โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แนะสังเกต 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น ผ่านข้อความบนโซเชียล

Thai PBS

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.28 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.28 น. • Thai PBS
แนะสังเกต 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น ผ่านข้อความบนโซเชียล

วันนี้ (10 ต.ค.2562) วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดธีมในปี 2019 นี้ คือ Working Together to Prevent Suicide เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในทุกภาคส่วน  โดยปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 คนต่อปี และในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน 

ขณะที่ เฟซบุ๊ก สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยทั่วไป ขอให้คอยสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่ามีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง เพียงแค่เรารับฟังกันและกันอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้ได้พูดคุยระบายความรู้สึกคลายความทุกข์ในใจ จะทำให้เกิดกำลังใจ ความสบายใจ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะการรับฟังนั้นเป็นพลังที่ดีที่สุด

5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น 

  • การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน
  • โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว
  • โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว หมดหวังในชีวิต
  • โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด
  • โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น

การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อเห็นสัญญาณเตือนเหล่านั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ

  • แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ
  • ยอมรับว่า สิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ
  • ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่า ปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้
  • พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา
  • ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว
  • ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
  • แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา
  • ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมสนับสนุนการรับฟังที่ดีและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน โดยดำเนินงานพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อเพิ่มจำนวนคู่สายมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สายในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มทำการพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบทันที เพื่อรองรับการให้บริการที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ประชาชนได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและรวดเร็ว จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0