โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

และแล้ว.. มันก็เป็นตามคำทำนาย : เรื่องของ self fulfilling prophecy

Johjai Online

อัพเดต 19 ส.ค. 2562 เวลา 10.19 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
และแล้ว.. มันก็เป็นตามคำทำนาย : เรื่องของ self fulfilling prophecy
เมื่อคาดหมายหรือคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เลยทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า self fulfilling prophecy หรือ SFP

เมื่อคาดหมายหรือคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เลยทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ เพราะด้วยความคิด ทำให้เกิดการกระทำที่สนับสนุนเหตุการณ์นั้น จนเกิดขึ้นจริงในที่สุด เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า self fufilling prophecy หรือ SFP หรือ “เกิดเป็นจริงตามคำพยากรณ์ซะงั้น”
 
Self fufilling prophecy เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต หลายต่อหลายอย่างในโลก ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มาจาก SFP  ไม่ได้มาจากตัวของมันเอง เพราะโดยตัวของมันเองแล้ว ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย แต่เมื่อต่างคนต่างพร้อมใจกันเชื่อว่ามันจะเกิด มันก็เลยเกิดตามนั้น 
 
เงื่อนไขหลักของ SFP อยู่ที “ความเชื่อ” ซึ่งบางครั้ง ความเชื่อ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเชื่ออย่างนั้นเสียทีเดียว บางคนอาจเห็นตรงข้ามก็ได้ แต่ในเมื่อคนส่วนใหญ่เชื่อแบบนั้น ทำตามนั้น ก็ต้องทำตามด้วย มิเช่นนั้นอาจเสียเปรียบ เสียโอกาส หรือ เสียหายได้
 
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนทีเชื่อตามนั้นจริง อาจเป็นเพียงคนส่วนน้อยมากๆ แต่ด้วยความที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มจุดประกายความเชื่อและพฤติกรรมก่อน ทำให้สามารถก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมา จนถึงแม้คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้เชื่อตามนั้นเลย ก็จำต้อง “เอากับเขาด้วย”
 
ตัวอย่างชัดที่สุด คือ ความเชื่อว่าธนาคารจะล้ม หากผู้ฝากเงินเพียงกลุ่มหนึ่งเกิดอาการกลัวแบงก์ล้ม (จะด้วยไปได้ข่าวลือหรือข่าววงในก็แล้วแต่) แล้วแห่ไปถอนเงินจนเป็นข่าวใหญ่ออกสื่อ ต่อให้ผู้ฝากเงินคนอื่นอไม่เชื่อข่าวลือนั้น หรือไม่ก็มั่นใจว่าแบงก์ไม่ล้มด้วยปัญหาแค่นี้  แต่ในเมื่อเห็นอาการ panic ของคนบางส่วน ก็เกิดความกลัวว่าถ้าผู้ฝากคนอื่นๆโหมกระหน่ำถอนเงินพร้อมกัน แบงก์ก็อาจจะล้มขึ้นมาได้จริงๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก็จำต้องทำตามคนอื่น โดยไปถอนเงินออกมาก่อนแบงก์จะไม่มีเงินให้ถอน ตามหลักที่ว่า “หนีก่อน รอดก่อน” 
 
และเมื่อทุกคนคิดแบบเดียวกัน แบงก์ก็ต้องล้มจากการถูกถอนเงินในที่สุด
 
ในวงการค้าเงินและค้าหลักทรัพย์ Nassim Taleb เจ้าของหนังสือดัง The Black Swan และอีกหลายเล่ม บอกว่า trader หรือนักค้าเงินหรือค้าหลักทรัพย์ จะต้องทันความเคลื่อนไหวของ trader รายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อตลาด และมักที่จะเลือก move ตามนั้น ในลักษณะ herd mentality เพราะนั่นเป็นการกระทำที่ปลอดภัยที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุดทั้งสำหรับตัวบริษัทและความมั่นคงในอาชีพ 
 
หรือพูดอีกแบบคือ “ตามคนส่วนใหญ่ แล้วไม่เจ็บตัว” “Folow the herd.”  อันเป็นทัศนะที่เอื้อต่อ self fufilling prophecy ได้เป็นอย่างดี  
 
