โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ใครเผาอยุธยา ถ้า 'พม่า' ไม่ใช่คำตอบ? เปิดข้อมูลขุดค้น ไม่พบชั้นดิน 'ไฟไหม้' คราวกรุงแตก!

MATICHON ONLINE

อัพเดต 07 เม.ย. 2564 เวลา 05.31 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2564 เวลา 05.25 น.
7-28
ภาพถ่ายมุมสูง วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดย วิลเลียม ฮันท์ (ที่มา : Elizabeth Moore, Phillip Stott and Suriyavudh Sukhavasti, Ancient of Thailand (Bangkok : Asiabooks,1996)

ถือเป็น ‘เซเลบ’ ในวงการประวัติศาสตร์ด้วยเป็นเมืองสำคัญในไทม์ไลน์ความเป็นไทยแลนด์ทุกวันนี้ สำหรับ ‘พระนครศรีอยุธยา’ ซึ่งขยันมีประเด็นวิวาทะแทบไม่เว้น ตั้งแต่เพนียดคล้องช้าง, การสร้างตึกทับคลองโบราณ โดย มรภ.พระนครศรีอยุธยา จนล่าสุดในช่วงค่ำของวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เกิดดราม่ากันอีกรอบจากภาพรื้อแนวกำแพงเก่าวางแนวสายไฟ บริเวณวัดไชยวัฒนารามที่สุดท้ายนักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็นการวางระบบไฟส่องสว่างที่ถูกวางแผนอย่างดีให้กระทบโบราณน้อยที่สุด โดยกำแพงดังกล่าวเพิ่งก่อบูรณะใหม่ไม่เกิน 30 ปี เป็นความ ‘เข้าใจผิด’ ซึ่งหากไม่ได้รับคำอธิบาย เสี่ยงลุกลามกระทั่งกลายเป็น ‘เฟคนิวส์’

เช่นเดียวกับวาทกรรม ‘พม่าเผากรุงศรีอยุธยา’ จนวอดวาย กลายสภาพเป็นเมืองร้าง ซึ่งเป็น ‘ภาพจำ’ ในใจของคนไทย ฝังแน่นในความรู้สึกนึกคิด ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังถูก ‘ผลิตซ้ำ’ ครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านทั้งแบบเรียน และวัฒนธรรมบันเทิงแนวปลุกใจให้รักชาติ

ทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2310 เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

เจอ ‘เศษไม้ไหม้ไฟ’ แต่ไม่ใช่ช่วง ‘กรุงแตก’

ศุทธิภพ จันทราภาขจี นักโบราณคดีหนุ่ม สังกัดกรมศิลปากร ผู้ทำการขุดค้นในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังโบราณ เขียนบทความ ‘ร่องรอยพระราชวังหลวงสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง’ ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจาก วัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ’ โดยสำนักพิมพ์มติชนที่เพิ่งวางแผงสดๆ ร้อนๆ ระบุในตอนหนึ่งถึง ‘หลักฐานไฟไหม้พระราชวังหลวงเดิม’ บ่งชี้ว่าพบจริง แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการ ‘ปรับพื้นที่’ นอกจากนี้ ยังมีการพบ ‘ชิ้นส่วนไม้ไหม้ไฟ’ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงก่อนสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา คือช่วงก่อน พ.ศ.1967 ไม่ใช่ช่วงท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด

เนื้อหาที่ ศุทธิภพ อธิบายอย่างเห็นภาพ ชวนให้ผู้อ่านได้ร่วมลงหลุมขุดค้นไป ราวเห็นกับตาพร้อมนักโบราณคดี ได้กลิ่นดินที่อยู่ลึกลงไปในแต่ละชั้น

ข้อความส่วนหนึ่ง ดังนี้

‘เมื่อขุดค้นลงไปที่ความลึก 180-280 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน ได้พบชั้นดินสีเทาปนแดง เนื้อดินคล้ายขี้เถ้า แสดงว่าพื้นที่นี้จะต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเผาไฟ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการปรับพื้นที่ โดยชั้นดินนี้มีความหนาประมาณ 1 เมตร …

