โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โซเชียลมีเดียกับ COVID-19 : ทำยังไงเราจะไม่ป่วย ไม่ตาย และไม่เป็นบ้า ยามไม่ได้พบผู้คน

The MATTER

อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 04.26 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 03.19 น. • Online On Life

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า 'ระยะห่างทางสังคม' (social distancing) อย่างเข้มข้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัส มาตรการ social distancing หลายมาตรการถูกนำมาใช้เพื่อให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการพบเจอกัน เช่น การปรับชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยให้เป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การปรับให้ทำงานจากที่บ้านของผู้ทำงานประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องสถานที่ทำงานมากนัก การสั่งห้ามไม่ให้มีการรับประทานอาหารที่ร้านและให้ซื้อกลับไปทานที่บ้านได้เท่านั้น รวมถึงการงดเว้นกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

แต่ด้วยความที่ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด จึงเกิดความโกลาหล วิตกกังวลใจ และยังไม่มีใครมีคำตอบว่ามนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติจะอยู่ในภาวะที่ฝืนธรรมชาติเยี่ยงนี้ได้นานแค่ไหน การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจของมนุษย์ และนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า social recession หรือการถดถอยทางสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมอันนำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยที่น่ากลัวไม่แพ้ COVID-19

COVID-19 กับสภาวะถดถอยทางสังคม

การเว้นระยะห่างทางสังคมคือการแยกตัวเองออกมาจากสังคม ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมในตัวมันเอง นักวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมนับแต่ยุคบุพกาลด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เมื่อมนุษย์รวมตัวกันจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าการอยู่อย่างเดียวดาย

งานศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า เมื่ออยู่ในภาวะที่รู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา มนุษย์จะเกิดความเครียด ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ร่างกายคล้ายกับจะสั่งการให้เราต้องเข้าหาสังคม เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น กลไกนี้มีลักษณะคล้ายกับที่ร่างกายสั่งให้เรารู้สึกหิวเมื่อเราต้องการอาหาร หรือสั่งให้เรารู้สึกกระหายเมื่อขาดน้ำ การศึกษาทางการแพทย์ยังพบว่าสภาวะถดถอยทางสังคมนำไปสู่ความเสี่ยงโรคภัยอื่นมากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และยังส่งผลให้อายุสั้นลง อาการลักษณะนี้คนไทยรู้จักและเรียกกันว่าอาการ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรืออาการ 'ตรอมใจ'

สถาวะถดถอยทางสังคมยังอาจเกิดขึ้นได้โดยเกี่ยวพันกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เป็นอัมพาตอย่างฉับพลันทันใดคือธุรกิจภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของ GDP ประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

ภาคการผลิตก็กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดโลกที่หดตัว ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีการประกาศหยุดกิจการชั่วคราวของโรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด นับแต่วันที่ 28 มี.ค.-20 เม.ย. เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน สถานการณ์โควิด 19 ยังทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่ จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 ไปเป็นติดลบถึงร้อยละ 5.3!  การประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเองก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่สามารถสร้างรายได้จุนเจือตนเองและครอบครัว จำนวนหนึ่งต้องตกงาน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกวิตกกังวลในวงกว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

ยิ่งอธิบายยิ่งหดหู่จนดูเหมือนว่าบทความนี้น่าจะเป็นอีกสิ่งที่จะซ้ำเติมผู้อ่านให้รู้สึกเครียด และเร่งให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคม

โซเชียลมีเดียช่วยได้ไหม ?

Thanks God! ที่ยุคนี้เรามีโซเชียลมีเดีย เครื่องมือแสนวิเศษที่เอื้อให้มนุษย์ยังสามารถสร้างการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันได้แม้ไม่เจอหน้ากันตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเว้นระยะห่างชนิดห่างกันครึ่งโลก มนุษย์ก็ยังสามารถเข้าสังคมกันได้ ภาวะที่บีบบังคับให้คนต้องอยู่ห่างกันเชิงกายภาพไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีมาตรการ social distancing การทำงานที่บ้านส่งผลให้เราอดไม่ได้ที่จะออนไลน์อยู่บนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เพราะปัจจุบันการสั่งงาน การประชุม ก็ล้วนทำผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ทั้งสิ้น การติดตามข้อมูลข่าวสารก็เป็นไปอย่างว่องไวทันสถานการณ์ เพราะทั้งรัฐและสื่อต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้รับสาร

