โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไทยเตรียมรับอานิสงส์สงครามการค้า

TNN ช่อง16

อัพเดต 25 พ.ค. 2562 เวลา 06.03 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 06.03 น. • TNN Thailand
ไทยเตรียมรับอานิสงส์สงครามการค้า
กระทรวงพาณิชย์เผย ไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น 6,400-32,000 ล้านบาท รับอานิสงส์สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีจากจีนเพิ่ม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นัดประชุมกับตัวแทนอุตสาหกรรมกว่า 20 สมาคม และกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ และการปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพให้ได้อย่างรวดเร็ว  เพื่อปรับวิกฤติจากสงครามการค้าให้เป็นโอกาสส่งออกของไทย และยังจะใช้โอกาสนี้หารือถึงแนวทางการรับมือสงครามการค้า และการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวของไทย  ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโย บายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันที่ 11 มิ.ย.2562 พิจารณา

พร้อมกันนี้ ยังได้ประเมินผลกระทบกรณีที่สหรัฐเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนรอบใหม่ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยขณะนี้สหรัฐกำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน มิ.ย.2562  พบว่า  มีประมาณ 3,800 รายการ  ส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งหากมีการปรับขึ้นภาษีจริง   จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคในสหรัฐที่สินค้าจะมีราคาแพงขึ้น   แต่ในส่วนของไทย จะมีโอกาสส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้นโดยไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐกว่า 725 รายการ   คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,400-32,000 ล้านบาท  เบื้องต้น เป็นสินค้าที่ไทย มีส่วนแบ่งตลาดและมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว เช่น อาหารและเครื่อง ปรุงอาหาร น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ และของใช้ในบ้าน  เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่สหรัฐขึ้นภาษีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2562 มูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 5,745 รายการ และจีนขึ้นภาษีตอบโต้ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 5,140 รายการ  ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.2562 นั้น พบว่า ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น  ทั้งในตลาดสหรัฐและจีน   โดยสินค้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก เช่น  ผักและผลไม้สดและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าเดิมที่เคยได้รับผลกระทบ อย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะตลาดรับรู้ถึงการปรับขึ้นภาษีไปแล้วครั้งหนึ่ง และผู้ประกอบการไทยได้มีการปรับตัว ทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เริ่มมีสัญญาณหดตัวน้อยลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0