โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แปะก๊วย : นักวิทยาศาสตร์อเมริกันและจีนพบคุณสมบัติที่ทำให้ต้นแปะก๊วยอายุยืนเป็นพันปี

Khaosod

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 15.54 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 15.53 น.
_110464247_gettyimages-72-0f5b67a2859f1ff215bc4a73593a8a64aab0e657
Getty Images ใบต้นแปะก๊วยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

แปะก๊วย : นักวิทยาศาสตร์อเมริกันและจีนพบคุณสมบัติที่ทำให้ต้นแปะก๊วยอายุยืนเป็นพันปี

โดย เฮเลน บริกก์ส บีบีซีนิวส์

บีบีซีไทย ถอดความ

นักวิทยาศาสตร์ไขความลับสำเร็จ เหตุใดต้นแปะก๊วยถึงมีชีวิตยืนกว่าพันปีได้

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ต้นแปะก๊วยสามารถสร้างสารเคมีที่ต่อต้านโรคและภาวะแล้งได้ นอกจากนี้ ต้นแปะก๊วยยังต่างจากพืชชนิดอื่น ๆ ตรงที่ยีนของมันไม่ได้ถูก “ตั้งโปรแกรม” มาให้ตัวเองทรุดโทรมแก่ตัวลง

เราสามารถพบต้นแปะก๊วยได้ตามสวนส่วนบุคคลหรือสวนสาธารณะทั่วโลก แต่ในป่าธรรมชาติ ต้นไม้ชนิดนี้แทบจะสูญพันธุ์แล้ว

ริชาร์ด ดิกสัน จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส บอกว่า เมื่อต้นแปะก๊วยอายุเยอะขึ้น ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่ามันสูญเสียความสามารถในการต่อสู้กับความเครียด

“ความลับก็คือระบบการป้องกันตัวเองที่ดีมาก และเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีระบบที่กำหนดไว้แล้วว่าต้นไม้ต้องเข้าสู่วัยชรา” ดิกสัน กล่าว

ต้นแปะก๊วย

  • เป็นต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตช้า
  • มีใบสีเหลืองสวยในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
  • มีถิ่นกำเนิดจากจีน เป็นสายพันธุ์สุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่สืบเนื่องมาจากต้นไม้โบราณ
  • ต้นแปะก๊วยที่อยู่ในป่าใกล้สูญพันธุ์แล้วเนื่องมาจากการตัดไม้เพื่อการค้า มีต้นแปะก๊วยจำนวนมากจำกัดอยู่ในพื้นที่เทือกเขาชีเทียนมู่ในมณฑลเจ้อเจียงของจีน
  • องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้ต้นไม้ชนิดนี้อยู่ในบัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์

นักวิจัยในสหรัฐฯ และจีน ศึกษาต้นแปะก๊วยที่อายุระหว่าง 15 ถึง 667 ปี ดูวงรอบต้นไม้ วิเคราะห์เซลล์ เปลือกไม้ ใบไม้ และเมล็ดพันธุ์ และพบสารเคมีที่ช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดจากเชื้อโรคและภาวะภัยแล้ง สารเคมีเหล่านี้ได้แก่ สารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidants), สารต้านจุลินทรีย์ (antimicrobials), และ ฮอร์โมนที่ปกป้องพืชจากภาวะแห้งแล้ง

ต้นแปะก๊วยมีถิ่นกำเนิดจากจีน
ต้นแปะก๊วยมีถิ่นกำเนิดจากจีน

การวิจัยทางพันธุกรรมพบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับการแก่ชราไม่ได้เริ่มทำงานโดยอัตโนมัติเหมือนกับพืชชนิดอื่น ๆ เมื่อพืชมีอายุถึงจุดหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าต้นไม้ที่มีอายุหลายศตวรรษจะดูทรุดโทรมจากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บหรือโดนฟ้าผ่า กระบวนการสำหรับการเจริญเติบโตยังทำงานอยู่

มาร์ค กัช หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์พืชสวนและสิ่งแวดล้อม สมาคมพฤกษชาติแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า ประเมินกันว่าต้นไม้ที่แก่ที่สุดในโลกคือ ต้นสนบริสเซิลโคน (Bristlecone pine) มีอายุมากกว่า 4.8 พันปี

“นอกจากจะต้องมีอาหาร แสง และน้ำ อย่างสม่ำเสมอแล้ว คาดกันว่าต้นไม้สามารถมีชีวิตได้ยืนยาวด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า มีการปรับตัวของเซลล์ และมีระบบป้องกันจากเชื้อโรคและศัตรูพืช สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง และเหตุที่อาจสร้างความเสียหายรุนแรงกับตัวต้นไม้”

งานวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0