โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรค3ก. - ศุ บุญเลี้ยง

THINK TODAY

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 09.24 น. • ศุ บุญเลี้ยง

เวลาดูหนังจำพวกซุปเปอร์ฮีโร่ ตอนที่เราลุ้นมากๆ มักจะเป็นตอนที่พระเอกของเรา มีสัญญาณเตือนว่า พลังงานกำลังจะหมด แล้วเขาจะต่อสู้กับเหล่าร้ายศัตรูต่อไปได้อย่างไร หากไม่รีบเติมพลังงาน

โทรศัพท์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ กังหัน รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ล้วนแล้วแต่ต้องมีพลังงานจึงจะใช้งานได้

คนเราก็คงคล้ายกัน ใช้พลังงานก็ค่อยๆ ลดหมดไป

ถ้าเป็นพลังกาย บางคราก็ต้องนอนพัก ยิ่งเป็นคน ยิ่งต้องออกกำลังกาย แต่จะแข็งแกร่งยังไง สุดท้ายก็ต้อง หาทางกลับไปเติมพลัง ด้วยอาหาร ด้วยน้ำ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

แต่พลังใจนี่สิ

.

เมื่อพลังใจ ห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวหมดแรง

ก่อนจะหาวิธีเติมพลัง เราควรจะวินิจฉัย ค้นหาสาเหตุอันทำให้พลังใจของเราหายหดหรือหมดไป

.

ศัตรูที่ดูดพลังชีวิตเรา ส่วนใหญ่มาจาก โรคสาม ก.

นั่นคือก.โกรธ ก.เกลียด และก.กลัว

คนเรานี่ยากยิ่งที่จะควบคุมอารมณ์ไม่ให้รู้สึกโกรธ

ถ้าเรามีเครื่องตรวจวัดความโกรธ คงควบคุมได้ง่ายขึ้น

 โดยธรรมชาติจะพบว่ามันมักมีอาการอยู่แค่สองสามแบบ คือค่อยๆโกรธ กับโกรธมาว่องไวแว้บเดียว ปรี๊ดขึ้นเลย กับโกรธไปโกรธมาบางครางอน บางคราโกรธ

อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถมีจิตคอยจ้องจนมองให้เห็นความโกรธเวลาที่มันกำลังก่อเกิด ก็คงจะจัดการให้โกรธนั้นทุเลาลงได้ ยิ่งถ้าฝึกปรือมาถึงขั้นสูงก็อาจจะหายโกรธลงได้ว่องไว

เรื่องก่องข้าวน้อยนิทานไทย เล่าถึงชีวิตคนหนึ่งซึ่งหิวจากการทำงาน พอแม่เอาข้าวมาให้ช้า ก็โมโหถึงกับลงมือฆ่าแม่

นิทานเรื่องนี้ ไม่ได้สอนให้เราฆ่าแม่หรอกนะ แต่มันแสดงให้เราเห็นว่าความโกรธมันน่ากลัวขนาดไหน

ขนาดโกรธเพราะหิว ยังฆ่าแม่ได้ ถ้าโกรธเพราะความหึงความหวงและความหื่น ความห่าม มันจะยิ่งทำร้ายทำลายล้างได้ขนาดไหน

และก่อนที่ความโกรธจะทำร้ายทำลายใคร มันได้ทำร้ายตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ

.

จะให้ไม่โกรธเลยก็คงจะไม่ง่าย

สำคัญก็อยู่ตรงว่า ควรจะโกรธแค่ไหนอถ้าโกรธลูกน้องก็ต้องโกรธระดับนึง โกรธแฟน โกรธผู้รับเหมา โกรธนายก ควรจะโกรธในระดับใด

พระจึงเตือนสติเราด้วยคำว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า

และพึงจำไว้ เมื่อโกรธได้ ก็ต้องหายได้ สำคัญว่าจะหายช้าหายเร็ว และระยะที่โกรธได้ลงมือทำอะไรที่ให้โทษไปมากน้อยเพียงใด

ยาแก้โกรธที่ดี ก็คือการให้อภัย เพราะจะทำให้จิตใจเราผ่อนคลาย

นอกจากฝึกให้อภัยคนที่ทำให้เราโกรธแล้ว

คนที่เราต้องหมั่นให้อภัยด้วยก็คือตัวเราเอง

.