บางคนถือว่า การ trade หลักทรัพย์โดยใช้การวิเคราะห์แบบ technical analysis เป็น self fufilling prophecy แบบหนึ่ง เพราะวิเคราะห์จากการต่อรูปร่างของ trading graph ที่ผ่านมา เช่น หากลากเส้นบนและล่างของรูปร่าง trading graph แล้วเกิดเป็นกรอบขึ้นมา ก็อาจจะถือว่า การเคลื่อนไหวต่อๆไปของหลักทรัพย์จะขึ้นลงอยู่ภายในกรอบนี้ หากเมื่อใด ราคาหลักทรัพย์ขึ้นไปแตะขอบบน ก็หมายความว่าขาลงกำลังจะเริ่ม
 
เป็นไปได้มากว่า เมื่อทุกคนใช้กราฟเส้นเดียวกัน ข้อมูลเดียวกัน และลากเส้นเหมือนกัน การตีความก็ย่อมเป็นไปในทางเดียวกัน ส่งผลทำให้เกิดทิศทาง trade ที่เป็นไปในทางเดียวกันเช่นกัน  ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์โดยวิธี fundamental analysis ที่ใช้ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็อาจจะได้ผลต่างกัน เพราะเป็นไปได้ว่า นักวิเคราะห์ตีความ indicator แต่ละตัวไม่เหมือนกัน
 
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่า การตีความ indicator ใน fundamental analysis อาจเป็นไปในทางเดียวกันอีก เพราะสิ่งที่เรียกว่า “rule of the game”
 
rule of the game คือ กฏกติกาที่ถูกสร้างขึ้นมาเองจากกลุ่มชนในสังคมหรือวงการนั้น และถูกยึดถือต่อกันมาอย่างเคร่งครัด ทั้งที่เป็นไปได้ว่า กติกาที่เกิดขึ้นนั้น อาจเหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะเวลานั้นเท่านั้น หรือต่อมามีตัวแปรอื่นที่ส่งอิทธิพลทำให้กติกานั้นไม่ work หรือศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิมแล้ว แต่ในเมื่อยึดถือกันมา ก็เลยไม่มีใครกล้าแตกแถวทิ้งกติกานี้ไปยึดแนวอื่น เพราะรู้ดีว่า หากคนส่วนใหญ่ยังยึดถือกฏเดิมอยู่ ความศักดิ์สิทธิ์ในการพยากรณ์ก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ในบางครั้ง ตัวมันเองบอกอะไรไม่ได้จริง เพราะขึ้นอยู่กับอย่างตัวแปรอื่นอีก   
 
ตัวอย่างเช่น ในวันพุธที่ 14 สิงหาที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงมากมาย หลักๆเพราะ rule of the game ในวงการเงินที่ว่า ถ้า yeild curve หรือเส้นกราฟแสดงผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดเงิน มีอาการกลับข้างหรือ invert หมายถึงเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำ
 

แต่นักการเงินบางคน รวมถึง Janet Yellen อดีตผู้ว่า Federal Reserve FED หรือธนาคารกลางสหรัฐ ชี้ว่า สมัยนี้ inverted yield curve ไม่จำเป็นต้องหมายถึงอย่างนั้นแล้ว สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์การเงินของ Moody Analytics และนิตยสาร The Economist ที่อธิบายว่า เพราะหลังจากมาตรการ quantitative easing ที่ FED เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ FED เป็นผู้ครอบครองพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ๋ไว้เอง ดังนั้น yield curve จึงไม่ได้เป็น indicator ที่เป็นตัวแทนของตลาดเงินอีกต่อไป
 
แถม data ในหลายประเทศ การเกิด inverted yield curve ก็ไม่ได้ตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำสักเท่าไหร่
 
