz นักจิตวิทยาที่ Veterans Affair National Center for PTSD เขาชี้ว่า ชีวิตประจำวัน ที่เราคิดว่าจำเจ ไม่มีอะไรตื่นเต้นนี้เอง คือโครงสร้างเวลาตัวหลักที่ทำให้เราสามารถบริหารจัดการชีวิตในด้านต่างๆได้อย่างมีระบบ พอไร้ชีวิตประจำวันแบบ routine เดิมที่คุ้นเคย คนเราจะรู้สึกเหมือนหลงทาง งง ทำอะไรไม่ถูก ถึงแม้ในช่วงกักกันตนเอง จะมีเวลาว่างมากขึ้น แต่เป็นเวลาที่ไร้โครงสร้างเวลา 
 
ความเคว้งในชีวิตช่วงนี้เอง ที่ทำให้หลายคนไม่สบายใจ ตารางเวลาที่มองเห็นล่วงหน้าไปอีกหลายเดือนหรืออีกปี อันเป็นแผนทีหรือ map เวลาของการดำเนินชีวิต ถูกลบออกหมดแล้วโดยโควิด-19 สถานการณ์โควิดทำให้คนต้องมองล่วงหน้าได้แค่เป็นวัน  ค้านกับธรรมชาติของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่มองอนาคตเป็นหลัก แล้วพยายามทำปัจจุบันให้เดินตามอนาคตที่วาดไว้  
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจะทำอย่างไร?
 
มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในที่จำกัด ซึ่งมีทั้งการสร้างประสิทธิภาพการทำงานระหว่างกักตัวเองอยู่บ้าน รวมทั้งเรื่องที่ให้กำลังใจหรือ inspire อย่างเช่น Isaac Newton คิดเรื่อง inverse-square law of gravitation ระหว่างเวลาว่างในการกักกันตนเองที่ชนบท เพราะกาฬโรคระบาดใหญ่ในปี 1655 นักประวัติศาสตร์ถือว่า นี่คือปีทองของ Newton เลยทีเดียว
 
หรืออย่าง ระหว่างกาฬโรคระบาดในปี 1606 ทำให้ William Shakespeare มีเวลาว่างจากโรงละครปิด และสร้างสรรค์บทละครดังๆอันเป็นผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง King Lear, Macbeth, Antony and Cleopatra หรืออย่าง Edvard Munch ศิลปินผู้วาดภาพเขียนอันเป็นที่รู้จักดี “The Scream” ก็สร้างผลงานดีๆไว้ระหว่างไปไหนไม่ได้เพราะโรคระบาดเช่นกัน
 
ทว่า มีข้อท้วงติงว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้อย่าง Newton หรือ Shakespeare อย่าลืมว่า โลกสมัยใหม่เป็นโลก hyper-connected และตอนนี้เราไม่ค่อยจะ connected กันได้เหมือนเดิม อีกทั้งงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยทีมงาน หากมีความคาดหวังตนเองมากไป ก็จะมีปัญหา
 
และการอยู่กับบ้านก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้สบาย ผ่อนคลาย มีสมาธิ โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวใหญ่ ญาติเยอะ ลูกเล็ก หรือแฟน อยู่ร่วมบ้านด้วย
 
ประสบการณ์สดๆร้อนๆจากจีน บอกว่า การกักกันตนเองอยู่บ้านน่าจะมีผลต่อชีวิตคู่ Zhou Xiaopeng ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตสมรสชื่อดังของจีน ที่มีรายการโทรทัศน์ให้คำปรึกษา เล่าว่า คู่แต่งงานจำนวนมากมีความเครียดหนักจากการต้องอยู่ร่วมกันในที่จำกัดเป็นเวลานาน  การที่ต้องเห็นหน้ากันตลอดเวลา ท่ามกลางสภาพจิตใจที่แย่อยู่แล้ว ทำให้ต่างทนกันและกันไม่ได้ เรื่องที่ปกติมองข้ามได้ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ๋
 