ก.ต่อมาคือก.เกลียด

เจ้าความเกลียด ความชัง เหมารวมไป ทั้งอิจฉา หมั่นไส้ ความน่ารังเกียจ ไปจนถึงจงเกลียดจงชัง

อาการที่เกิดมีเข้ามาเหล่านี้ บางทีอยู่บ้านเปิดดูเฟซบุ๊กอยู่ดีๆก็ก่อเกิด อาการ อิจฉาตาร้อน

ตอนดูเฟซแล้วเห็นคนอื่นเขาได้ดี ไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ มีแต่ภาพสวยๆ แคปชั่นช่างน่าหมั่นไส้

อารมณ์แบบนี้ไม่เข้าใครออกใคร

ครั้นไปทำงาน ก็ต้องพบพานกับเพื่อนร่วมงาน

บางพวกบางคนทำตัวเหมือนมลพิษ ปล่อยอารมณ์ลบ คำถากถาง เหน็บแนม

บางทีก็ต้องเสียดทานกับลูกน้อง เจ้านาย

ส่วนมากการงานพอทนได้ แต่คนที่ทำงานด้วยนี่สิ บางครากราดเกรี้ยว ไปกินเกี๊ยวแล้ว ก็ไม่หายเกลียด

จะรังเกียจเดียดฉันท์ประการใด

ยาช่วยก็พอมีสี่ขนาน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา แล้วก็อุเบกขา

แล้วแต่อาการของเราที่จะเกิด

.

วิธีอันพอจะช่วยได้คือให้แยกความเกลียดออกเป็นสองส่วน

พยายามนึกให้ออกบอกให้ได้ว่า ส่วนที่เราเกลียดคือพฤติกรรมการกระทำของเขา

ส่วนที่เป็นคนนั้น ให้เราเห็นอกเห็นใจในความเป็นเพื่อนมนุษย์ของเขา

ถ้าเราแบ่งแยก เป็นพฤติกรรมของเขา กับตัวคนได้ ก็จะทุเลาไปได้ระดับนึง

ถ้าพฤติกรรมเขาไม่ดี เราเพียงรังเกียจพฤติกรรมของเขา แต่ก่อนนี้เขาอาจจะไม่เคยทำแบบนี้ และต่อไปเขาก็อาจจะไม่เป็นแบบนี้ก็ได้

ส่วนความเป็นคนนั้น เกิดมาแล้วเขาก็เป็นคนไปตลอด แม้บางคราเราจะโมโหจนสรรหาสัตว์นานาชนิดมาด่าแทน เช่น ไอ้สัตว์ ไอ้ควายหรือไอ้เหี้ย…เพื่อพยายามกดเขาให้ต่ำลงไป จะสมควรหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละการด่า แต่ละห้วงอารมณ์

ยังไงๆ เราก็ต้องมองให้เห็นว่า เมื่อเราเป็นคนสิ่งซึ่งสำคัญก็คือ คน

ยกตัวอย่าง เวลาสิงโต หรือกอริลล่า จะทำร้ายคนในสวนสัตว์ หากถึงภาวะจำเป็นต้องรักษาชีวิต เจ้าหน้าที่เขามักต้องเลือกยิงสัตว์ทิ้ง แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนผิด ปีนลงไปเล่นในกรงเองด้วยซ้ำ

แต่ก็คงเพราะความเป็นคน ทำให้เราซึ่งเป็นคน เห็นใจในความเป็นคน มากกว่าสัตว์

.

คนบางคนมีพฤติกรรมน่ารังเกียจจริงๆ แต่ถ้าเราเลือกรังเกียจเฉพาะพฤติกรรมการกระทำของเขาได้ ก็จะดีกว่าสำหรับจิตใจเราเอง

หากศึกษาจิตวิทยา ไปๆ มาๆ คนที่กระทำกับผู้อื่นส่วนมากมักจะโดนกระทำย่ำยีมาก่อน

เรียกว่ามีปมเป็นตัวลิขิต ทั้งกำหนดพฤติกรรมอีกที

กระทั่งนักโทษประหาร ไม่ใช่ว่าเขาไม่ผิด แต่ที่มีคนเข้าไปช่วยอุปถัมภ์ นำไปสอน พาพระไปเทศน์ ให้พรก็เพราะว่า เราเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์

ยิ่งเปิดใจก็จะยิ่งสงสาร เขาทำผิดจนติดคุกติดตะราง ไม่ใช่ว่าจะต้องตามไปรุมสกรัมทำตัวเป็นศาลเตี้ย ใครผิดแล้วต้องตีให้ตาย หรือเอาไว้ไม่ได้ ต้องไปจัดการให้หนำใจ

เราไม่ได้เป็นศาล ไม่ได้มีใครแต่งตั้งหรือให้สิทธิ์ในการกระทืบคนอื่นได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ทำความผิด

เราต้องแยกแยะ จิตใจเราจะได้ผ่อนคลาย

เพราะการเกลียดก็เหมือนไฟ เผาไหม้จิตใจเราเองก่อน

อยู่บ้านดี ๆ มีหนูมีแมลงสาบแอบเข้าบ้านมา เราจะตั้งหน้าตั้งตาเผาบ้านอย่างนั้นหรือ

หากบ้านเรามีปลวกเราก็ต้องไปตามบริษัทมากำจัดปลวก

ซึ่งวิธีกำจัดก็มีหลายวิธี จะฉีด จะพ่น หรือจะวางเหยื่อล่อให้คาบไปกิน แบบกำจัดยกรัง ก็ต้องค่อยๆ จัดการด้วยความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือ

.