จากนั้นเมื่อขุดลึกลงไปภายในชั้นดินนี้ ดินจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงของศิลาแลง และเมื่อขุดลึกลงไปเพียง 5 เซนติเมตรเท่านั้น จะพบแนวศิลาแลงวางเรียงตัวกันเข้าไปทางผนังทิศเหนือจำนวน 6 แผ่น ซึ่งสอดตัวเข้าไปอยู่ใต้วิหารพระโลกนาถ หรือยื่นออกมาจากผนังหลุมขุดค้นด้านทิศเหนือประมาณ 1 เมตร เหนือแนวศิลาแลงนี้เล็กน้อยพบแผ่นไม้ถูกไฟไหม้ฝังอยู่ในผนังทิศใต้ น่าสังเกตว่าแผ่นศิลาแลงดังกล่าวแสดงถึงความจงใจในการวาง คงเป็นฐานของอาคารหรือพื้นที่ก่อสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง

ปกติแล้วศิลาแลงไม่ได้เป็นของที่หาได้ในพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยา ต้องนำมาจากที่อื่น เช่น สระแก้ว หรือปราจีนบุรี อีกทั้งศิลาแลงยังเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นส่วนมาก เช่น วัดมหาธาตุ หรือวัดราชบูรณะ ส่วนขี้เถ้าและแผ่นไม้ไหม้ไฟที่พบ คงสัมพันธ์กับเหตุการณ์ไฟไหม้สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร…’

จะเห็นได้ว่า ในบทความดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลของชั้นไฟไหม้ในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อ พ.ศ.2310 เลย

ย้อนอ่าน : เปิดข้อมูลขุดวังโบราณ ไม่พบชั้นไฟไหม้ช่วง ‘กรุงแตก’ ขัดแย้งปมพม่าเผาอยุธยา

หลักฐาน ‘โบราณคดี’ ทลาย ‘มายาคติ’ พม่าเผากรุง?

นอกจากนี้ หนังสือเล่มเดียวกันยังมีข้อเขียนโดย นรุตม์ โล้กูลประกิจ นักโบราณคดีอิสระ ไฟแรง และมีความคิดแนว ‘ก้าวหน้า’ ปรากฏในบทความ ‘ชีวประวัติของพระราชวังหลวงจากหลักฐานโบราณคดี’ ระบุเช่นกันว่า ไม่มีการพบร่องรอยที่แสดงถึงไฟไหม้รุนแรงในพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์เลย ทั้งยังกล่าวถึงประเด็นความเข้าใจของสังคมไทยที่ว่า ‘พม่าเผากรุงศรีอยุธยา’ กับหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี มีความคิดเห็นที่น่าสนใจ และ ‘ตรงไปตรงมา’

ความตอนหนึ่ง ว่า

‘อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สังคมไทยมักเข้าใจกันว่าพม่าเผากรุงศรีอยุธยาในสงครามคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ทำให้ปรากฏภาพของปราสาทและพระราชวังที่ถูกเผาตามสื่ออยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ผลจากการขุดค้นในเขตพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์กลับไม่พบชั้นดิน ชั้นถ่าน ชั้นขี้เถ้า รวมถึงร่องรอยการเผาไหม้อย่างรุนแรงปรากฏบนโครงสร้างสถาปัตยกรรมและในชั้นดินที่แสดงถึงร่องรอยไฟไหม้ครั้งใหญ่แต่อย่างใดเลย

ดังนั้น เรื่องนี้อาจสรุปได้ 2 ประการ คือ ประการแรก พม่าไม่ได้ทำการเผาพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์อย่างรุนแรงตามจินตนาการในสมัยหลัง หรือประการที่ 2 ชั้นดินและหลักฐานที่แสดงถึงการเผาที่ว่านั้น ได้หายไปพร้อมกับการขุดแต่งและบูรณะเมืองโบราณอยุธยานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงช่วงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์

