โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โหมโรงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี

สยามรัฐ

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
โหมโรงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี

บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น)

สภาพโครงสร้างทางการเมืองไทย ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ต่างก็ผูกโยงใยอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ และประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest : COI) อุดมการณ์หายาก คน อปท.ยังไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้นัก ทั้งนี้เพื่อการ "อยู่ให้เป็น" เป็นคำกล่าวเชิงลบที่ต้องยอมรับในระดับหนึ่ง ขึ้นกับว่ากรอบความคิดของบุคคลคนนั้นยอมรับความเป็นจริงในสภาพความเป็นจริงได้เพียงใด คน อปท.กว่าครึ่งค่อนถึงร้อยละ 80 ที่อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว เพราะเชื่อว่าเป็นจุดแรกเริ่มของการกระจายอำนาจ แบบจับต้องได้ หรือที่เรียกว่า “กินได้” ส่วนหลักการปรัชญาแนวคิดต่าง ๆที่บรรดานักคิด นักวิชาการ รวมทั้งที่ฝ่ายอำนาจรัฐได้วางแผนไว้มันกินไม่ได้ มันไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน ชัดเจน เอาง่าย เมื่อใด “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” จึงจะสามารถตราให้เสร็จเรียบร้อย หรือ เมื่อใดจะมีกฎหมาย “จังหวัดจัดการตนเอง” หรือ เมื่อใดจะมี “สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ” หรือองค์กรใดๆก็แล้วแต่ที่เป็นองค์กรที่จับต้องได้ของท้องถิ่น ฯลฯ เหล่านี้ ไม่มีใครตอบได้ เพราะ ในส่วนของการกระจายอำนาจได้ลากยาวมาแต่ปี พ.ศ. 2543 นับเวลาได้ 20 ปี (หลังจาก พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542) ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่างเว้นมายาวนานกว่า 6 ปีเต็ม นับจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดในปี 2557 เป็นต้นมา แต่อย่าลืมว่า อปท. ที่ครบวาระตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ก็จะไม่มีการเลือกตั้งเช่นกัน ก็หมายความว่า อปท. นั้นได้ว่างเว้นการเลือกตั้งนับย้อนจากปี พ.ศ. 2557 ไปอีก 3 ปีนับถึงปัจจุบัน เท่ากับ 6 + 3 ปี รวมเป็น 9 ปี หมายความว่า 8 ปีเต็มๆ ไม่ขาด

สำรวจความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น

(1) การตั้งงบประมาณเพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือที่เรียกย่อว่า “การเลือกตั้ง สถ.ผถ.” หรือ “การเลือกตั้ง อปท.” ก็แล้วแต่ความถนัดปาก การเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง อปท. ดังกล่าว ซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดเวลามานานร่วม 2 ปีนับแต่ปี 2561 ครั้งล่าสุด ก็เพิ่งสำรวจงบประมาณเพื่อเตรียมการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ตอนนี้ ณ เวลานี้ เดือน มิถุนายน 2563 ที่เหลือเวลาอีก 4 เดือนก็จะสิ้นงบประมาณปี 2563 ก็ยังสำรวจงบประมาณอยู่อีก ไม่ทราบว่าสำรวจแล้วจะเอาไปmeอะไร เพราะมันซ้ำซ้อนซ้ำซาก สถ. ขยันเกินเช็กงบประมาณเลือกตั้ง รายงานแล้วรายงานอีก

(2) ฝั่ง กกต. ก็โปรยยาหอมให้ข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กกต. เตรียมพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นเกือบเสร็จทั้งหมดแล้ว ทั้ง อบจ. กทม. เมืองพัทยา แบ่งเขตเสร็จแล้ว ส่วนเทศบาลกำลังพิจารณา ขอให้ประชาชนอดใจรออีกนิด ซึ่งข่าวนี้น่าจะสอดคล้องกับข่าวเมื่อปีที่แล้วที่ คาดว่าเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2563 โดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ได้เชิญภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตัวแทน กกต. มาชี้แจงสาเหตุความล่าช้าของ พรบ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งจะผ่านการพิจารณาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และได้สอบถามความคืบหน้าของการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การออกระเบียบของ กกต.คาดว่าแล้วเสร็จในเดือน ธันวาคม 2562 การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องจัดให้เกิดขึ้นภายใน 120 วัน โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นเป็นอย่างแรก โดยพล.อ.อนุพงษ์ สรุปคร่าว ๆ ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือน กรกฎาคม 2563