เช่นเดียวกับ Lu Shijun นายทะเบียนเมืองต้าเส้า ในจังหวัดเสฉวน เล่าว่าแค่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็มีคนมาขอนัดทำการหย่าถึง 300 คนแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยพบว่า การต้องอยู่ติดกันตลอดเวลาในพื้นที่จำกัด ทำให้เรื่องเล็กๆที่ไร้สาระนำไปสู่การหย่าได้ง่ายๆ หรืออย่างเมืองฟูเส้า ของจังหวัดฟูจัน มีคนมาขอหย่าเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดทางเมืองต้องจำกัดให้ยื่นคำร้องหย่าได้วันละ 10 คู่เท่านั้น  ส่วนเมืองซีอานที่จังหวัดชานสี พอเปิดให้ยื่นคำร้องหย่า มีคนมาใช้บริการทันทีอย่างมากมาย
 
UN Women หน่วยงานของ UN บอกว่า ในบางประเทศ เป็นไปได้ว่าการทำร้ายร่ายระหว่างกันน่าจะเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 เพราะความเครียดสะสมจากเรื่องเงินและอนาคตระหว่างกักตนเองในที่จำกัด
 
ความเครียดระหว่างกักกันตนเอง จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ และต้องหากทางจัดการโดยด่วน
 
บรรดานักจิตวิทยามีความเห็นพ้องกันว่า เพื่อลดความเครียด ช่วงนี้อย่าไปจริงจังกับตนเองและผู้อื่นมาก อย่าไปหวังประสิทธิภาพอะไรให้มากนัก รู้จักให้อภัยตนเองและผู้อื่นบ่อยๆ พร้อมให้ระลึกเสมอว่า ต่างคนต่างก็มีสภาพจิตใจที่แย่ลงกว่าเดิมกันทั้งนั้น  หากมีความรู้สึกถดถอยเกิดขึ้นโดยหาสาเหตุเฉพาะไม่ได้ ก็ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องประหลาด 
 
และที่สำคัญ ให้คิดว่าในยามนี้ ไม่ต้องไปเน้นมากมายว่า “ต้องทำอะไร หรือ doing” แต่เน้นว่า “เราเป็นคนอย่างไร หรือ being” แทน
 
เพราะถ้าหากคิดแต่ “ต้องทำอะไร” หรือ doing นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีคือ เราจะหวนกลับไปพยายามทำในสิ่งที่เคยทำ ซึ่งแน่นอนว่าหลายอย่างทำไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ควรทำ ผลคือเกิดความหดหู่
 
แต่หากมองแบบ being ว่า “เป็นคนอย่างไร” สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ เกิดความตั้งใจที่จะรักษาความเป็นตัวตนเดิมไว้ให้ได้ ถือเป็นการตั้งหลักปักหมุดอย่างมีสติ จากนั้น การกระทำหรือ doing ที่สอดคล้องกับการรักษาความเป็นตัวตนคนเดิมของเรา พร้อมกับสอดคล้องกับความเป็นจริง จะตามมา
 
อย่างเช่น หากเราเป็นคนชอบท่องเที่ยว ก็สามารถวางแผนทริปดีๆได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องคิดมากว่า เมื่อไหร่จะได้ไป เป็นได้จริงแค่ไหน หรือถึงเวลาจริงต้องปรับแผนแค่ไหน  การวางแผนทริป ทำให้คงความเป็น “คนเดิม” ไว้ได้ และนั่นคือจุดประสงค์หลัก ที่มีความสำคัญมากกว่าตัวแผนเองมากมายนัก
 
“ความหวังหลังโควิด” คือพลังจิตใจสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์ก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้โดยบอบช้ำน้อยที่สุด
 
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนุก อย่างเรื่องเที่ยว ไปจนถึงหรือเรื่องจริงจังอย่างสภาพการเงิน หน้าที่การงาน
 
ส่วนเรื่องที่ว่า ความหวังอาจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับขอให้มีความหวังไว้ก่อน เพราะมนุษย์ยุคปัจจุบันดำรงชีวิตโดยไม่มีอนาคตไม่ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0