ฉะนั้น หากตัดข้อสันนิษฐานชุดหลังว่าร่องรอยการเผาไหม้ของพระราชวังหลวงหายไปพร้อมกับการขุดค้นในสมัยหลัง หากมีการเผาสิ่งก่อสร้างครั้งใหญ่และรุนแรงในพระราชวังหลวงจริง ก็ควรเหลือร่องรอยของชั้นถ่านและร่องรอยการเผาปรากฏตามโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่บ้าง ซึ่งถ้าเชื่อตามข้อสันนิษฐานประการแรก ย่อมหมายความว่าการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยทลายมายาคติในเรื่องพม่าเผากรุงศรีอยุธยาจนวอดวายได้’

นับเป็นข้อมูลและวิเคราะห์ตีความที่ทำให้สังคมไทยหันกลับมาทบทวนความรู้เดิมอีกครั้ง โดยเมื่อข้อมูลชุดล่าสุดนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปผ่าน ‘มติชนออนไลน์’ กลายเป็นกระแสแรงแซงทุกโค้งประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้ แม้มีทั้งคนเห็นพ้อง และคัดค้าน ทว่า แง่มุมน่าสนใจคือ ชาวโซเชียลไทยเปิดใจรับฟังข้อมูลใหม่ๆ ทั้งยังตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ

หนุนข้อสันนิษฐาน ‘พระศรีสรรเพชญ’ ไม่ได้ถูกไฟเผาลอกทอง

ไม่เพียงข้อมูลชุดนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทยในทุกหมู่เหล่า แต่ยังส่งผลย้อนหลังถึงปมร้อนเมื่อ 2 ปีก่อนหลัง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง นำเสนอแนวคิดอันลือลั่นในแวดวงวิชาการผ่านหนังสือ ‘พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก’ ว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือ ‘เศียรพระศรีสรรเพชญ์’ คัดง้างความเชื่อเดิมที่ว่า (เศียร) พระพุทธรูปสำคัญดังกล่าวถูกไฟเผาไหม้หลอมละลายไม่เหลือซาก คราวเสียกรุง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนักโบราณคดีเผยข้อมูลการไม่พบชั้นไฟไหม้ จึงยิ่งหนุนความเป็นไปได้ของ0ข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเจ้าตัวเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าจะเผาพระศรีสรรเพชญ์เพื่อหลอมทองจริง ต้องใช้อุณหภูมิสูงถึงพันกว่าองศา ผนังของ ‘วิหาร’ ที่ประดิษฐานองค์พระต้องมีแร่ ‘ซิลิกา’ ไหลเยิ้มเหมือนเตาเผาภาชนะดินเผา แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ระบุว่าเป็น ‘หนามตำใจ’ ตลอดมา

ย้อนอ่าน : เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก !

ส่วนประเด็นที่ว่า พม่าเผากรุงศรีอยุธยาจนวอดวายนั้น นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ บอก ‘เชื่อ’ ว่ามีการเผา แต่ย้ำว่า เป็นการเผาแค่บางจุดในเชิง ‘สัญลักษณ์’ เพื่อให้เสียขวัญเท่านั้น “ไม่เชื่อว่าจะเผาจนบ้านเมืองเหี้ยนเตียนไปหมด ไม่เชื่อว่าเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ด้วย เพราะหลักฐานมันไม่สอดคล้อง เช่น บันทึกฝรั่งในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน ระบุว่ามีไฟไหม้ก่อนพม่าเข้ามาถึงกรุงอีก” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังเคยขึ้นเวทีบรรยายในหัวข้อ ‘พม่าไม่ได้รบไทย ในประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า’ ซึ่งถูกบันทึกเทปเผยแพร่ทางออนไลน์จนมีผู้รับชมผ่านเว็บไซต์ ‘ยูทูบ’ มากกว่า 1 ล้าน 4 แสนครั้งเป็นอย่างน้อย