(3) ในกรณีสมาชิกภาพของ สถ.ผถ.หมดวาระตามปกติกฎหมายจะใช้เวลาในการเลือกตั้งเพียงภายใน 45 วันนับแต่ตำแหน่งว่าง ที่ กกต.สามารถเตรียมความพร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นได้ทัน แต่ในยุค คสช.รวมทั้ง รัฐบาล ปัจจุบัน กกต.ต้องใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี ดังกล่าวข้างต้น ก็ยังทำความพร้อมในการจัดเลือกตั้งให้แก่ อปท.ไม่ได้ มีเพียง การเลือกตั้ง ส.ส. ในระดับชาติเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ถือว่า กกต. ว่างเว้นงานในหน้าที่มาอย่างยาวนานมาก บุคลากร กกต. ก็ยังอยู่รับเงินเดือนค่าตอบแทนเต็มเรื่อยมา ไม่ทราบว่าได้พัฒนาองค์ความรู้ใดเพิ่มเติมหรือไม่ คืออยู่เฉย ที่สำคัญในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถือเป็นงานในหน้าที่ของ กกต.นั้น อปท.ก็ดำเนินการเองทั้งสิ้น รวมทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งด้วย กกต.เพียงทำหน้าที่เสนอ ครม.ประกาศให้จัดเลือกตั้งตามกฎหมายเท่านั้น

(4) แซวกันว่า 8 ปีหีบเลือกตั้งขึ้นสนิมหมด กกต.ยื้อดึงเวลาไปเรื่อยๆ แต่ กกต. ก็ยังอ้างรัฐบาลไม่ไฟเขียว ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่และอำนาจโดยกฎหมาย ทำเอาท้องถิ่นที่จัดประชุมอบรมเตรียมการเลือกตั้งมาหลายรอบ เบิกเบี้ยประชุมจนงบหมดไปเยอะแล้ว คน อปท.คิดไม่ออก บอกไม่ถูก ได้แต่นั่งบ่น นั่งนึก นั่งเทียนกันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่า หากรัฐบาลชนะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่จังหวัดลำปางก็อาจมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเร็วขึ้น หากฝ่ายรัฐบาล(รวมแนวร่วม) แพ้ ก็คงรออีกนาน เพราะรัฐบาลหวังสร้างฐานความนิยมจากท้องถิ่นไม่สำเร็จ (ไม่เสร็จ) จะว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของ กกต. หรือรัฐบาลก็ใช่ แต่ใครจะเป็นผู้ร้องเรียนกล่าวโทษ

(5) ปัญหาต่าง ๆ ยังมีมาเป็นกระสาย อ้างไป ประเด็นว่า มท. เห็นด้วยสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ยื่นขอแก้ไขกฎหมายเทศบาล เพื่อให้คงมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขตเทศบาลเมืองต่อไป ก็คือประเด็น ประเด็นข่าว กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ก็สำคัญ ถามว่า กกต.จะเสนอให้ ครม.เลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อใด เป็นคำถามที่คน อปท. เฝ้ารอมานาน 2 ปีแล้ว ที่ผ่าน ๆ มาเดิม กกต.ว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ กกต.ที่จะเสนอ ครม.เรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เป็นหน้าที่ ครม.ที่จะกำหนดเอง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นนี้เมื่อต้นปี 2563 กมธ.การกระจายอำนาจฯ สภาผู้แทนฯ เคยเรียกทั้ง กกต.และ มท.มาสอบถามชี้แจง ได้สรุปว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องเสนอ ครม. แต่เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาล กกต. ก็ไปไม่เป็น คน อปท. ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงจริง ๆ ว่าเหตุใดการเลือกตั้งท้องถิ่นถึงได้ลากยาวได้ขนาดนี้ตั้ง 8 ปี ทั้งที่ท้องถิ่นเองก็ตั้งงบสำหรับการเลือกตั้งเอง รายละเอียดปลีกย่อยก็ดำเนินการเองเกือบ 100% กกต. เพียงดำเนินการเป็นเจ้าภาพตามกฎหมายเท่านั้น เหมือนว่ามีเหตุปัจจัยอื่นซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในส่วนที่คน อปท.ไม่เข้าใจว่ามีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่

