โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ในประเทศ / บรรลือ 'ฤทธิ์'

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 11.32 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 11.31 น.
ในประเทศ

*ในประเทศ *

 

บรรลือ ‘ฤทธิ์’

 

ถือเป็นเรื่องโด่งดัง เลื่องลือ สมวลี บรรลือ “ฤทธิ์” จริงๆ

สำหรับบทบาทของ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” พระเอกจิตอาสา

ที่สร้างปรากฏการณ์ระดมเงินบริจาคลงพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ทะลุกว่า 300 ล้านบาท ภายใน 4 วัน

และนำเงินไปแจกชาวบ้านที่ประสบภัย ครอบครัวละ 5,000 บาท

แม้ “บิณฑ์” ย้ำว่าสิ่งที่ทำ ไม่ได้ข้ามหน้าข้ามตารัฐบาล แต่แจกแค่ข้าวสารอาหารแห้งผู้ประสบน้ำท่วมยังไม่มีความสุข เลยต้องแจกเงินให้เพิ่ม เพราะชาวบ้านยังคงต้องได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากสิ้นเนื้อประดาตัว

แต่สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจดังกล่าว กลับสร้างผลสะเทือนทางการเมือง โดยเฉพาะต่อรัฐบาลอย่างรุนแรง

รุนแรงถึงกระบวนการรับมือ แก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติของฝ่ายรัฐ ที่ดูเหมือนจะไม่พร้อม

ทั้งที่น้ำท่วมอุบลราชธานี ซึ่งมีช่วงเวลาให้รับมือมากพอสมควร

และว่าที่จริง รัฐบาลก็ได้ลงแรงไปแก้ไขก็ไม่น้อย

แต่พอเอาเข้าจริง กลับเป็นไปอย่างที่ “บิณฑ์” เล่าความรู้สึก

“พอไปเห็นมันจุกอกครับ ไม่รู้จะพูดยังไง เลยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ไปเบิกเงินของเราเอง 1 ล้านเพื่อจะมาแจกเขา แล้วก็เชิญชวนเพื่อนๆ ในหน้าแฟนเพจผมให้มาช่วยกัน แต่ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้ กลายเป็นช่วยกันเต็มไปหมดเลย”

“ส่วนการพูดถึงรัฐบาล ผมไม่ได้ตัดพ้อ แค่อยากเป็นเสียงสะท้อนมากกว่า ผมเห็นนายกฯ ท่านมอบเงินให้ชาวบ้านไปช้อปปิ้งกันเพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยดี ผมก็บอก ถ้าให้ไปช้อปปิ้ง 1,000 บาท ก็น่าจะเอามาให้ทางอุบลฯ ด้วย แจกคนละ 1,000 น่าจะดี เท่านั้นเอง ไม่ได้ว่าอะไร อยากจะให้มาดูแลพี่น้องที่อุบลฯ ด้วย ประมาณนั้นครับ”

 

การคิดง่ายๆ ซื่อๆ แต่กลับกลายเป็น “มวลน้ำมหึมา” ซัดโถมใส่ “เรือเหล็ก” จนแทบจะประคองตัวเองไม่อยู่

เฉพาะหน้า รัฐบาลต้องแก้เกมด้วยการจัดงาน “ร่วมใจพี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” เมื่อวันที่ 17 กันยายน ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9

เพื่อเปิดประตูอีกประตู รับเงินบริจาค

หลังจากที่เงินจำนวนมหึมา หลั่งไหลผ่านไปยัง “บิณฑ์”

อันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลอ่านใจชาวบ้านไม่ออก

นั่นคือ ชาวบ้านจำนวนมาก อยากจะมีส่วนร่วมช่วยบริจาคความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัย แต่ไม่มีช่องทาง

ส่วนหนึ่งอาจมาจากความมั่นใจของฝ่ายรัฐบาลว่า “เอาอยู่” สามารถดูแลผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง

ประกอบกับอยากสยบกระแสว่ารัฐบาลไม่มีเงิน จึงแบกการช่วยเหลือเอาไว้เพียงฝ่ายเดียว

โดยลืมไปว่า คนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย

เป็นเรื่องของ “น้ำใจ” มิใช่เรื่องการรักษาหน้ารักษาตาของใคร

และที่สำคัญ มีชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ ซึ่งมันสะท้อนผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ว่ายังมีผู้ไม่ได้รับการช่วยเหลืออยู่อีกจำนวนมาก

นี่จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “บิณฑ์” เพราะเขาได้เปิดประตูนี้ขึ้นมา

