โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โสดเลือกได้ : เรื่องของ ผู้หญิงโสด

Johjai Online

อัพเดต 16 ธ.ค. 2562 เวลา 09.21 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
โสดเลือกได้ : เรื่องของ ผู้หญิงโสด
ยุคที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ชายอีกต่อไป ผู้หญิงเลือกที่จะใช้ชีวิต “โสดเลือกได้”   

”การเป็นโสด เคยหมายความว่าไม่มีใครต้องการคุณ แต่เดี๋ยวนี้ การเป็นโสด หมายถึงคุณเป็นคน sexy มากก จนสามารถใช้เวลานานๆเพื่อเลือกว่า เอ..ฉันจะใช้ชีวิตกับคนไหนดีน้า..”
Carrie Bradshaw (Sarah Jessica Parker) ใน Sex and the City
 
เป็นที่รู้ว่า ค่านิยมของสังคมแบบดั้งเดิมมองผู้หญิงโสดไปในทางลบอย่างที่เรียกว่า “ขึ้นคาน” จนทำให้ผู้หญิงพยายามหาแฟนเพื่อจะได้แต่งงาน เพราะถือรูปแบบชีวิต by default ที่พึงจะมี จนบางคนมองว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนอายุเยอะแล้ว และยังไม่มีแฟนหรือไม่ได้แต่งงาน ถือเป็นเรื่องผิดปกติ
 
แต่ค่านิยมแบบจารีตนี้ ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในสังคมไทย สถิติเก่าปี 2011 บอกว่า ผู้หญิงโสดและมีอายุ 40-44  มีถึง 20 % ในโตเกียวมี 21% ในสิงค์โปร์มีถึง 27% ซึ่งแน่นอนว่าสัดส่วนในปัจจุบันย่อมสูงกว่านี้อีก ส่วนในผู้หญิงไทยอายุ 40 กว่าที่จบการศึกษาอย่างน้อยผ่านมัธยมนั้น 1 ใน 8 เป็นโสด และถ้านับจากจบปริญญาตรีพบว่า 1 ใน 5 เป็นโสด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูง
 
บางคนอาจแย้งว่า ที่จริงแล้วสมัยนี้คนไม่แต่งงาน แต่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้ถูกนับ ก็เลยทำให้สถิติออกมาเป็นแบบนี้ แต่ความจริงปรากฏว่า ในเอเชีย คนที่ไม่แต่งงานแต่อยู่ด้วยกันมีสัดส่วนที่น้อยมากๆ จนถ้าไม่ได้นับก็ไม่ให้ผลต่างกันนัก  อย่างเช่น 1-7% ของผู้หญิงญี่ปุ่นอยู่กับแฟนโดยไม่ได้แต่งงาน ต่างจากตะวันตก ที่ 40% ของคนสวีเดน หรือ 50% ของคนอเมริกันอายุ 18-49 อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน หรือที่เรียกว่า cohabitation
 
อีกทั้งเมื่อเทียบกับสถิติรวมเปรียบเทียบกันแล้ว คนเอเชียนิยมเป็นโสดมากกว่า อย่างเช่น คนโสดอายุ 30-39 ในไต้หวันมีถึง 21% ในขณะที่คนอังกฤษและคนอเมริกันในอายุเดียวกัน มีเพียงแค่ 13-15% เท่านั้น
 
สรุปคือ สำหรับคนเอเชียแล้ว ผู้หญิงโสดมีมากจริง และเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง แต่ทำไมเป็นถึงเป็นเช่นนั้น?
 
ที่น่าประหลาดยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ความเป็นโสดของผู้หญิงเอเชียที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี้ เกิดขึ้นทั้งๆที่จำนวนผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายเสียด้วย
 
แนวโน้มนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ในจีนและอินเดีย คาดว่าในปี 2050 จะมีผู้ชายล้นเกินผู้หญิงในวัยแต่งงานถึง 60 ล้านคน ซึ่ง ”ผู้ชายส่วนเกิน” นี้มีจำนวนพอๆกับประชากรประเทศไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว
 
เพราะถ้าจะว่าตามหลักของการ match demand-supply แล้ว ในเมื่อผู้หญิงน้อยกว่า ผู้หญิงก็ย่อมจะเป็นที่ต้องการมากเพราะมีจำนวนจำกัด ทำให้สามารถ “เล่นตัว” หรือในทางเศรษฐ์ศาสตร์ก็คือ “ตั้งราคาตนเอง” ไว้สูงได้ แถมสามารถเลือกผู้ชายที่ถูกใจได้ง่ายอีก เพราะมีให้เลือกเยอะ เรียกได้ว่าในตลาดหาคู่นั้น ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองมากกว่า ดังนั้น จำนวนผู้หญิงโสดจึงไม่น่าจะมาก และควรจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆด้วยซ้ำ
เพราะในที่สุดน่าจะเลือกใครสักคนได้
 
