โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใหญ่กว่าที่คิด! ปัญหา “เด็กติดเกม” เด็ก เกม พ่อแม่ โทษใครดี?

LINE TODAY

เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 20.11 น. • nuchthawat_p

กลายเป็นคลิปที่แชร์ว่อนโลกออนไลน์ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เด็กชายคนหนึ่งกำลังนั่งเล่น “เกมออนไลน์” พร้อมกับไลฟ์สด จู่ ๆ น้องก็ของขึ้น ตะโกนด่าทอคนในเกมอย่างหัวเสีย เท่านั้นไม่พอ ยังกระหน่ำทุบ ทุบ ทุบ หน้าจอคอมฯ และคีย์บอร์ดไม่ยั้ง… 

เพียงเพราะเล่นเกมแพ้แล้วถูกฝ่ายตรงข้ามยึดเอาไอเท็มไป (สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่ง ฝ่ายตรงข้ามอาจจะมีการกลั่นแกล้ง ใช้คำพูดเยาะเย้ย ป่วนจนน้องคุมสติไว้ไม่อยู่)

ร้อนถึงอาม่าของน้องที่ปรี่เข้ามาห้ามปรามด้วยความหวังดี “อย่าทำอย่างนี้สิ มันไม่ดี เดี๋ยวของเราเสีย”

อย่างไม่เป็นผล ความเดือดดาลของน้องกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ชั่ววูบนั้นเอง น้องพลั้งปากสบถข่มขู่จะทำร้ายอาม่า ซ้ำร้าย เหตุการณ์มาประทุสุด ๆ เมื่อน้องเห็นสภาพหูฟังของตนที่ถูกแม่ปาทิ้งจนพังยับ ด้วยบันดาลโทสะจึงถือมีดอีโต้วิ่งไปจะทำร้ายแม่…

หลังคลื่นแห่งความพิโรธสงบลง น้องได้ทำคลิปขอโทษแม่ โดยเข้าไปกราบเท้าขอขมาที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากตามข่าวต่ออีกนิดก็จะทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าน้อง “ติดเกม” กอปรกับป่วยเป็น “โรคสมาธิสั้น” ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องทานยาอยู่เป็นประจำ

เหตุการณ์นี้ ทำให้ “เกม” ตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้ง เด็กคนไหนที่ข้องแวะกับเกม ภาพลักษณ์จะดรอปลงทันที โดยเฉพาะในสายตาผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มองเกมค่อนไปในเชิงลบ

“เกมอาจเป็นตัวร้ายทำลายอนาคตลูกหลาน เป็นบ่อเกิดแห่งความก้าวร้าว เลียนแบบ และทำให้เด็กเสียการเรียน” 

เกมมันเลวร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ…

“เกม” คือ “วายร้าย”?

เจอกับตัวเองเลยค่ะ สมัยผู้เขียนยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นอยู่บ้านวันหยุด เปิดแลปท็อปนั่งหาข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ แต่ผู้ปกครองกลับบอกว่า “งานการไม่ทำ เอาแต่เล่นคอมฯ ทั้งวัน” 

ทัศนคติของผู้ใหญ่สูงวัยบางคนจึงเท่ากับสมการที่ว่า ใช้คอมฯ = เล่นเกม = เรื่องไร้สาระ

อารมณ์ตอนนั้นคือน้อยใจสารพัด ครั้นพออธิบายว่านี่ทำงานนะ ไม่ได้เล่นเกม ก็โดนหาว่าเถียง -- ฮืออออ ความรู้สึกเหมือนกำลังรับบทอีเย็น เป็นคุณกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ในละครนางทาส  

จากชุดความคิดข้างต้น จึงพออนุมานได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกม ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เกิดจาก "ช่องว่างระหว่างวัย" (Generation Gap) การสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจกัน บางครั้ง ผู้ใหญ่พร้อมที่จะพูดสิ่งที่ตนเองคิด แต่น้อยนักที่จะรับฟัง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มที่จะ "เลือกรับฟัง" ฟังเฉพาะในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากฟัง   

จะให้ดี ผู้ใหญ่ควรจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน อันที่จริง ลองเปิดใจมาเล่นเกมกับเด็กดูบ้างก็ได้ จะได้รู้ว่าเกมนั้นเป็นอย่างไร หากเกมไหนมีความรุนแรงผู้ปกครองจะได้สอนหรือให้คำแนะนำได้ถูกวิธี ในทางกลับกัน เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก เด็กก็ต้องฝึกเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน พ่อแม่อยากให้ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ก็ทำให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปเล่นเกม

บางทีเราก็เผลอให้เกมเป็น "แพะ" แล้วซุกปัญหาครอบครัวไว้ใต้พรม

พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมเลียนแบบที่อาจมาพร้อมกับ “เกม”?