แม้จะดำเนินการในนามเอกชน กระทำในฐานะปัจเจก ที่แม้มีมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้ามาร่วม แต่ก็ไม่ได้เป็นทางการ แต่คนไทยกลับขานรับ ให้ความเชื่อถือสิ่งที่บิณฑ์ทำ อย่างที่คนในรัฐบาลคาดไม่ถึง

จนต้องจัดงาน “ร่วมใจพี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” ขึ้น

ซึ่งนอกจากจะช้าไปก้าวหนึ่งแล้ว

ยังเกิดกระแสข่าวลือที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

ว่ามีความพยายามดึงเอาสิ่งที่บิณฑ์ทำ มาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

ร้อนถึงนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาดับกระแส คนในรัฐบาลติดต่อไปยังบิณฑ์ ให้โอนเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี เข้าบัญชีของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าไม่เป็นความจริง

ตนเองเพียงแต่โทรศัพท์ไปขอบคุณบิณฑ์ และเชิญว่า หากมาร่วมงาน “ร่วมใจพี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” ได้ก็ยินดี

ซึ่งบิณฑ์แม้ติดภารกิจอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ก็ยอมบินมาร่วมงานดังกล่าว

บิณฑ์ระบุว่า เพราะต่างฝ่ายต่างก็ทำเพื่อประชาชน

โดยตัวเลขเงินบริจาคผ่านงานที่รัฐบาลดำเนินการออกมาที่ 263 ล้านบาท ซึ่งสูงพอสมควร

แต่ก็น้อยกว่าปรากฏการณ์ “บิณฑ์” ที่ทะลุกว่า 300 ล้าน ซึ่งก็คงก่อให้เกิดดราม่าในกรณีนี้ต่อไป

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็พยายามแสวงหาจุดร่วมตรงนี้ ด้วยการกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคธุรกิจ รวมถึงนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ดารานักแสดง ที่เข้าไปช่วยกันทำงาน

“มันทำให้ผมมีความสุขที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมทำงานกับรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่กระแส “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” เพิ่มก่อตัวขึ้น

ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะมีท่าทีที่ไม่ใช่เช่นนี้

โดยแสดงอาการหงุดหงิดกับฝ่ายที่มุ่งไปยังเรื่องการแจกเงิน

อย่างระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาบุคลากรภาครัฐ “ยุทธศาสตร์ชาติ ภาคปฏิบัติ : ร่วมขยับขับเคลื่อนภาครัฐเพื่อประชาชน” มีข้าราชการทุกระดับเข้าร่วม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประชาชนเคยชินกับสิ่งที่เคยได้ โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด มีการเรียกร้องต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้ โดยไม่เข้าใจระเบียบราชการ

“เห็นหน้ากันก็จะขอแต่เงิน และร้องเรียนว่าเงินไม่ถึงมือโดยตรง ไม่ว่าผมจะไปไหนก็มีแต่คนขอเงิน ผมอึดอัดใจมาก ถ้าผมมี ผมรวย หรือประเทศไทยรวย ผมอยากให้จริงๆ ผมไม่โทษใครเพราะเขายังขาดแคลน แต่ข้าราชการต้องช่วยกันอธิบาย เพราะประชาชนไม่รู้จะขอใคร ก็ขอที่นายกฯ ผมอยากให้แต่ไม่มีเงินให้ เราต้องจัดสรรให้จากเงินในระบบตามขั้นตอนโปร่งใส ถึงมือประชาชน แต่พอไม่ให้ ก็มีคนมาพูดอย่างอื่นคนก็เชื่อกันหมด สื่อโซเชียลก็เฮตามว่าทำไมรัฐไม่ช่วย”

“คนกลุ่มหนึ่งดูเหมือนไม่รักประเทศ ออกมาพูดจาโดยคิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว”

“วันนี้มีประเด็นเช่นการช่วยเหลือน้ำท่วมว่าทำไมรัฐบาลไม่ออกไปช่วย ทำไมนายกฯไปภาคใต้ ไม่ไปอีสาน ทำไมไม่ไปลุยน้ำกับพวกเขา เป็นการสร้างความขัดแย้ง”

“ชอบพูดกันความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม พูดกันอยู่อย่างนี้ว่าทุกคนต้องได้เท่ากันหมด ได้เหมือนกัน มีที่ไหนบนโลกใบนี้ ไม่มี”