สุจิตต์ กล่าวหลายครั้งทั้งบนเวทีต่างๆ และงานเขียนตลอดเวลานับสิบๆ ปีว่า อยุธยาที่เห็นเหลือแต่ซากทุกวันนี้ เป็นฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีนกันเองทั้งนั้น แต่มัก ‘โยนบาป’ เหมาให้พม่าพวกเดียว ไฟไหม้ใหญ่ในพระนครศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตก 3-4 เดือน ไม่ใช่พม่าลอบเผา แต่คนในเมืองลักลอบเผากันเอง เพราะทัพอังวะล้อมกรุงอยู่นอกเมืองเป็นปกติ ยังตีไม่ได้อยุธยา จึงไม่มีส่วนเผาตลาดกลางเมืองอยุธยา

“สิ่งที่ทัพอังวะกระทำต่ออยุธยา มีในพระราชพงศาวดารฯ ได้แก่ ระเบิดเปิดทางกำแพงด้านหัวรอ และเมื่อเข้าเมืองได้ก็เผาปราสาทบางหลังในวังหลวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ แต่ไม่ได้เผาหมดเมือง

เมื่อตีได้แล้วยึดอยู่ไม่นานก็เกณฑ์เจ้านายไพร่พลอยุธยายกกลับอังวะในพม่าประเทศ โดยตั้งสุกี้พระนายกองควบคุมอยู่บ้านโพธิ์สามต้น (ทางเหนือออกนอกเมืองไปไกล) ไม่อยู่ในเมือง เพราะมีอันตราย จึงไม่มีช่องทางทำลายอยุธยา

“อยุธยาหลังทัพพม่ายกกลับแล้ว ถูกทำลายโดยคนพื้นเมืองหลายพวก ซึ่งมีไทยกับจีนอยู่ด้วย ขุดหาสมบัติขนานใหญ่และต่อเนื่องยาวนานถึงปัจจุบัน มีพยานเป็นเอกสารหลายเล่ม โดยเฉพาะบันทึกของชาวยุโรป หลังเสียกรุงราว 10 ปี ที่ไปพบเหตุการณ์จริงในอยุธยา ขณะนั้นไม่มีทหารจากทัพอังวะพม่าประเทศ หลังกรุงแตกอยุธยาถูกทำลายครั้งใหญ่ ไม่มีพม่าอังวะเกี่ยวข้องเลย” สุจิตต์ย้ำและยันสุดกำลัง

“สิ่งที่กล่าวต่อไปนี้อาจทำให้ท่านช็อก”

เอกสารจากปารีส พลิกประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้ว อย่างน้อยกว่า 30 ปี ปรากฏในบทความ ‘ใครทำลาย กรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)?’ โดย ดร. บี. เจ. เตรวิล ศูนย์ประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 11 (เดือนกันยายน) พ.ศ.2528

ความตอนหนึ่งว่า

“นักประวัติศาสตร์ส่วนมากจะลงความเห็นเดียวกันว่า เรื่องการเสียกรุงนั้นทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มต่างก็เห็นพ้องเช่นนั้น พม่าทำลาย เผาและขนเอาทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของไทยไปประเทศพม่าโดยไม่มีความเมตตากรุณาเลย รวมทั้งกวาดต้อนเอาคนไทยนับหมื่นไปเป็นเชลย เหลือแต่ซากเมืองหลวงที่ถูกทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ที่คนส่วนมากยอมรับเล่มหนึ่งกล่าวว่า พม่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง”

ดร. บี. เจ. เตรวิล ยังยกตัวอย่างข้อความในหนังสือแบบเรียนซึ่งระบุว่า

‘สำหรับผู้ชนะซึ่งมีแต่ความโลภ ปราศจากบุญ บาป ทำลายแม้แต่วัดวาอาราม แม้แต่ศาสนาของตนเอง พระพุทธรูปที่ใหญ่และสวยงามที่สุดได้ถูกทำลาย ตัด (เลื่อย) เป็นชิ้นๆ และเป็นจำนวนมากถูกเผาเอาทองซึ่งหุ้มองค์พระพุทธรูป มีแต่การแย่งชิงและขนเอาไปให้หมดแต่อย่างเดียว’