หากเราลองสังเกตตัวเอง หลายคนอาจจะพบว่าเราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งการทำงานและเรื่องส่วนตัว ผู้เขียนทำการทดลองง่ายๆ ด้วยการนับสเตตัสเฟซบุ๊ก จำนวนการทวีตในทวิตเตอร์ และจำนวนโพสต์ในอินสตาแกรม 3 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของเพื่อนๆ ผู้เขียนพบว่าจำนวนโพสต์ต่อวันของพวกเขามากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงภาวะปกติจริงๆ (ตัวผู้เขียนเองก็ด้วย) แต่การใช้โซเชียลมีเดียที่มากขึ้นส่งผลดีต่อการลดภาวะถดถอยทางสังคมหรือจะยิ่งทำให้สังคมถดถอยเร็วขึ้นกันแน่?  ในเมื่อ…

การใช้โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) กลไกทางจิตวิทยาทำให้มนุษย์เราอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นเสมอ โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากการประเมินความสามารถของตนเองเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม และหากสังคมไม่มีบรรทัดฐานอย่างชัดเจน มนุษย์จะเปรียบเทียบความสามารถและความคิดเห็นของตนกับบุคคลอื่นรอบๆ ตัว ซึ่งการเปรียบเทียบนี้ก็อาจนำไปสู่ความความผิดหวังและอาจตามมาด้วยความซึมเศร้า (ย้อนอ่านบทความเรื่อง โซเชียลมีเเดียกับการเปรียบเทียบทางสังคม ได้ที่นี่)

 

การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปเกี่ยวพันกับอาการสมาธิสั้นและหัวร้อน ด้วยบริบทและวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มีคอนเทนต์จำนวนมากปรากฏบนฟีดทำให้เราเคยชินกับการเปลี่ยนจากความสนใจเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็ว ในอดีต สมัยที่โทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ช่อง เมื่อตัดเข้าโฆษณาเราจำเป็นต้องอดทนรอ แต่ในปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนช่องหนี ก้มหน้าก้มตาแชตกับเพื่อน หรือไถฟีดไปเรื่อยๆ การใช้งานโซเชียลมีเดียสารพัดแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน ทั้งคุยงานและเรื่องส่วนตัวเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกลไกการรับรู้และยังทำให้ความอดทนอดกลั้นของเราลดลงโดยไม่รู้ตัว

งานวิจัยทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศได้ผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีความเชื่อมโยงกับอาการสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder-ADHD) คุณหมอกันยา พาณิชย์ศิริและคุณหมอเบญจพร ตันตสูต แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ผลการศึกษา การติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะสมาธิสั้นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 425 คน พบว่าภาวะสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และมีบุคลิกต่อต้านของกลุ่มตัวอย่างนั้นสัมพันธ์กับการติดโซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งเซาท์เทิร์นแคลิฟอเนีย ที่ศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น 2,600 คนเป็นเวลา 2 ปี ได้ข้อสรุปว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียมากเกินไปนั้นสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นและโอกาสในการพัฒนาไปสู่โรคสมาธิสั้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้งานโซเชียลมีเดียให้เหมาะสมและเท่าทัน มิเช่นนั้นนอกจากจะไม่ช่วยลดภาวะถดถอยทางสังคมยังอาจเร่งให้เรามีอาการป่วยไข้มากและไวกว่าเดิม นอกจากจะเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับการใช้โซเชียลมีเดียด้วย พูดง่ายๆ คือต้องทำจิตให้แข็ง อดทนต่อสิ่งเร้า

ส่วนคำแนะนำในเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในสถานการณ์ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมคือ

พยายามใช้วิดีโอคอลให้มากขึ้น การใช้วิดีโอคอลทำให้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียใกล้เคียงความจริงมากกว่าการแชตกันผ่านการพิมพ์และอ่านซึ่งขาดอวัจนภาษา การเห็นภาษากาย สีหน้า แววตา ท่าทาง ช่วยทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในต่างประเทศมีกิจกรรมลักษณะนี้ เรียกว่า Virtual Happy Hour ที่เชิญให้คนมาออนไลน์พร้อมๆ กัน มีลักษณะเป็นการจัดปาร์ตี้ออนไลน์ที่ทุกคนเอาเครื่องดื่มมาชนแก้วกันแบบเสมือนจริง นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมบุ๊กทอล์ก บุ๊กคลับ และการรวมกลุ่มของผู้มีความสนใจเฉพาะเรื่องต่างๆ

กิจกรรมผ่อนคลายบนโลกออนไลน์ ในระหว่างทำงานอาจเปิดฟังเพลงที่ผ่อนคลาย ลองศึกษาแพลตฟอร์มอย่าง Calm และ Headspace ที่จะช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยในการทำสมาธิ ปัจจุบันมีศิลปินจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถแสดงคอนเสิร์ตได้จึงหันมาเปิดการแสดงฟรีๆ ให้แฟนๆ รับชมรับฟังผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น นักเปียโน Igor Levit ที่แสดงคอนเสิร์ตจากบ้านผ่านการถ่ายทอดสดทางบัญชีทวิตเตอร์ของเขา ผู้เขียนขอแนะนำให้ติดตามเว็บไซต์ billboard ที่คอยอัพเดตการแสดงสดของศิลปินผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือลองค้นหากิจกรรมผ่านแคมเปญ #togetherathome ของแพลตฟอร์ม Global Citizen ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสังคมที่แต่เดิมมีจุดมุ่งหมายในการขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปี ค.ศ.2030 แคมเปญนี้มีศิลปินระดับโลกมากมายเข้าร่วม โดยเงินบริจาคจะนำไปให้องค์การอนามัยโลกใช้เพื่อการต่อสู้กับ COVID-19

ลองเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ดูบ้าง เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า แท้จริงโซเชียลมีเดียยอดนิยมที่เราใช้งานเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาบนพื้นฐานของธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนมีต้นทุนแฝงที่เราต้องจ่าย หากคุณเป็นคนที่ชอบทดลองอะไรใหม่ๆ อันที่จริงมีแพลตฟอร์มอื่นที่เริ่มพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น แต่อาจต้องจ่ายค่าบริการบ้างเพื่อแลกกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและสิ่งอื่นๆ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทางเลือกที่เริ่มเป็นที่นิยม เช่น  IkariaCocoon แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทำกิจกรรมออนไลน์ร่วมกัน เช่น การดู YouTube พร้อมกัน หรือจะใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันได้อย่าง Squad รวมไปถึงแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้เราบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่าง Monaru

สภาวะปัจจุบันยิ่งชี้ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าเราไม่สามารถแยกโลกออนไลน์ออกจากโลกออฟไลน์ได้อีกต่อไป กิจกรรมในชีวิตจริงได้นำพาสองโลกมาบรรจบประสานเป็นเนื้อเดียว เป็นการยากที่จะใช้ชีวิตในสังคมโลกออฟไลน์โดยปฏิเสธการมีอยู่ของสังคมบนโลกออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเมื่อมันกลายมาเป็นทางออกหลักแทบทุกมิติของวิกฤต COVID-19 ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กันแบบนี้ไปอีกนานเท่าใด

ผลกระทบของไวรัสที่ทำให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นเหตุให้เราต้องย้ายการปฏิสัมพันธ์มาอยู่บนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้ลดภาวะถดถอยทางสังคมได้ดี แต่ในขณะที่เราย้ายการปฏิสัมพันธ์มาอยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย ก็มีเหตุให้ต้องระวังผลกระทบที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียที่เกินความพอดีเพราะจะเป็นเหตุให้เราหนีสภาวะถดถอยทางสังคมไม่พ้น เปรียบได้กับการขว้างงูไม่พ้นคอ และด้วยความที่สิ่งที่สังคมกำลังเผชิญอยู่นี้ล้วนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้ชีวิตกันไปและต้องเฝ้าระวังไปพร้อมกัน

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0