โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แมลงวันในไร่ส้ม /คืน 7 ช่องทีวีดิจิตอล อีก 15 ค่ายเดินหน้าต่อ การแข่งขันยิ่งเข้มข้น

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 10.30 น.
แมงวัน

แมลงวันในไร่ส้ม

คืน 7 ช่องทีวีดิจิตอล

อีก 15 ค่ายเดินหน้าต่อ

การแข่งขันยิ่งเข้มข้น

 

เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของวงการสื่อ

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ช่วยเหลือทีวีดิจิตอล และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ออกมาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562 โดยเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษา

สำหรับทีวีดิจิตอลนั้น ข้อ 10 ของประกาศ ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการรายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช.พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว

ผู้รับใบอนุญาต 22 ช่อง ไม่ต้องชำระค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย คือ งวดที่ 5 และ 6 ให้ กสทช. รายใดชำระไปแล้ว ให้ขอคืนได้ และรายใดที่ยังชำระงวดที่ 4 ไม่ครบ ให้ชำระให้ครบถ้วนตามวันเวลาครบรอบการชำระ ซึ่งจะครบในเดือนพฤษภาคม 2562

วงเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวด 5 และ 6 เป็นเงิน 13,622 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล หรือ MUX กสทช.จะช่วยออกเงินค่าใช้จ่ายให้ โดยชำระให้ผู้ประกอบการโครงข่าย คือ ช่อง 5 กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท ปีละ 1,960 ล้านบาท จนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต

แน่นอนว่า คำสั่งดังกล่าวเรียกเสียงเฮสนั่นจากบรรดาทีวีดิจิตอลช่องต่างๆ เพราะรอคอยโอกาสนี้มายาวนาน ตั้งแต่เริ่มออกอากาศเลยก็ว่าได้

 

สําหรับทีวีดิจิตอลมีปัญหาการดำเนินงานมาตลอด จาก 24 ช่องที่เปิดประมูล ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไม่ไหว ปิดตัวไปแล้ว 2 เหลือ 22 ช่อง

ตอนเริ่มต้นประมูล ก็มีคำถามว่า จำนวนช่องมากเกินไปหรือไม่ แต่ขณะนั้น ในช่วงปี 2555-2556 เศรษฐกิจ ธุรกิจด้านสื่อยังพอมองเห็นอนาคต แม้ว่าจะเริ่มเห็นการดิสรัปต์จากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตแล้วก็ตาม

ผู้ประกอบการบางรายมั่นใจมากถึงขนาดประมูล 2 ช่อง โดยไม่หวาดหวั่นค่าใบอนุญาตที่จะเป็นภาระอย่างมากหากธุรกิจไม่เข้าเป้า

จุดหักเหของทีวีดิจิตอลก็คือ เมื่อผ่านขั้นตอนการประมูลไปแล้ว ระหว่างเริ่มออกอากาศ ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

ทีวีช่องต่างๆ ต้องเปิดเพลงมาร์ช ออกอากาศเฉพาะเนื้อหาที่คณะรัฐประหารกำหนดเท่านั้น

รายการต่างๆ ที่เตรียมไว้เป็นทีเด็ด เพื่อจะเปิดตัวช่องให้ประทับใจผู้ชม ต้องเก็บใส่ลิ้นชักหมด ไม่ว่าจะเป็นรายการการเมืองหรือรายการบันเทิง

ห้วงเวลาอยู่ในอำนาจอันยาวนานถึง 5 ปีของ คสช. ส่งผลต่อการทำเนื้อหาของสื่อ โดยเฉพาะทีวี ซึ่งถือว่าเข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด ทำให้รัฐจับตามากที่สุด และมีการเรียกผู้บริหารช่องไปขอความร่วมมือเป็นระยะๆ

ผลคือ ทุกช่องต้องเลี่ยงการเสนอเนื้อหาทางการเมือง หันมานำเสนอเรื่องของบันเทิง การแข่งร้องเพลง เกมโชว์ และกีฬา

โดยเฉพาะมวยไทยที่มีเกือบทุกช่อง

ขณะที่สปอนเซอร์ที่จะลงโฆษณา ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจ และจำนวนช่องที่มากถึง 22 ช่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณามีน้อยและกระจาย จนอยู่ในสภาพต้องรัดเข็มขัดไปตามๆ กัน