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิชาการท่านนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากจดหมายและเอกสารสำคัญต่างๆ จากแผนกจดหมายเหตุของ Missions Etrangres de Paris ฝรั่งเศส ได้พบข้อมูลที่เจ้าตัวระบุว่า อาจทำให้ (ผู้อ่าน) ‘ช็อก’

ดังนี้

“สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจจะทำให้ท่านแปลกใจ (Shock) ถ้าท่านเชื่อถือแบบผิวเผินว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายอะไรบ้าง แล้วไม่มีความสงสัยในข้อที่ว่าพม่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำลายกรุงศรีอยุธยาดังกล่าว

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2312 ชาวต่างประเทศคนแรกที่ไปกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงและได้ส่งคำพรรณนาถึงความยากจนของราษฎรทั่วๆ ไป รวมทั้งเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยส่งไปให้ผู้อ่านที่ฝรั่งเศส เขาได้กล่าวต่อไปว่า

‘คนไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ หันไปทำลายวัดวาอารามต่างๆ เขาเหล่านั้นได้ทำลายพระพุทธรูป เผา ตัดเป็นชิ้นๆ สำหรับพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงก็เอาไฟสุมหลอมเสีย ประตูหน้าต่างและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะเผาได้ก็เผาเสีย พระพุทธรูปนั้นให้ความเอื้ออารี แม้ว่าจะถูกคนงานตัดออกเป็นชิ้นๆ (พระพุทธรูปซึ่งคนเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้ถูกผู้ที่เคยนับถือตัดออกเป็นชิ้นๆ) ที่วัดประดู่มีการค้นพบทองและเงินถึง 5 โอ่ง และที่วัดโพธิ์ราย (พุไร) Phu-Rhai ได้ทองจากหอใหญ่ของวัดได้ทอง 3 ลำเรือ ข้าพเจ้าอยู่ที่ประเทศสยามแล้ว เมื่อคนจีนค้นพบ ข้าพเจ้าสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า แทบจะไม่มีเจดีย์องค์ไหนเลยในบริเวณเมืองหลวงและรอบๆ เมืองหลวงที่ไม่ถูกทำลาย คนจีนถือโอกาสทำลายเจดีย์อันสวยงามเหล่านี้ เพราะเขาจะไม่ต้องทำงานอื่น’

ผู้เขียนคนเดียวกันยังให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในจดหมายฉบับอื่นๆ ซึ่งเขียนในวันเดียวกันคือ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2312 2 ปีหลังจากที่พม่าหมดอำนาจในการควบคุมกรุงศรีอยุธยา เขาได้กล่าวว่าในปี พ.ศ.2311 และปี พ.ศ.2312 คนจีนและคนไทยไม่มีงานอะไร นอกจากทำลายพระพุทธรูปและวัดวาอารามสิ่งก่อสร้าง เหมือนกับว่าเป็นความขยันของคนจีนที่จะให้ประเทศชาติกลับคืนมาสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ถ้าปราศจากการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติแล้ว คงจะไม่มีเงินและความมั่นคงของประเทศชาติ”

จากนั้น นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ยกข้อความจากจดหมายของบาทหลวง ที่ว่า

‘เขาเอาดีบุก ทองแดง ทองเหลือง หลอมทำอาวุธไม่เหลือเลย ประตู หน้าต่าง เสาไม้ ซึ่งทำด้วยไม้ในวัดวาอาราม ได้ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงที่จะหลอมเอาโลหะดังกล่าว’