แต่ปรากฏว่า ความจริงกลับเป็นตรงกันข้าม
 
สาเหตุคือ สำหรับผู้หญิงที่ถูกเรียกอย่างล้อเลียนว่า “ขึ้นคาน” นั้น ที่จริงแล้ว ตั้งใจสมัครใจ “สร้างคาน” ให้ตนเองมากกว่า นั่นคือ ไม่ใช่ว่าไม่มีใครมาสนใจ แต่เป็นเพราะ ไม่สนใจใครต่างหาก หรือ “ยังไม่มีผู้ชายถูกใจ” นั่นเอง
 
มีงานศึกษาที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับความต้องการแฟนของผู้หญิงในสหรัฐ ของ Lichter และทีมงาน โดยใช้ข้อมูลจาก American Community Survey (2008-12, 2013-17) เปรียบเทียบระหว่าง ผู้ชายที่แต่งงานแล้ว กับ ผู้ชายที่ยังเป็นโสด เพื่อที่จะดูว่า ที่ผู้หญิงโสดบ่นเสมอๆว่า “ผู้ชายถูกใจไม่มี”  นั้น เป็นจริงแค่ไหน
 
Litchter และทีมงาน เอา profile ของผู้ชายที่แต่งงานแล้ว (คือ confirm ว่ามีผู้หญิง say yes แล้ว) มาเปรียบเทียบกับ ผู้ชายที่ผู้หญิงโสดสนใจอยู่ (แต่ยังไม่ say yes) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มตาม demographic,อายุ, การศึกษา, เชื้อชาติ, รายได้ เพื่อจะได้เปรียบเทียบกันอย่างแฟร์ๆ
 
ผลปรากฏว่า คุณสมบัติของผู้ชายในอุดมคติที่ผู้หญิงโสดต้องการนั้น สูงกว่าผู้ชายที่มีอยู่จริงอย่างค่อนข้างมาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ผู้ชายที่ถูกใจนั้นไม่มี” อย่างเช่น ผู้ชายที่ถูกใจนั้น ต้องมีรายได้มากกว่าผู้ชายที่อยู่ในมือของผู้หญิงถึง 55% หรือมีการศึกษาสูงกว่า 18%  และมีคุณสมบัติอื่นๆที่จะต้องดีกว่าผู้ชายที่ห้อมล้อมตัวอยู่ 
 
งานศึกษานี้จึงตอบคำถามว่า “ทำไมผู้หญิงถึงยังเป็นโสดทั้งที่มีผู้ชายล้นโลกให้เลือก?” ว่าเป็นเพราะ ผู้หญิงยุคนี้ เลือกมาก พิถีพิถันมาก มาตราฐานสูง นั่นเอง
 
งานวิจัยนี้ทำในสหรัฐ ถ้ามาทำการศึกษาทำนองนี้ในเอเชียอาจได้ผลต่างไปในรายละเอียด เช่น คุณสมบัติของผู้ชายในอุดมคติอาจแตกต่างไป แต่คาดว่าข้อสรุปหลักคือ “ผู้หญิงเป็นโสดเพราะเลือกมาก” ยังน่าจะใช้ได้อยู่
 
แถมอาจยิ่งหนักกว่าอีก เพราะนิตยสาร The Economist มีความเห็นว่าว่า เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่มานานแล้วว่า ผู้หญิงเอเชียจะ “marry up” คือแต่งงานกับผู้ชายที่ “เหนือกว่า” เนื่องจากในอดีตผู้หญิงไม่ได้มีการศึกษามากเท่าผู้ชาย ไม่ได้มีสิทธิหรืออำนาจและสถานภาพทางสังคมเทียบเท่า จึงต้องพึ่งพาผู้ชายที่มีสถานภาพสูงกว่าเพื่อเป็นหลักในชีวิต
 
ในปัจจุบัน ถึงแม้ผู้หญิงไม่ได้มีปัญหาเหล่านั้นเท่าใดแล้ว แต่ความต้องการ marry up ยังคงมีเช่นเดิม และนั่นทำให้ คุณสมบัติของผู้ชายที่ต้องการ หายากหนักขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นการอธิบายต่อว่า ทำไมผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง ยิ่งหาแฟนยาก อย่างเช่น ในสิงค์โปร์ 33% ของผู้หญิงอายุ 30-34 ที่จบมหาวิทยาลัยเป็นโสด
 