สมัยยังเด็ก ผู้เขียนชอบเล่นเกมแนวแอ็คชั่นอย่าง "สตรีทไฟท์เตอร์" (Street Fighter) มาก เรียกว่าเล่นทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน ตัวละครโปรดที่ชอบเล่นคือ “ชุนลี” สาวสวยจอมบู๊จากเมืองจีน ซึ่งธรรมดาของเกมต่อสู้ก็จะมีความรุนแรงประมาณนึง ทั้งต่อย เตะ ปล่อยพลังใส่ให้ตายกันไปข้าง ทว่าผู้เขียนก็เติบโตมาได้โดยไม่เคยคิดอยากจะฉีกขาแล้วเอาเท้าไปถีบหน้าใครรัว ๆ ด้วยท่าสปินนิงเบิร์ดคิกอย่างแม่นางชุนลีสักครั้ง 

พีคสุดก็แค่แอบแม่นั่งรถเมล์ไปซื้อกี่เพ้าที่เยาวราช เพียงเพราะอยากสวย หมวย เฟียร์ซ เหมือนชุนลี

เราเลือกเลียนแบบเฉพาะในสิ่งที่อยู่ในกรอบทำนองคลองธรรมได้ไหม? เราแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ไหมล่ะ?

ลูกเล่นเกมแพ้ แพ้แล้วหัวเสีย ก้าวร้าว พฤติกรรมเหล่านี้ไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของพ่อแม่ แต่อาจต้องตั้งคำถามกลับไปว่าพ่อแม่เคยสอนให้ลูกรู้จัก “แพ้ให้เป็น” ไหม? จริงอยู่ การจะให้คนเรายินดีกับความพ่ายแพ้นั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ แต่ผู้ปกครองควรต้องสอนลูกสิว่าความพ่ายแพ้นั้นไม่ใช่จุดจบของชีวิต ต้องสอนลูกสิว่าความพ่ายแพ้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้มองเห็นอะไรใหม่ ๆ ในตัวเรา

ครอบครัวควรเป็นด่านแรกในการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้แก่เด็ก เพื่อออกไปรับมือกับเรื่องน่าผิดหวังข้างนอกอีกมากมายที่เขาต้องเจอะเจอในอนาคต

แบบไหนเรียกว่า “อาการสาหัส” ถึงขั้น “ติดเกม”? 

เด็กติดเกมที่มีปัญหาจริง ๆ นั้น จะมี “อาการป่วย” รวมอยู่ด้วย! องค์การอนามัยโลก ได้ให้นิยามอาการติดเกมไว้ว่า "เป็นรูปแบบพฤติกรรมเล่นเกมที่ขาดการควบคุม ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น จนถึงขั้นเลือกเล่นเกมก่อนสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ หรือกิจวัตรประจำวัน และยังคงเล่นต่อเนื่องหรือมากขึ้นแม้จะมีผลเสียตามมา" 

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า พฤติกรรมติดเกมที่ถือว่าเป็นอาการป่วย จะต้องมีรูปแบบพฤติกรรมที่รุนแรงมากพอ ส่งผลให้เกิดความบกพร่องด้านบุคลิกภาพ ครอบครัว สังคม การศึกษา การทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพที่สำคัญด้านอื่น ๆ และต้องปรากฏอาการให้เห็นชัดอย่างน้อย 12 เดือน!

สิ่งสำคัญ พ่อแม่-ผู้ปกครองต้องแยกให้ออกว่าเด็ก "ติดเกม" หรือแค่ "เล่นเกม" เพราะเด็กจะไม่ชอบคำว่า "ติดเกม" หากเขายังเรียนหนังสือ เพื่อน ๆ ก็เล่นเกมทุกคน เด็กจะรู้สึกน้อยใจ ไม่เข้าใจว่าเขาเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง 

อ้างอิง​:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0