“ถ้าเราเชื่อข้อความของบาทหลวงนี้ การทำลายกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นผลของการกระทำดังกล่าวไม่ใช่โดยพม่า แต่โดยคนไทยและคนจีน 5 ท่าน ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นคล้อยด้วย อย่างไรก็ตาม บาทหลวงอาจจะมีความต้องการที่จะเปลี่ยนพุทธศาสนาของคนไทยเป็นคริสต์ศาสนา มันอาจจะเป็นไปได้ว่าการเขียนเรื่องรายงานไปยังศูนย์กลางศาสนา แม้ว่าเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ผู้อ่านชาวยุโรปเชื่อถึงความล้มเหลวของผู้นับถือศาสนาตะวันออก

ท่านผู้อ่านที่มีความสงสัยดังกล่าว ควรได้รับการยกย่อง เพราะว่าฝรั่งเองก็มักมีความคิดเห็นบิดเบือนอยู่บ่อยๆ แต่ว่าในกรณีนี้มีพยานที่เห็นเหตุการณ์เช่นเดียวกัน” ดร.บี.เจ. เตรวิลกล่าว

นอกจากนี้ ยังยกอีกหนึ่งหลักฐานจากบันทึกของDr.J.G Koening นักสังเกตการณ์และนักวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2321 ซึ่งระบุว่า

‘คนยังขุดค้นหาทรัพย์สมบัติ ซึ่งเชื่อกันว่ามีการซุกซ่อนในระหว่างสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ๆ วัดใหญ่ๆ และซากของพระราชวัง เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าสามารถเห็นรอยการขุดใหม่ๆ มีคนค้นพบบริเวณที่ซ่อนทรัพย์สมบัติและขุดได้ทรัพย์สมบัติที่ยังบรรจุอยู่ในที่ซ่อน’

“ในแง่ของ Dr.J.G Koening เป็นการแน่นอนว่าการทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเก่าอาจจะเกิดขึ้น เพราะการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติหลังจากพม่าถอนทัพกลับไปแล้ว อาจจะเป็นไปได้ที่มีคนที่จะฉวยโอกาสที่จะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเกรงกลัว เพราะอำนาจการปกครองหมดสิ้นไปแล้ว

จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานกล่าวว่าในปี 2309 เมื่อพม่าบุกล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารจีนที่ส่งจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อต่อสู้กับพม่าได้ไปที่มณฑปใหญ่ของพระพุทธบาทที่สระบุรีและทำลาย

อนึ่ง จีนค่ายคลองสวนพลู 400 เศษ ชวนกันขึ้นไปทำลายพระพุทธบาท เลิกเอาเงินดาดพื้น ทองหุ้มพระมณฑปน้อยลงสิ้น ครั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ จึงให้ว่าแก่นายด่าน ให้สืบเอาเงินทองของพระพุทธบาทส่งเข้ามา” ดร.บี.เจ. เตรวิลระบุ ก่อนปิดท้ายว่า ข้อเขียนของตน ไม่ได้มีเจตนาทำให้ใคร ‘ขายหน้า’ หรือ ‘สร้างข้อขัดแย้ง’

“การทำลาย การแย่งชิง การค้นหาทรัพย์สมบัติ ย่อมเป็นส่วนของการทำสงคราม แล้วก็การที่คนจีนและคนไทยอาจจะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมหาสมบัติ ซึ่งอาจจะไม่ด้อยหรือแย่ไปกว่าความโลภที่คนชาติอื่นเขาทำกัน ผู้เขียนถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบอกถึงความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ และความเป็นจริงจะไม่ทำอันตรายให้แก่ใคร ถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเต็มไปด้วยการรู้เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนเล็กน้อยในความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย…”

นี่คืออีกครั้งที่ประวัติศาสตร์ไทยถูกท้าทาย ไม่ใช่โดยใครที่ไหน แต่โดยข้อมูลและหลักฐานใหม่ๆ ที่ค่อยๆ ถูกขุดค้นจากใต้ผืนแผ่นดินนี้              

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0