ความ “โสดเลือกได้” ของผู้หญิงโสดยังรวมถึงความต้องการด้าน life style อีกด้วย มีการ survey ความเห็นคนแต่งงานแล้ว พบว่า ถ้าเป็นในอเมริกา ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีทัศนะในการแต่งงานไม่แตกต่างกันกัน แต่ในเอเชียมี gap ของทัศนะระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอย่างชัดเจน อย่างเช่นญี่ปุ่นใน มีเพียงผู้หญิง 2 ใน 3 เท่านั้นที่บอกว่าแต่งงานแล้วชีวิตโอเค ในขณะที่ผู้ชายเกือบทั้งหมดบอกว่าชอบชีวิตแต่งงาน 
 
นั่นหมายความว่า ชีวิตแต่งงานในเอเชีย อาจไม่ได้นำความสุขมาสู่ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย เช่น ในแต่ละสัปดาห์ ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงาน 40 ชั่วโมงที่ office แล้วต้องมาทำงานบ้านต่ออีก 30 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ชายทำงานบ้านเพียงแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อบวกกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมของเอเชียที่อาจหลงเหลืออยู่ในบางสังคมและบางครอบครัว ว่าด้วยหน้าที่ของ “ภรรยาที่ดี” ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะเป็นโสดมากกว่า
 

นอกจากสภาพสังคมแล้ว ในธรรมชาติของผู้หญิงเอง ก็ถูกสร้างมาให้มีความสามารถที่จะอยู่คนเดียวได้ดีกว่าผู้ชาย
 
มีงานศึกษาที่ลงใน Journal of Population Resarch โดย Liu และทีมงาน ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1996-2010 กับคน 6,675 คนที่ใช้ชีวิตคนเดียว พบว่าอีก 6 ปีต่อมา คนที่ยังอยู่คนเดียวส่วนใหญ่คือผู้หญิง และอยู่อย่างมีความสุขเสียด้วย อีกงานวิจัยที่เยอรมันโดย Hagemeyer และทีมงาน ศึกษาเนื้อหาในสมุดบันทึก diary ของคนที่กำลังมีแฟนแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน พบว่า ผู้หญิงมีความพอใจชีวิตแบบนี้มากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่ยังบ่นอีกว่า จริงๆแล้ว น่าจะมีเวลาอยู่คนเดียวมากกว่านี้ จะได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำได้มากขึ้น
 
Hagemeyer ยังพบอีกว่า ผู้หญิงนี่เอง มักเป็นฝ่ายเสนอให้ใช้ชีวิตคู่แบบ “LAT” หรือ living alone together อันเป็นรูปแบบใหม่ของชีวิตคู่ที่กำลังมาแรง นั่นคือ เป็นแฟนกันแต่อยู่คนละที่ เพื่อที่แต่ละคนจะได้มี space มีเวลาส่วนตัว และไม่เหนื่อยล้าเบื่อหน่ายจากการตัวติดกัน 
 
ความสามารถในการอยู่คนเดียวของผู้หญิงยิ่งเห็นชัดเมื่ออายุมากขึ้น ใน Pew Research Survey ที่ทำกับคนอายุเลย 65 และอยู่คนเดียว พบว่า ผู้หญิง 71% บอกว่าอยู่คนเดียวได้และมีชีวิตที่ดี แต่ผู้ชายบอกว่าโอเคแค่ 48% ส่วนในเรื่องกิจกรรม ผู้หญิง 65% บอกว่า ชอบทำกิจกรรมด้วยตัวคนเดียวมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายเพียง 49% มีความเห็นเช่นนั้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือแฟน 73% ของผู้ชายบอกว่าอยากทำทันที  สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายอยู่คนเดียวไม่ค่อยได้
 
ทั้งหมดนี้ชี้ว่า ชีวิตโสดของผู้หญิงที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย มาจากธรรมชาติส่วนลึกของผู้หญิงเอง ซึ่งในอดีตไม่ได้มีโอกาสแสดงออก เพราะสังคมกำหนดให้ต้องพึ่งพาผู้ชาย จนกระทั่งในยุคที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ชายอีกต่อไป ผู้หญิงถึงเลือกที่จะใช้ชีวิต “โสดเลือกได้” อย่างอิสระ มากขึ้นเรื่อยๆ
 
และดูจะเป็นเทรนด์ที่หยุดไม่ได้เสียด้วย 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0