แต่ในเมื่อ rule of the game เดิม บอกว่า “ถ้า yield curve กลับข้าง หมายถึง เศรษฐกิจตกต่ำกำลังจะมา” บรรดา trader ทั้งหลายในตลาดเงินก็ต้องว่าตามนั้น  ซึ่ง Alan Greenspan อดีตผู้ว่า FED อีกคนหนึ่ง มีความเห็นว่า yield curve กลับข้างขนาดนี้ได้ ที่จริงมาจากการเก็งกำไร 
 
ซึ่งก็คือ self fuflling prophecy นั่นเอง ในเมื่อคนส่วนใหญ่คิดว่ามันจะเป็น ก็เลยทำให้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งที่ตัวมันเองไม่ได้ทำให้เกิดผลอย่างนั้น
 
เหมือนอย่างที่ Alan Greenspan เคยเรียกสถานการณ์ตลาดเงินที่ “trader ทำเอง”  ไม่ได้มาจากสภาพเศรษฐกิจทำ ว่า “irrational exuberance” หรือ "ดี๊ด๊าไปเอง"​ อันเป็นศัพท์ใหม่ที่นักการเงินรู้จักกันดี
 
Self fufiling prophecy ไม่ได้มีแค่ในเรื่องใหญ่อย่างตลาดเงินระดับโลก หากเกิดขึ้นในชีวิตรายบุคล และเกิดขึ้นบ่อย โดยไม่รู้ตัวเสียด้วย
 
มีการศึกษาลงใน Asian Journal of Social Psychology โดยทีมงานของ Sakamoto ลองให้คนทำ test หลอกๆ แล้วบอกแบบ random ว่าแต่ละคนเป็น extrovert บ้าง introvert บ้าง extrovert บ้าง จากนั้นให้พบกับคนอื่น พบว่า คนที่ถูกบอกว่าเป็นคนแบบใหน ก็จะทำตัวแบบนั้นทันที คนที่คิดว่าตนเป็น extrovert ก็ชอบคุยกับคนแปลกหน้าขึ้นมาทันใด คนที่คิดว่าตนเป็น introvert ก็จะขอเลิกคุยเร็ว 
 
เช่นเดียวกับ personality test MBTI (Myers-Briggs Type Indicator แบ่งคนออกเป็น 16 type ที่คุ้นกันดี เช่น INTJ, ESTP, etc.) ก็เชื่อว่าส่งผลเกิด self fufilling prophecy เช่นกัน ผลทดสอบออกมาอย่างไร ก็จะยิ่งทำให้คนนั้นเล่นบทตาม personality type นั้นมากกว่าปกติ    
 
ในแง่ดี self fufilling prophecy อาจทำให้เรื่องจริงที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้นไปอีก เช่น ถ้าหากในคนที่ทดสอบ IQ ออกมาดี ก็จะยิ่งมั่นใจตนเอง กล้าใช้สติปัญญามากขึ้นกว่าเดิม ในทางตรงกันข้าม self fufilling prophecy ก็ทำให้สิ่งที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงกว่าเดิมได้เช่นกัน
 
ในยุคที่สามารถตรวจยีนได้ว่า จะมีสิทธิ์เป็นโรค alzheimer หรือ โรคอ้วน obesity มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ มีการศึกษาของ Turnwald และทีมงาน ลงใน journal Nature พบว่า คนที่รู้ผลตรวจว่าตนมียีนโรคอ้วนแฝง จะมีพฤติกรรมการกินที่ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม คือ “เล่นบทคนอ้วนตามยีน” ทำให้อ้วนขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือในคนที่ผลตรวจออกมาว่า มีโอกาสสูงเป็น alzeimer พบว่า มีอาการลืมง่ายขึ้นมาในวันนี้ทันที โดยไม่ต้องรอตอนแก่
 
เมื่อเป็นแบบนี้ ทีมวิจัยสรุปว่า “ไม่รู้เสียยังจะดีกว่า” เพราะรู้ไปจะยิ่งทำให้เลวร้ายกว่าเดิม
 
ในเรื่อง rule of the game นั้น ไม่จำเป็นว่า rule ที่ว่าต้องมีการบ่งชี้ชัดเจน แต่อาจมาจากการ “ตีความเชิงสัญลักษณ์” จากคนในสังคมนั้นก็ได้ อย่างเช่นกรณีของ “Broken Window Theory” ซึ่งทำให้พฤติกรรมคน เปลี่ยนไปอย่างอัตโนมัติในเกือบจะทันใด
 