(6) ความจริงมีว่า “ตราบใดที่คน อปท. ไม่เชื่อศรัทธาในการเลือกตั้ง ตราบนั้นคน อปท.ก็ไม่มีวันเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ดี” ท้องถิ่นจ่ายค่าอบรมบุคลากร ไปกว่า 2-3 ร้อยล้านแล้ว ต้องไม่มีการโกหกแน่นอนยกตัวอย่างเช่น กกต. บอกเป็นหน้าที่ ครม. ครม.บอกเป็นหน้าที่ มท. มท.บอกให้รองบประมาณ เมื่องบประมาณผ่าน บอกให้รอโควิดจบก่อน เมื่อโควิดหาย บอกมีปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ล่าสุดมีข่าวว่า กกต. ทักท้วงว่า กกต. ท้องถิ่นบางรายอายุแก่เกิน 70 ปี เกรงว่าจะทำงานลำบาก (ไม่ได้) ทั้ง ๆ ที่การพิจารณาคัดเลือก กกต. ท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ได้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว โดย อปท. ส่งข้อมูลให้ กกต. ทั้งอายุ ที่อยู่ ความสามารถ ประสบการณ์ อย่างนี้จะให้คน อปท.เข้าใจว่าอย่างไร

ฝันเฟื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจท้องถิ่น

(1) มีข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจโดยคณะกรรมการปฏิรูป 2554 "การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น จะต้องไม่ใช่การสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่น ต่าง ๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง หากจะต้องเป็นเนื้อเดียวกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวม” มีแนวคิดข้อเสนอการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ในรูปแบบ "จังหวัดจัดการตนเอง" ได้ถูกปลุกขึ้นมาใน กมธ.สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหลังจากได้หายไป 6 ปี นับว่าเป็นประเด็นรุกของฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่จะชิงความได้เปรียบในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “สนามเล็ก” แม้มีเสียงก่นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทิศทางการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจไม่คืบหน้าก็ตาม

(2) ลองฝากแง่คิดกระจายอำนาจในภารกิจ อปท. อาทิ การกำหนดให้งบประมาณเป็นสวัสดิการที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น สนามกีฬา (ที่วิ่งที่ประหยัดสุดๆ) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนตาย คนพิการ ให้ทุนการศึกษา แก้ปัญหาเด็กสำคัญมากๆ พัฒนาคนในพื้นที่ให้ทำดีแล้วได้ดี พัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ป่าในท้องถิ่นต้องไม่ต่ำกว่าเท่าใด ถ้ากำหนดไว้แล้วว่าต้องทำอะไร ก็ต้องทำ ประกาศให้คนท้องถิ่นรับทราบว่า หน่วยงานท้องถิ่นต้องทำอะไรบ้าง อะไรที่ยังไม่ทำ ก็ประกาศไว้ ใครจะเข้ามาบริหาร แล้วไม่ทำ ก็ประกาศไว้ เป็นต้น

