โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

โรคจิตหลงผิด คิดไปเอง ต้องพบแพทย์

new18

อัพเดต 14 ธ.ค. 2561 เวลา 03.15 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 02.45 น. • new18
โรคจิตหลงผิด คิดไปเอง ต้องพบแพทย์
โรคจิตหลงผิด คิดไปเอง ต้องพบแพทย์

โรคจิตหลงผิด คือ การมีความเชื่อ หรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด (delusion) ตั้งแต่ 1 เรื่องนานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป โดยอาการหลงผิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ระแวงว่าตนถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกปองร้าย ผูกเรื่องเชื่อมโยงไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ผู้ป่วยมักจะยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด เช่น ถ้าหลงผิดว่าเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งก็อาจจะขอลาออกจากที่ทำงาน ทั้ง ๆ ที่ยังทำงานด้านนั้นได้ตามปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการหลงผิด ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการและแนะนำให้มารักษา เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวและอยู่ในสังคมได้

*ประเภทของโรคจิตหลงผิด สามารถแบ่งออกเป็น *

• หลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักตัวเอง โดยบุคคลนั้นมักเป็นผู้ที่มีความสำคัญหรือมีชื่อเสียง (Erotomanic Type)

• เชื่อว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ (Grandiose Type)

• หลงผิดคิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ (Jealous Type)

• ระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต (Persecutory Type)

• หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง เช่น บางส่วนของร่างกายผิดรูปร่าง หรือ อวัยวะไม่ทำงาน (Somatic Type)

ผลกระทบของโรคจิตหลงผิด 

โดยทั่วไปจะกระทบถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่นการระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต อาจทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ต่อมาจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตได้ หากเป็นอาการหลงผิดคิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ อาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายคู่ครองนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด

*ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง *

• ปัจจัยด้านจิตใจ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ที่ไม่ได้รับความอบอุ่น ทำให้ไม่เชื่อใจใคร และมีความรู้สึกไวต่อท่าทีของผู้อื่น

• ปัจจัยด้านสังคม เกิดจากสังคมที่มีความเครียด กดดัน การแข่งขันสูง การเอารัดเอาเปรียบ ทำให้รู้สึกว่าถูกผู้อื่นคุกคาม หรือรู้สึกว่าได้รับการกระทำที่ไม่ดีจากผู้อื่น จึงมีความระแวงได้มากขึ้น

• ปัจจัยด้านชีวภาพ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับสมองส่วนที่ควบคุมความเป็นเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก

กลุ่มเสี่ยงโรคจิตหลงผิด 

ผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถพบได้ในคนที่มีความเครียดสูง ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีฐานะไม่ดี ทำให้มีการปรับตัวที่ผิดปกติ และเกิดความหวาดระแวงได้ ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 18-90 ปี และพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป

*ความแตกต่างของจิตหลงผิดกับประสาทหลอน *

• อาการหลงผิด เป็นความผิดปกติในเนื้อหาของความคิด

• อาการประสาทหลอน เป็นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ โดยไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงพูดคุยเป็นเรื่องราว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครพูด

การบำบัดรักษาโรคจิตหลงผิด 

• เน้นที่สัมพันธภาพในการรักษา ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถช่วยผู้ป่วยได้ โดยรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดว่าไม่จริง ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย

• การรักษาด้วยยา ด้วยยารักษาโรคจิตโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์

• รับตัวรักษาในโรงพยาบาล หากอาการรุนแรง เช่น มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่น

ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ตำราจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0