Broken Window Theory มีที่มาว่า ในบางพื้นที่ของเมือง New York มีสภาพทรุดโทรม ตึกมีกระจกแตกอยู่ทั่วไป แต่เมื่อทางเมืองทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ ซ่อมกระจกแตก ทำให้อาชญาการรมลดลงอย่างมีนัย เคสแบบนี้เกิดขึ้นกับ subway ของ New York เช่นกัน เมื่อทางเมืองทำความสะอาดรถไฟใต้ดินที่ถูกพ่นสีจนยับเยิน ทาสีใหม่ เปลี่ยนแปลงให้สะอาดเอี่ยม อาชญากรรมใน subway ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
 
ทั้งนี้สันนิษฐานว่า ในพื้นที่เมืองที่ ภาพกระจกแตกอยู่ทั่วไป ย่อมบอกว่า มีคนปากระจกตามตึกให้แตกเล่น ตีความได้ถึง “ความเถื่อน” ของสังคมคนแถวนั้น ดังนั้น ในเมื่อ rule of the game คือ “ถ้าอยู่ที่นี่ ต้องทำตัวเถื่อน” คนในสังคมนั้นก็พร้อมใจเถื่อนขึ้นมาจริงๆ
 
แต่พอเปลี่ยนโฉมพื้นที่ให้สะอาด มีระเบียบ คนก็ตีความว่า rule of the game ยุคใหม่ของสังคมนั้นคือ ทำตัวเป็นพลเมืองดี มีความศิวิไลซ์ ความเถื่อนก็หายไป ไม่มีใครคิดก่ออาชญากรรม 
 
นั่นคือ self fufilling prophecy ระดับสังคม แต่ SFP ระดับส่วนตัวที่หลายคนอาจคุ้นที่สุด คือเรื่องของ “prophecy” เอง นั่นคือ “หมอดูแม่นๆ”
 
หากไม่นับวิชาการโหราศาสตร์ ความแม่นของหมอดูขึ้นอยู่กับ การเกิด sefl fufilling prophecy เป็นหลัก
 
ในนิยายปรัมปราหลายส่วนของโลก พูดถึง คำทำนายที่ทำให้เกิด self fufilling prophecy จนนับไม่ถ้วน อย่าเรื่องที่กษัตริย์ต้องฆ่าลูกที่เกิดใหม่ เพราะมีคำทำนายว่า เด็กคนนั้นหากโตขึ้นจะเป็นภัยต่อตัว ทำให้มีคนพาหนีไปที่อื่น ทำให้เมื่อโตขึ้น ได้เป็นใหญ่ ไม่รู้ว่าพ่อเป็นใคร เลยสามารถทำสงครามฆ่าพ่อตนเองได้โดยไม่ลำบากใจ สมคำทำนายทุกประการ  (เช่น เรื่อง Odepus Rex ของกรีก หรือเรื่อง พญากงพญาพาน ของไทย)
 
ในคำพยากรณ์ หากหมอดูบอกว่า เราเป็นคนโชคดี มีอนาคต เราก็อาจจะมองโลกในแง่บวกและเปิดใจเจอโอกาสดีๆมากกว่าถ้าหมอดูจะบอกว่า เราเป็นคนโชคร้าย ไร้อนาคต เกิดมาต้องชดใช้กรรม ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำให้เราหมดหวัง เลิกพยายามใดๆในชีวิต ไร้อนาคตตามคำทำนายอย่างแม่นยำ
 
แต่ถ้าหมอดูบอกว่า เราจะรวย ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับ self fufilling prophecy เสียแล้ว เพราะ การคิดเฉยๆว่าเราจะรวยแน่ๆ ไม่ได้ทำให้รวยขึ้นมาได้
 
นั่นหมายความว่า เงื่อนไขอย่างหนึ่งของ self fufilling prophecy คือ ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ action ที่ทำให้เกิดผล ไม่ใช่เรื่องแค่คิดอย่างเดียว  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0