“ไม่มีใครทำได้หรอก ต่อให้ไปเรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมาก็ทำไม่ได้ ใครก็ไม่รู้เหมือนกัน ทำแบบเดิมก็เจ๊งไปกว่าเดิม โอเคพูดมากก็อารมณ์เสีย”

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนประเทศด้วยตัวของเราเอง ด้วยภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่เอากฎหมายมาขัดแย้งกันตลอดเวลา รัฐธรรมนูญบ้าง กฎหมายบ้าง โซเชียลบ้าง แล้วมาโจมตีกันอยู่ในสภา มันไม่ถูกต้อง ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ตีกันอยู่ไม่กี่เรื่อง มันน่ารำคาญ ยังไงก็ต้องทำต่ออยู่แล้ว ผมไม่อยู่แล้วใครจะอยู่”

“ใครอยู่ ไปดูรัฐธรรมนูญให้ดีแล้วกัน จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน”

 

ประโยคสุดท้ายนี้ ดูเหมือนจะเป็นไฮไลต์แห่งความหงุดหงิดที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกมา

เพราะเหมือนเป็นการขู่กลายๆ ว่า จะเลือกระหว่างที่ตนเองเป็นนายกฯ ที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง

หรือจะกลับเป็นอย่างเดิม คือ นายกฯ จากการรัฐประหารที่มีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือ

ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ เพราะยังไม่ครบ 3 เดือนแห่งการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ก็ต้องเผชิญมรสุมเป็นระลอก

สิ่งที่ไม่ควรจะเป็นประเด็นก็กลายเป็นประเด็น

ซึ่งหากจะโยงไปถึงกรณีน้ำท่วม ที่ชาวบ้านยังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ตามที่ทราบกัน โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี

ปรากฏว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี

โดยที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ไม่มีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์นัก

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปตรวจติดตามงานก่อสร้างประตูระบายน้ำ คลองท่าเรือ-หัวตรุด ซึ่งเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แต่ที่มีการวิพากษ์กันหนัก ก็คือการเดินทางไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ที่ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ก่อตั้ง

ซึ่งถูกจับตาว่า นี่คือสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ พล.อ.ประยุทธ์และนายสุเทพ ที่อาจจะมีก่อนหน้านี้มายาวนานก่อนการรัฐประหาร

เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกชัดเจนเท่าภาพในวันนั้น

ในบรรยากาศอันชื่นมื่น “ลุงตู่” ได้สวมบทเป็นกุ๊ก โชว์ลีลาทำเมนู “ใบเหลียงผัดไข่” อย่างทะมัดทะแมง

ภาพนี้ถูกนำไปแชร์ในโลกโซเชียลมีเดียทันที

พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมภาพ “ลุงตู่” นี้ จึงไม่ใช่ภาพไปผัดกะเพรา หรือผัดข้าวผัด แจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ความเห็นอันหลากหลายก็ทะลักล้น–แน่นอน ย่อมเป็นปฏิกิริยาลบต่อรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าบวก

 

ภาพอันย้อนแย้งนี้ จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ “บรรลือฤทธิ์” ด้วยการแห่ไปบริจาคเงินผ่านบิณฑ์ ด้วยความรู้สึกว่า เมื่อรัฐบาลไม่ดูดำดูดี ชาวบ้านก็ทำเองก็ได้ หรือไม่ คงเป็นดราม่าของสังคมต่อไป

แต่วันนี้ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ก็ได้กลายเป็นพระเอกนอกจอ ในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมไปแล้ว

ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตกอยู่ในภาวะ “ผู้มาทีหลัง” ได้พยายามพลิกสถานการณ์โดยยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้คิดล่วงหน้ามาตลอด ไม่ได้คิดช้า

โดยช่วงแรกได้วางวิธีการป้องกัน ส่วนช่วงนี้จะเข้าไปดูแลชาวบ้าน จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

รวมทั้งได้เร่งรัดทุกกระทรวง ให้ลงไปพื้นที่หมดแล้ว งบประมาณของจังหวัดถ้าไม่พอก็ขอขึ้นมา รัฐบาลก็พร้อมจะดูแล

การพลิกบทบาทมาสู่การเป็นรัฐบาลที่มีแต่ให้

จะเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาได้หรือไม่

คงต้องติดตามกันอย่างเหน็ดเหนื่อยต่อไป

    และอาจจะมีผู้กล้ำกลืนความหงุดหงิด จน “อกแทบแตก” เอาไว้ด้วย “ฤทธิ์” ที่บันลือไปไกลทั้งประเทศ ด้วยฝีมือของพระเอกที่ชื่อ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ผู้นี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0