ไม่ใช่ขุดเสาเรือนทิ้งแล้วเผาบ้าน พอปลวกตายหรือย้ายไปที่อื่น ก็ภาคภูมิใจว่า เห็นไหมเราทำสำเร็จ โดยมีฝาบ้านไหม้ดำเป็นอนุสาวรีย์ของความโง่เขลา

วิธีนี้นี่เหมือนจะนิยมกันมาก วิธีกำจัดศัตรู ด้วยการเผาบ้านไล่ปลวก เอะอะอะไรก็ไล่ทำร้าย เห็นใครคิดต่างไม่ได้ จะไล่เขาออกนอกประเทศท่าเดียว

.

ก. ที่สามคือความกลัว

มนุษย์กลัวอยู่แล้วหละ กลัวอันตราย กลัวคนไม่รัก กลัวอดตาย กลัวโน่นกลัวนี่ กลัวภัยธรรมชาติ กลัวเสียเปรียบ กลัวโง่ กลัวจากชาตินี้ไปชาติหน้า

ก็เลยถูกหลอกให้ไปบนบานศาลกล่าว ต้องไปทำบุญตุนไว้เผื่อชาติหน้า เพราะกลัวว่า เกิดมาชาติหน้าจะไม่สบาย

เราต้องยอมรับกติกาเบื้องต้นก่อนว่า ชีวิตที่ได้รับมานั้น นอกจากจะได้มาพร้อมกับความแก่และความเจ็บ ความตายแล้ว

ยังได้ความกลัวมาด้วย

เพราะความกลัวนี้จะช่วยปกป้องให้เราพ้นจากอันตราย

แต่ถ้าเรากลัวมากๆ ความกลัวนี่แหละจะเป็นอันตราย ดูดเอาพลังงานจากเราไปด้วย

.

เมื่อเราเกิดภาวะที่ทรุดลง

ป่วยก็ต้องรักษา หนาวก็หาผ้าห่ม ล้มก็ค่อยๆ ลุก

ลุกไม่ไหวก็นั่งรอให้กรรมการนับแปด มึนๆ เซๆ ก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่

สู้ไฟท์นี้ไม่ไหว โดนจับทีเคโอ ก็ต้องกลับไปซ้อมมาสู้ใหม่

ไม่ต้องรุก บุกตะลุยตลอดเวลา จะถอยบ้างก็ได้

กลัวแพ้ ถ้าแพ้บ่อยๆ ก็อาจจะชิน

กลัวล้ม ถ้าล้มบ่อยๆ แล้วลุกไหวก็มีภูมิคุ้มกัน

ใช้บทเรียนจากความผิดพลาดให้ เกิดประโยชน์

.

เมื่อพลังค่อยๆ หมดไป ก็ต้องค่อยๆ เติมพลังให้ใจ

ถ้าเราเหนื่อยจากการเป็นโรคโลหิตจาง อันนั้นพอเข้าใจได้ ว่าเป็นคนเหนื่อยง่าย

ถ้าสุขภาพกาย เลือดลมเราปกติ แต่ทำงานแล้วเหนื่อยกลับบ้านแล้วเพลีย มีอาการละเหี่ยใจ

อันนี้อาจจะเป็นเพราะเราถูกดูดพลังงานออกไปจากจากชีวิต

.

ความทดท้อ ห่อเหี่ยว ไม่อยากจะไปทำงาน ไม่สนุกกับชีวิตอันแสนจะท้าทาย

ไม่อยากตื่นมาตอนเช้า ไม่อยากรอวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน เราก็ได้แต่บ่น เบื่อหน่าย

.

เราต้องยอมรับให้ได้เสียก่อนว่า คนเรานั้น อ่อนแอและเปราะบางแหว่งเว้า ขาดวิ่น ได้ตลอดเวลา

แต่การยอมรับก็ไม่ได้หมายความว่าต้องยอมแพ้

นอกจากหาสาเหตุและทางแก้ อย่างไม่งอแง งมงาย

เป็นหน้าที่ซึ่งต้อง เติมพลังให้ใจ

และ(ติดตามอ่านตอนต่อไป) เติมไฟให้ชีวิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0