และยังเกิดการเติบโตของนิวมีเดีย ที่นำพาสาระต่างๆ ไปสู่ผู้ชมผู้ฟังด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า พกพาไปได้ทุกที่ ก็ยิ่งกระทบต่อการดำรงอยู่ของทีวี

จากสภาพปัญหาดังกล่าว เมื่อ คสช.ออกคำสั่งดังกล่าว จึงเกิดการยื่นขอคืนช่องให้กับ กสทช.ถึง 7 ช่องด้วยกัน

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงเมื่อ 10 พฤษภาคม ว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7 ช่อง ยื่นความจำนงขอคืนใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562

7 ช่อง ประกอบด้วย 1.สปริงนิวส์ 19 2.วอยซ์ ทีวี 21 3.ไบร์ททีวี 20 4.ช่อง mcot 14 5.Now 26 6.ช่องเด็ก-13 7.ช่อง 3 – 28 SD

หลังจากนี้ช่องที่แจ้งคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะต้องส่งเอกสารมายังสำนักงาน กสทช.อย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป ดังนั้น ทีวีดิจิตอลจากเดิมที่มีทั้งหมด 22 ช่อง เมื่อคืนใบอนุญาต 7 ช่อง จึงเหลือที่ยังดำเนินกิจการต่อ 15 ช่อง

ขอฝากไปยังผู้ประกอบกิจการที่คืนใบอนุญาต สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากได้เงินจากรัฐบาลคืนกลับไปแล้ว ขอให้เยียวยาพนักงานให้ดีกว่ากฎหมายแรงงาน

เป็นข่าวที่ครึกโครมในวงการสื่อ เพราะจะเกิดคลื่นหรือผลกระทบติดตามมาอย่างต่อเนื่องหลายประการด้วยกัน

ที่แน่นอนที่สุด การยุบช่องถึง 7 ช่อง จะทำให้พนักงาน ทั้งผู้สื่อข่าว ผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ตกงานประมาณ 1,500-2.000 คนด้วยกัน

จึงมีเสียงเรียกร้องจากเลขาฯ กสทช.ให้แต่ละแห่งดูแลเยียวยาพนักงานให้ดีกว่ากฎหมายแรงงาน เพราะทุกช่องจะได้เงินก้อนใหญ่จาก กสทช.

ขณะเดียวกัน องค์กรสื่อได้เรียกร้องทำนองเดียวกัน เพราะการปิดช่องเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่มีเวลาให้ผู้สื่อข่าว ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ได้เตรียมตัวขยับขยาย หาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

 

ผลต่อเนื่องของการคืนทีวีดิจิตอล นอกจากสะท้อนสถานการณ์ของสื่อในประเทศไทย ที่รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีแล้ว

คาดว่าน่าจะเห็นการขยับปรับตัวอีกครั้งของวงการ

ผู้ประกอบการที่คืนช่อง อาจเปิดกิจการด้านสื่อต่อไป แต่เปลี่ยนช่องทางเป็นอย่างอื่น ที่เข้ายุคสมัย และค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เช่น การทำเว็บหรือเพจข่าว

ผู้ประกอบการที่มีมากกว่า 1 หรือ 2 ช่อง จะมุ่งพัฒนาช่องหลักของตนเอง อาทิ กรณีของช่อง 3 ที่คืนไปสองช่อง จะเหลือเฉพาะช่อง HD

ส่วน 15 ช่องที่ยังเหลือ ก็คงจะเล็งถึงการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วงชิงคนดูที่เคยเป็นแฟนประจำของช่องที่ปิดไป

ซึ่งจะต้องจับตาดูต่อไปว่า แต่ละค่าย จะเปิดเผยทีเด็ดอะไรออกมาบ้าง

ปัจจัยที่จะสนับสนุนการปรับตัวของทีวีดิจิตอลก็คือ ทิศทางการเมืองที่กำลังคลี่คลาย ภายหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้สื่อต่างๆ เริ่มเปิดพื้นที่ให้เนื้อหาสาระที่เคย “ต้องห้าม” ใน 5 ปีที่ผ่านมา

หากสามารถนำเสนอเนื้อหาได้ครบถ้วนรอบด้าน ความคึกคักในธุรกิจน่าจะตามมา

“เสรีภาพ” เป็นปัจจัยสำคัญในการทำและพัฒนาสื่อ ทั้งในด้านเนื้อหาและธุรกิจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0