(3) ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วได้คนเดิม ๆ เพราะ ส่วนใหญ่เลือกได้นอมินีของชุดเดิมที่รักษาผลประโยชน์ ปัญหาคือ “การมองโลกท้องถิ่นสวยงาม” หรือ “การมองด้านเดียวไม่มองหลายๆมิติ” ในมุมมองว่า พัฒนาการการเมืองท้องถิ่นไม่ก้าวไปไหน เพราะส่วนกลางไม่จริงใจ แถมเจอระบบพวกมากลากไป ด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นไร้จุดยืน เสียศูนย์ คนที่อยู่ได้ก็คือนักการเมืองคนเก่าๆ เพราะชินแล้ว ปรากฏการณ์แบบนี้พบเห็นทั่วไปในชนบทบ้านนอก แต่ในเมือง พักหลังมีการล้มช้างบ้าง เพราะบริบทคนเมือง กับคนชนบทบ้านนอกมีหลายเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น ลองสังเกตอาชีพเดิมของนักการเมืองชนบท (บ้านนอก) กับนักการเมืองในเขตเมืองปริมณฑลจะต่างกัน เพราะในเขตเมืองเขตปริมณฑลคนอาสามาทำงานการเมืองท้องถิ่นที่อยู่ในวัยแรงงาน (25-55 หรือ 60 ปี) จะหายาก เพราะเขาจะไปทำงานเอกชนอื่นๆ จนเกษียณหรือจนพอมีเงิน เขาจึงไม่สนใจการเมืองท้องถิ่นนัก คนที่อาสามาทำงานท้องถิ่นคือ คนที่มีพ่อแม่เป็นนักการเมือง หรือพวกคนเกษียณงานแล้ว ส่วนคนเป็นนักธุรกิจจริงๆ เขาก็มัวไปทำธุรกิจของตัว ไม่สนใจมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น

มหากาพย์การดองเค็มการเลือกตั้งท้องถิ่น 8 ปี

(1) ในช่วงแรก คสช. ในปี 2557 ไม่ทราบว่ามีใครเสนอแนวคิดให้มีการสรรหา สมาชิกสภา อปท. ครั้งแรกไม่ได้สรรหานายก แต่ให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่นายก แต่มีการสรรหาสมาชิกสภา (ส.อปท.) ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการระดับซี 8 หรืออดีตข้าราชการ แต่มาทำงานได้ 3-4 เดือน ก็ล้มเข้าใจว่ามีแรงกดดันจากกลุ่มอดีตนายก และอดีตสมาชิกสภาเดิม หรือความไม่พอใจของคน "รักดีที่หวังดี แต่ประสงค์ร้าย" เช่น กลุ่มหมาเฝ้าบ้าน หรือฝ่ายต่อต้านระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ ที่ทนเห็นการเล่นปาหี่โดยการตั้งพวกพ้องเข้ามาทำงานสภา อปท. ไม่ได้ ที่บางรายอาจไม่ชินต่อบริบทท้องถิ่นเดิม ๆ ที่มีมาก เรียกว่าไม่ค่อยมีความรู้ หรืออาจรู้มากเกิน ทำให้ คสช. เปลี่ยนกลับลำใหม่ ให้เอาสมาชิกสภาฯเก่าที่หมดวาระไปแล้วกลับมาทำงานต่อแบบไม่มีวาระ แถมยังลากเอานายก อปท.ที่หมดวาระเอามาต่ออายุแบบไม่มีวาระอีกเช่นกัน

(2) ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ต้องกล่าวถึง ที่มีการวิตกจากผู้รู้ว่า การว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่นมานานถึง 8 ปี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ กกต. ที่เชี่ยวชาญเริ่มทยอยเกษียณไปกันหลายคน และรวมปลัด อปท. ด้วย ส่วนปลัด อปท.รุ่นใหม่ ที่มาใหม่ในช่วง 8 ปีนี้จะทำการเลือกตั้งไม่ถนัด เพราะปลัด อปท.บางคนยังไม่เคยเป็น ผอ.กต.ท้องถิ่นมาก่อนเลย เพราะการเลือกตั้งมีแท็กติกปัญหาในรายละเอียดมากมาย คงไม่ใช่การดูผิดแต่อาจดูถูกต่างหาก นี่คือความวิตกกังวล

(3) ข้อพึงระวังเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น จะเริ่มคิดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งเมื่อไรกันแน่ เหมือน ส.ส.หรือไม่ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 ข้อ 6 บัญญัติให้ การหาเสียงเลือกตั้งยังไม่คิดค่าใช้จ่าย จะเริ่มและนับแต่วันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง ฉะนั้น การโกยคะแนนหาเสียงของนักเลือกตั้งท้องถิ่น โดยการบริจาคเงินตนเองช่วยเหลือสาธารณภัยหรือโควิด จึงไม่นับ

ถึงเวลาปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วหรือยัง เฮ้อ!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0