โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (4)

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 11.30 น.
โลก
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง penseeppp@gmail.com

เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (4)

 

เดิมทีผู้เขียนคิดว่ามุมมองของแหม่มแอนนาที่เกี่ยวกับ “ฮาเร็ม” ของคิงมงกุฎเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าจะได้พูดถึง

แต่เมื่อมาคิดดูอีกทีก็อาจจะเป็นเรื่อง “ไม่มีอะไรในกอไผ่” เพราะโบราณราชประเพณีนี้ได้ถูกส่งต่อกันมาในราชสำนัก มีการสะดุดหยุดไปบ้างแล้วแต่กรณี

เช่นเดียวกับการหมอบกราบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกเพื่อให้สยามได้เทียมทันอารยประเทศ แต่ก็ยังคงมีอยู่แล้วแต่พระราชอัธยาศัยของแต่ละพระองค์

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 จากข้อเขียนของแอนนา เลียวโนเวนส์ ในหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ที่แปลโดยสุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ ก็คือพระนิสัยและพระปรีชาของคิงมงกุฎในการรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่ชาวต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์มา

ดูเหมือนว่าในยุคนั้นหนังสือพิมพ์ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ จะหมั่นวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์แห่งสยามอยู่ไม่น้อย

เรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ที่ต้องรับมือบ่อยที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องกษัตริย์มีภรรยาหลายคน

 

แม้แต่ตัวแหม่มแอนนาเองก็ยังแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจกับสถานะของสตรีในวัง ความเป็นอยู่ของพวกเธอ เป็นสิ่งที่เห็นและรู้สึกจากมุมมองของสตรีตะวันตกที่ก้าวไปไกลแล้วในทางสังคม

แอนนามิได้มีความคิดเห็นเรื่องระบอบการปกครองของไทย แต่จะเอ่ยถึงความเป็นไปของฝ่ายในด้วยการใช้คำว่า ฮาเร็ม ตลอดเวลา แน่นอนเป็นคำที่ผู้อ่านอาจระคายเคือง

แต่นั่นคือสิ่งที่นางได้เห็น และสรุปเอาจากสิ่งที่เป็นไป

ในขณะที่การแต่งงานของกษัตริย์อาจมีเหตุผลทางการเมือง รัฐศาสตร์ หรือแม้แต่การปกครอง แต่นั่นเป็นสิ่งที่แหม่มแอนนาไม่รับรู้

คิงมงกุฎมิได้ปล่อยให้พระองค์เป็นฝ่าย “ตั้งรับ” คำวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเดียว

พระองค์ก็ทรงปากคมแขวะพวกตะวันตกอยู่บ่อยๆ

คราวหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับที่ 25 ลงข่าวซุบซิบว่า “เมื่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ยุโรปบางฉบับว่า เมื่อเร็วๆ นี้พระสันตะปาปาทรงสูญเสียอัญมณีมีค่า ซึ่งเป็นผลจากการที่กุญแจของพระองค์ถูกโจรกรรมไป”

พระองค์ก็ทรงอุทานขึ้นมาว่า “คนอะไรไหนอ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์กุญแจแห่งสรวงสวรรค์ แต่กุญแจของตัวเองยังรักษาไว้ไม่ได้เลย!”

ซึ่งเมื่อข้อความนี้ปรากฏในบางกอกรีคอร์เดอร์ พระองค์กลับปฏิเสธเพราะคิดว่าการปฏิเสธอย่างเป็นทางการไปจะฉลาดกว่า

และนี่คือการส่งสารทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงชาวต่างชาติทุกคนในพระนครโดยเฉพาะพวกบาทหลวงฝรั่งเศส

 

แหม่มแอนนาเขียนไว้ว่า วิธีที่กษัตริย์รับมือกับข้อกล่าวหา (ซึ่งไม่เป็นธรรมเสมอไป) และข้อเสนอแนะ (ซึ่งไม่ตรงประเด็นเสมอไป) ของหนังสือพิมพ์ซึ่งมักพุ่งเป้าไปยังการบริหารบ้านเมืองของพระองค์ หรือระเบียบปฏิบัติและวินัยภายในครัวเรือนของพระองค์ช่างมีสีสัน เพราะทรงตอบโต้อย่างหลักแหลมแถมยังเสียดสีกลับอีกด้วย

เช่น เมื่อบางกอกรีคอร์เดอร์เสนอแนะให้พระองค์ทรงยกเลิกฮาเร็มและธรรมเนียมการมีภรรยาหลายคนในราชสำนัก พระองค์ทรงโต้แย้งด้วยวาจากับบรรณาธิการโดยอ้างว่า เมื่อใดที่บางกอกรีคอร์เดอร์ชักนำพวกเจ้านายและขุนนางให้เลิกนำลูกสาวมาถวายตัวเป็นสนมของพระเจ้าแผ่นดินได้ เมื่อนั้นพระเจ้าแผ่นดินคงจะไม่ต้องรับสตรีเข้ามาเป็นฝ่ายใน

ความเป็นผู้คงแก่เรียนของคิงมงกุฎผู้ซึ่งถ้าสนพระทัยเรื่องใดแล้วก็จะศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังจนถึงที่สุด แม้แต่เรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ บางครั้งสร้างความหงุดหงิดให้บรรดามิชชันนารีอเมริกันเจ้าของภาษาว่าพระองค์ช่างสั่งช่างสอน

ครั้งหนึ่งพวกฝรั่งเขียนชื่อเมืองเพชรบูรณ์ในภาษาอังกฤษว่าพริบพรี (Prippri) พระองค์ก็แก้ให้เป็น P’et cha poory แทน

ความเป็นนักนิรุกติศาสตร์ยังทำให้ทรงล้อเลียนพวกฝรั่งเวลาที่สะกดชื่ออย่างลอนดอน โดยทรงเปรียบว่า หากสะกดชื่อเมืองเพชรบุรีว่า prippri ก็น่าจะเขียนว่า ลันดั้น มากกว่า ลอนดอน

ความทรงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่รายละเอียดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบต่อกันมาจากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ เช่น พิธีบรมราชาภิเษกซึ่งสามารถอ่านเปรียบเทียบคู่กันไปกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 10 และพิธีโสกันต์ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว

 

ที่ได้บรรยายไว้อย่างเห็นเป็นภาพชัดเจนอีกเรื่องเป็นเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของคิงมงกุฎเท่านั้น ไม่มีในรัชกาลอื่นคือการชมสุริยุปราคาที่หว้ากอ ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรจะหาอ่านอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนให้เห็นภารกิจของกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ต้องใช้พระปรีชาอันชาญฉลาดนำพาประเทศให้ก้าวเดินสู่ความทันสมัยด้วยศักดิ์ศรี บนสถานะที่โดดเดี่ยว ส่วนใหญ่แล้วจากเอกสารบันทึกของบ้านเมืองเราจะพบได้แต่ผลงานของกษัตริย์แต่ละพระองค์ทั้งในเรื่องกิจการภายในและภายนอก โดยไม่อาจเห็นลึกไปถึงลักษณะนิสัยของพระองค์ สิ่งนี้เป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่พูดถึงกัน

แหม่มแอนนาทำให้เราได้เห็นพระอุปนิสัย อย่างที่ฝรั่งเรียกว่าแคแร็กเตอร์ของคิงมงกุฎ ที่สะท้อนออกมาจากการที่พระองค์ปฏิบัติต่อครอบครัวใหญ่ของพระองค์ที่แหม่มแอนนาเรียกว่า ฮาเร็ม

“มีเหตุสยดสยองเกิดขึ้นในฮาเร็มของพระองค์อยู่หลายครั้งซึ่งแสดงถึงความ…XX และเป็นเผด็จการของพระองค์ เห็นได้ชัดว่าความประพฤติของพระองค์ในฐานะหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ที่ซึ่งพระประสงค์ของพระองค์ถือเป็นกฎหมายแห่งความหวาดกลัวได้สร้างความมัวหมอง XXX ทว่าอีกด้านหนึ่งพระองค์กลับแสดงความรักอย่างอ่อนโยนต่อลูกๆ ที่พระองค์โปรดแม่ของพวกเขา ไม่เคยปฏิเสธหรือมองข้ามพวกเขาโดยเฉพาะกับเจ้าฟ้าหญิงองค์น้อยซึ่งพระมารดาเป็นมเหสีผู้อ่อนโยนและจงรักภักดี”

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงบทสุดท้ายในชีวิตของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่งของสยาม เป็นวาระสุดท้ายของกษัตริย์นักปราชญ์ผู้มีชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน มีพระอารมณ์ดุจเดียวกับมนุษย์ปุถุชน มีขึ้นมีลง มีความปราดเปรื่อง มีอารมณ์อันอ่อนไหว และมีความรักของพ่อต่อลูกอันเป็นที่รัก

ไม่มีที่ไหนนอกจากในหนังสือนี้ที่กล่าวอย่างละเอียดถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ…

 

ไม่ว่าผู้อ่านท่านจะคิดถึงหนังสือเล่มนี้อย่างไรก็แล้วแต่ เช่น ว่าเป็นเพียงนิยายที่อาศัยฉากในราชสำนักสยามและประเทศสยาม

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วหนังสือเล่มนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่บันทึกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในราชสำนักสยาม

เป็นประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดของตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในแต่ละฉากอย่างมีสีสันและสมจริงตามที่ผู้เขียนได้เห็นด้วยตาของเธอเอง หรือไม่ก็จากคำบอกเล่าของตัวละครที่ประสบเหตุการณ์เอง

เหตุการณ์บางตอนในประวัติศาสตร์ของชาติอาจลบเลือน ไม่แจ่มชัด เป็นที่โต้เถียง

หนังสือคือสิ่งที่ทำให้ภาพต่างๆ แจ่มชัดปะติดปะต่อ เพราะเป็นการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้เราผู้อ่านได้รู้เห็นอดีตเช่นนี้

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0